โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเจริญ
คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
ปฐมวัยที่เข้มแข็ง
สาเหตุที่ทำให้เด็กท้อแท้กับการเรียน คือ การมุ่งเป้าเรื่องวิชาการในระดับปฐมวัย จนลืมเรื่องการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ผ่านกิจกรรมเรียนรู้ที่นักเรียมีความสุข ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัยสู่ระดับชั้นประถมศึกษา ส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้พัฒนาการของประสาทสัมผัสและการรับรู้การเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อมือถดถอยลง ซึ่งระบบเหล่านี้ทำงานคู่กันกับระบบสมอง นัยคือการพัฒนาระบบสมองจะถดถอย
กิจกรรมของปฐมวัยจึงควรเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กๆ ได้ฝึกการใช้ประสาทสัมผัสความเชื่อมโยงกันระหว่างสายตา เช่น การหยิบ จับ การสัมผัสที่เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ให้มีการทำงานประสานร่วมกับการเรียนรู้ของสมอง ช่วยให้มีความพร้อมที่จะไปจับดินสอเพื่อฝึกเขียนเส้นตรงหรือเขียนตัวอักษรตามพัฒนาการของเด็ก กล้ามเนื้อที่ถูกฝึกมาดีจะทำให้สมองถูกพัฒนาไปด้วย
การพัฒนาเด็กตามช่วงวัยมีความสำคัญอย่างมาก การใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กปฐมวัยในด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ทักษะชีวิต และทักษะการคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญอย่างมากกับการเติมเต็มรอยต่อระหว่างเด็ฏปฐมวัยสู่นักเรียนระกับชั้นประถมศึกษา ซึ่งการเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดอย่างอิสระเป็นการพัฒนากระบวนการคิดสร้างสรรค์ การกำกับตนเองและมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นได้ ถือว่าเป็นการสร้างรากฐานของปฐมวัยที่มั่นคง ซึ่งย่อมนำไปสู่นักเรียนที่มีทักษะการเรียนรู้ในระดับชั้นประถมศึกษา ทักษะเหล่านี้จะนำพานักเรียนให้มีความสำเร็จในด้านวิชาการที่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ความร่วมมือระหว่างครอบครัวและโรงเรียน
สถานการณ์การเรียนรู้ของเด็กประถมต้นตอนนี้ต้องใช้คำว่า “ซ่อม” เพราะมันหนักมาก สิ่งที่จะช่วยเติมเต็มได้ ณ ตอนนี้คือการขัดเกลาในครอบครัว (Family Socialization) คือครอบครัวกับโรงเรียนต้องทำงานประสานกัน จะเป็นภาระใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้เลย ต้องช่วยกันเติมเต็มนักเรียนและเติมเต็มกันและกัน ยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ผู้ปกครองเป็นคนที่หาเช้ากินค่ำ พอสถานการณ์โควิดมา ไม่มีงาน ไม่มีอาหาร ผู้อำนวยการกับครูเลยมองกันว่าจะเอาตัวชี้วัดทั้งหมดมารวมกัน แล้วทำโครงการเรื่องการเจริญเติบโตของต้นไม้ สุดท้ายฐานคิดของโรงเรียนคือเอาผลผลิตที่ได้ไปทำอาหารให้ผู้ปกครองกินช่วงโควิด เราต้องหาครูกับผู้บริการแบบนี้ให้ได้ คือคนที่รู้จักวิชาการ รู้จักชุมชน รู้จักผู้ปกครอง ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน
การปรับตัวของครู
1 ครูต้องปรับความคิด อย่าเน้นแค่วิชาการแต่ให้เน้นเรื่องทักษะต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิด ทักษะการกำกับตนเอง เป็นต้น
2 ครูต้องเป็น Co-creator กับทุกภาคส่วน ทำหน้าที่บริหารด้วย สอนแบบธรรมดาไม่ได้แล้ว ทำงานคนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องคุยกับผู้อำนวยการได้ว่าจะของบประมาณเท่านี้เพื่อมาทำงานตรงนี้ ต้องคุยกับผู้ปกครองได้ว่าลูกของผู้ปกครองเป็นแบบนี้นะ คุยกับชุมชนได้ว่าอยากให้ชุมชนมาช่วยเติมตรงนี้
