โดย แพทย์หญิงชญานิน ฟุ้งสถาพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
(เจ้าของเพจ หมอจริง DR JING)
เมื่อสัปดาห์ก่อน หมอมีโอกาสคุยกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เกี่ยวกับภาวะ Learning Loss ซึ่งเป็นการสูญเสียการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อนักเรียนไม่ได้อยู่ในชั้นเรียนตามปกติ สืบเนื่องจากมีการระบาดของโควิด การปิดเมืองกินระยะเวลานานเป็นปี ทำให้เกิดปัญหาเด็กบางคนเรียนไม่ทันเมื่อกลับมาเรียนในชั้นตามปกติ ทักษะที่ควรจะทำได้ กลายเป็นทักษะที่ต้องมาฝึกใหม่ มีคนไข้หลายคนที่เจอปัญหานี้ แต่เมื่อหมอได้มีโอกาสจับมือร่วมกับคุณครูเพื่อปรับแผนการเรียน ก็พบว่าช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้มากขึ้น
วันนี้จะมาถอดบทเรียน 5 ข้อที่จะช่วยพัฒนาความเชื่อมั่นในตัวเองสำหรับเด็กในช่วง Learning Loss ค่ะ
1 จับถูกมากกว่าจับผิด
ในช่วงโควิด เด็กต้องเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่เหมาะกับเด็กวัยอนุบาลถึงประถมต้น เมื่อกลับมาเรียนตามปกติ เด็กบางคนอาจเรียนไม่ทันเพื่อน เมื่อเด็กเรียนไม่ทัน เขียนหนังสือไม่ได้ จดงานไม่ครบ ก็อาจรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง แทนที่จะพูดถึงสิ่งที่เด็กทำไม่ได้ เปลี่ยนมาเป็นการพูดถึงสิ่งที่เด็กทำได้ดี
เช่น “วันนี้สะกดคำได้ตั้ง 10 คำ (จาก 30 คำ) ครูเห็นถึงความตั้งใจของหนูนะคะ” จะดีกว่า “สะกดคำไม่ได้ตั้ง 20 คำเลย ต้องตั้งใจกว่านี้นะ”
หรือ “บวกลบเลขได้เก่งขึ้นว่าสัปดาห์ที่แล้วมากเลย ดีมากเลยจ๊ะ” แทนคำว่า “ยังบวกลบเลขผิดอยู่อีกเยอะนะ เมื่อไหร่จะเรียนตามทันเพื่อน”
พอฟังคำพูดแรกแล้ว เด็กจะรู้สึกมีแรงใจในการเรียนต่อ แต่หากได้ยินคำพูดหลัง อาจทำให้คนฟังจิตใจห่อเหี่ยว รู้สึกตัวเองดีไม่พอได้
2 มีครูประกบ
หากโรงเรียนไหนที่มีคุณครูหรือผู้ช่วยที่มากพอ การมีครูประกบเพื่อเรียนเสริมในส่วนที่เด็กบกพร่องจะช่วยให้พวกเขาเรียนได้ไวขึ้น เพราะการที่มีเวลาตัวต่อตัว จะทำให้เด็กรู้ว่าเขาอ่อนตรงไหน และแก้ไขได้ถูกจุด
3 ให้เด็กเป็นผู้ช่วยครู
ตามทฤษฎีพัฒนาการของอิริค อิริคสัน (Erik Erikson) เด็กวัยประถมต้นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับความสามารถของตนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือการเข้ากับเพื่อน การให้เด็กที่อาจเรียนได้ไม่ดีนักเป็นผู้ช่วยครู จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ เป็นที่พึ่งพาของคนอื่นได้ และช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เมื่อเขามีความมั่นใจเพิ่มขึ้น เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองทำได้ และมีความมุ่งมั่นทำให้อยากพัฒนาการเรียนให้ดีขึ้นค่ะ
4 ส่งเสริมกิจกรรมที่เขาทำได้ดี
วัยเด็กนั้นไม่ได้มีเพียงการเรียนเพียงอย่างเดียว หากเด็กถูกกดดันให้เรียนดีโดยที่เขาไม่ได้ชอบการเรียนมากนัก อาจทำให้มีปัญหาพฤติกรรมตามมา เช่น ร้องไม่อยากมาโรงเรียน ขออนุญาตไปห้องน้ำบ่อย ๆ ไม่ยอมเข้ากลุ่มกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งขาดเรียน คุณพ่อคุณแม่และคุณครูควรส่งเสริมกิจกรรมที่เขาทำได้ดี อาทิเช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ
เมื่อเขาเห็นว่าตัวเองก็มีสิ่งที่ทำได้ดี จะช่วยเพิ่ม Self-Esteem หรือความเชื่อมั่นในตัวเองได้ค่ะ
5 ผู้ใหญ่หลายฝ่ายทำงานเป็นทีม
ในการทำงานเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นนั้น หมอเห็นถึงความสำคัญของผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู จิตแพทย์ นักจิตบำบัด ฯลฯ หากผู้ใหญ่ทุกคนที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับเขาให้กำลังใจ เห็นความตั้งใจ รวมทั้งคอยส่งเสริมให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองก็ทำได้หากมีความพยายาม จะทำให้เด็กมีแรงจูงใจมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เขามีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น
หมอขอเป็นกำลังใจให้ทั้งผู้ใหญ่ทุก ๆ ฝ่ายช่วยพัฒนาความเชื่อมั่นในตัวเองให้เด็ก ๆ รอบ ๆ ตัวเรานะคะ