เด็กประถมต้นวันนี้ มีพัฒนาการถดถอยเท่าเด็กอนุบาล !

สิ้นสุดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2565  กับการเปิดเรียน 100 %  มีสัญญาณอะไรในห้องเรียนตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาที่กำลังบอกเราว่าเด็ก Generation นี้มีโอกาสเป็น Lost Generation  อย่างที่องค์การยูเนสโกคาดการณ์ หากรัฐบาลทั่วโลกไม่ลงมือฟื้นฟูการเรียนรู้ แต่กลับมุ่งจะก้าวไปข้างหน้าเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

แม้วันนี้สถานการณ์โรคระบาดจะเริ่มคลี่คลายแล้วจากการวิเคราะห์ทางด้านสาธารณสุข แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้ของเด็กๆ ยังเรื้อรังและไม่มีทีท่าว่าจะหายไปโดยง่าย นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 การปิดสถานศึกษาและการเรียนการสอนรูปแบบทางไกลส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนทั่วโลก  โดยเฉพาะกลุ่มยากจน ขาดโอกาส และกลุ่มเด็กเล็ก 

ทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กๆ ได้สะสมไว้หายไป เด็กๆ จำนวนไม่น้อยลืมวิธีการอ่านและเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร  เด็กเล็กเริ่มเข้าเรียนแต่กลับไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะหรือการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เนื่องจากการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัยหรือประถมต้นที่ขาดหายไป  

หากเราไม่สามารถหยุดแนวโน้มนี้ได้ หมายความว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในภาวะการเรียนรู้ถดถอยเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่ข้อมูลที่พบกำลังบอกเราว่า ประเทศไทยอาจเข้าสู่ภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น หรือ Lost Generation

เรื่องนี้จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายควรตื่นตัวและให้ความสำคัญ

ผลวิจัย TSRS ของกสศ. และ RIPED
ชี้เด็กอนุบาลยุคโควิดขาดความพร้อมเข้าเรียนประถมต้นในปัจจุบัน

กสศ.ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  สำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) เพื่อประเมินว่าเด็กปฐมวัยมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษาหรือไม่ 

โดยวัดทักษะพื้นฐานของเด็กปฐมวัยด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ รวมถึง Executive Functions (EFs) เช่น ความจำใช้งาน (working memory) พร้อมทั้งสำรวจข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนและสถานศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อระดับความพร้อมของเด็กปฐมวัย ระดับอนุบาล 3  จำนวน 73 จังหวัด ระหว่างปีการศึกษา 2563-2565

เด็กประถมต้นวันนี้ มีพัฒนาการถดถอยเท่าเด็กอนุบาล !

ทักษะทั้ง 3 ด้าน ที่ขาดหายไปจะส่งผลทำให้เด็กอนุบาลยุคโควิด-19  ที่ก้าวขึ้นมาเรียนในชั้นประถมศึกษาตอนต้นในวันนี้ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร?  

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง  สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ชี้ว่า  เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการเรียนรู้ถดถอยทุกระดับชั้นการศึกษา แต่นักเรียนชั้นประถมต้นเป็นกลุ่มที่มีปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยสูง  โดยมีพัฒนาการเท่าเด็กชั้นอนุบาล 

ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงการระบาดของโควิด-19 เด็กๆ เรียนด้วยข้อจำกัด  การเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กปฐมวัย  ขณะที่ช่วงประถมศึกษาตอนต้นคือพื้นฐานสำคัญของการเรียน การอ่าน การคิดเลข ถ้าเริ่มต้นไม่ดี เรียนไม่รู้เรื่องตั้งแต่เล็ก โอกาสที่จะล้มเหลวในอนาคตสูง  ที่สำคัญในช่วงการระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่า เด็กจากครอบครัวมีฐานะร่ำรวยอาจ สูญเสียการเรียนรู้มากกว่าแต่น่าจะฟื้นคืนได้เร็วกว่าเมื่อโลกกลับมาเปิดอีกครั้ง ในขณะที่พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กจากครอบครัวยากจนจะฟื้นฟูอย่างช้าๆหรือไม่ฟื้นคืนกลับมาเลย

ผลวิจัย TSRS  ยังสะท้อนข้อมูลดังต่อไปนี้

  • การปิดสถานศึกษาทั้งโรงเรียนและ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เด็กเรียนรู้ที่บ้านลดลงอย่างชัดเจน แต่ใช้เวลากับหน้าจอเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่พบปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning Loss) ที่รุนแรง เพราะนอกจากจะไม่สามารถเรียนรู้จากโรงเรียนเนื่องจากการปิดสถานศึกษาในช่วงการะบาดของโควิด-19 ยังเรียนรู้ด้วยตนเองลดลงด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเด็กไทยจำนวนมากยังต้องการสื่อและอุปกรณ์จากโรงเรียนเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง หรืออาจจะเป็นเพราะเด็กไทยจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ผู้สูงอายุซึ่งอาจจะไม่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ที่ของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้การปิดเรียนในช่วงที่ผ่านมามีผลกระทบอย่างมาก
  • ความพร้อมของเด็กปฐมวัยมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จด้านการเรียนของเด็กในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ เด็กปฐมวัยที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอยอาจจะประสบปัญหาในการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษา 
  • ความสัมพันธ์ระหว่างความยากจนหรือความขัดสนของครอบครัวและความพร้อมของเด็กปฐมวัย สะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนควรจะต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อช่วยให้เด็กปฐมวัยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อาจจะต้องพิจารณาการสนับสนุนหรืออุดหนุนเด็กปฐมวัยอย่างเร่งด่วน
  • บทเรียนที่ได้จากการดำเนินโครงการพัฒนาครูปฐมวัยด้วยหลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ตามแนวทางไรซ์ไทยแลนด์ ภายใต้การสนับสนุนของ กสศ. ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาและส่งเสริมครูปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (On-SiteTraining) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ สามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยมีระดับความพร้อมฯ ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นหมายความว่า การยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนระดับปฐมวัย โดยใช้วิธีการที่ส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็ก สามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาสหรือเด็กยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อค้นพบเหล่านี้สำคัญมาก เพราะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จด้านการเรียนของเด็กในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ    เห็นได้จากการนำข้อมูลสถานะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยที่สำรวจในปี 2563 (ปีการศึกษา 2562) ไปเชื่อมโยงกับผลการทดสอบการอ่าน (Reading Test หรือ RT) ของ สพฐ. ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2564 (ปีการศึกษา 2563) 

ผลการวิเคราะห์เชิงลึกพบว่าเด็กปฐมวัยที่มีความพร้อมฯ ด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 มีแนวโน้มที่จะมีผลการทดสอบการอ่านด้านการอ่านออกเสียงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.46 และร้อยละ 0.40 ของคะแนนเต็ม และจะมีผลการทดสอบการอ่านด้านการอ่านรู้เรื่องเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.28 และร้อยละ 0.23 ของคะแนนเต็ม บทเรียนคือความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยมีผลต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป

นอกจากนี้งานวิจัยในต่างประเทศซึ่งศึกษาภาวะการเรียนรู้ถดถอยในระดับประถมและมัธยมพบว่าภาวะการเรียนรู้ถดถอยมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากกว่าในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่า ภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กปฐมวัยนั้นสูงมาก (หายไปกว่าร้อยละ 90) และกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกันก็คือกลุ่มเด็กประถมต้น