วิกฤตเด็กประถมต้นมีพัฒนาการกล้ามเนื้อเท่าเด็กอนุบาล 2 เราจะทำอย่างไรให้ “เด็กรู้สึกไว้วางใจในศักยภาพของร่างกายตนเอง” ข้อค้นพบของ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง”

ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่   ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า 

“ที่น่าสนใจคือแม้บางข้อจะดูเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้ เช่น ไม่มั่นใจในการทำกิจกรรม เขียนได้ช้าหรือเขียนไม่เสร็จ ตอบคำถามเป็นคำหรือประโยคสั้นๆ ฯลฯ แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปจะพบว่าส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการที่บกพร่องของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ แทบทั้งสิ้น และน่าสนใจที่ทั้งหมดนี้สามารถฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้ภายใน 2 สัปดาห์ แม้จะไม่ดีขึ้นทั้งหมดแบบถาวร แต่จะเห็นพัฒนาการของเด็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลาอันสั้น” 

“เราชวนคุณครูสังเกตพฤติกรรมเด็กในขณะนั่งเขียน ภายในเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาทีพบว่าเด็กเขียนได้สักพักก็ฟุบตัวไปกับโต๊ะ อีกสักพักแล้วก็ลุกขึ้นยืน เพราะกล้ามเนื้อแกนกลาง กล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่แข็งแรง  การยืนหรือเดินจะสบายกว่าการนั่งเนื่องจากแรงที่กระทำต่อสันหลังลดลง ตอนแรกครูเข้าใจว่าเด็กสมาธิสั้นก็เลยดุทำให้เด็กยิ่งเบื่อและบ่นว่าเหนื่อย หลังจากที่ครูเข้าใจสาเหตุเลยไม่ดุเด็กอีกต่อไปเพราะรู้แล้วว่าเขาเหนื่อยจริง แต่ก็ยังไม่รู้วิธีว่าจะแก้ไขอย่างไร ดูแล้วก็รู้สึกเห็นใจครูเพราะทางกระทรวงก็มีเป้าว่าเด็กประถมต้องเขียนได้ แต่เมื่อเห็นปัญหาแบบนี้เลยต้องขอพัฒนากล้ามเนื้อเด็กทั้งตัวก่อนที่จะสายเกินไป”

“มีผู้ปกครองในโรงเรียนจังหวัดสงขลาบ่นให้ครูฟังว่าตอนนี้ลูกอยู่ชั้นประถม 2 แล้วแต่ยังเขียนหนังสือไม่ได้ ทั้งที่ตอนอยู่ชั้นอนุบาล 3 ยังเขียนได้ โชคดีที่คุณครูโรงเรียนสังเกตเด็กในห้องเรียน และพบว่าปัญหาคือเด็กคนนี้กล้ามเนื้อมือไม่มีแรง    จากนั้นที่จังหวัดปัตตานีคุณครูชั้นประถม 2 ก็มาปรึกษาเพราะกลุ้มใจมาก เปิดเทอมมาตั้งหนึ่งเดือนแล้วแต่เด็กยังจับดินสอผิดวิธีเพราะจับแบบกำมือ เมื่อย้อนดูว่าเด็กประถม 2 ตอนนี้ก็คือชั้นอนุบาล 2 เมื่อสามปีที่แล้ว และยิ่งหากเด็กเรียนในศูนย์เด็กเล็กประจำเขตที่ปิดเกือบตลอดช่วงโควิดระบาดหนักๆ ก็จะเท่ากับเด็กคนนี้แทบไม่มีการพัฒนาการอะไรติดตัวมาเลย ฟังแล้วรู้สึกสงสารมาก สงสารครูด้วย แต่ก็ทำให้ฉุกใจคิดได้ว่าพบในเด็กประถม 2 อีกด้วย แบบนี้น่าจะเป็นปรากฏการณ์หลายแห่ง”

นอกจากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน ทีมโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเอง มอ.หาดใหญ่ ได้นำเครื่องวัดแรงบีบมือ  ทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็ก ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  จำนวน  1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส    พบว่า  98% ของเด็กๆ มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งปกติค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม และจากการทดสอบมีผ่านเกณฑ์เพียง 1.19% เท่านั้น

