“ห้องเรียนฟื้นฟู” กล้ามเนื้อบกพร่องในเด็กประถมต้น เด็กๆ ดีขึ้นได้ใน 14 วัน

บทบาทของ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” ในสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้

ดร.อุดม วงษ์สิงห์  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพ ครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวไว้ว่า 

ทำไมเราถึงเชื่อว่า ‘โรงเรียนจะพัฒนาตนเองได้’ เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หัวใจการจัดการเรียนรู้คือห้องเรียน แต่ว่าห้องเรียนก็คงไม่ได้ตั้งอยู่ในที่สาธารณะทั่วไป แต่ตั้งอยู่ในโรงเรียน ดังนั้นห้องเรียนกับโรงเรียนจึงเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ เราก็เลยหันไปดูไกด์ไลน์ของการทำงาน และเราก็มองว่ามีใครบ้างที่พูดถึงเรื่องนี้

กสศ.ไปเจองานวิจัยชิ้นสำคัญของจอห์น แฮทที (John Hattie) เรื่อง Visible Learning (2008) แนวคิดที่ตอบโจทย์การทำงานอย่างหนึ่งคือ การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (whole school approach)   และการวิจัยว่ามีปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อการเรียนรู้หรือคุณภาพของเด็กหรือผู้เรียนบ้าง จากการวิจัยก็ได้มาเป็น 6 เรื่องที่สำคัญๆ คือ

  1. ครูต้องรู้จักศักยภาพของเด็ก
  2. การรวมพลังของครูทั้งโรงเรียน
  3. นักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวเอง
  4. การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย
  5. การปรับเปลี่ยนวิธีการออกแบบการเรียนรู้ของครู
  6. การดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงหรือการจับสัญญาณเด็กนักเรียนให้ได้
ดร.อุดม วงษ์สิงห์  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพ ครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ.

โรงเรียนพัฒนาตนเอง กสศ. จึงนำแนวคิดทั้ง 6 เรื่องมาออกแบบกระบวนการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ได้แก่ 1. ระบบบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพ และ 2. นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้จนกลายเป็นต้นแบบ ในการขยายผลเชิงระบบร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดของตนเอง อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (System change) และช่วยผลักดันต้นแบบดังกล่าวสู่ระดับนโยบายต่อไป

นอกจากข้อค้นพบจากการดำเนินงานมาแล้ว 6 มาตรการที่เป็น Intervention สำคัญในโรงเรียนพัฒนาตนเองได้แก่ 

1. การตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย 2. กระบวนการ PLC 3. สารสนเทศที่มีคุณภาพ 4. การสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน 5. นวัตกรรมจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน และ 6. ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล 

ทำให้เกิดการสะท้อนผลจากข้อมูลให้เห็นปัญหาและแนวทางฟื้นฟูนักเรียนขึ้นจากกระบวนการการทำงานของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองในเครือข่ายร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ระหว่างภาคเรียนที่ 1 /2565 ที่ผ่านมา

แนวทางและเป้าหมาย

“การเรียนรู้แบบบูรณาการ” เพื่อออกแบบห้องเรียนที่จะช่วยฟื้นฟูพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อให้เด็กวัยประถมต้นภายใน 2 สัปดาห์ มีห้องเรียนตัวอย่างอยู่ที่ชั้นประถม 2 โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) จังหวัดปัตตานี

การแก้ปัญหาความถดถอยของฐานกายนั้น เราให้ความสำคัญกับการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนอย่างใส่ใจ เข้าใจ และการตั้งเป้าหมายในการแก้ปัญหาให้ชัดเจน ดำเนินการเป็นลำดับ ต่อเนื่องสม่ำเสมอ เป็นระบบ ประเมินผลเป็นระยะๆ วิเคราะห์พัฒนาการและพฤติกรรมนักเรียนให้เป็นปัจจุบัน และออกแบบกิจกรรมยกระดับพัฒนาการ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวง PLC กับโค้ช 

กิจกรรมที่กระตุ้นการพัฒนาฐานกายแบบบูรณาการได้ดี จะต้องทำให้เด็กได้ใช้ร่างกายหลายส่วนร่วมกันขณะทำกิจกรรมและเด็กได้จัดท่าทางให้ส่วนต่างๆเหล่านั้น มีการเคลื่อนไหวในท่าทางที่หลากหลาย และมีระดับที่ต่างกัน รวมถึงได้ใช้ความคิด ได้แก้ปัญหา ได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ได้สื่อสาร ได้ฝึกควบคุมการออกแรง การทำตามกติกา เป็นต้น 

