เมื่อการเรียนเป็นความทุกข์และรู้สึกล้มเหลวทำให้เด็กๆหันหลังให้กับห้องเรียน ข้อค้นพบของ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง”

ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่   ได้สะท้อนปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนจะสายเกินแก้และสูญเสียโอกาสในการสร้างประชากรเด็กที่มีคุณภาพ 

“ปัญหาได้ถูกค้นพบเมื่อมิถุนายน 2565   ราวหนึ่งเดือนหลังจากเปิดเทอม  ทีมโค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง กสศ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  ได้ลงพื้นที่เพื่อรับทราบสถานการณ์และปัญหาด้านการเรียนการสอนของโรงเรียนทั้ง 74 แห่งใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และได้รวบรวมปัญหาที่พบเข้าสู่กระบวนการ  PLC (Professional Learning Community) หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ของคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจัดออนไลน์คู่ขนานกับการลงพื้นที่ เพื่อร่วมกันแก้ข้อจำกัดต่างๆให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา บริบทจริงของแต่ละพื้นที่ และต้องทันต่อสถานการณ์ก่อนที่จะสายเกินไป โดยเน้นที่เด็กป.2  หรือเด็กอนุบาล 2 ที่ไม่ได้เรียนที่โรงเรียนตามปกติตอนอยู่อนุบาล 3 และ ป.1”

14 สัญญาณเตือน “กล้ามเนื้อบกพร่อง” ในเด็กประถมต้น

จากการสะท้อนของครูในวง PLC ทราบว่าโรงเรียนได้เริ่มต้นเตรียมความพร้อมด้านต่างๆให้เด็ก เพื่อรองรับการเรียนการสอนในเทอมนี้ด้วยการคัดกรองทักษะการอ่าน   การเขียน   การคิดเลข และการสื่อสาร  แต่พบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีคะแนนของ 3 ทักษะแรกซึ่งเป็นความพร้อมที่เป็นพื้นฐานสำคัญอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยมาก

“ครูจึงพยายามช่วยฟื้นฟูเด็กๆอย่างเต็มที่ โดยการแบ่งเด็กเป็นกลุ่มตามระดับความสามารถ และจัดการสอนซ่อมเสริมเป็นรายบุคคลให้กับนักเรียนที่เรียนรู้ช้า  รวมถึงมีการไปเยี่ยมบ้านเพื่อทำความเข้าใจกับสภาพปัญหาที่แท้จริงของนักเรียน และขอความร่วมมือกับผู้ปกครองในการฝึกเพิ่มที่บ้าน   หลังจากการทุ่มเทกับการฝึกเด็กอย่างเข้มข้นตลอดเวลากว่าหนึ่งเดือน ผลปรากฏว่านักเรียนป.2 จำนวนมากยังจำพยัญชนะ จำสระไม่ได้หรือจำได้น้อย จำได้ในระยะสั้น สะกดคำไม่ได้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้หรือเขียนช้ามาก และไม่กระตือรือร้นในการเรียนรู้ จึงให้ครูทดลองประเมินพัฒนาการฐานกายตามเกณฑ์ของระดับอนุบาล และเกณฑ์สมรรถนะทางกายตามเกณฑ์ของช่วงวัยป. 2 ควบคู่กันไป”

ระบบประสาทรับความรู้สึกทั้ง 7 ช่องทางไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเพียงพอ
และเป็นสัญญานบอกว่าสมองของเด็กยังไม่พร้อมที่จะเรียนรู้

“คุณครูและผู้ปกครองควรจะเฉลียวใจว่า ภายใต้คำว่า “เขียน” เด็กต้องใช้ทั้งกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อของมือในการจับดินสอและของลำตัวเพื่อทำให้ร่างกายตั้งตรงและทรงตัวได้อย่างมั่นคง จึงจะทำให้เด็กเคลื่อนมือในการเขียนได้ สมองต้องควบคุมการทำงานของร่างกายและต้องจดจำ แยกแยะรูปร่างของตัวพยัญชนะแต่ละตัวซึ่งมีความซับซ้อน คำว่า “อ่าน”ก็เช่นเดียวกันเด็กต้องแยกเสียงพยัญชนะ สระ เมื่อนำมาประสมกันเป็นคำ เกิดเป็นรูปใหม่ ได้เสียงที่เปลี่ยนไปอีก  มีรายละเอียดที่ต้องพยายามเรียนรู้ซ่อนอยู่มากมายในขณะที่เด็กมีต้นทุนของทักษะการเรียนรู้น้อยเกินไป การดุเด็กว่า “ทำไมแค่นี้เขียนไม่ได้ อ่านไม่ได้” และการบังคับเคี่ยวเข็ญ เด็กจะรู้สึกถูกกดดันและเครียด ยิ่งทำให้การเรียนรู้ช้าลงไปอีก

