การเรียนรู้เริ่มต้นจากฐานกายเสมอ

โดย ครูเม-เมริษา ยอดมณฑป (เพจตามใจนักจิตวิทยา)

สร้างฐานกาย
ธรรมชาติของเด็ก คือ ‘การเล่น’ 
เล่นโดยใช้ร่างกายเคลื่อนไหว
เล่นโดยเริ่มต้นจากการปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม
และพัฒนาไปสู่การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน

เด็กปฐมวัยควรได้เคลื่อนไหวร่างกายหรือวิ่งเล่นจนหัวเปียกชุ่มประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน (Baumgartner, Jackson, Mahar, & Rowe, 2015) ซึ่งสามารถแบ่งเวลาวิ่งเล่นออกเป็นช่วงๆ ได้ เช่น ช่วงระยะเวลา 1 ชั่วโมงเช้าเย็น และช่วงระยะเวลา 30 นาทีย่อยๆ ระหว่างวัน เราไม่จำเป็นต้องทำต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง

วัยเด็กเต็มไปด้วยพลังและความอยากรู้อยากเห็น การเล่นที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่-เล็ก ผ่านการวิ่งเต็มแรง กระโดดไปมา ปั่นจักรยาน ปีนต้นไม้ ปีนป่ายสิ่งกีดขวางในสนามเด็กเล่น ขุดดิน เล่นทราย เล่นน้ำ เก็บหิน เก็บใบไม้ และอื่นๆ ทั้งนี้การระบายแรงอย่างเหมาะสมจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่และกติกาที่เหมาะสม ได้แก่ “กฎ 3 ข้อ” ไม่ทำร้ายตัวเอง (ไม่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ) ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำลายข้าวของ

การฝืนธรรมชาติของเด็กเล็ก

ในทางกลับกัน ถ้าหากเด็กเล็กต้องนั่งนิ่ง ไม่ว่าจะทำกิจกรรมนั่งโต๊ะในห้องเรียนนานๆ หรือการดูหน้าจอ  แม้ว่าเขาจะสามารถทำได้ แต่พลังงานที่มีมากมาย ผนวกกับสมองที่ต้องทำงานตลอดเวลา เมื่อจบกิจกรรมดังกล่าว เด็กอาจจะไม่สามารถอยู่นิ่งได้อีก เขาจะหาที่ระบายแรง

เด็กอาจจะอยู่ไม่สุข วิ่งไปมา ปีนนู่นปีนนี่ และเมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่น เด็กอาจจะลงเอยด้วยการทำพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม และเด็กที่ไม่ได้เล่นเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพออาจจะส่งผลต่ออารมณ์ เด็กอาจจะมีความหงุดหงิดงุ่นง่านได้ง่าย รวมทั้งการคงสมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดได้ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ทำกิจกรรมไม่เสร็จ และรอคอยได้ไม่นาน

ดังนั้นเด็กปฐมวัยควรได้รับการส่งเสริมในเรื่องของการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ เพื่อให้เขามีร่างกายที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ขั้นต่อๆ ไปในอนาคต

ทำไมเด็กเล็กจึงยังเขียนไม่ได้ดี?

คำตอบหลักฐานทางภาพถ่าย X-ray ทำให้เราได้มองเห็นความแตกต่างที่พบระหว่างเด็ก 2 ปี vs 7 ปีและผู้ใหญ่อย่างชัดเจนซึ่งส่งผลให้มือของเด็กเล็กทำงานได้ไม่ดีเทียบเท่าผู้ใหญ่

1 กระดูกข้อมือของเด็กวัย 2 ปี จะพบว่า กระดูกข้อมือยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ กระดูกหลายชิ้นยังเป็นกระดูกอ่อน (Cartilage) ในขณะที่กระดูกข้อมือของเด็กวัย 7 ปี และวัยผู้ใหญ่นั้นพบว่า กระดูกข้อมือเติบโตจนเกือบเต็มบริเวณตามลำดับ

