“พลิกวิกฤตเป็นโอกาสปฏิรูปการเรียนการสอน แม้โรงเรียนยังต้องล็อกดาวน์” กสศ.ร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง ร่วมเวทีเสวนา #โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ ครั้งที่ 2

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะอนุกรรมการ พัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวถึงประเด็นจัดการเรียนการสอนอย่างไรในยุคโควิด-19 หยุดเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไว้ว่า

ต้องยอมรับว่าในสองปีที่ผ่านมา มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อให้ครอบครัวสนับสนุนการเรียนของเด็กได้ เด็กจำนวนมากต้องย้ายที่อยู่ตามครอบครัวไปตามภูมิภาคต่างๆ รวมถึงต้องออกจากระบบเพื่อทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เด็กที่ขาดช่วงในการเรียนและไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ จะเกิดอาการเบื่อหน่ายต่อการเรียน และตัดสินใจออกจากระบบการศึกษาได้ง่ายขึ้น

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะอนุกรรมการ พัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ

สำหรับการจัดการสอนออนไลน์ ก็ยังคงมีปัญหาความไม่เชื่อมต่อระหว่างครูกับนักเรียน ทั้งปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล แม้ว่าทาง สพฐ.จะพยายามร่วมมือกับ กสทช.แล้วก็ตาม จึงเห็นได้ชัดว่าความแตกต่างทางภูมิศาสตร์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความยากลำบากต่อทั้งครูและนักเรียน 

กระทรวงศึกษาธิการมองว่า จะต้องมีอย่างน้อย 7 องค์กรที่ต้องทำ MOU เพื่อดูแลเด็กเหล่านี้ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำคัญที่สุดคือ กสศ. เครือข่ายเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการค้นหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาและนำเด็กกลับเข้ามา ส่วนการดูแลประคับประคองเด็กไม่ให้หลุดออกจากระบบมากขึ้นเป็นหน้าที่สำคัญของครูในโรงเรียน ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว


มาตรการโรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนผ่านวิกฤตไปได้

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอการสำรวจ IQ ของเด็กไทย ซึ่งพบว่าลดลงทุกปี และยังเป็นที่ถกเถียงว่ามาจากการเรียนการสอน การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม เช่นกับกับคะแนนโอเน็ตที่ลดลงอย่างสัมพันธ์กัน 

ทั้งยังได้เสนอมาตรการโรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบ ตาม 6 มาตรการของ กสศ. ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนผ่านวิกฤตไปได้

  1. การเรียนการสอนเชิงรุก 
  2. แลกเปลี่ยน (PLC) ในกลุ่มโรงเรียน 
  3. แผนกลยุทธ์ระยะสั้น
  4. ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 
  5. ระบบสารสนเทศ 
  6. เครือข่ายผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา และชุมชน

รศ.ไพโรจน์กล่าวว่า การสอนเชิงรุกด้วยบ้านวิทยาศาสตร์น้อยและโครงงานฐานวิจัย เป็นการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์ทดลองและโครงการ ซึ่งทำได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ช่วยให้เด็กมีสภาพจิตใจดีขึ้นและมีทักษะการคิดเพิ่มมากขึ้น 

การเรียนทางไกลผสมผสานกับการสอนเชิงรุก ถือเป็นโอกาสที่จะให้เด็กได้เรียนเนื้อหาแบบเดิมน้อยลง และเน้นการเรียนรู้รอบตัวมากขึ้น ทำให้เด็กเป็นผู้ใหญ่และได้เรียนรู้การใช้ชีวิตจริง ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ

“การแก้ปัญหาและการผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะในครั้งนี้ ผู้ที่แก้ปัญหาได้คือโรงเรียน ไม่ใช่คนนอก ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การเพิ่มแรงผลักดัน และความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน จะช่วยให้โรงเรียนสามารถดูแลตนเองทั้งระบบได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” 


Share & Learn กับ 3 โรงเรียนพัฒนาตนเอง “ปฏิรูปการเรียนอย่างไร…แม้โรงเรียนยังต้องล็อกดาวน์”

นายอมร นาคปก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส

นายอมร นาคปก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า 

“สำหรับการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสนี้ เราใช้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งในสถานการณ์ปกติจะมีกล้องวงจรปิด ยามรักษาความปลอดภัย รั้ว การจัดเวรประจำวัน รวมถึงมีการเยี่ยมบ้านนักเรียน แต่พอมีสถานการณ์โควิด-19 เราเริ่มสอนออนไลน์และได้ร่วมโครงการโรงเรียนดูแลตัวเองทั้งระบบ ได้ลองใช้วิธีเรียนโครงการฐานวิจัยกับบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ซึ่งได้ผลเป็นอย่างมาก การเรียนออนไลน์เป็นวิธีที่ดีที่สุดในช่วงนี้ เนื่องจากทำให้เด็กรู้ว่าครูมีตัวตนจริงๆ ต่างจากการเรียนแบบออนแอร์ แต่ปัญหาที่พบคือมีนักเรียน 10% ขาดแคลนทุนทรัพย์และอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจาก กสศ.เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ยังได้นำเสนอถึงวิธีดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เข้าถึงการเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไว้ดังนี้

