ภาวการณ์ถดถอยทางการเรียนรู้ในเด็กเล็กฉุกเฉิน…แต่ยังมีทางออกต้องเริ่มวันนี้!

โดย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

สองปีที่ผ่านมา เด็กไทยจำนวนมากต้องเผชิญกับสภาวะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ในการไปโรงเรียน ซ้ำร้ายการเรียนผ่านหน้าจอยิ่งไม่ตอบโจทย์เด็กเล็ก ๆ หรือเด็ก ๆ ที่อยู่ในขวบปีของปฐมวัย พวกเขาต้องการการการฝึกฝนเพื่อใช้ร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ การกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัสทางกาย เพื่อให้เกิดทั้งพัฒนาการด้านร่างกายและสมองที่สอดคล้องกัน สองปีกว่าที่ผ่านมาพวกเขาใช้ร่างกายได้น้อยลง ส่งผลให้ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษาถดถอยตามไปด้วย 

ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย หรือ learning loss สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นได้รับการยืนยันด้วยงานวิจัย “โครงการสำรวจและประเมินความพร้อมเด็กปฐมวัยเข้าสู่ระบบการศึกษา (School Readiness) จากสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. โดย รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง และคณะ 

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาความพร้อมของเด็กปฐมวัยในการเข้าสู่การเรียนรู้ในระดับประถมศึกษา ที่ต้องอาศัยพื้นฐานด้านภาษา คณิตศาสตร์ และ Executive Functions หรือ EFs รายงานชี้ให้เห็นถึงวิกฤตการเรียนรู้ถดถอยในหมู่เด็กเล็กว่าเมื่อเด็กมาโรงเรียนไม่ได้ในแต่ละวัน พวกเขาเสียโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นไปแทบทั้งหมด และการเรียนรู้จะถดถอยมากขึ้นไปอีกเมื่อพวกเขาเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินไม่ดีนัก เด็กยากจนพิเศษมีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์และภาษาต่ำกว่าเด็กทั่วไปอย่างมีนัยยสำคัญ และนี่เป็นเพียงวิกฤตส่วนแรก 

วิกฤตส่วนที่สองคือเมื่อสถานศึกษาปิด เด็ก ๆ ต้องอยู่ที่บ้าน การเรียนรู้จึงต้องพึ่งพาหน้าจอเป็นหลัก ทำให้เด็กใช้เวลากับหน้าจอเพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งหลายบ้านไม่มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนทางไกล หรืออยู่กับผู้สูงอายุ ทำให้การเรียนรู้ที่บ้านแทบไม่ก่อผล และก่อให้เกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก 

พ.ศ.2564 ที่ผ่านมาเด็กตั้งแต่อายุ 5 ปี ถึง 10 ปีใช้จอในการเรียนเพิ่มขึ้นมากถึง 800-1,000 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หากนับเฉพาะเวลาที่เด็กเล่นเกมส์ หรือดูรายการผ่านคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต โทรศัพท์มือถือ นี่ยังไม่ได้รวมเวลาที่เด็กใช้จอไปกับการเรียนหากพวกเขาเข้าถึงอุปกรณ์ 

เมื่อเด็กพึ่งพาหน้าจอมากขึ้น พวกเขาก็อ่านหนังสือน้อยลง เวลาที่ผู้ปกครองใช้เพื่ออ่านหนังสือให้เด็กฟังก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั่วไปแล้วผู้ปกครองจะอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลงเมื่อพวกเขาเข้าโรงเรียนแล้วเพราะเป็นหน้าที่ของโรงเรียน แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าจำนวนนาทีเมื่อเทียบกันในกลุ่มเด็กอายุ 5-6 ปี ระหว่างพ.ศ.2562 และ 2564 นั้นลดลงไปถึง 10 นาที โดยในปีพ.ศ.2564 นั้นครอบครัวใช้เวลาอ่านหนังสือกับเด็กช่วงอายุ 6 ปีไม่ถึง 10 นาทีต่อสัปดาห์ วิกฤตจึงโควิดไม่ได้เพียงแต่ทำให้เด็ก ๆ ไปโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่ได้เท่านั้นแต่ได้เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูของผู้ปกครองไปไม่มากก็น้อยด้วย

