“ห้องเรียนสายใจ” สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ

โดย คุณครูธีรดา อุดมทรัพย์ โรงเรียนบ้านนาขนวน
อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในทีม “ก่อการครู”

ปิดเทอมครั้งนี้สิ่งที่พบคือเด็กๆ ไม่อยากมาโรงเรียนและอยากเลิกเรียนไวๆ บางคนพูดเป็นภาษาการ์ตูนเลยก็มี ดังนั้นครูจึงต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้เด็กกลับมาอยู่โรงเรียนแล้วมีความสุขมากขึ้น เลยจัดทำ “ห้องเรียนสายใจ” ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายคือเรียกรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสุขของนักเรียนกลับคืนมา

ถ้าเราฝากความหวังไว้ที่โครงสร้างการศึกษาของประเทศก็จะดูยาวไกลมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ครูทำได้ตอนนี้คือการปรับห้องเรียน ปรับกระบวนการเรียนรู้ เพราะเราคือคนที่ใกล้ชิดกับเด็กที่สุด 

  เริ่มต้นจะต้องรู้ก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กมีอะไรบ้าง และได้พบว่าทักษะที่หายไปมีตั้งแต่

  1. ทักษะพื้นฐานที่จำเป็น
  2. พัฒนาการตามช่วงวัย
  3. ทักษะทางด้านความสัมพันธ์
  4. ทักษะ Soft Skills
  5. ทักษะ Hard Skills
  6. ทักษะการแสดงออกทางด้านสังคมและอารมณ์

ที่หายไปมากๆ ก็คือ“ทักษะการแสดงออกทางด้านสังคมและอารมณ์” (Social-Emotion) จึงต้องรีบฟื้นฟูความพร้อมในการเรียนรู้ (Rebooting readiness to learn) เบื้องต้นจะฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบ พราะถ้ามีความรับผิดชอบเขาก็จะตั้งเป้าหมายให้ตัวเองได้ เช่น อ่านหนังสือวันละครึ่งชั่วโมง

แนวทางการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยในเด็กประถมต้น

1 การพัฒนาฐานใจคือสิ่งที่จำเป็นมาก

เทอมแรกโรงเรียนจะเน้นฐานใจหรือการพัฒนาด้านใน จากนั้นเทอมต่อมาจึงค่อยเน้นฐานกายโดยพัฒนาผ่านการเล่น แล้วค่อยไปฐานคิด ซึ่งฐานใจถือว่าจำเป็นมาก เด็กบางคนเครียดเพราะผู้ปกครองตกงานช่วงโควิดทำให้เด็กจิตใจแย่ไปด้วย ไหนจะเรียนออนไลน์เยอะ มีใบงานเยอะ การพัฒนาฐานใจจึงช่วยเด็กได้มากและเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

แต่ทั้งนี้ก็มีงานวิจัยว่าเด็กที่โดนพัฒนาฐานหัวหรือเรียนโดยใช้ความคิดมากๆ พออายุ 10 ปีขึ้นไปสมองจะเริ่มหยุดชะงัก ในขณะที่เด็กปกติจะพัฒนาได้เร็วกว่า ดังนั้นจึงควรเน้นทั้ง 4 ด้าน คือ “ร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา” ไปพร้อมๆ กันด้วย โรงเรียนเราเน้นเรื่องการสร้างสมรรถนะซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ อย่างวิชานี้อยากให้เด็กเกิดสมรรถะด้านการสื่อสาร เราก็จะออกแบบกิจกรรมโดยเอาสมรรถนะมาเป็นตัวตั้งเพื่อให้เด็กได้ทักษะนั้น แต่ทั้งนี้ความรู้ก็สำคัญเพราะสุดท้ายแล้วเขาก็จะได้ความรู้ในวิชานั้นด้วย

2 ส่งเสริมการเรียนรู้ตามวัย

ในส่วนเด็กอนุบาลเราจะให้เรียนแบบบูรณาการก่อน โดยเน้นลากเส้นตามรอยประ ไม่เน้นการเขียนเป็นตัวอักษร จากนั้นค่อยฝึกให้อ่านออกเขียนได้ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้านทักษะชีวิตเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางสังคมและอารมณ์ 

ส่วนเด็กชั้น ป.1-2 จะเรียนภาษาไทยโดยอ่านวรรณกรรม ถ่ายทอดตามการตีความ และได้ลงมือทำจริงไม่ใช่การเรียนแบบแห้งๆ ตามตำรา ส่วนเด็ก ป.3 จะสอนให้รู้ว่าทำอะไรและสิ่งนั้นมีความหมายอย่างไร 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอย่าง Nature Decoding (รหัสลับธรรมชาติ) ที่จะพาเด็กๆ ไปอยู่ในธรรมชาติ  สำรวจป่าหรือต้นไม้รอบโรงเรียนเพื่อให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เช่น ชวนกันไปหาเห็ดปลวกรอบโรงเรียน รวมถึงกิจกรรมที่พัฒนาทักษะทางด้านร่างกายและอารมณ์ เช่น การเล่น และการแสดงละคร

การสอนแบบบูรณาการจะขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียนว่าต้องการทำแบบบูรณาการแค่ไหน วิธีการที่ครูจะพาเด็กไปสู่ความรู้นั้นจะทำด้วยวิธีไหนก็ได้ ดังนั้นครูจึงดีไซน์กิจกรรมได้เองเช่น เอาละครมาฝึกการอ่านและเขียนให้เด็ก เพราะนี่คือความสามารถในการสื่อสารอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณครูจะมาประชุมกันและชวนกันออกแบบ ใครถนัดอะไรก็นำเสนอสิ่งนั้น 

3 ฝึกเด็กตั้งเป้าหมายให้ชัด

โดยเน้นการถามตอบและตั้งเป้าหมายเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เช่น การเก็บขยะรอบโรงเรียน เด็กจะนำเงินที่ขายขยะได้วันละ 7 บาท รวมกันไปซื้อของที่ต้องการ  เช่น หมูกระทะราคา 150 บาท เมื่อครูบอกให้เด็กเห็นเป้าหมายว่าต้องขายอีกเท่าไหร่ถึงจะซื้อหมูกระทะได้ เด็กก็จะมาโรงเรียนแต่เช้าเพื่อเก็บขยะไปขายจนในที่สุดก็ทำได้ เด็กๆ มีความสุขมากเพราะนี่คือเป้าหมายที่สำเร็จ จากนั้นค่อยชวนให้เด็กตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นต่อไป 

ครั้งต่อไปเด็กอยากได้ลูกฟุตบอลที่มีราคาแพงกว่าหมูกระทะ เด็กก็จะหาวิธี โดยมีการวางแผนแยกขยะเพื่อให้ขายได้ราคาดีขึ้น ซึ่งการตั้งเป้าหมายให้เด็กควรเป็นเป้าหมายเล็กๆ ก่อนแล้วจึงขยายไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เขามีความสามารถในการตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นต่อๆ ไปในอนาคต

นอกจากนี้ ครูยังให้เด็กลองฝันว่าอยากเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น แล้วถามต่อว่าอาชีพนี้ต้องใช้สกิลอะไรบ้าง จากนั้นเด็กก็จะฝึกโดยเน้นสร้างสกิลนี้ขึ้นมา ทำให้เป้าหมายนี้ใช้ได้ตั้งแต่การพัฒนาภายในตัวเอง ไปจนถึงการพัฒนาสังคม อารมณ์ จิตใจ และด้านอื่นๆ การรู้จักตั้งเป้าหมายให้ตัวเองทำให้เด็กเริ่มเห็นว่าอะไรบ้างที่ควรปรับปรุง โดยที่ครูไม่ต้องบอก เช่น  เด็กบางคนอยากอ่านหนังสือให้เก่ง เขาก็จะตั้งเป้าให้ตัวเองฝึกอ่านทุกวัน 

4 สร้างความร่วมมือกับครอบครัว

เราจะขอความร่วมมือจากพ่อแม่ในการเข้าเรียน “โรงเรียนพ่อแม่” เพราะต้องช่วยฝึกเด็กไปพร้อมกับครูด้วย ถ้าทำแค่โรงเรียนจะเป็นการฝึกทางเดียวและอาจเกิดความย้อนแย้งกับครอบครัว จึงจะมีเครื่องมือพัฒนา Soft Skills แบบแพลนเนอร์ที่ชื่อว่า Inside-out เป็นการเดินทางจากด้านในสู่ด้านนอก ที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อเวลาเด็กอยู่บ้านจะได้ให้พ่อแม่ช่วยฝึกความรับผิดชอบของเด็ก โดยให้ทำในเวลาเดิมซ้ำๆ จะได้ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ถ้าทำได้ก็จะติดสติ๊กเกอร์ลงไปในแพลนเนอร์ พอครบหนึ่งเดือนผู้ปกครองก็จะสะท้อนให้ครูฟัง ทำให้ครูมีแนวทางพัฒนาเด็กและช่วยเหลือเด็กได้มากขึ้น

นอกจากนี้แล้วใครมีอาชีพอะไรก็นำมาสอนเด็ก ซึ่งวัตถุประสงค์คือต้องการดึงเด็กออกจากออนไลน์ ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ในชุมชนโดยดึงผู้ปกครองมามีส่วนร่วม ช่วงโควิดครูก็เข้าไปที่บ้านเด็กๆ ว่ามีอะไรให้เรียนรู้บ้าง เพราะถ้าให้ผู้ปกครองช่วยสอนส่วนใหญ่ก็จะไม่ว่างเพราะมีงานต้องทำ ครูจึงลงพื้นที่เพื่อดูว่าแต่ละบ้านทำอาชีพอะไรและลูกสามารถช่วยพ่อแม่ทำงานอะไรได้บ้าง อย่างบ้านที่เปิดร้านซ่อมรถ พ่อก็จะสอนลูกให้ช่วยปะยางรถยนต์ ทำให้เด็กรู้ว่าความเหนื่อยเป็นอย่างไร กว่าจะได้เงินแต่ละบาท เมื่อหาเงินได้ก็จะได้รู้คุณค่าของเงินมากขึ้น