2 ในมือของเด็กวัย 2 ปี ยังมีช่องว่างมากมาย ทั้งในบริเวณฝ่ามือและข้อต่อของนิ้วมือที่รอให้กล้ามเนื้อกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue: เนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวหรือพยุงอวัยวะให้คงรูปอยู่ได้) ให้เติบโตเพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น ในขณะที่เด็กวัย 7 ปี และวัยผู้ใหญ่นั้นพบว่า กล้ามเนื้อมีการเชื่อมต่อกันอย่างชัดเจน ส่งผลให้ข้อมือและนิ้วมือต่างๆ มีความแข็งแรงมากขึ้นตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เด็กก่อนวัยเรียนหยิบจับอุปกรณ์และสิ่งต่างๆ รวมทั้งควบคุมการขีดเขียนได้ไม่ได้เทียบเท่าเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ เราจึงพบว่า เด็กเล็กๆ มักทำของหลุดมืออยู่เสมอ

การเติบโตของเด็กๆ มักจะพัฒนาจาก สิ่งที่มีขนาดใหญ่ไปสู่สิ่งที่มีขนาดเล็กเสมอ ยกตัวอย่างเช่นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ควรพัฒนาก่อนกล้ามเนื้อมัดเล็ก

เด็กๆ ควรมีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ แขน ขา และแกนกลางลำดัว เพื่อที่เขาจะสามารถทรงท่านั่งอย่างมั่นคงและต่อเนื่องในช่วงวัยเรียน เคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเดิน การวิ่ง การขึ้นบันได และจึงไปปีนป่ายสิ่งต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว

ก่อนที่เขาจะพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ มือและนิ้วทั้งสิบของเขา ในการหยิบจับสิ่งต่างๆ และจับอุปกรณ์เพื่อขีดเขียน ตัด และอื่นๆ

“เด็กๆ สามารถหยิบจับสิ่งที่มีขนาดใหญ่ก่อนขนาดเล็ก”

เช่น 

ลูกบอลขนาดใหญ่ก่อนขนาดเล็ก
บล็อกไม้ชิ้นใหญ่ ก่อนตัวต่อพลาสติกขนาดเล็ก
สีเทียน/ดินสอขนาดใหญ่ ก่อนดินสอขนาดเล็ก
ตัวต่ออันใหญ่ ก่อนตัวต่อจิ๊กซอว์ขนาดเล็กติดกระดุมเม็ดใหญ่ ก่อนติดกระดุมเม็ดเล็ก

“การรับรู้สัญลักษณ์ที่มีขนาดใหญ่และไม่ซับซ้อนก่อนขนาดเล็กที่มีจำนวนมากและซับซ้อน”

ดังนั้นหากเรียงลำดับตามความง่าย-ยาก เด็กจะรับรู้เส้น-รูปทรง-ตัวเลข-ตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ใหญ่-ตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์เล็ก-ตัวอักษรภาษาไทย

ก่อนที่เด็กจะเขียนได้ กล้ามเนื้อมัดใหญ่กล้ามเนื้อเล็กแกนกลางลำตัวต้องแข็งแรงและทนทาน สมาธิและสมองของเขาพร้อมเปิดรับการเรียนรู้

1 Hand and finger strength: ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ เพื่อที่จะจับอุปกรณ์การเขียนได้

2 Crossing the midline: ข้ามเส้นกึ่งกลาง หากเด็กเอื้อมไปทั่วร่างกายเพื่อไปยังปลายทั้งสองข้างของร่างกายได้ จะสามารถเขียนทั้งสองแถบบนพื้นที่กระดาษได้

3 Correct pencil grasp: สามารถจับดินสอได้ถูกต้อง โดยต้องดูตามความเหมาะสมตามวัย

4 Hand eye coordination: ตาและมือประสานงานกันได้ดี เช่น ตามองมือเอื้อมจับสิ่งนั้นได้ถูกต้อง

5 A strong core: ความแข็งแรงของร่างกายแกนกลาง เพื่อที่จะนั่งเขียนได้อย่างมั่นคง

6 A strong neck: คอที่เเข็งแรงเพื่อที่จะนั่งเขียนโดยที่ศีรษะตั้งอยู่มั่นคง

7 A strong shoulders and wrists: ไหล่ ข้อมือทั้งสองข้างที่แข็งแรง เพื่อช่วยให้เขียนได้โดยไม่เมื่อยล้าไปเสียก่อน และลงน้ำหนักการเขียนได้เหมาะสม ไม่หนักหรือเบาจนเกินไป

