“ความสุขจากการเรียนต้องมาก่อน” คำตอบที่ถูกต้องของการฟื้นฟู

โดย รศ.นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กวัยรุ่นและครอบครัว

สถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิดได้ทิ้งภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งเคยเป็นเด็กอนุบาล 3 ยุคโควิดนั้น เด็กๆ ขาดความพร้อมในการเข้าเรียน มีภาวะการเรียนรู้ถดถอย 

ทั้งนี้การดูแลจิตใจเด็กๆในสถานการณ์นี้ เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งรับมือและแก้ไข

ทำความเข้าใจบริบทสังคมไทยในสถานการณ์โควิด

คุณหมอสุริยเดว เน้นย้ำว่าก่อนจะกล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูเราต้องทำความเข้าใจบริบทสังคมไทยในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาก่อน ประเทศไทยมีระบบการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เรียกว่าดีเยี่ยม ทุกคน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” 

ทว่าบ้านส่วนใหญ่มีข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ทำให้เด็กขาดพื้นที่เล่น เด็กๆฝังตัวกับคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งช่วงผ่อนคลายมาตรการแล้ว เรายังพบว่าเด็กที่ตามพ่อแม่ไปที่ทำงานก็ไม่มีพื้นที่เล่น  ฉะนั้นพฤติกรรมเด็กย่อมถดถอยแน่นอน

นอกจากการขาดพื้นที่เล่น เด็กยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาในครอบครัวโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ พ่อแม่ที่ต้องทำมาหากินจนไม่มีเวลาให้ลูกบวกกับระบบการศึกษาของเราที่กล่าวได้ว่าไม่ได้เตรียมรับมือกับผลกระทบแต่กลับยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาเป็นระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก

ด้วยสถานการณ์ทั้งหมดดังกล่าว จึงทำให้เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ทั้งประเทศแม้แต่เด็กที่มีพัฒนาการปกติก็ยังถดถอยในสถานการณ์นี้ เพราะระบบการเรียนออนไลน์ของประเทศเราไม่เหมาะสม อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาวิชาการแล้วยังมีการจัดสอบวัดผลแบบเดิม ยิ่งการเรียนออนไลน์รูปแบบนี้ในกลุ่มเด็กอนุบาลก็ยิ่งเพิ่มความถดถอยเข้าไปอีก 

เพราะระบบการศึกษาเราไม่ปรับเปลี่ยนให้พอดีเหมาะสมกับสถานการณ์ของผู้เรียน เช่น ควรจะเปลี่ยนจากการวัดผลด้วยการสอบมาเป็นการวัดผลตามโครงงาน (Project Based) หรือวัดผลตามความสามารถ (Competency Based) เป็นต้น

ความสุขในการเรียนสำคัญอย่างไร

ระบบนิเวศการเรียนรู้แบบเดิม 2 ปีจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกว้าเหว่เพราะเพื่อนไม่มีหรือเจอเพื่อนไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าระบบนิเวศการเรียนในประเทศเราเคร่งเครียดมากไม่แพ้ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี แต่ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์เริ่มมีการปรับเปลี่ยนเป็นการวัดผลการเรียนตามความสามารถ (Competency Based) 

ระบบนิเวศของเด็กเมื่อได้ไปโรงเรียนความสุขอย่างหนึ่งคือการเจอเพื่อนเป็นธรรมชาติของวัยเด็กที่ต้องมีความสุขจากการวิ่งเล่นหยอกล้อเล่นกันสนุกสนานกับเพื่อน ยิ่งเขาเจอสภาวะการเรียนที่เคร่งเครียดแบบระบบการเรียนประเทศเราเด็กก็ต้องมีพื้นที่ระบายความเครียดได้ ความสุขจากการไปโรงเรียนแบบนี้ 2 ปีไม่เกิดเพราะสถานการณ์โควิดต้องเรียนแบบออนไลน์ ดังนั้นเมื่อเปิดเรียนไปโรงเรียนตามปกติในเดือนแรกโรงเรียนควรจะสร้างสมดุลของความสุข เรียนให้สนุก ให้เด็กค่อยๆปรับตัวไม่ให้เคร่งเครียดจากการเรียนมากเกินไป

