พาเด็กๆ แก้ปัญหาซับซ้อนด้วยการสอนที่ใช้โจทย์แสบสัน

ในพิธีจบการศึกษา ผู้เขียนได้ฟังคำพูดจากรุ่นพี่ที่มาบรรยายให้บัณฑิตจบใหม่อย่างพวกเราฟังว่า “ในโรงเรียน คุณฝึกแก้ไขโจทย์ปัญหาที่ถูกกำหนดไว้ชัดเจน มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว และมีทรัพยากรให้คุณใช้อย่างไม่จำกัด แต่ในโลกข้างนอกที่คุณกำลังจะออกไปเจอ คุณจะต้องแก้โจทย์ปัญหาที่คลุมเครือ มีคำตอบที่พอใช้ได้มากกว่า 1 คำตอบ และมีทรัพยากรให้ใช้แก้โจทย์นี้อย่างจำกัด”

แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบสิบปี แต่ในมุมมองของผู้เขียน คำพูดนี้ยังตรงกับความเป็นจริงอย่างมาก ทั้งในบริบทของโลกการทำงาน ที่เราอาจต้องแก้โจทย์บางอย่างให้ลูกค้า ทั้งที่ลูกค้าก็ไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเองต้องการอะไร แต่ขอให้งานออกมาเร็วและดีที่สุด ภายในงบที่จำกัด และทั้งในบริบทสังคมระดับชาติหรือระดับโลก เมื่อประเทศของเราต้องเจอวิกฤตการณ์บางอย่าง เช่น โรคระบาดหรือปัญหาเศรษฐกิจ และจำเป็นต้องช่วยคนให้ได้มากที่สุดภายใต้งบประมาณและเวลาที่จำกัด 

เด็กๆ ของเราจึงไม่เพียงต้องการทักษะการแก้ปัญหาเพื่อความสำเร็จของชีวิตตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อความอยู่รอดของสังคมในอนาคตด้วย สอดคล้องกับผลการสำรวจของ World Economic Forum เรื่องทักษะที่เป็นที่ต้องการในอนาคต ที่พบว่าทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex problem solving) มักถูกกล่าวถึงเป็นลำดับต้นๆ เสมอๆ

เมื่อเด็กๆ ของเราต้องมีทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน นั่นแปลว่า
(1) เด็กๆ ต้องมีโอกาสฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเองทั้งในและนอกห้องเรียน 
(2) ปัญหาเหล่านั้นต้องไม่ใช่ปัญหาธรรมดาๆ ซะด้วย

ถ้าโจทย์ปัญหาแบบเดิมๆ ในห้องเรียนไม่เร้าใจเสียแล้ว แล้วเราจะนำโจทย์ปัญหาแบบไหนจากโลกจริงมาชวนเด็กๆ เรียนรู้กันดีนะ?

เมื่อโลกยิ่งวุ่นวาย ปัญหายิ่งร้ายตาม: มารู้จักกับ “ปัญหาแสบสัน” (Wicked Problem)

ในบรรดาปัญหาต่างๆ มีปัญหาประเภทหนึ่งที่สร้างความปวดหัวระดับ 5 ดาวให้กับใครก็ตามที่พยายามแก้มัน จนมีคนตั้งชื่อเรียกเฉพาะให้ว่า Wicked Problem หรือ “ปัญหาแสบสัน” ปัญหาประเภทนี้มักมีลักษณะต่อไปนี้

  • เป็นปัญหาที่ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ไม่มีคำอธิบายตายตัว คนแต่ละคนที่เกี่ยวข้องอาจอธิบายถึงมันแตกต่างกันอย่างมาก เพราะนิยามของปัญหาขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน 
  • มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องพัวพันกันไปมา รากของปัญหาอาจจะเป็นผลมาจากอีกปัญหาหนึ่ง จับต้นชนปลายยากว่าอะไรส่งผลถึงอะไร 
  • ความพยายามที่จะแก้ปัญหาแสบสันอาจส่งผลที่คาดไม่ถึง การแก้องค์ประกอบหนึ่งอาจกระทบต่ออีกองค์ประกอบหนึ่งจนทำให้แก้ยากขึ้นไปอีก เหมือนกระจุกเชือกที่เมื่อเราพยายามคลายมันออกโดยการดึงเชือกเส้นหนึ่ง กลับทำให้ก้อนเชือกขมวดตึงขึ้น 
  • เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงกรอบคิดและพฤติกรรมของคนจำนวนมากเพื่อไปสู่ทางออก

