บีบมือเด็กนักเรียนหนึ่งคน เพื่อค้นพบและฟื้นฟูพัฒนาการฐานกาย นราธิวาสไม่ทิ้งเด็ก จับมือขยายผล “ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19”

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น

จากวิกฤตโรคระบาดสู่วิกฤตด้านการศึกษา “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” โดยความร่วมมือจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมลงพื้นที่ ให้คำปรึกษา แนะนำการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1 ผลลัพธ์คือการขับเคลื่อนโรงเรียนขยายผลทั้ง 10 โรงเรียนพร้อมกัน 

การร่วมมือกันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ 
ก็เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 
เพื่อให้คำกล่าวที่ว่า “เราจะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง” กลายเป็นความจริง

เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง กสศ.
ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในการศึกษาไทย แก้ได้ด้วยการออกแบบกระบวนการฐานกายที่ลงใจเต็มที่

ข้อมูลจาก “เวทีคืนข้อมูลสถานการณ์ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ และออกแบบแผนกลยุทธ์ระยะสั้น การพัฒนากล้ามเนื้อมือมัดเล็กและการจับดินสออย่างถูกวิธี” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่จังหวัดนราธิวาส พบว่านักเรียนมีค่าแรงบีบมือเฉลี่ย 9.2-11.1 กก.  ซึ่งค่ามาตรฐานอยู่ที่ 19.0 กก. จากตัวเลขจะเห็นได้ว่าค่าเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานมากทีเดียว

นี่เป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่า โรงเรียนจำเป็นต้องจัดกิจกรรมพัฒนาฐานกายเสริมให้เด็ก เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้มือออกกำลังทำงานและเขียนหนังสือ

นอกจากวัดค่าแรงบีบมือแล้ว ยังมีการสังเกตการจับดินสอของเด็กนักเรียนว่าถูกวิธีหรือไม่ ซึ่งข้อมูลพบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 200 คน จากนักเรียน 201 คน จับดินสอผิดวิธี  คิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 97.01

นั่นหมายความว่า มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่จับดินสอได้ถูกวิธี

สุธิภรณ์  ขนอม  
รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นราธิวาส เขต 1

สุธิภรณ์  ขนอม  
รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นราธิวาส เขต 1

“เมื่อเปิดเทอม เราให้ครูสังเกตและคัดกรองเด็ก แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มที่มีภาวะถดถอย เรียนรู้ได้ช้าทั้งทางด้านการอ่าน การเขียน หรือแม้แต่เด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต เราค้นหาสาเหตุ แล้วออกแบบวิธีการและเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือพวกเขาร่วมกัน

แม้บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายจะแตกต่างกัน แต่เราจะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง  เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือคุณภาพการเรียนรู้ที่ดี”

อนิวรรต  อาลี   
ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นราธิวาส เขต 1

อนิวรรต  อาลี
ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นราธิวาส เขต 1

“การคืนข้อมูลครั้งนี้ จะเป็นแนวทางต่อยอดให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ขอให้ทุกโรงเรียนไม่ละเลยที่จะเดินหน้าพัฒนากิจกรรมฐานกายต่อไป เพื่อพัฒนาเด็กนักเรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น

เรื่องแรงบีบมือแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็ก การเตรียมความพร้อมให้เด็ก จะช่วยให้เขาสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในทุกด้าน”

รศ.ไพโรจน์  คีรีรัตน์
โค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง

รศ.ไพโรจน์  คีรีรัตน์
โค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง

“เราใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือการสังเกต การตั้งข้อสงสัย การคาดคะเน เมื่อออกแบบวิธีการแล้วจึงทดลองทำจริง บันทึกข้อมูล นำเสนอ สรุปผล ขั้นตอนเหล่านี้ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เด็กกำลังพัฒนาฐานกายผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งส่งผลไปถึงพัฒนาการทางสมอง 

วันนี้เราชวนโรงเรียนแกนนำ 10 โรงเรียนไปช่วยวัดแรงบีบมือของนักเรียน ป.2 ที่โรงเรียนอื่น 1 : 10 รวมเป็น 100 โรงเรียน เมื่อเห็นข้อมูลแรงบีบมือต่ำกว่า 19 กก.โรงเรียนก็จะหากิจกรรมพัฒนาฐานกายนักเรียน จึงเป็นโอกาสให้เราถ่ายทอดกระบวนการวิทยาศาสตร์สำหรับใช้พัฒนานักเรียน”

