แล้ว “เรา” จะทำอย่างไรดี? เมื่อวันนี้เด็กไทย “ความรู้ถดถอย” ชวนคุยกับ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง

เมื่อโรงเรียนปิด เด็กนักเรียนไปโรงเรียนไม่ได้ มีอะไรที่หายไปหรือไม่ แล้วการเรียนออนไลน์ช่วยสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยได้ไหม ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้เด็กไทยความรู้ถดถอยอย่างไร?

กสศ.มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งจะมาเฉลยคำตอบของคำถามเหล่านี้

ความรู้ถดถอย : ถดถอยคือทักษะที่หายไป (จากที่ควรจะเป็น)

จากข้อมูลที่เราดูเฉพาะในเด็กอนุบาล 3 ซึ่งถือว่าเป็นเด็กปฐมวัย โดยเราเก็บข้อมูลจากการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. เราค้นพบว่าโดยรวมทักษะของเด็กหายไปจากที่ควรเป็นเยอะมาก เช่น หยุดเรียนไป 2 เดือน ทักษะด้านต่างๆ ก็หายไปแทบเกือบจะ 2 เดือนเช่นกัน 

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

คำว่า ถดถอย ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กโง่ลง เราไม่รู้ว่าเด็กโง่ลงหรือไม่ เพราะแม้เด็กอยู่เฉยๆ ก็อาจมีพัฒนาการตามวัยอยู่แล้ว แต่คำว่า ถดถอย มาจากการที่เราพยายามสร้างแบบจำลองว่า ถ้าไม่มีการปิดเรียนเพราะโควิด เด็กจะไปได้ไกลขนาดไหน จากนั้นนำมาเทียบกับเมื่อมีการปิดเรียน แล้วดูว่าผลห่างกันแค่ไหน ซึ่งช่องว่างตรงนี้มันห่างกัน เช่น หยุดเรียนไป 30 วัน ช่องว่างก็ห่างประมาณ 30 วัน ทั้งทักษะทางด้านวิชาการ ภาษา คณิตศาสตร์ หรือทักษะที่เป็น EF (Executive Functions)

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สิ่งที่เราวัดเป็น Working Memory คือความจำใช้งาน ดูว่าเด็กรู้จักจดจำแล้วนำมาทวนใช้แค่ไหน โดยเราให้เด็กดูตัวเลข 10 วินาที ปิดไว้ 10 วินาที แล้วก็จะให้เด็กทวน อันนี้ก็หายไปพอๆ กันคือ หายไปเกือบทั้งหมด 

สิ่งที่ยังไม่หายไปสำหรับเด็ก

ข่าวดีนิดหน่อยคือ เรายังไม่พบทักษะทางพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เราถามและให้ผู้ปกครองบอกว่าเด็กมีพฤติกรรมหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า…สิบกว่าข้อ แล้วนำมาวิเคราะห์ โดยรวมแล้วการปิดเรียนเพราะโควิดดูเหมือนจะยังไม่ได้สร้างปัญหาให้กับส่วนนั้น ตรงกันข้าม บางส่วนอาจจะดีขึ้น เช่น เด็กไม่บ่นว่าไม่มีใครรัก อาจเป็นเพราะได้อยู่กับพ่อกับแม่มากขึ้นก็ได้ 

แต่ต้องเข้าใจว่า ทักษะเชิงพฤติกรรมนั้นเราไม่ได้วัดจริงๆ เราเพียงแค่ถาม ส่วนทักษะส่วนแรกเราไปวัดจริง โดยเราให้เด็กทำแบบทดสอบ ประเมินเด็กโดยตรง ดังนั้นจึงมีความแม่นยำมากกว่า 