8 Visual perception: การรับรู้ภาพ เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างภาพ เพื่อพัฒนาไปสู่การจดจำภาพ ตัวอักษรที่แตกต่างกัน

เตรียมความพร้อมมือก่อนเขียน

การเขียนหรือการใช้อุปกรณ์ที่ต้องใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางในการจับประคองและเคลื่อนไหว เด็กๆ จำเป็นต้องมีข้อต่อและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงพร้อมใช้งาน ด้วยเหตุนี้การเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อนั้นมีความจำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย เราไม่ควรให้เด็กเริ่มจากการเขียน แต่ควรเริ่มจากการเล่น

ตัวอย่างกิจกรรมที่สำคัญ

ปั้น

เราสามารถไล่ระดับจากสิ่งที่นิ่ม-แข็งได้ เช่น แป้งโดว์-ดินน้ำมัน-ดินเหนียว ให้เด็กๆ ได้กด นวด บีบ ดึง

กิจกรรมที่สามารถทำได้
การซ่อนของไว้ในแป้งโดว/ดินน้ำมัน เช่น หิน ลูกแก้ว โมเดลพลาสติก ให้เด็กๆ หาการเล่นบทบาทสมมติ ทำเค้ก ทำรางรถ และอื่นๆ

ฉีก-ตัด-แปะ

เราสามารถเริ่มจากการให้เด็กๆ ใช้มือเล็กๆ ของเขาฉีกกระดาษ ฉีกดินน้ำมัน ก่อนที่จะเขยิบไปสู่การใช้กรรไกร

กิจกรรมที่สามารถทำได้
ฉีกกระดาษ แปะกาว สร้างสรรค์งานศิลปะตามใจชอบ หรือ ผู้ใหญ่จะวาดเป็นรูปต่างๆ แล้วให้เด็กๆ แปะกระดาษที่ฉีกจนเต็มก็ได้เช่นกัน ผลลัพธ์ที่ได้จะคนละแบบ

-แบบตามใจชอบเด็กจะได้ทำตามจินตนาการ
-แบบที่ทำตามโจทย์ เด็กๆ จะได้ฝึกความอดทน และทำตามกติกา ซึ่งทั้งสองแบบจำเป็นสำหรับการฝึกฝนทั้งคู่

ปักเจาะ

เราสามารถให้เด็กๆ ฝึกเจาะกล่องนมด้วยหลอดเอง หรือ จะนำหลอด/เทียนเล่มเล็ก/ไม้ตะเกียบให้เด็กๆ ฝึกเจาะกับทราย แป้งโดว์ ก็ได้เช่นกัน

กิจกรรมที่สามารถทำได้
การเล่นเป่าเค้ก ปักเทียนบนแป้งโดว์ แล้วได้จุดเทียน เป่าเค้ก
การเล่นปลูกต้นไม้ นำกิ่งไว้มาปักลงบนดิน/ทราย/แป้งโดว์

ขุด-ฝัง

การเล่นทราย/ดิน สามารถเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อมัดเล็ก-กระดูก ได้อย่างดี เพราะเมื่อเด็กๆ ลงมือขุด หรือ ใช้อุปกรณ์ตักทราย/ดิน พวกเขาได้ออกแรงในบริเวณเหล่านี้

กิจกรรมที่สามารถทำได้
การขุดหา-ซ่อนสมบัติ
การปลูกต้นไม้จริงๆ

บีบ/บิด-คั้น

เราสามารถให้เด็กๆ ได้บีบ-คั้น โดยการให้พวกเขามาช่วยเราบิดผ้าหลังการซัก เพื่อนำไปตาก บีบน้ำออกจากฟองน้ำ เวลาล้างจาก/ล้างรถ หรือ คั้นผลไม้ คั้นน้ำส้มจากส้ม บีบมะนาว

