IDEA จากองค์กร “ประถม” (Pratham) อินเดีย ใช้สื่อการสอนอย่าง “เรียบง่ายแต่สร้างสรรค์”

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก รวมถึงส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กๆ หยุดชะงักลงด้วย แต่เพื่อขับเคลื่อนให้การเรียนรู้ยังดำเนินไปต่อได้ หน่วยงานไม่แสวงผลกำไร (NGO) อย่าง “ประถม” (Pratham) แห่งประเทศอินเดีย จึงนำสื่อการสอนใกล้ตัวที่เรียบง่ายมาใช้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ของเด็กอินเดียในช่วงวิกฤตโรคระบาด โดยไอเดียของ “ประถม” นั้นคือการใช้สื่อการเรียนรู้ที่หาได้ในบ้าน เช่น ผลไม้ แก้วน้ำ จานชาม ช้อนส้อม เป็นต้น เพื่อมาประกอบการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์และภาษาศาสตร์เบื้องต้น

หน่วยงาน “ประถม” เป็น NGO ด้านการศึกษาในอินเดียที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1995 เน้นทำงานเพื่อให้เด็กอินเดียอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากในอินเดียนั้น แม้เด็กจำนวนมากจะมีโอกาสเข้าไปโรงเรียน แต่เด็กจำนวนไม่น้อยกลับไม่สามารถอ่านเขียนหรือคิดคำนวณเลขเบื้องต้นได้ 

จากการลงสำรวจพื้นที่ องค์กรประถมพบเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ไม่สามารถอ่านแบบเรียนระดับประถมปีที่ 2 รวมถึงไม่สามารถบวกลบเลขหลักหน่วยได้ ทางองค์กรจึงตั้งโครงการชื่อ Teach at the Right Level (TaRL) ขึ้น เพื่อสอนการเขียนอ่านและฝึกเลขขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กๆ โดยไม่วัดตามระดับชั้นหรืออายุ แต่วัดตามระดับการเรียนรู้ โดยเด็กที่มีระดับการเรียนรู้ใกล้เคียงกันจะได้อยู่กลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนดีขึ้น เพราะเรียนทันเพื่อนและไม่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง 

ในสถานการณ์ปกติ องค์กรประถมจะดำเนินโครงการ Teach at the Right Level ผ่านค่ายสอนที่มีระยะเวลาประมาณ 10 วัน แต่พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาด ค่ายสอนในโครงการ Teach at the Right Level ต้องหยุดชะงักลง แต่เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กๆ ยังดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง องค์กรประถมจึงคิดค้นเครื่องมือและระบบที่เอื้ออำนวยให้เด็กๆ ยังเรียนรู้ต่อได้และไม่ขาดช่วง

ด้านล่างนี้คือไอเดียจากองค์กรประถม ซึ่งได้นำไอเดียเหล่านี้มาดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ของเด็กอินเดียในช่วงวิกฤตโควิด หลายไอเดียนั้นเรียบง่ายแต่สร้างสรรค์ เหมาะแก่การนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทเมืองไทยไม่น้อย

1) สำรวจและเก็บข้อมูลผ่านอาสาสมัคร

ในวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่โรงเรียนทั่วอินเดียปิดตัว และเด็กๆ ไม่ได้เข้าชั้นเรียนเพื่อเรียนรู้ องค์กรประถมจึงใช้ระบบอาสาสมัคร 5,000 คนในการสำรวจติดตาม 52,000 ครอบครัวทั่วประเทศ เพื่อสำรวจสถานการณ์ของการศึกษา การเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนการสอน และแนะนำในเรื่องการเรียนทางไกลในช่วงที่เด็กๆ ต้องอยู่บ้าน

2) ตั้งอาสาสมัครในชุมชนผ่านระบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง”

อินเดียเป็นประเทศกว้างใหญ่และมีประชากรมหาศาล แต่กระนั้นในระดับชุมชนก็ยังมีความเหนียวแน่นผูกพันกันอยู่ องค์กรประถมเล็งเห็นจุดแข็งตรงนี้ จึงเปิดให้มีอาสาสมัครในชุมชนช่วยติวเด็กๆ เรียกว่าระบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง” โดยอาสาสมัครชุมชนจะติวบทเรียนให้กับเด็กนักเรียนที่เรียนตามไม่ทัน โดยเน้นติวความรู้ในระดับที่เหมาะกับความรู้ของผู้เรียน หรือ Teach at the Right Level (TaRL) นั่นเอง

3) ใช้ระบบการเรียนรู้จากอุปกรณ์ราคาถูก สามารถหาได้จากในบ้าน

องค์กรประถมเน้นให้เด็กเรียนรู้เพื่ออ่านเขียนและคิดเลขพื้นฐานได้ ซึ่งพอเด็กไม่ได้เข้าชั้นเรียนเนื่องจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ทางองค์กรจึงเลือกส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านอุปกรณ์ใกล้ตัว ราคาไม่แพง ที่สามารถหาได้จากในบ้าน เช่น แก้วน้ำ จานชาม ช้อนส้อม ผักผลไม้ เป็นต้น โดยเด็กจะนำอุปกรณ์ใกล้ตัวนี้มาฝึกนับตัวเลขหลักหน่วยและหลักสิบ รวมถึงฝึกออกเสียงคำง่ายๆ ที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ในบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้องค์กรประถมจะส่ง SMS หาผู้ปกครองกว่า 12,000 ชุมชน เพื่อแนะนำแนวทางและขั้นตอนในการดูแลเด็กนักเรียน ซึ่งข้อความใน SMS จะแจ้งว่า 

“เขียนตัวเลข 1-10 ลงในแผ่นกระดาษ จากนั้นนำอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ช้อนส้อม หรือจานชาม นำมาให้เด็กนับตัวเลข หากเด็กนับได้ตัวเลขไหน ให้วางกระดาษที่เขียนหมายเลขนั้นไว้ด้านข้าง ยกตัวอย่างเช่น เด็กนับชามได้ 3 ชาม ให้เด็กวางกระดาษเลข 3 ไว้ข้างๆ ชาม”

ไอเดียการส่ง SMS หาผู้ปกครอง และการให้เด็กเรียนรู้จากอุปกรณ์ใกล้ตัวนี้ ถือเป็นไอเดียที่เรียบง่าย สร้างสรรค์ แต่ทรงพลังอย่างแท้จริง

ที่มา : https://www.youtube.com/embed/ac7EwoWbNhs?feature=oembed