เด็กเล็กไม่เหมาะที่จะเรียนออนไลน์

อย่างน้อยในระดับอนุบาล การเรียนออนไลน์ของเด็กระดับอนุบาลแทบจะไม่ได้ผลเลย คือได้ผลน้อยมาก อย่างมากแค่ 10 – 20% ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเด็กเล็กๆ เขายังไม่พร้อมกับการเรียนบนหน้าจอ เพราะฉะนั้นบทเรียนที่หนึ่งก็ให้ผู้ปกครองทำใจไปก่อน อย่าเครียดกับการที่เด็กไม่นั่งเรียนที่หน้าจอ อย่าให้เสียสองอย่างพร้อมกัน คือ หนึ่ง เด็กยังไงก็ไม่ได้ สอง พ่อแม่ก็อารมณ์เสีย ดุด่าว่ากล่าว อยากให้ทำใจไปก่อน

ผมวิเคราะห์ข้อมูลโดยนำจำนวนคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตในบ้านมาดูร่วมด้วย ปรากฏว่าเด็กที่มีจำนวนคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตมาก ก็ไม่ได้ถูกกระทบโดยโควิดน้อยกว่า ทักษะไม่ได้หายไปน้อยกว่า เพราะออนไลน์ช่วยเด็กอนุบาลไม่ได้ อุปกรณ์อาจไม่ใช่ปัญหาแรกสำหรับเด็กอนุบาล เพราะว่ามีไปก็ช่วยได้ไม่มาก แต่ว่าระดับโตอาจจะใช่ แต่ผมยังไม่มีหลักฐานพอจะสามารถบอกได้ 

ในต่างประเทศเองก็ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนเพียงพอ เขาพบในระดับหนึ่งว่า ในเด็กประถมก็มีผลเสียอยู่บ้าง ส่วนผลที่เกิดจากการปิดเรียนในระดับมัธยมก็น้อยกว่าผลในระดับประถม แต่เรายังไม่รู้ว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร ถ้าได้ข้อมูลผลการสอบโอเน็ตก็อาจจะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กระดับประถมและมัธยมของไทย

ทักษะของใครถดถอยมากกว่ากัน? 

อีกสิ่งที่เป็นเรื่องประหลาดใจคือ ทุกคนจะกังวลว่า ในการปิดเรียนช่วงโควิด คนที่จะเสียหายในแง่ที่มีทักษะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ควรเป็นคนจน แต่ไม่ใช่อย่างที่คิด ในจำนวนเด็กหมื่นคน ผมแบ่งครัวเรือนเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มจนมากประมาณ 25% กลุ่มระดับกลางประมาณ 50% และกลุ่มรวยประมาณ 25% ปรากฏว่ากลุ่มที่โดนผล กระทบเยอะที่สุดคือกลุ่มรวย 

แต่ผมย้ำว่า คำว่า “ถดถอย” ของผมคือ หายไปจากที่ควรเป็นก่อนหน้า เพราะอะไร คำอธิบายของผมก็คือว่า เพราะเด็กกลุ่มนี้มีสเต๊กที่ใหญ่กว่า เปรียบเหมือนคนที่กินสเต๊กเนื้อวากิว กิโลละ 3,000 บาท กับชาวบ้านที่กินซกเล็กจากเนื้อราคากิโลละ 300 บาท ทั้งคู่ถูกห้ามกิน แล้วใครจะรู้สึกแย่กว่ากัน คำตอบคือ คนที่เคยกินของดีๆ จะรู้สึกแย่กว่า 

กินของดีๆ สำหรับผม หมายถึง คนรวยจะส่งลูกไปเรียนพิเศษ แล้วเด็กก็เรียนพิเศษไม่ได้เพราะโควิด ซึ่งปกติไม่เคยมีปัญหา แต่คนจนก็เหมือนเดิม คือไม่ได้เรียนเหมือนเดิม คนจนไม่ใช่ไม่โดนกระทบ แต่โดนน้อยกว่าเยอะ ถ้าถามถึงความเหลื่อมล้ำจริงๆ ถ้าพูดแบบแย่ๆ คือ ความเหลื่อมล้ำเราลดลง แต่ไม่ใช่การลดความเหลื่อมล้ำที่ดีเลย เพราะมันลดด้วยการที่ทุกคนแย่หมด หัวทิ่มหมด เพียงแต่คนหนึ่งหัวทิ่มมากกว่าอีกคนหนึ่ง คือมันเป็นการลดลงในภาพรวมที่จริงๆ น่าเป็นห่วงมากสำหรับประเทศ อาจจะยิ่งกว่าความเหลื่อมล้ำด้วยซ้ำ เพราะคนที่เคยได้ เขาก็ไม่ได้ 