โรงเรียนกับการฟื้นฟูความรู้ถดถอย
โรงเรียนที่มีเป้าหมายการพัฒนาตามศักยภาพหรือวัยของเด็กจะสามารถเติมเต็มเด็กได้ เพราะถ้าเราปล่อยให้เด็กเรียนไม่ได้ ความท้อแท้จะเกิดขึ้นตามมา
เมื่อขึ้นประถมศึกษา ทักษะต่างๆ เช่น การกำกับตัวเองในการเรียนรู้ กระบวนการคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่ต้องอยู่กับเด็กในระยะยาว ถ้าไม่มีทักษะเหล่านี้ชีวิตทั้งชีวิตจะหายไป ซึ่งการกำกับตนเองเป็นเรื่องที่ต้องบ่มเพาะในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับปฐมวัยไปจนถึงวัยผู้ใหญ่อย่างพวกเรา มันคือการรู้ว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร วางแผนได้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง จะต้องหาข้อมูลอะไรมาเติมเต็มตรงนี้เพื่อที่จะดำเนินการตามแผน แม้เจอปัญหาก็ไม่ย่อท้อ สามารถใช้เป็นบทเรียนและส่งเสริมตัวเองให้ไปบรรลุเป้าหมายนั้นได้
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเปิดกว้างให้เด็กลองผิดลองถูกจากการปฏิบัติตั้งแต่อนุบาล ฝึกกระบวนการคิดจากการลงมือปฏิบัติ ให้เขาลองคิดว่าที่กำลังลงมือปฏิบัติ อะไรคือดี อะไรคือไม่ดี ถ้าไม่ดีจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้นกว่าเดิม เขากำลังเรียนรู้กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ถ้าประถมถูกฝึกอย่างนี้ เวลาเด็กได้โจทย์อะไรมา สมองจะทำงานทันทีเลยว่าต้องทำอย่างไร
ถ้าครูสอนแล้วนักเรียนไม่เกิด Active Learning คือจบ ดังนั้นการสอนของครูต้องปรับแล้ว Active Learning จริงๆ ต้องกลับมาแล้ว คือสอนและบ่มเพาะให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง จากการลงมือปฏิบัติ เมื่อใดก็ตามที่สถานการณ์แบบโควิดกลับมาอีกก็จะไม่มีผลอะไร เพราะนักเรียนสามารถกำกับตนเองในการเรียนรู้ได้
แนวคิดที่จะเอามาใช้เป็นรูปแบบการสอนก็แล้วแต่ความถนัดกับจุดประสงค์ เช่น การใช้วิจัยเป็นฐาน การใช้โครงงานเป็นฐาน การใช้ชุมชนเป็นฐาน แต่เวลาสอนบรรยากาศที่เกิดขึ้นต้องเป็นแบบ Active Learning เด็กเป็นคนวางแผนทำให้กระบวนการคิดถูกพัฒนาโดยอัตโนมัติ เขาจะสะท้อนได้ว่าที่ทำลงไปนั้นความรู้หลักๆ คืออะไร แล้วถ้าต้องการต่อยอดจะต้องไปหาอะไรอีก เขาจะเสาะแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ
พื้นฐานที่ไม่แข็งแรง ทำให้มีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
โควิดไม่ได้แค่ทำให้การเรียนรู้ถดถอยแต่ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นด้วย เด็กที่ไม่มีอยู่แล้ว เจอโควิดเข้าไปยิ่งหนัก โอกาสหายไปเลย เด็กกลุ่มนี้น่าสงสารมาก ถ้าโรงเรียนไหนมีการทำข้อมูลเด็กที่ไม่ได้รับโอกาสแล้วช่วยเติมเต็มเด็ก เขาจะอยู่ในระบบได้ แต่ถ้าโรงเรียนไหนที่ไม่ได้มองเด็กกลุ่มนี้เลย เขาหลุดออกไปสู่ชุมชน ก็อยู่ที่มือของชุมชนแล้ว ผู้นำชุมชมคอยช่วยเก็บตก เติมทักษะชีวิตเข้าไป แม้ไม่มีการศึกษาแต่ขอให้มีอาชีพ แต่ถ้าทั้งโรงเรียนและชุมชนไม่ช่วย เด็กมีฐานคิดที่ดีเขาก็จะไปในทางที่ดี แต่ถ้าเขามีฐานคิดไม่ดีเขาก็จะเป็นปัญหาของสังคมต่อไป
ส่วนใหญ่เด็กด้อยโอกาสเหล่านี้มีฐานมาจากผู้ปกครองที่อาจจะมีฐานะยากจน หรือมีความไม่พร้อมในเรื่องความเป็นครอบครัว ดังนั้นชุมชนกับโรงเรียนต้องร่วมมือกัน การทำงานแบบภาคีพื้นที่จึงมีความสำคัญมากในการช่วยเหลือให้เด็กกลุ่มนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาให้ได้