ยกเครื่องพัฒนาการศึกษา สอดคล้องระบบรร.ใช้ปัญหาเป็นฐานคิด EDICRA เคล็ดลับพัฒนา

กระบวนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้มีแค่เพียงในมิติการให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมาตรฐานที่เท่าเทียมกันอีกด้วย

คล้ายกับภาระกิจที่ทางมูลนิธิโรงเรียน สตาร์ฟิชคันทรีโฮม ซึ่งทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษามาอย่างต่อเนื่องและปัจจุบัน ​ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​

ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องทั้งระบบ
โรงเรียน ครู และการเตรียมพร้อมเด็กในศตวรรษที่ 21 บนพื้นที่เป้าหมาย 288 โรงเรียน ครอบคลุม 35 จังหวัดทุกภูมิภาคของประเทศไทย

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสรีบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียน สตาร์ฟิชคันทรีโฮม อธิบายว่า ในส่วนของมูลนิธิจะทำงานหลายส่วนทั้งโรงเรียนบ้านปลาดาวซึ่งเป็นเอกชน อยู่ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เน้นการเรียนการสอนแบบ Project Base learning : PBL คือใช้ปัญหาเป็นฐาน มีนวัตกรรมเรื่องการอ่านออกเขียนได้ มีกิจกรรม Makerspace ที่ผ่านมาได้รับความสนใจมีโรงเรียนต่างๆ มาขอดูงานทำให้เราต่อยอดเป็นโครงการ Starfish Maker Partnership พัฒนาอาชีพ ครู ทำงานกับครู โรงเรียนต่างๆกว่า 62 โรงเรียน

ปัจจุบันได้มาทำงานร่วมกับ กสศ. เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนขนาดกลางกว่า 60 โรงเรียน ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน และ สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางมูลนิธิทำงานอยู่แล้ว โดยเป็นการต่อยอดเผยแพร่สิ่งที่ทำอยู่แล้วออกไปและช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่นๆ พร้อมทั้งมี Starfish Lab ซึ่งเป็น Online Learning Platform สำหรับครูที่เข้ามาอยู่ในโครงการได้เข้าถึงเครื่องมือ ซึ่งจะเน้นไปที่การพัฒนาทักษะเด็กในยุคปัจจุบัน ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษา​

เราจะมีทั้ง Online และ Offline โคชชิ่ง คือ ตลอดโครงการจะมีการส่งโค้ชไปอบรมให้ที่โรงเรียน ต่อเทอม 4 ครั้ง ซึ่งถือว่าเยอะมาก​ แต่อีกด้านก็จะมีพื้นที่ออนไลน์ให้สำหรับเวลาครูสะดวกก็จะเข้าไปหาความรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา

ดร.นรรธพร ระบุ

ดร.นรรธพร กล่าวเสริมว่า หลักการที่จะพัฒนาการเรียนการสอนก็คือเน้นไปที่ PBL ซึ่งจะทำให้เด็กได้สามารถจัดการเรียนรู้ของตัวเอง ได้เรียนรู้จริง ​ได้หัดแก้ปัญหาจริง ไม่ใช่แค่การเรียนในเนื้อหา แต่เขาจะต้องพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเขาจากปัญหาที่เจอ ซึ่งจะใช้เป็นพื้นฐานสำหรับวิธีคิดแก้ปัญหาในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่นการเรียนของเด็กประถมก็จะให้คิดเลือกหัวข้อที่อยากทำ บางคนก็จะคิดเรื่องปัญหาส่วนตัว ปัญหาชุมชน บางคนคิดจะแก้ปัญหาเรื่องยุง บางคนคิดแก้ปัญหาดับกลิ่นที่เกิดขึ้นในชุมชน จากนั้นเขาก็จะเข้าไปหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีครูเข้ามาช่วยแนะนำ บางคนคิดออกมาเป็นเครื่องลดน้ำมันกระเด็นที่เอาไปใช้จริงได้ในชุมชน

ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่เรียกว่า EDICRA มาจาก Explore สำรวจปัญหา Define ระบุปัญหาว่าสิ่งที่เขาจะทำคืออะไร Investigate จากนั้นก็เข้าไปเจาะลึกแก้ปัญหาของเขา ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัด หรืออื่นๆ ตามมาด้วย​ Create สร้างนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาขึ้นมา Reflect สะท้อนความคิดออกมาว่าดีหรือยัง และ สุดท้าย Act คือการสร้างความแตกต่างจากนวัตกรรม แก้ปัญหาที่ตัวเองค้นพบให้กับผู้อื่น ซึ่งกระบวนการสุดท้ายเด็กจะเผยแพร่ไปยังชุมชนตัวเอง ​ทั้งชุมชนในโรงเรียนนอกโรงเรียน เพื่อให้ความรู้ของเขา และสิ่งที่เขาค้นพบไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน

“ตั้งเป้าไว้ว่าเมื่อเราเข้าไปช่วยจัดกระบวนการแนะนำ กระบวนการก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งในห้องเรียน วิธีการเรียนในห้องเรียน สอดคล้องกับระบบโรงเรียนมากขึ้น เป็น Active Learning มากขึ้น และช่วยพัฒนาทักษะเด็กมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหากลงมือทำก็จะเห็นผลความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่เทอมแรก ที่เด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งครูหลายคนที่เข้ามาโครงการเขาก็อยากเปลี่ยนอยู่แล้ว ด้วยความตระหนักว่า เราสอนแบบเดิมไม่ได้ เพราะไม่ตอบโจทย์ในศตวรรษที่ 21 เขาอยากจะเปลี่ยน แต่เขาอาจกำลังจะหาเครื่องมือ วิธีการที่มาช่วย ซึ่งเครื่องมือของสตาร์ฟิช ก็จะมาเติมเต็มตรงนี้” ดร.นรรธพร กล่าว พร้อมกับต่อไปว่า

ทั้งหมดจะเป็นการ​ ออกแบบที่ (Built-in) ครอบคลุม 9 องค์ประกอบของโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำชุมชน การวัดผล บรรยากาศการเรียนรู้ เทคโนโลยี รูปแบบและฐานบริหารจัดการโรงเรียน เพราะการจะเปลี่ยนแค่ปรับเปลี่ยนในห้องเรียนไม่เพียงพอต้องมีหลายองค์ประกอบร่วมด้วยถึงจะเปลี่ยนได้

สุดท้ายจะเป็นการตอบโจทย์แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะนวัตกรรมที่เราเอาเข้าไปสอน เป็นนวัตกรรมที่ให้ครูเขาปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน เพิ่มคุณภาพห้องเรียน ซึ่งทำได้ไม่ต้องพึ่งหวังงบประมาณ แต่เป็นวิธีการเปลี่ยนความคิดจากทรัพยากรมีอยู่ เป็นการการเพิ่มคุณภาพในห้องเรียน ไม่ว่าโรงเรียนจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็ใช้ได้จึงมองว่าเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ​เพราะเราไม่ได้ต้องการโรงเรียนเพิ่มขึ้นแต่เรา ต้องการโรงเรียนที่มีคุณภาพมากขึ้นเครื่องมือนี้จะเน้นทำให้เด็กมีคุณภาพ​

ดร.นรรธพร กล่าวสรุป