ทั้งนี้ครูสามารถออกแบบกิจกรรม และกำหนดความถี่ของการใช้กิจกรรมต่างๆได้ตามเป้าหมายในการแก้ปัญหาให้ได้ผลจริง รวมถึงการเก็บข้อมูลพัฒนาการ และค่าแรงบีบมือของเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อติดตามและประเมินผล

ตัวอย่างจาก 3 โรงเรียนพัฒนาตนเอง

ครูจรรยารักษ์ สมัตถะ 
โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) จังหวัดปัตตานี

เพื่อฟื้นฟูนักเรียนควบคู่ไปกับการเรียนการสอนตามปกติ  โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ  ได้ใช้เทคนิคตามแนวทางของโรงเรียนพัฒนาตนเอง ดังนี้

  1. นั่งสมาธิตอนเช้าก่อนเข้าเรียน  เพื่อสะท้อนความรู้สึกว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง ฝึกให้เด็กกล้าแสดงความรู้สึกของตัวเองก่อน 
  2. หนึ่งชั่วโมงก่อนเลิกเรียนฝึกกิจกรรมฐานกายที่ช่วยส่งเสริมการจดจำด้านร่างกาย ทำให้เด็กๆ สนุกและได้ความรู้ไปพร้อมกัน  เช่น เดินต่อเท้า เดินกะลา กระโดดเชือก  เคลื่อนไหวเล่นตามสติ๊กเกอร์ ฯลฯ โดยจะมีทั้งหมด 13 ฐาน  และเลือกทำวันละ 3 ฐาน  เมื่อเด็กทำได้แล้วแต่ละฐานก็จะหาวิธีที่ท้าทายหรือยากขึ้นเพื่อเพิ่มพัฒนาการให้แก่เด็ก
  3. การเล่มเกมเป็นกลุ่ม ทำให้ทักษะทางสังคมของเด็กๆ ดีขึ้น  เพราะได้ฝึกทั้งทักษะการวางแผน การเจรจาวางแผนและการทำงานเป็นกลุ่ม  
  4. เล่านิทานสั้นๆ สัปดาห์ละ 1 เรื่อง  และให้เด็กๆ  แสดงละครจากนิทาน
  5. ประสานงานกับผู้ปกครอง  ว่าถ้าเด็กเล่นอะไรแปลกๆ ก็อย่าเพิ่งตกใจเพราะครูกำลังสอนให้เด็กฟื้นฟูกล้ามเนื้อ  เช่น กระโดดหนังยาง กระโดดเชือก บางบ้านก็ไม่กล้าให้เล่นเพราะกลัวอันตราย ครูเลยให้ทำที่โรงเรียนจนชำนาญก่อนแล้วค่อยไปเล่นต่อที่บ้าน ภายหลังพ่อแม่เริ่มเห็นด้วยเลยร้อยหนังยางและซื้อเชือกให้ลูกกระโดดที่บ้าน

ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า

  1. นักเรียนรู้หน้าที่ตัวเองมากขึ้น เช่น เข้าแถวตอนเช้าจะต้องมีผู้นำร้องเพลงและทำกายบริหาร  เด็กจะผลัดกันทำหน้าที่นี้โดยครูไม่ต้องบอก รวมถึงควบคุมดูแลกันเอง แบ่งหน้าที่กันได้ 
  2. นักเรียนอ่านและสะกดคำได้ดีขึ้น จากตอนแรกที่อ่านได้ 3 คน ตอนนี้อ่านได้ 15 คนแล้ว แม้จะเป็นแค่พื้นฐานเพราะส่วนที่เหลือยังต้องฝึกการออกเสียงอีก แต่อย่างน้อยก็จำพยัญชนะได้แล้ว และกำลังจดจำการออกเสียงเพิ่มขึ้น

รอยยิ้มของเด็กคือการประเมินผลที่ดีที่สุดของครู

“หลังจากฟื้นฟูครบ 2 สัปดาห์ก็พบว่าเด็กขาดเรียนและป่วยน้อยลง  เด็กนั่งได้และยืนในห้องน้อยลงแม้จะตื่นสายแต่ก็ยังมาโรงเรียน อุปกรณ์การเรียนพร้อมขึ้น มีรอยยิ้มมากขึ้น รวมถึงเด็กทะเลาะกันน้อยลงและมีวิธีการไก่เกลี่ยมากขึ้น บุคลิกดีขึ้นจนสามารถยืนเคารพธงชาตินิ่งๆ ได้  