สัญญาณเตือนด้านจิตใจที่ครอบครัวสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของเด็ก

  1. พฤติกรรมภาพรวมเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ให้สังเกตพฤติกรรมในวิถีชีวิตของลูกที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น จากเด็กร่าเริงกลายเป็นเงียบ จากที่มานั่งรับประทานอาหารด้วยกันเปลี่ยนเป็นแยกตัว เป็นต้น
  2. ความผิดปกติทางด้านร่างกาย เช่น ปวดหัวบ่อย คลื่อนไส้อาเจียน ท้องเสีย นอนไม่หลับ ปวดตึงกล้ามเนื้อ ปรากฎการทางกายแบบนี้เป็นสัญญาณที่สอง
  3. ความผิดปกติทางด้านจิตใจ เช่น บ่นท้อแท้ เพ้อ มีภาวะหงอย ซึมเศร้า หรือแยกตัวเอง  เริ่มตัดพ้อว่าโลกไม่ยุติธรรม โลกนี้ไม่น่าอยู่เลย เป็นต้น

ความผิดปกติทางจิตใจจะปรากฏออกมาทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปสะท้อนออกมาเป็นอาการทางกาย และสะท้อนออกมาเป็นอาการทางจิตใจที่ปรากฏให้เห็นได้ชัด ถ้ามี 3 สัญญาณนี้ควรพาลูกพบจิตแพทย์เนื่องจากลูกอาจมีภาวะเครียดสะสมและอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้น

กล้ามเนื้อมัดเล็กไม่พร้อม  ส่งผลให้เด็กเกิดความทุกข์ในห้องเรียน

การเรียนออนไลน์อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อมัดเล็ก ทักษะการใช้มือใช้นิ้วมือยังไม่พร้อมเนื่องจากใช้กับคอมพิวเตอร์เสียส่วนใหญ่ เด็กที่ทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็กยังมีปัญหาแล้วต้องมาเจอสภาวะเร่งรัดเรียน การบ้านเยอะ เด็กบางคนต้องนอนดึกเพราะการบ้านเยอะจึงเกิดความล้าไม่อยากทำ ไม่อยากเรียนแล้ว

การฟื้นฟูจึงไม่ใช่แค่การดูแลสภาวะทางจิตใจแต่ต้องทำคู่ขนานไปกับการฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็กโดยการใช้กิจกรรมบำบัดสร้างความมั่นใจให้กับเด็กให้เขามีพื้นที่ในการฝึกหัดกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การปั้นดิน วาดรูป การต่อเลโก้ กิจกรรมการใช้มือกับสายตา เป็นต้น ให้เด็กได้พัฒนาทักษะการใช้นิ้วมือและเกิดพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กพร้อมๆกับการเปิดใจของโรงเรียนและครูโดยการไม่เร่งรัดการเรียน

หากดูแลเฉพาะสภาวะทางจิตใจแต่ไม่ได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กก็จะเหมือนกับเด็กที่เกือบจะพูดได้แต่ยังพูดไม่รู้เรื่องเพราะขาดทักษะเมื่อพูดไม่รู้เรื่องเด็กก็อาจแสดงออกทางอารมณ์จิตใจ การแก้ไขด้านอารมณ์จิตใจเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในการพูดถ้าไม่ได้ฝึกทักษะให้เขา