จับดินสอผิดวิธีเนื่องจากกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง

นักเรียน ป.2 จาก 74 โรงเรียนข้างต้น จำนวนมากกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ที่จับดินสอผิดวิธี การจับดินสอผิดวิธีสะท้อนว่ากล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนได้ไม่ดี การทรงตัวในการนั่งเขียนไม่ดี ทำงานเสร็จช้า ทำงานไม่ทัน เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็ก  คุณครูบางคนอาจไม่ได้สังเกตการจับดินสอและวิธีการเขียนว่าเป็นอย่างไร เด็กมือเกร็งมาก เมื่อยมือ ทำให้ต้องปล่อยมือจากดินสอเป็นระยะๆ คุณครูเห็นผลลัพธ์ปลายทางว่าเด็กที่มีปัญหาคือเด็กที่เขียนหนังสือช้าหรือเขียนไม่สวยเท่านั้น

“การจับดินสอที่ผิดวิธีมีได้หลายแบบ บางคนก็เหยียดเพื่อให้นิ้วรู้สึกว่าจับดินสอได้มั่นคง บางคนก็เหยียดเพื่อออกแรงกดเยอะขึ้นเพื่อให้นิ้วมือมีความรู้สึกมากขึ้น ซึ่งเมื่อดูโดยรวมแล้วจะพบว่าวิธีจับดินสอไม่ถูกต้องที่พบได้บ่อยมีประมาณ 8 แบบด้วยกัน หรือสังเกตที่แท่งดินสอก็ได้ ถ้าเขียนไม่ถูกวิธีส่วนใหญ่ตัวดินสอจะตั้งตรง  ไม่ใช่แค่เด็กประถมต้นที่มีปัญหา ทุกวันนี้นักเรียนชั้นประถม 5 ก็ยังมีที่จับดินสอผิดกัน   แม้แต่ครูบางคนที่อายุ 40 ปี ก็ยังจับดินสอไม่ถูกจนกลายเป็นเขียนผิดมาตลอด ครูเล่าว่าตัวเองเป็นคนเขียนช้า ทำงานช้ามาตั้งแต่ตอนเรียน โดยไม่รู้เลยว่าเกิดจากจับดินสอผิดวิธีและสาเหตุจากกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรงและปลายนิ้วรับความรู้สึกได้ไม่ดี  โควิด-19 กำลังซ้ำเติมให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น”

“ในการพัฒนากล้ามเนื้อเด็กวัยประถมต้น หลังจากวิเคราะห์ลักษณะความถดถอยของฐานกายเด็กแล้ว ครูเริ่มตามแนวทางนี้คือออกแบบกิจกรรม เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กระดูก ข้อที่แขน ขา ลำตัวและระบบประสาทสัมพันธ์ หลากหลายรูปแบบ กระบวนการ และเป้าหมาย เพื่อให้เด็กมั่นใจในการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวแบบต่างๆ มีการทรงตัวที่มั่นคง จนเด็กรู้สึกไว้วางใจในศักยภาพของร่างกายตนเอง และเต็มใจที่จะพัฒนาในขั้นต่อไป ทำทุกวันใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะบูรณาการกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการบูรณาการการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ สาระพื้นฐาน ผ่านไปอีก 1 สัปดาห์พบว่าเด็กมั่นใจขึ้น ร่าเริง สื่อสารดีขึ้น มีสมาธิจดจ่อในการฟังมากขึ้น ทานอาหารมากขึ้น เริ่มเล่นกับเพื่อนและคิดวิธีเล่นต่อยอดจากกิจกรรมที่ฝึก จดจำได้เร็วขึ้น มากขึ้น จำได้นานขึ้น ไม่ขาดเรียน ตื่นตัวรอคอยที่จะได้เล่นกิจกรรม สนุกและมุ่งมั่นกับการทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบท้าทาย กำกับตัวเองได้ดีขึ้น ล้วนเป็นสัญญานที่บ่งบอกถึงความพร้อมในการเรียนรู้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ที่คุ้มค่ามากๆ” 

“ไปดูการออกกำลังกายหน้าเสาธงก่อน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนทำอยู่แล้ว บางโรงเรียนที่ได้ไปเยี่ยมพบว่าใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น เลยขอให้เพิ่มเป็น 15 นาที ให้เด็กได้บริหารกล้ามเนื้อแกนกลางและกล้ามเนื้อแขนขา พร้อมทั้งอาจใช้ชั่วโมงโฮมรูมหรือใช้แบบบูรณาการของ ผศ. อัมพรก็ได้ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อแกนกลางและกล้ามเนื้อมือ (มัดเล็ก) โดยระหว่างนี้อาจารย์ก็ส่งคลิปสั้นสำหรับบริหารกล้ามเนื้อมือและบอกครูว่าแต่ละท่าทำเพื่ออะไร พอผ่านไปห้าสัปดาห์ก็ลงไปใหม่อีกครั้ง ปรากฎว่าค่าแรงบีบมือของเด็กเพิ่มขึ้น”