แล้วอีกกลุ่มที่ไม่ได้ด้วยคือ กลุ่มเด็กผู้หญิง เด็กผู้หญิงถดถอยหรือหายไปมากกว่า ด้วยคำอธิบายเดียวกันคือ เด็กผู้หญิงได้ประโยชน์จากการไปเรียนในโรงเรียนมากกว่าเด็กผู้ชาย เพราะผู้หญิงอาจจะตั้งใจเรียนมากกว่า ใครก็ตามที่เคยได้แล้วถูกเอาของนั้นออกไป มันก็หายเยอะกว่า ผมเชื่อว่าคำอธิบายของผมสมเหตุสมผล 

แล้วเด็กที่เคยเรียนพิเศษ ทักษะก็จะหายไปมากกว่า โดยด้านที่หายไปอย่างมีนัยสำคัญคือ ทักษะด้านวิชาการ เช่นเดียวกับเด็กที่มีฐานะดี ส่วนเด็กผู้หญิง EF ก็หายมากกว่าผู้ชาย โดยรวมกลุ่มที่โดนผลกระทบไม่น้อยก็คือ กลุ่มที่เคยสามารถทำอะไรพิเศษได้เยอะ เช่น เรียนโรงเรียนที่ดี มีคุณภาพสูง แต่พอตอนนี้เรียนออนไลน์ก็ไม่ได้เต็มที่ กลุ่มนี้จะโดนกระทบจริงๆ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้เข้าถึงสิ่งที่เคยเข้าถึงได้ ทักษะเขาก็จะหายไปเยอะกว่า 

พอโควิดมา มันกระทบทุกคน เพียงแต่กระทบไม่เท่ากัน คนรวยยังได้เปรียบอยู่ แต่ผลกระทบจาก โควิดกลับไปลดส่วนนั้นของกลุ่มคนรวยมากกว่ากลุ่มอื่น

ผลที่อาจจะเกิดขึ้น

เท่าที่เราทราบ ทักษะตอนเด็กก็จะต่อเนื่องไปถึงตอนโต คนที่มีทักษะดีกว่ามักสั่งสมทักษะได้ดีกว่าในอนาคต บางครั้งอาจจะเป็นเพราะว่ามีฐานมากกว่าก็ต่อยอดได้มากกว่า อันที่น่ากังวลกว่านั้นคือ พอเด็กเรียนรู้เรื่อง เด็กก็มีแนวโน้มจะเรียนมากขึ้น ตั้งใจขึ้น พอเด็กเรียนไม่รู้เรื่อง เด็กก็มีแนวโน้มจะเลิกเรียน อันนี้ก็น่าเป็นห่วง 

ผมว่าถ้าโลกกลับมาเหมือนเดิม คนที่จะชดเชยด้วยตัวเองได้ดีกว่าก็คือคนที่มีฐานะ เขาจะเรียนพิเศษ โรงเรียนสอนพิเศษคงกลับมาคึกคัก ส่วนคนจนอาจจะต้องอาศัยการสอนชดเชยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่น   

เด็กที่อาจน่ากังกลกว่าคือ เด็กที่กำลังจะจบออกไปจากระบบการศึกษาในปีนี้ เด็กที่จบ ม.6 จบอาชีวะ จบมหาวิทยาลัยในปีนี้ ซึ่งน่าติดตามดูว่า เด็กกลุ่มที่จบรุ่นนี้ในอนาคตจะกลับมาเป็นปกติเทียบกับคนอื่นได้ไหม คนที่จบไปแล้วยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เป็นไปได้ยากที่จะได้เท่ากับที่เป็นปกติ 