แนวทางการฟื้นฟูกล้ามเนื้อมัดเล็ก

  • การฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยกิจกรรมบำบัด ศิลปะบำบัด
  • เตรียมการเรียนการสอนในรูปแบบที่ไม่มุ่งเน้นวิชาการ เปิดพื้นที่ให้เด็กได้มีวิธีการแสดงออกในรูปแบบอื่นๆในโรงเรียนที่ไม่เต็มไปด้วยการบ้าน
  • รับฟังและดูแลสภาวะทางจิตใจอย่างเข้าใจ ด้วยการใช้คำถามปลายเปิดเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน
  • เพื่อนช่วยเพื่อนกันเอง อาจไม่ใช่เด็กทุกคนที่มีปัญหากล้ามเนื้อมัดเล็กไม่พร้อมเรียนดังนั้นการมีกิจกรรมกลุ่ม (Project Based) เพิ่มขึ้นมาในห้องเรียนก็จะช่วยลดความเสี่ยงของปัญหา

ถ้าทำทั้งหมดนี้ก็จะเป็นการดูแลด้านจิตใจและการเตรียมความพร้อมของเด็กไปพร้อมกัน

แนวทางการฟื้นฟูสุขภาพจิตของเด็กๆ ที่กำลังเผชิญภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้

  • ผู้ใหญ่ควรปรับเปลี่ยน mindset เด็กทุกคนเกิดมาไม่ใช่ผ้าขาว 

เดิมทีเด็กไทยอยู่ในระบบการเรียนที่เคร่งเครียดอยู่แล้วเรียนกันหนักมากมีการบ้านเยอะมาก แต่จากสถานการณ์ที่เด็กเรียนแบบออนไลน์มานานเมื่อกลับมาเรียนที่โรงเรียนจะพบว่าเด็กมีความพร้อมไม่เหมือนกัน สิ่งที่พ่อแม่และครูจะต้องทำคือการปรับเปลี่ยน mindset ของผู้ใหญ่ก่อนว่าเด็กทุกคนเกิดมาไม่ใช่ผ้าขาว ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น พ่อแม่ควรหันกลับมาดูพื้นฐานอารมณ์ของลูก เช่น ถ้าลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่ายแม้จะเรียนแบบออนไลน์มานานก็สามารถปรับตัวไปโรงเรียนได้ ไม่เหนื่อยล้าหรือเกียจคร้านไปโรงเรียน แต่ถ้าลูกเป็นเด็กเลี้ยงยาก คิดแบบนอกกรอบตลอดเวลาหรือมีความอ่อนไหวง่าย บ้าพลัง พ่อแม่ควรจะเข้าใจความแตกต่างของลูกและเด็กควรได้รับการช่วยเหลือจากระบบการศึกษาที่ปรับตัวรับกับสถานการณ์โควิด-19 เช่น โรงเรียนควรมีการปรับสภาพการเปิดเทอมก่อนเพื่อให้เด็กพร้อมกับการเรียน 

  • มีพื้นที่ระบายความเครียดได้ สร้าง Happiness School 

ปรับเปลี่ยนให้พอดีเหมาะสมกับสถานการณ์ของผู้เรียน เวลาที่เด็กเจอสภาวะการเรียนที่เครียดควรมีพื้นที่ระบายความเครียดบ้าง ให้เด็กสามารถรับมือกับสภาวะอารมณ์ที่แกว่ง ได้วิ่งเล่นตามธรรมชาติของวัย ดังนั้นเพื่อให้เกิดการปรับตัวโรงเรียนควรจะปรับสภาพการเปิดเทอมในเดือนแรก สร้างhappiness school สร้างสมดุลของความสุขไม่ใช่การเปิดเรียนมาเร่งอัดเนื้อหาวิชาการทำให้เด็กเหนื่อยล้าและส่งผลเสียตามมา โดยครอบครัวและครูจะต้องทำการบ้านร่วมกันเพื่อทำให้เด็กสามารถรับมือกับวิกฤตนี้ได้

  • สำรวจสุขภาพจิตใจของเด็กๆ ว่ามีความสุขในการเรียนหรือไม่ ด้วยเทคนิค “สปาอารมณ์ 3 คำถาม” 

โรงเรียนควรตั้งรับหรือรับมือกับวิกฤตนี้ด้วยเทคนิค “สปาอารมณ์” เพื่อให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเด็กที่พร้อมเรียนกับเด็กไม่พร้อมเรียนขึ้น กระบวนการสปาอารมณ์ 3 คำถาม หากเป็นที่โรงเรียนครูชวนเด็กๆช่วยกันตอบคำถาม 3 ข้อ เริ่มจาก

(1) วันนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง ? 