  1. ผอ.และครูสร้างสัมพันธ์กับผู้ปกครอง เพื่อช่วยเหลือให้นักเรียนได้เรียนออนไลน์
  2. สำรวจเวลาที่นักเรียนสะดวกในการเรียน จนได้มาเป็นวันเสาร์บ่ายและหนึ่งทุ่ม
  3. ให้ผู้ปกครองช่วยเป็นครู
  4. ได้แท็บเล็ตจากโครงการ “ได้ทุนไอที พี่ มอ.สอนน้องเรียนออนไลน์” และได้สมาร์ทโฟนจากสภาเหล่ากาชาด จังหวัดนราธิวาส 
  5. เรียนบ้านเพื่อน เด็กที่ขาดแคลนสามารถไปเรียนบ้านเพื่อนที่มีอุปกรณ์ได้

“การช่วยเหลือพึ่งพาและการประสานงานมีความสำคัญอย่างมากในการดูแลนักเรียนในทุกมิติ มีการแต่งตั้งผู้ปกครองเป็นผู้ประสานงาน และเด็กเรียนเก่งเป็นโค้ชให้กับเพื่อนคนอื่นๆ ซึ่งการประสานงานระหว่างเครือข่ายผู้ปกครองถือเป็นจุดแข็งของโรงเรียนบ้านค่าย”

“โรงเรียนบ้านค่ายใช้การสอนบูรณาการข้ามสาระ เพื่อลดเนื้อและภาระงานของนักเรียนลง สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและสนุกสนานให้กับเด็ก คอยถามไถ่อารมณ์และความรู้สึกของเด็กในแต่ละวัน เพื่อสังเกตและเพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19”


ทักษะชีวิตมีความจำเป็น ฝึกได้ในโรงเรียน

นายเอกพจน์ นราพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทรายขาว จังหวัดสงขลา 

นายเอกพจน์ นราพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทรายขาว จังหวัดสงขลา 

“ประเด็นสำคัญที่โรงเรียนบ้านทรายขาวได้ดำเนินการและอยากแลกเปลี่ยนคือ การสร้างทักษะชีวิตในวิกฤตล็อกดาวน์ ซึ่งมีออนแฮนด์ ออนดีมานด์ และออนไลน์ ซึ่งในขณะนี้สอนออนไลน์ 100% และมีนักเรียนเข้าเรียนถึง 92% เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจาก มอ.จนทำให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้สูงมาก”

“การล็อกดาวน์ทำให้เด็กขาดโอกาสในการฝึกทักษะชีวิต เช่น การเข้าห้องน้ำด้วยตนเอง การกวาดพื้น งานบ้าน การประดิษฐ์ ทั้งยังมีเวลาเหลือมากในแต่ละวัน เด็กที่ครอบครัวมีความพร้อมมักจะได้ฝึกทักษะชีวิตที่บ้าน มีผู้ปกครองคอยสอน แต่เด็กหลายคนต้องฝึกทักษะชีวิตตามยถากรรม ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ทางโรงเรียนจึงสร้างแนวทางพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเด็ก”

กระบวนการการพัฒนาทักษะชีวิต นักเรียนโรงเรียนบ้านทรายขาว

  1. คณะครูกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกันวางแผน กำหนดนิยามและขอบเขตของทักษะชีวิตที่โรงเรียนคาดหวัง เช่น ชั้น ป.1-3 ต้องมีทักษะการช่วยเหลือดูแลตนเอง สามารถเปลี่ยนเสื้อผ้า แปรงฟันเองได้ 
  2. คณะครูร่วมกับผู้ปกครองแต่ละชั้น กำหนดตัวชี้วัดทักษะชีวิตผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการใช้ชีวิตของเด็กที่บ้าน เพื่อกำหนดว่าเด็กต้องการทักษะหรือกิจกรรมใด 
  3. ผู้ปกครอง ครอบครัว จัดการเรียนรู้ทักษะชีวิตหลายรูปแบบ เช่น พาทำ สาธิต ใช้สื่อช่วยสอน และปลูกจิตสำนึก
  4. ผู้ปกครองและครูประจำชั้น ร่วมกันประเมินรายวัน 
  5. คณะครู สรุป รายงานผล

“การเรียนตามหลักสูตรสาระการเรียนรู้นั้นสำคัญ แต่ทักษะชีวิตก็มีส่วนสำคัญ เพราะมันเป็นวิถีชีวิตของเด็ก และเด็กต้องอยู่กับชีวิตของตนเองไปตลอด”