ทางออกระยะยาว เปิดเรียนได้ก็ควรเปิดเรียน สอนชดเชยเด็ก

คำตอบของผมเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวซึ่งอาจเป็นคำตอบที่แปลกและไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่เป็นคำตอบที่ดีสุดเท่าที่คิดได้คือ เมื่อเปิดเรียนได้ก็ให้เปิดเรียน ที่สำคัญสุดคือ เมื่อเปิดได้แล้ว สมมติฉีดวัคซีนเสร็จภายในสิ้นปี พอเดือนมีนาคม เมษายน ไม่ต้องปิดเทอม เพื่อสอนชดเชยเด็กดีไหม เพราะเรารู้ว่าการเรียนในชั้นมีประสิทธิภาพกว่ากันเยอะ เรียนออนไลน์ไม่ได้ช่วย ฝั่งคุณครูควรทำใจ เก็บพลังงานไว้เพื่อสอนชดเชยตอนนั้นดีไหม รัฐบาลก็หาวิธีการวางแผนว่า ค่าอาหารกลางวัน ค่านั่นค่านี่ในช่วงชดเชยจะทำอย่างไรทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน ผมคิดว่าวิธีฟื้นฟูทักษะที่ดีที่สุดคือ ให้เขาได้มีจำนวนวันเรียนเพิ่มขึ้น

ปรับความคาดหวัง ออกแบบการเรียนรู้

ผมคิดว่าการสอนออนไลน์ยังควรต้องทำ ยังไงก็ต้องสร้างความสัมพันธ์ไว้ ไม่เช่นนั้นระหว่างเด็กกับครูจะกลายเป็นคนแปลกหน้า แต่สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำและอยากจะให้เห็นคือ ในมุมหนึ่งก็คือโอกาสของคุณครู ถ้าเกิดเข้ารูปเข้ารอยแล้ว อยากให้ครูใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาตัวเอง เตรียมตัวเอง หาความรู้ใหม่ พัฒนาทักษะตัวเองให้พร้อม เมื่อเด็กกลับมาจะได้พัฒนาเด็กได้เต็มที่  

โรงเรียนต้องเข้าใจว่านี่คือบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของโรงเรียน ไม่ใช่แค่การสอนหนังสือ แต่คือการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ต้องยอมรับสิ่งนี้ ครูต้องยอมรับว่านี่คือหน้าที่ที่ต้องช่วยกัน ต้องเข้าใจว่าการที่เด็กมาโรงเรียนมีประโยชน์สำหรับหลายส่วน  

อีกอย่างคือ ถ้าคิดว่าเราชดเชยได้ไม่พอ หมายความว่าช่วงรอยต่อระหว่างชั้นจะสำคัญมากขึ้น ไม่ใช่แค่ ป.1 กับอนุบาล แต่หมายถึงทุกระดับ เช่น ครู ป.2 ต้องเข้าใจเด็กที่มาจาก ป.1 เพราะฉะนั้นครูแต่ละระดับจะต้องเข้าไปเรียนรู้และปรับความคาดหวัง ปรับกระบวนการสอน ปรับอะไรเพื่อเตรียมไว้สำหรับปีการศึกษาหน้า เพราะว่าเด็กจะไม่เหมือนเด็กปกติ อย่างน้อยทักษะของเขาจะหายไปประมาณ 80% ของจำนวนวันที่ไม่ได้มาโรงเรียน และถ้าต้องหยุดเรียนประมาณหนึ่งในสี่ของเวลาเรียน ก็น่าจะหมายความว่าทักษะของเขาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นประมาณ 20%

สิ่งที่ครูสามารถทำได้คือ เตรียมตัว ปรับความคาดหวัง ออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้อง อาจจะต้องมีการปูพื้นทบทวน จากที่ครูเคยเริ่มจาก 10 อาจมาเริ่มที่ 6 เพราะต้องเข้าใจว่าทักษะเขาหายไป 20% ทำอย่างนี้ไปสัก 2-3 ปี บวกกับสอนชดเชย เด็กอาจกลับมาได้ในระยะยาว