“ครูและผู้ปกครองทุกคนต้องสังเกตและจับสัญญาณจากเด็กให้ได้ การลุกยืนและเดินไปมาในคาบสอน ไม่ใช่เด็กสมาธิสั้น หรือเป็นเด็กพิเศษ หรือการไม่ยอมทำการบ้านเพราะขี้เกียจเรียนอย่างที่หลายคนด่วนสรุป จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิดและร่วมประเมินกับครู พบว่าเกิดจาก“ฐานกายเด็กยังไม่พร้อม” เราจึงมุ่งแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดร่วมกับครูและโรงเรียนที่ตั้งใจจะแก้ปัญหา ควบคู่กับการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้บูรณาการและสอดคล้องกับการพัฒนาฐานกาย ทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ให้โอกาสเด็ก และขยายผลไปยัง ป.1 และ ป.3 ด้วย การฟื้นฟูฐานกายและการเรียนรู้จะเห็นผลแบบค่อยเป็นค่อยไป ช่วงแรกจะเห็นผลไม่ทันใจครู ต้องอดทน ใส่ใจ ให้เวลา และให้กำลังใจกับเด็ก เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม การทำเช่นนี้คาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียเด็กรุ่นนี้ในระยะยาวได้”

การทำให้เด็กรู้สึกไว้วางใจร่างกายของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ

“ต้องทำให้เขาเกิดความมั่นใจในความสามารถของร่างกายตัวเองก่อน ให้เขารู้สึกว่าเมื่อครูให้ทำอะไร ฉันสามารถทำได้ คำว่าทำได้หมายถึงสำเร็จในความหมายของเด็ก เป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเด็กรับรู้ได้เอง เราเคยเป็นไหม ไปเจอคูน้ำที่อยู่ตรงหน้า  สิ่งที่จะพาฉันข้ามไปได้คือร่างกาย ถ้าเราไม่มั่นใจว่าจะข้ามได้ เราจะไม่ข้ามต้องหาตัวช่วย ทำนองเดียวกันเด็กเกาะราวบันไดเพราะ “ฉันไม่มั่นใจว่าร่างกายจะช่วยให้ฉันปลอดภัยตอนขึ้นลงบันไดได้ไหม 

“เอาเรื่องฐานกายให้แน่นก่อน ทำกิจกรรมฐานกายบูรณาการกับการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ เพราะสามารถทำให้เด็กเห็นความสำเร็จของตัวเองได้ง่าย เช่น ให้กระโดดขาเดียว (ทำได้เท่ากับสำเร็จ 1ขั้น) ไปหยิบ ก ไก่ (ทำได้เท่ากับสำเร็จอีก 1ขั้น) เด็กสนุกเพราะได้ท้าทายความสามารถและเรียนรู้แบบไม่รู้ตัว เรื่องง่ายๆ ที่เรามองข้าม อย่าคิดว่าโตขึ้นก็หายและทำได้เอง เราเคยเห็นผู้ใหญ่ที่คนจับดินสอผิดมาตั้งแต่เด็ก และจะจับผิดวิธีไปตลอดชีวิตไหม

“ในระยะแรกไม่ต้องเร่ง 8 สาระ ครูสอนจบตามตัวชี้วัดในขณะที่เด็กไม่พร้อม การเรียนไม่สนุก เรียนแล้วเป็นทุกข์มาก เหมือนเป็นการตอกย้ำความล้มเหลวของเด็ก ถ้าให้เป็นแบบนี้ผลของมันน่ากลัว ชะลอ 8 สาระวิชาไว้ก่อน ในเมื่อสมองยังพัฒนาหรือยังทำงานได้ไม่เต็มที่ แสดงว่าสมองยังไม่พร้อม เด็กจะเรียนรู้ได้ดี สมองต้องพร้อม ใจต้องพร้อม สมองไม่ได้ผิดปกติแต่ยังไม่พร้อม บางคนสมองพร้อมแต่ใจไม่พร้อม คุณครูต้องสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างใส่ใจ เด็กบางคนอารมณ์จิตใจเขาไม่พร้อมนั่งกังวลว่าเมื่อไรจะได้กลับบ้าน”