ถ้าหากเรามีอุปกรณ์เช่น ที่หยดน้ำ (Dropper) เราสามารถให้เด็กๆ ใช้เล่นกับน้ำได้

สร้าง

เราสามารถไล่ระดับจากสิ่งที่ซับซ้อนและออกแรงมากได้ เช่น การต่อบล็อกไม้-ตัวต่อพลาสติกขนาดใหญ่/เลโก้ขนาดใหญ่ (Duplo)-ตัวต่อพลาสติกขนาดเล็ก/เลโก้ขนาดเล็ก (Classic)

แกะ-ติด

การแกะสติกเกอร์
การแกะกล่อง-เปิดฝา
การแกะของขวัญ-ห่อของขวัญ

ร้อย-ต่อ

ร้อยลูกปัด
ต่อโซ่
ต่อจิ๊กซอว์

เล่น-เก็บของเล่น

การเล่นของเล่นตามจินตนาการของเด็กๆ
การหยิบจับของเล่น และเล่นกับของเล่น สามารถส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กและความแข็งแรงให้กับร่างกายของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี

ละเลง-ระบายสี

เราสามารถไล่ระดับจากการละเลงสี ในขั้นนี้เตรียมพื้นที่และกระดาษใหญ่ให้กับเด็กๆ ได้ละเลงสี ต่อมาจึงเริ่มเป็นในกระดาษขนาดเล็กลงๆ และสุดท้ายจึงจะเป็นการระบายในเส้นกรอบ ทั้งนี้ กิจกรรมควรมีควบคู่กัน ทั้งปล่อยระบายตามจินตนาการ และการระบายเพื่อควบคุมและสร้างความทนทานให้กับกล้ามเนื้อมัดเล็ก

ช่วงแรกๆ แม้จะทำไม่ได้ ไม่เป็นไร ฝึกฝนวันละนิดจะทำได้ดีขึ้นๆ อย่าคาดหวังว่าต้องได้เมื่อไหร่ แต่ให้เกิดการลงมือทำสม่ำเสมอ

พัฒนาการการจับอุปกรณ์เพื่อขีดเขียน

ขั้นที่หนึ่ง “Cylindrical Grasp” (เด็ก 1-1.6 ปี)
ลักษณะการจับอุปกรณ์ยังเป็นการกำมือ

เด็กวัยนี้เพิ่งเริ่มหัดจับอุปกรณ์เพื่อขีดเขียน กล้ามเนื้อมัดเล็กของเขาเพิ่งจะพัฒนา “สีเทียนด้ามอ้วน” จึงเหมาะแก่การฝึกจับในช่วงแรก นอกจากตัวด้ามที่เหมาะมือแล้ว ความคงทนต่อแรงกดของเด็กน้อย ที่ยังควบคุมน้ำหนักมือไม่ได้ จึงทำให้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการฝึกใช้อุปกรณ์เพื่อขีดเขียน

ในความเป็นจริง เด็กๆ วัยนี้ควรเริ่มจากการเตรียมกล้ามเนื้อมือให้พร้อม ได้แก่ การเล่นต่างๆ ปั้นดิน เล่นทราย นวดแป้ง และอื่นๆ การจับอุปกรณ์ในวัยนี้เป็นไปเพื่อ “การทำความรู้จัก” และ “การเล่น” ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่เด็กๆ ต้องฝึกเขียนตามรอยปะในวัยนี้

ขั้นที่สอง “Digital Grasp” (เด็ก 2-3 ปี)
ลักษณะการจับอุปกรณ์ยังเป็นการจับด้วยนิ้วหัวแม่มือชี้ลงกับกระดาษ (มือจะคว่ำลง)

เด็กวัยนี้เริ่มพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมาพอสมควร การเลือกใช้อุปกรณ์สามารถนำ “ดินสอ” สำหรับเด็ก ที่มาตัวด้ามจับที่ใหญ่กว่าปกติ อาจจะเป็นด้ามที่มีลักษณะแบบสามเหลี่ยมจะยิ่งเหมาะมือเด็กมากขึ้น

ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่เราต้องให้เด็กรู้สึกดีกับการขีดเขียน ไม่ใช่การบังคับเขียน ให้เขาได้วาดอิสระ เขียนเส้นขยุกขยุย เส้นขีดมากมาย ได้เต็มที่เลย ขอเพียงเด็กน้อยสนุกกับการขีดเขียนก็พอ

ขั้นที่สาม “Modified Tripod Grasp” (เด็ก 3-4 ปี)
ลักษณะการจับอุปกรณ์การเขียนยังเป็นการใช้นิ้ว 4 นิ้ว (นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) โดยนิ้วอื่นๆ จะอยู่ตรงข้ามกับนิ้วโป้ง

เด็กวัยนี้เริ่มจับดินสอได้ดีขึ้น อาจจะยังไม่ถูกสักทีเดียว แต่เราสามารถปรับแต่งท่าทางได้เรื่อยๆ เป็นวัยที่เรายังปรับเปลี่ยนเขาได้อยู่ การขีดเขียนในวัยนี้อาจจะเพิ่มการวาดรูปต่างๆ ตามจินตนาการ ที่มีเป้าหมายมากขึ้น และเพิ่มการควบคุมน้ำหนักมือเวลาลากเส้นต่างๆ แต่การเขียนตัวอักษรได้ยังไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของวัยนี้

ขั้นที่สี่ “Tripod Grasp” (เด็ก 4.6-7 ปี) ลักษณะการจับอุปกรณ์การเขียนโดยใช้นิ้ว 3 นิ้ว (นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง) โดยนิ้วอื่นๆ จะอยู่ตรงข้ามกับนิ้วโป้ง

ในขั้นสุดท้ายของพัฒนาการการจับอุปกรณ์การเขียน เด็กวัยนี้ สามารถจับดินสอได้อย่างเหมาะสม เนื่องนิ้วมือทั้งสามมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะประคองอุปกรณ์เพื่อขีดเขียนได้อย่างต่อเนื่อง การเขียนในวัยนี้นอกจากเส้น และรูปทรงแล้ว ตัวเลขจะเป็นสิ่งที่เด็กเริ่มเขียนได้ ต่อมาคือตัวอักษรภาษาอังกฤษ และภาษาไทย เพราะลำดับความซับซ้อนของเส้น ตัวเลขจะง่ายที่สุด ตามมาคือตัวอักษรภาษาอังกฤษ และภาษาไทย

ถึงแม้ว่า “การเขียน” จะเป็นหนึ่งในทักษะที่ผู้ใหญ่มักเป็นกังวลมากทักษะหนึ่ง เพราะสำหรับโรงเรียนส่วนใหญ่แล้ว การเขียนเป็นแบบทดสอบว่าเด็กคนนี้พร้อมสำหรับการเรียนหรือไม่ อย่างไรก็ตามนอกจาก “ทักษะการเขียน” แล้วยังมี “ทักษะการช่วยเหลือตนเอง” “ทักษะการสื่อสาร” และอื่นๆ ที่เราควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน หรือ ควรจะให้ความสำคัญก่อนการเขียนเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าหากเด็กคนนี้ยังช่วยเหลือตัวเองตามวัยไม่ได้ เราอาจจะต้องสอนเขาเรื่องนี้ก่อนการเขียน

สุดท้ายความสำคัญของการเขียนจึงไม่ใช่แค่เพื่อให้ได้ตัวอักษรที่สวยงาม แต่เพื่อให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของเขา ให้มือจดจำน้ำหนักและทิศทางการเคลื่อนไหว เพื่อให้สมองได้พัฒนา และการควบคุมน้ำหนักมือจะช่วยให้เขาควบคุมตนเองได้ดีขึ้น


อ้างอิง

Baumgartner, T A, Jackson, A S, Mahar, M T, & Rowe, D A (2015) Measurement for evaluation in kinesiology Jones & Bartlett Publishers

Schickedanz, J A (1999) Much More than the ABCs: The Early Stages of Reading and Writing NAEYC, 1509 16th Street, NW, Washington

Selin, A-S Pencil grip: a descriptive model and 4 empirical studies (dissertation) Abo Akademi University Press, 2003