ให้เด็กๆได้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกสั้นๆ กำหนดกติกาว่าต้องเป็นความรู้สึกของตัวเองไม่พาดพิงถึงใคร เป็นเทคนิคให้เด็กๆได้สะท้อนอารมณ์และได้รับฟังอารมณ์ของคนอื่น ครูอาจสังเกตเห็นเด็กบางคนที่ไม่แสดงออกหรือตอบคำถามก็ช่วยดึงเขาไปคุยส่วนตัวด้วยความปรารถนาดีที่จะรับฟังความรู้สึกจากเด็ก 

(2) เรียนมาทั้งวันได้เรียนรู้อะไรบ้าง ? 

ให้เด็กๆช่วยกันเล่าทบทวนความจำสิ่งที่ได้เรียน ให้เด็กสมัครใจเล่าสิ่งที่ตนเองจำได้จากการเรียนวันนี้เป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กพร้อมเรียนได้ช่วยทบทวนให้เด็กที่ยังไม่พร้อมเรียนได้จำการเรียนได้

(3) สิ่งที่เรียนวันนี้จะนำไปใช้ต่ออย่างไร ? 

คำถามนี้จะช่วยให้เด็กๆได้คิดต่อยอดจากการเรียน หากสามารถทำกระบวนการนี้เพียงสัปดาห์ละครั้งเราจะได้ยินเสียงหัวใจของเด็ก เข้าใจความรู้สึกของเด็ก ครูประจำชั้นจะสามารถเฝ้าสังเกตได้เลยว่าตอนนี้อารมณ์ความรู้สึกของเด็กๆเป็นเช่นไรมีความสุขหรือไม่ นอกจากครูแล้วพ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถใช้เทคนิค“สปาอารมณ์”สำรวจสุขภาพจิตใจของลูกได้ทันทีที่เจอหน้าลูก

สามารถวัดความสุขของลูกได้ด้วยคำถามง่ายๆ ถามลูกว่าวันนี้มีเรื่องอะไรดีๆมาเล่าให้ฟังบ้าง ? วันนี้ลูกมีเรื่องไม่สบายใจอะไรที่พอจะช่วยได้มั้ย ? เริ่มคำถามแรกที่สร้างพลังบวกไม่ใช่พร้อมบวกกับลูกทำให้ลูกได้สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกให้พ่อแม่ได้รับรู้และพร้อมฟังอย่างตั้งใจไม่วิพากษ์วิจารณ์ อาจจะโอบไหล่และสะท้อนความรู้สึกที่ดีทำให้ลูกอยากเล่าต่อ หรือหากเรื่องเล่านั้นมีประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจควรใช้คำถามปลายเปิด ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น เช่น ลูกเจอปัญหาแบบนี้แล้วจะแก้อย่างไร ? เมื่อทำแบบนี้ให้กลายเป็นกิจวัตรลูกจะเกิดการเรียนรู้และเกิดพื้นที่ในการรับฟังซึ่งกันและกัน และในภาวะวิกฤตที่เด็กกำลังเผชิญอยู่นั้นเราจะสามารถเฝ้าระวังด้านจิตใจได้อย่างรวดเร็ว