นางณัฐพัชร์ เพชรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพังยอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

นางณัฐพัชร์ เพชรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพังยอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

“โรงเรียนวัดพังยอม เข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งแต่ปี 2563 มีการจัดการเรียนการสอนเหมือนเป็นครอบครัว โดยร่วมมือกับเครือข่ายผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และครู ในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็ก ไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำ แต่พยายามเน้นให้เด็กมีความสุข เกิดความรู้สึกอยากทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ ทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่นเหมือนอยู่กับครอบครัว”  

“ในช่วงแรกของการจัดการเรียนในสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนวัดพังยอมพบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน ภายหลังจึงได้ประชุมกับผู้ปกครองก่อนเปิดภาคเรียน ในกรณีที่โรงเรียนไม่สามารถสอนออนไลน์ได้ก็จะมีการสอนออนแฮนด์ โดยผู้ปกครองจะเป็นผู้มารับใบงานให้กับนักเรียนและคอยช่วยเหลือเด็กในการทำการบ้าน แต่ท้ายที่สุดการเรียนออนแฮนด์กลับทำให้เด็กเกิดอาการเบื่อและเรียนรู้ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงแก้ปัญหาด้วยการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระผ่านกิจกรรมโครงการฐานวิจัย เพื่อสร้างพัฒนาการของเด็ก และให้ครูได้ลองออกแบบการเรียนรู้ที่ท้าทายกว่าการสอนรูปแบบเดิม”   


คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ

หลังจากจบการนำเสนอของทั้งสามโรงเรียน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ได้กล่าวถึงพลังของครูในการแก้ปัญหาวิกฤต พลังของผู้ปกครองที่เข้ามาช่วยเสริมการเรียนรู้ และพลังของโรงเรียนในการตัดสินใจแก้ปัญหา และทำได้ดีกว่าที่ส่วนกลางคิดให้ 

“จากการฟังเวทีเสวนาในวันนี้ ทำให้รู้เลยว่าการบูรณาการการเรียนการสอนเป็นอย่างไร ไม่ใช่เหมาโหล ทุกคนใส่เสื้อตัวเดียวกัน หากแต่ละโรงเรียนได้สะท้อนให้เห็นว่าได้จัดการเรียนการสอนแบบประณีตอย่างไร เชื่อว่าเพื่อนๆ ผู้บริหารที่ฟังอยู่ในวันนี้คงไม่ต้องเลียนแบบเขา แต่คงไปคิดว่าถ้าเรามีต้นทุนและบริบทอย่างนี้ แล้วเราจะออกแบบการสอนแบบประณีตได้อย่างไร” 


ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กล่าวสรุปเวทีเสวนาในครั้งนี้ว่า 

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับการทำงานในเชิงนโยบายเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 กระจายไปทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม ซึ่งเป็นมิติที่สัมพันธ์กันทั้งหมด 

กระทรวงศึกษาธิการมีการออกแบบวิธีการที่จะช่วยโรงเรียน และมองเห็นว่ามาตรการการรับมือของกระทรวงศึกษาธิการ มีการทบทวนข้อจำกัดของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลด้วย พยายามคิดวิธีทั้ง 5-On  เพื่อให้ทุกโรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการยังยืนยันว่ามาตรการของโรงเรียนพัฒนาตนเองทั้ง 11 แห่ง ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ น่าจะเป็นทิศทางที่น่าถูกในเรื่องการยกระดับการเรียนรู้ 

“ความสำเร็จที่เรามองว่ามีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน วิธีการที่ทุกคนทำอาจจะไม่เหมือนกัน นั่นคือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในระดับโรงเรียน กสศ.ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายว่าท่านจะต้องเชื่อพี่เลี้ยง 11 ทีมไปตลอดกาล แต่วันนี้เรากำลังพยายามให้พี่เลี้ยงเชียร์ให้ท่านคิดนวัตกรรมของตัวเอง และอย่าลืมว่าอีกหนึ่งพี่เลี้ยงของท่านคือเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกท่านทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการอยู่แล้ว แต่วันนี้เป็นบทที่เราให้โรงเรียนได้ฉายภาพที่เกิดขึ้นในโรงเรียน”


เรียบเรียงจาก เวทีเสวนา #โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ ครั้งที่ 2 “พลิกวิกฤตเป็นโอกาสปฏิรูปการเรียนการสอน แม้โรงเรียนยังต้องล็อกดาวน์”
วันที่ 4 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 – 15.30 น.
ถ่ายทอดสดผ่านทาง
เพจ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
เพจ I AM KRU สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน
เพจ TEP – Thailand Education Partnership ภาคีเพื่อการศึกษาไทย