จากนิยามนี้ จะเห็นได้ว่า ปัญหามากมายที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่นั้นล้วนเป็นปัญหาแสบสัน ไม่ว่าจะเป็นสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน ฝุ่นควัน PM2.5 ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แรงงานข้ามชาติ หรือแม้กระทั่งการจัดการโรคระบาดโควิด-19 ก็ตาม ยิ่งในระยะหลังๆ มานี้ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกทำให้ปัญหาที่ซับซ้อนอยู่แล้วยุ่งเหยิงมากขึ้น เช่น เดิมเด็กไทยมีปัญหาการเรียนมากอยู่แล้ว มีโควิดเข้ามาก็ยิ่งทำให้การเรียนรู้ถดถอยอีกด้วย

แน่นอนว่าเด็กๆ คงไม่สามารถแก้โจทย์ปัญหาซับซ้อนเหล่านี้ได้สำเร็จ (ขนาดผู้ใหญ่เองยังแก้กันไม่ได้เลยนี่นา!) แต่เราสามารถนำปัญหาเหล่านี้มาสะกิดใจ จุดประกายความสงสัย จูงเข้าสู่เนื้อหาวิชาการและกระบวนการคิดแบบใหม่ ไปจนถึงสร้างความเห็นอกเห็นใจและการทำงานเป็นทีมให้กับเด็กๆ ได้ ว่าแต่เราจะนำโจทย์เหล่านี้มาใช้ในห้องเรียนอย่างไรกันดี?

4 แนวทางพาปัญหาแสบสันเข้าสู่ห้องเรียน

  1. ใช้นำเข้าสู่บทเรียนหรือผูกกับเนื้อหาตามหลักสูตร เราอาจตัดโจทย์ย่อยๆ ในปัญหาแสบสันออกมาผูกกับเนื้อหาที่ต้องสอนเพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียน เช่น ในวิชาคณิตศาสตร์ เราอาจชวนนักเรียนคำนวณว่าต้องฉีดวัคซีนให้คนในชุมชนกี่คนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19 เพื่อนำเข้าสู่เนื้อหาเรื่องร้อยละ หรือในวิชาวิทยาศาสตร์ เราอาจตั้งคำถามเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เพื่อชวนนักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับการเผาไหม้และแหล่งกำเนิดมลภาวะทางอากาศ
  2. ชวนนักเรียนสืบเสาะสำรวจโลกรอบตัว พวกเราทุกคนคงได้สัมผัสปัญหาแสบสันด้วยตัวเองไม่มากก็น้อย คงจะดีไม่น้อยถ้าเด็กๆ ได้ลองสำรวจสภาพปัญหาโดยเริ่มจากบริบทใกล้ตัว (เช่น ในชุมชนรอบบ้าน) ไปสู่บริบทที่ไกลตัวมากขึ้น (เช่น ในประเทศเพื่อนบ้าน) พวกเขาอาจจะเจอว่า ปัญหาเดียวกันแสดงออกมาในรูปแบบต่างกันในต่างบริบท 

    เช่น เราอาจมีภาพจำของปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของน้ำแข็งขั้วโลกละลาย แต่เมื่อสอบถามคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน อาจจะเห็นว่าพื้นที่ที่เราอยู่ได้รับผลกระทบในรูปแบบฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็เป็นได้ และหากครูพานักเรียนค้นคว้าไกลขึ้น อาจพบว่าคนที่อยู่ในพื้นที่เกาะกำลังตื่นกลัวที่เมืองของเขากำลังจะจมลงใต้น้ำทะเลก็เป็นได้ การสืบเสาะในลักษณะนี้ช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทชุมชนที่ตัวเองอยู่และเข้าใจมุมมองของคนอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาเดียวกัน อีกทั้งยังค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่สร้างปัญหาแสบสันนี้ขึ้นมา
  3. สอนการคิดเชิงระบบ (systems thinking) และการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) ทั้งสองเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้แก้ปัญหาแสบสันและมักจะถูกนำมาสอนกับผู้ใหญ่ แต่จริงๆ แล้วทั้งสองเครื่องมือสามารถพัฒนาการคิดวิเคราะห์ การสร้างสรรค์ไอเดียที่หลากหลาย และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้กับเด็กได้ด้วย
    • การคิดเชิงระบบเป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ปัญหาผ่านมุมมองของ “ระบบ” ที่เกิดขึ้นมาจากองค์ประกอบต่างๆ และแต่ละองค์ประกอบเหล่านี้ส่งผลต่อกันและกัน โดยหลังจากที่ได้สำรวจโลกรอบตัวแล้ว เราอาจจะชวนแด็กๆ วาดแผนผังว่ามีใครหรือปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ และแต่ละปัจจัยมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร
    • การคิดเชิงออกแบบเป็นกระบวนการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (human-centered) และปรับปรุงผลลัพธ์ให้ดีขึ้นผ่านการทำกลับไปกลับมา (iteration) เราอาจจะชวนเด็กๆ ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่เขาสนใจ เช่น คนในครอบครัว เพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือคนในชุมชนรอบข้าง
  4. ฝึกเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ เพราะปัญหาแสบสันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว คนแต่ละคนจึงมีมุมมองและวิธีการในการแก้ปัญหาต่างกัน นี่เป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้ฝึกแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างสร้างสรรค์และมีความยืดหยุ่นทางความคิด พร้อมเปลี่ยนมุมมองเมื่อได้รับข้อมูลใหม่ 
ที่มา : IDEO’s Design Thinking for Educators