รศ.นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กวัยรุ่นและครอบครัว

เป้าหมายที่แท้จริงของการเติบโต

ครอบครัวต้องถอยกลับมาที่เป้าหมายแรกเริ่มของการเลี้ยงดูบุตรหลาน เราต้องการให้ลูกเติบโตขึ้นมาไปไหนกัน ลูกน้อยที่คลอดออกมาจากที่พึ่งตนเองไม่ได้เลยได้รับการเลี้ยงดูฟูมฟักจนเติบโตขึ้นมาบนการพึ่งตนเองได้ที่เรียกกันว่า “เรียนรู้เพื่อมุ่งสู่อาชีพ” หรือ “สัมมาชีพ” เพื่อจะได้เติบโตแข็งแรงมีอาชีพมีการงานเป็นหนึ่งเป้าหมายหลัก และอีกเป้าหมายหนึ่งคือเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมในสังคม มีความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์และอยู่ร่วมกับสังคมได้ 

ดังนั้นเมื่อสองเป้าหมายนี้เป็นเป้าใหญ่พ่อแม่ต้องถอยกลับมามองที่เป้าใหญ่นั้นและอย่าให้เป้าเล็กเป้าน้อยทำให้เป้าหมายใหญ่นี้พังทลาย เช่น เอาเกรดเฉลี่ยมาเป็นตัวตั้งแล้วทำให้เป้าหมายสู่การมีสัมมาชีพนั้นถูกจำกัดและพยายามใส่ความตึงเครียดเข้าไปจนส่งผลให้สัมพันธภาพในบ้านเสียอยู่ร่วมกันไม่ได้จนบ้านแตกสาแหรกขาด ลูกหนีออกจากบ้าน หนีออกจากรั่วโรงเรียน หรือหนีออกจากระบบการศึกษาไทย แบบนี้นับว่าผิดเป้าหมายใหญ่เท่ากับว่ากำลังทำลายเป้าใหญ่โดยใช้เป้าเล็กเป้าน้อยเหล่านี้ 

ถ้าพ่อแม่สามารถทำความเข้าใจเป้าหมายใหญ่นี้ได้จะเปิดโอกาสให้ลูกมีสัมมาชีพบนความถนัด บนความเป็นตัวตนของตัวเอง มีสมดุลของความสุขของเขาเองและอยู่ร่วมกันในสังคม  นอกจากนี้การฝึกให้ลูกทำงานบ้านจะเป็นความละเมียดละไมที่สร้างความเป็นคนมีความรับผิดชอบให้กับลูก บันไดก้าวแรกที่สามารถสร้างพลังบวกในชีวิตได้ตั้งแต่ในรั่วบ้าน นอกจากได้ลูกที่เป็นคนมีสัมมาอาชีพตรงตามความถนัดแล้วลูกยังเป็นคนที่อยู่ร่วมกับสังคมได้เพราะมีความรับผิดชอบ มีคุณธรรมไม่เอาเปรียบใคร

ถ้าเด็กรู้สึกว่าทำได้ไม่ดีเขาจะเป็นอย่างไร

หากไม่ปรับสภาพการเปิดเรียนแต่กลับยัดเยียดเนื้อหาวิชาการ เรียนหนัก การบ้านเยอะ ทำให้เด็กเกิดความตึงเครียด ปรับตัวไม่ได้ พ่อแม่ก็ไม่รับฟังอารมณ์ ครูไม่สนใจ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือความเหนื่อยล้าจากการเรียนส่งผลให้มีเด็กที่ต้องหยุดพักการเรียน (drop out) หรือออกจากการเรียนในระบบไปเรียนนอกระบบหรือเปลี่ยนไปเรียนการศึกษาทางเลือก


ทดสอบความเครียดในสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิดด้วยคำถาม 10 ข้อและสามารถประเมินสุขภาพจิตได้ใน 3 ระดับ คือ เขียว เหลือง แดง ถ้าผลการประเมินเป็นสีเขียวหมายถึงสุขภาพจิตปกติ ผลเป็นสีเหลืองแปลว่าควรหยุดพักผ่อนและหาวิธีการจัดการอารมณ์และความเครียดก่อน แต่ถ้าผลเป็นสีแดงควรพบจิตแพทย์

*แบบประเมินความเครียดในสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 คลิก