“การได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ กลับคืนมานั้นชื่นใจมาก อยากฝากถึงเพื่อนครูทั่วประเทศว่าถึงจะมีปัญหาแต่เราก็ค้นหาวิธีแก้ได้  ให้ลองเปลี่ยนวิธีการสอน อยากให้นึกถึงธรรมชาติของเด็กทุกคน ว่าการได้เล่นสนุกและเคลื่อนไหวร่างกายนี่แหละที่จะช่วยพัฒนาฐานกายอย่างเป็นธรรมชาติ  ซึ่งร่างกายก็จะส่งผลโดยตรงต่อสมอง และที่สำคัญคือไม่ใช่ทำแค่ 2 สัปดาห์แล้วจบไป แต่จะต้องทำต่อไปเรื่อยๆ การเริ่มต้นเห็นผลดีแต่ยังไม่สามารถฟื้นฟูได้ทั้งหมด”

ครูอาริดา ดลภาวิจิต
โรงเรียนผังปาล์ม 2 จังหวัดสตูล

“เรารู้อยู่แล้วว่าเด็ก ป.1-ป. 3 กลับมาเทอมนี้น่าจะมีอาการ Learning Loss ก็เลยเตรียมฟื้นฟูเด็กๆ ทั้งการปรับความพร้อมและปรับพื้นฐานเรื่องการฝึกอ่าน เขียน และคิดคำนวณ คิดว่าหนึ่งเดือนน่าจะสอนตามตัวชี้วัดของหลักสูตรได้ แต่พอผ่านไปหนึ่งเดือนแล้ว เด็กๆ ส่วนใหญ่ก็ยังไม่พร้อมเลย ยังไม่สามารถอ่านหรือเขียนนานๆ ได้”

ครูอาริดาบอกว่าการพัฒนาฐานกายควบคู่กับการเขียนนั้น  ทางเขตพื้นที่ให้นโยบาย “เด็กสตูลลายมือสวย”  โดยให้แบบฝึกหัดเขียนเล่มใหญ่มา  แต่พอเห็นว่านักเรียนแทบทุกคนมีปัญหาเรื่องการเขียนก็มาทบทวนกันว่าต้องพัฒนาฐานกายควบคู่กัน ที่ผ่านมาเด็กจับดินสอผิดหมดเลย บางคนนอนเขียน บางคนน้ำหนักมือเบาเกินไป บางคนออกแรงกดมากเกินไป  เลยแก้ปัญหาด้วยการเอาดินน้ำมันเข้ามาใส่ในอุ้งมือเพื่อช่วยในการเขียน 

“หลังจากเข้ากุล่มห้อง PLC ของ มอ. และได้ฟังเรื่องห้องเรียนโรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) จังหวัดปัตตานี เลยเพิ่งรู้สาเหตุ ทำให้มองเด็กๆ ในมุมใหม่ และกลับมาทำ PLC ในโรงเรียนกับเพื่อนครูว่าปัญหาที่เราเจอคือเรื่องฐานกายของเด็ก  ต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยเด็ก ตอนนี้เลยทำตั้งแต่ ป.1 ถึงป.3 โดยเริ่มจากการทดสอบสมรรถนะการวัดแรงบีบมือ ผลคือจากเด็กทั้ง 23 คน ไม่มีใครถึงเกณฑ์เลยสักคน

“ตอนนี้เลยเริ่มจากทดสอบสมรรถนะเด็กก่อน  พบว่าเด็กยังยืนขาเดียวไม่ได้ ทรงตัวแล้วจะล้ม ตอนนี้เลยเสริมฐานกายเข้าไปเพื่อให้เด็กเตรียมพร้อมด้านร่างกายก่อน ให้ได้ยืดเส้นยืดสายผ่อนคลาย เต้นตามเพลงบีบมือคลายมือ โดยขอความร่วมมือจากครูทุกท่านว่าก่อนเริ่มสอนให้ช่วยเพิ่มการออกกำลังกายบริหารแบบที่ทำตอนเช้าก่อนเข้าแถวด้วย ตอนนี้เราเพิ่งทดสอบสมรรถนะเด็กไปตามรูปแบบของวิชาพละเพื่อเก็บข้อมูลดูว่าเด็กบกพร่องตรงไหน จะได้มาออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกัน

เมื่อก่อนเราหนักใจเวลาเห็นเด็กเขียนไม่ได้ จะคิดแค่ว่าเขาขี้เกียจก็เลยฝึกให้เขียนมากขึ้นจนเด็กเหนื่อย แต่พอเราเข้าใจก็ค่อยๆ ให้เขาฝึก เด็กก็ผ่อนคลายขึ้นด้วย ทำให้ค่าเฉลี่ยเริ่มดีขึ้นแม้จะไม่มากแต่ก็หวังว่าจะดีขึ้นต่อๆ ไป ตอนนี้เราคุยเรื่อง PLC กันในครูทุกคน เพราะปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเจอ เจอมาทุกปีเวลาเปิดเรียน แต่ไม่เคยรู้ว่าเกิดจากอะไรและก็ไปต่อว่าเด็ก แต่พอเห็นแบบนี้ก็เลยเข้าใจมากขึ้น  หวังว่าครูจะช่วยกันคัดกรองเด็กเพื่อจะได้ช่วยเหลือเขาก่อนจะเร่งเรียน

“การพัฒนาฐานกายต้องมาจากครอบครัวเป็นอันดับแรก จึงขอความช่วยเหลือจากครอบครัวก่อน โดยทางผู้อำนวยการได้เรียกประชุมผู้ปกครองเพื่อให้เห็นความสำคัญของฐานกาย ทางโรงเรียนจะมีตัวอย่างให้ว่าเด็กสามารถช่วยทำงานบ้านอะไรได้บ้าง เพื่อพ่อแม่จะได้ให้เด็กทำ ดังนั้นความช่วยเหลือของผู้ปกครองจึงจำเป็นมาก”

ครูถนิมรักษ์ วังภูงา
โรงเรียนบ้านอ้อตลิ่งชัน อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์

“เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราพบว่าจากเด็กนักเรียนทั้งหมด 18 คน มีที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้อยู่ 5 คน  ครูจึงต้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น รวมถึงลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อดูว่าสามารถพัฒนาด้านใดได้อีก เช่น การช่วยทำงานบ้าน หรือเพิ่มความสามารถพิเศษอื่นๆ ของเด็ก” 

ครูถนิมรักษ์ย้ำว่า “สิ่งสำคัญคือครูต้องไม่กังวลว่าเด็กจะเรียนไม่ทัน” เพราะต้องมุ่งแก้ปัญหาเรื่องฐานกายก่อนเป็นอันดับแรก การสอนเสริมช่วงกลางวันนั้นต้องทำทุกวัน วันละประมาณ 20 นาที  นอกจากนี้การดูแลใส่ใจจากทุกฝ่ายจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

“การได้เข้าร่วมโครงการ TSQP ของ มอ. และ PLC รุ่น 1  มีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้ครูรู้วิธีพัฒนาเด็ก เราได้ปรึกษาอาจารย์อัมพร ศรประสิทธิ์ ว่าเด็กระดับนี้ยังพัฒนาทันไหม พอรู้ว่าทันก็ค่อยๆ ฝึกเรื่องกล้ามเนื้อของเด็กและสอดแทรกการสอนแบบบูรณาการร่วมด้วย จากการได้ลองทำกิจกรรม ผลคือเด็กๆ ชอบเล่นเกมมาก เด็กๆ ส่วนใหญ่จึงมาโรงเรียนสม่ำเสมอ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องขาดเรียน ลาป่วย หรือมาสาย  เด็กชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น การไปดูธรรมชาติ ถ้าเรายังสอนแบบเดิมคือการให้ใบงานอย่างเดียว  เด็กจะไม่ได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่

“ครูมีผลมากโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมให้เด็ก หากครูมีความรู้และทักษะในเรื่องนี้จะสามารถช่วยเด็กได้มาก หมั่นหาวิธีการสอนที่จะพัฒนาได้ถูกต้องกับบริบทของเด็ก ครูจึงต้องหมั่นหาความรู้อยู่เสมอ ขอบคุณโครงการ TSOP ที่กระตุ้นโรงเรียนเรา ทำให้ครูที่นี่ทุ่มเทกันมาก สิ่งนี้ไม่ได้ทำเพื่อแข่งกับใคร แต่เราทำเพื่อให้โรงเรียนเราเป็นห้องเรียนคุณภาพทุกห้อง”

การได้รับ “ความร่วมมือร่วมใจ” จากทุกฝ่าย 
ไม่ว่าจะเป็นเหล่าคุณครูที่ทุ่มเท 
พ่อแม่ที่มีความพร้อม 
นโยบายโรงเรียนที่ใส่ใจ 
รวมถึงการเข้าร่วมโครงการ TSQP…
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ช่วยให้โรงเรียนผ่านพ้นวิกฤต Learning Loss ไปได้