ผศ.พรพิมล  คีรีรัตน์
โค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง

ผศ.พรพิมล  คีรีรัตน์
โค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง

“การพัฒนาเรื่องใด ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อที่จะสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับ ผอ. ของโรงเรียน คุณครู และผู้ปกครองได้

จากการลงพื้นที่ทำให้เห็นว่า มีเด็กนักเรียนที่จับดินสอไม่ถูกต้อง เด็กสามารถเขียนหนังสือได้แต่ใช้เวลานานกว่าปกติ เช่น เขียนบรรทัดเดียวใช้เวลา 1 ชั่วโมง หรือเขียนกดกระดาษจนทะลุไปอีกหน้า ทำให้พอทราบได้ว่า กล้ามเนื้อมือของเด็กนักเรียนไม่แข็งแรง  แต่จะสามารถวัดได้ด้วยอะไร เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงเกิดการสรรหาเครื่องวัดแรงบีบมือ เรามีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นปัญหาได้อย่างชัดเจน และนำไปสู่การร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม

ตัวชี้วัดทำให้เห็นปัญหา วัดด้วยข้อเท็จจริง วัดได้จริง นับได้จริง  และจากการวัดแรงบีบมือ พบว่าเด็กนักเรียนที่ช่วยที่บ้านทำงานเยอะ จะมีแรงบีบมือเยอะ ทำให้ครูเห็นว่างานบ้านสามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กได้ ผู้ปกครองเข้าใจว่าการเรียนรู้ของบุตรหลานเกี่ยวข้องกับงานบ้านในชีวิตประจำวัน ซึ่งในส่วนนี้ผู้ปกครองมีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้”

ผศ.อัมพร  ศรประสิทธิ์ 
โค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง

ผศ.อัมพร  ศรประสิทธิ์ 
โค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง

“ช่วงวัยนี้สำคัญมากสำหรับเด็ก เราไม่สามารถสอนแต่เพียงเนื้อหาเท่านั้น แต่ต้องเน้นการจัดกระบวนการในชั้นเรียนเพื่อกระตุ้นพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจอารมณ์ สติปัญญา และสังคม

เมื่อเปิดภาคเรียน เราสังเกตพบว่า เด็กไม่สามารถจดจ่อกับการเรียน มีสมาธิสั้นกว่าปกติ บ้างมีอาการเหม่อลอย แววตาว่างเปล่า สิ่งนี้สะท้อนชัดเจนว่าการเรียนรู้ไม่เกิดขึ้น เพราะเด็กมีภาวะฐานกายผิดปกติ ใช้มือไม่คล่อง หยิบจับไม่เก่ง เพราะกล้ามเนื้อของเขาไม่แข็งแรง เราจึงจำเป็นต้องจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เพิ่มสมรรถนะฐานกายให้กับเขา

ถ้าเมื่อไหร่ที่เด็กเกลียดการเรียน และเริ่มหันหลังให้การเรียน ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบได้ เพราะการที่เด็กจะรักและมีความสุขกับการเรียน เขาต้องรู้สึกว่าตัวเองสามารถทำได้ ประสบความสำเร็จได้ และเมื่ออยู่ในระดับที่ท้าทายมากขึ้น ก็จะเกิดการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เด็กจะเริ่มสนุกกับการเรียน การพัฒนาฐานกายแบบบูรณาการอย่างเต็มศักยภาพ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อความสำเร็จของเด็ก ๆ ที่เรามิอาจละเลย”

แผนกลยุทธ์ระยะสั้นเพื่อช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก

อาทิ
– ซื้อแป้งมาผสมให้เด็กปั้นเป็นก้อนกลม ปั้นแป้งโรตี เล่นหรือนวดแป้ง (dough)
– ช่วยงานบ้าน ซักผ้า บิดผ้า ตากผ้า ล้างแก้ว ล้างจาน
– ทำศิลปะ ฉีกแปะ ปะติด

คุณครูจะสื่อสารลงในกรุ๊ป ยกตัวอย่างกิจกรรมและถ่ายคลิปวิดีโอตัวอย่างให้ผู้ปกครองเห็น และผู้ปกครองต้องส่งคลิปวิดีโอของบุตรหลานกลับมาให้คุณครูรับทราบ นอกจากจะช่วยเรื่องการพัฒนากล้ามเนื้อมือมัดเล็กของเด็กแล้ว กิจกรรมนี้ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์และการสื่อสารเพื่อดูแลเด็ก ๆ ระหว่างครูและผู้ปกครองอีกด้วย