พื้นฐานทักษะที่หายไปของเด็กปฐมวัยนั้นจำเป็นต่อการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การคิดเลข หรือการอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องไม่หลุดออกไปกลางคัน ทักษะเหล่านี้เป็นพื้นฐานของทักษะที่ต้องนำไปต่อยอดในระดับประถมศึกษา เช่น เมื่อเด็กจับดินสอได้ไม่ดี พวกเขาจะเขียนไม่ได้ ส่งผลต่อทักษะด้านภาษา ข้อจำกัดทางการเรียนรู้ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดปัญหาระยะยาวต่อเด็ก ๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับวิกฤตโควิด พื้นฐานที่สำคัญซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กในสภาวะเช่นนี้คือการพัฒนาฐานกาย หากเด็กคนหนึ่งจะจดจ่อเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายและสมองของพวกเขาต้องทำงานสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ทุกระบบในร่างกายร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น เมื่อนั่งโต๊ะ แกนกลางลำตัว แขน ขา ระบบการทรงตัว สายตาก็จะทำงานร่วมกันและสมองเป็นศูนย์การในการสั่งงาน เมื่อเด็ก ๆ ห่างหายจากการฝึกฐานกายไป และหากไม่เกิดการจัดการรื้อฟื้นซ่อมแซม รศ. ดร.วีรชาติ กิเลนทองมองว่า “เราจะเสียเด็กไปทั้งรุ่น”

จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กกำลังอยู่ในภาวะถดถอยทางการเรียนรู้

จากการวิจัยในพื้นที่เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง 6 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา สตูล นครศรีธรรมราช นราธิวาส ยะลา ปัตตานี) พบภาวะฉุกเฉินด้านพัฒนาการของเด็กประถมต้น โดยครูและผู้ปกครองที่กำลังดูแลเด็ก ๆ ระดับประถมต้นอยู่สามารถสังเกตอาการต่าง ๆ เช่น 

– เด็ก ๆ ลุกนั่งตัวตรงเรียนต่อเนื่องไม่ได้

– ไม่มั่นใจ ไม่โต้ตอบกับผู้ใหญ่

– ตอบคำถามต่าง ๆ หรือสนทนาเป็นคำ ๆ หรือ ประโยคสั้น ๆ ไม่สามารถเล่าเป็นเรื่องได้

– เดินลงบันไดต้องใช้สองมือจับบันได 

– หยิบ จับ ของไม่คล่อง ทำหล่นบ่อย

– เขียนหนังสือช้า จำสระ พยัญชนะ ไม่ได้ ทำไม่เสร็จ

เหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการขาดการพัฒนาด้านร่างกายและสมองในช่วงสองปีที่ผ่านมา หากยกตัวอย่างเพียงทักษะพื้นฐานอย่างการหัดเขียนพยัญชนะสักหนึ่งตัว เด็กต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่นิ้วจับดินสอบ ควบคุมทิศทางการลากเส้น แรงกดด้วยการเคลื่อนไหวข้อมมือ เชื่อมโยงกับการที่พวกเขาต้องนั่ง ลำตัวด้านหน้าหลัง สีข้างต้องใช้งานอย่างมั่นคง สะโพก ขา ต้องเป็นที่มั่นให้พวกเขา สายตาต้องทำงานเพื่อกะระยะต่าง ๆ ขณะเขียน ไม่ว่าจะเป็นช่องไฟ บรรทัด ความหนักเบา ทั้งระบบการควบคุมร่างกายให้เกิดสมดุล การทรงตัวในหูชั้นใน ระบบประสาทรับรู้ ระบบสมอง ทุกระบบทำงานไปพร้อมกัน 

จากการทดสอบเด็ก ๆ ในพื้นที่พบว่าเด็กป.2 จำนวน 1,980 คนจาก 70 โรงเรียนเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 98) มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ส่งผลต่อการเขียน และการเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษา

ฟื้นฟูฐานกายได้ หากทำทุกวัน เริ่มที่สองสัปดาห์

เด็ก ๆ ใช้ร่างกายสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและกระตุ้นการรับรู้ผ่านอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยพวกเขารับรู้ผ่านประสาทสรับความรู้สึก (sensory integration) ทั้ง 7 ประเภทและส่งสัญญาณไปที่สมอง กระตุ้นให้วงจรประสาทในสมองส่งสัญญาณต่อไปที่อวัยวะต่าง ๆ เชื่อมโยงเป็นวงจร และเด็ก ๆ จะตอบสนองต่อสัญญาณเหล่านั้นผ่านพฤติกรรม กลายเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ในที่สุด

เมื่อพบว่าเด็ก ๆ มีปัญหาฐานกายตรงจุดใด คุณครูสามารถวางเป้าหมาย และออกแบบกิจกรรมช่วยให้เด็ก ๆ ฝึกอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง สังเกต และเปรียบเทียบผลก่อนหลัง เช่น

กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ทั่วร่างกาย ได้แก่ การเดินต่อเท้า การกระโดดรูปแบบต่าง ๆ เช่น ขาเดียว ขาแยก ข้ามเครื่องกีดขวาง การนอนหงายยกศีรษะโดยไหล่ติดพื้น การเดินทรงตัว การมุดลอด และการดึงและโหนสิ่งของจำพวก ยาง หรือเชือก

กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การใช้นิ้วยืดเหยียดหนังยาง การหมุนนิ้ว การใช้นิ้วเคลื่อนไหวสลับกัน การฝึกใช้นิ้วและมือจับของชิ้นเล็ก ๆ อย่างเช่นเมล็ดพืช การตัดแปะ งานประดิษฐ์ต่าง ๆ การเล่นสีซอด้วยเชือก หรือการเล่นพันด้ายที่นิ้ว การร้อยลูกปัด

ที่สำคัญการฝึกฝนการจับดินสอให้ถูกต้องโดยใช้สามนิ้วจับใกล้ปลายดินสอก็เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ได้

กิจกรรมฝึกการทรงตัว เช่น การเดินกะลา การเดินต่อขา การเดินไม้ม้านั่ง การยืน 1 ขาบนลูกบอล การยืนขาเดียว การใช้นิ้วเท้าหยิบถุงเท้าหรือเศษผ้า

เหล่านี้สามารถนำมาบูรณาการเข้ากับทักษะเช่น ภาษาและคณิตศาสตร์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น จำนวนนับ พยัญชนะ สระ คำ ที่เด็ก ๆ ต้องได้รับการฟื้นฟูให้รู้จัก

การวางแผนฝึกการแก้ปัญหาฐานกายของเด็กนั้นต้องมีระยะเวลาและเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเริ่มต้นที่สองสัปดาห์ โดยทำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอต่อการฟื้นฟู เมื่อเริ่มต้นทำกิจกรรมฐานกายอย่างต่อเนื่องทุกวันเริ่มต้นเป็นเวลาสองสัปดาห์ โดยครูและผู้ปกครองควรสังเกตและบันทึกข้อมูลรายบุคคล รวมถึงเปรียบเทียบผลก่อนหลัง โดยจะเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ 

ในแง่การเรียนรู้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กวัยนี้คือความสุขที่ได้เรียนรู้ในทุก ๆ วัน เมื่อพวกเขามีทักษะที่เพียงพอต่อการต่อยอดไปข้างหน้า พวกเขาทำได้ ก็จะมีความมั่นใจ และอยากเรียนรู้ต่อไปไม่หยุดยั้ง การหยุดยั้งวิกฤตภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัยที่กำลังอยู่ในวัยประถมต้นนี้จึงเป็นงานที่ทั้งบ้านและโรงเรียนต้องทำแบบเอาจริงเอาจัง เพื่อให้เกิดพัฒนาการที่สมวัย ที่จำเป็นต่ออนาคตของพวกเขา…และพวกเราทุกคน

เพราะเรารอแม้เพียงอีกหนึ่งวันไม่ได้
เรารอสูญเสียเด็กทั้งรุ่นนี้ไปไม่ได้