ปริศนา Conundrum เป็นไอเท็มหนึ่งที่คุณครูและพ่อแม่นำไปใช้ฝึกทักษะนี้ได้ Conundrum ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยโรงเรียน Astra Nova และเปิดให้คนทั่วไปนำไปใช้ได้ฟรี ในแต่ละปริศนาจะนำเสนอสถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจในรูปแบบวิดิโอน่ารักๆ เหมาะกับเด็กๆ เมื่อฟังสถานการณ์แล้ว เด็กๆ จะต้องคิดเลือกคำตอบของตัวเองพร้อมทั้งให้เหตุผล หลังจากนั้นทุกคนจะมีโอกาสได้เล่ามุมมองของตัวเอง ในบางครั้งคุณครูอาจจะมีข้อมูลหักมุม (twist) มานำเสนอ และนักเรียนอาจเปลี่ยนคำตอบของตัวเองก็ได้ เมื่อได้ฟังความเห็นของเพื่อนและข้อมูลใหม่ๆ https://www.youtube.com/embed/2QcnAehFwR4?feature=oembed ดูตัวอย่างของ Conundrum ตอน ปริศนาทะเลสาบ (มี subtitle ภาษาไทย) ได้ที่นี่


ส่งท้าย

หากเรามองออกไปนอกขอบเขตของหลักสูตรและเนื้อหาตามหนังสือเรียน จะพบว่า โลกรอบตัวเราเต็มไปด้วยโจทย์ปัญหาแสบสันมากมาย ในเมื่อเด็กของเราไม่ได้ใช้ชีวิตแค่ในห้องเรียน แต่ยังต้องใช้ชีวิตนอกห้องเรียนอีกหลายสิบปี การนำโจทย์เหล่านี้เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการจัดการเรียนรู้จึงช่วยให้โลกในห้องเรียนหมุนไปไวตามโลกจริงภายนอกและติดอาวุธทางความคิดให้เด็กๆ ของเรา 

เพราะในโลกที่ซับซ้อนเต็มไปด้วยปัญหายุ่งเหยิง สิ่งที่เราคาดหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้คงไม่ใช่ “คำตอบที่ถูกที่สุด” อีกต่อไป แต่ “กระบวนการและเครื่องมือเพื่อฝ่าความซับซ้อนยุ่งเหยิงไปสู่ทางออกร่วมกันกับคนอื่นๆ ในสังคม” ต่างหากคือสิ่งที่เราควรมอบให้เด็กๆ ของเรา

แหล่งรวมความรู้และเครื่องมือที่น่าสนใจสำหรับคุณครู :

  • Ideo’s Design Thinking for Educators คู่มือช่วยครูนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบไปใช้ในห้องเรียน ปัจจุบันมีการปรับปรุงใหม่และรวบรวมเครื่องมือที่มากขึ้นในชื่อของ Co-Designing Schools Toolkit
  • Systems Thinker Habits การ์ดรวมอุปนิสัยของนักคิดเชิงระบบและแนวคำถามที่คุณครูนำไปชวนนักเรียนฝึกคิดเชิงระบบได้
  • รวมปริศนา Conundrum ทุกตอนที่พัฒนาโดยโรงเรียน Astra Nova ร่วมกับ Classdojo