วิกฤตโควิด-19 ช่วงนี้ ทำให้คุณครูต้องสอนออนไลน์ พอเริ่มลงมือสอนทางไกลก็พบเจอกับปัญหาอุปสรรคไม่มากก็น้อย
กสศ.ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณครูชาญณรงค์ ภัทรมานนท์ จากโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดขอนแก่น หรือฉายาที่ลูกศิษย์เรียกคือ ครูเกาหลี
อะไรคือโจทย์ที่ต้องเร่งแก้เมื่อต้องสอนออนไลน์?
ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่เริ่มห่างเหินจะทำอย่างไร?
การออกแบบการเรียนรู้เพื่อป้องกันภาวะความรู้ถดถอยนั้นทำได้แค่ไหน?
ความน่าสนใจของครูเกาหลีคนนี้อยู่ที่ การทดลองออกแบบการเรียนรู้วิชาสังคมศึกษา ระดับชั้น ม.3 กับ “กิจกรรม 14 เรื่องเล่า” ซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
“การเรียนการสอนวิชา 14 เรื่องเล่า ผมมีเงื่อนไขว่าเด็กจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องจดบันทึกอยู่สามประเด็น คือ หนึ่ง คุณทำอะไรบ้างในหนึ่งวัน สอง รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมนั้น สาม ทำไปแล้วเกิดการเรียนรู้อะไร”
ถ้าพร้อมแล้ว…เราไปฟังการออกแบบการเรียนรู้ในยุคโรคระบาดกับครูเกาหลีกัน
โจทย์ที่ต้องเร่งแก้ : บริบทโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย
ผมเป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษา ดนตรี และวิชาหลักสูตรต้านทุจริต ระดับชั้น ม.3 บริบทของเด็กโนนชัยคือเป็นเด็กชายขอบ ที่ตั้งโรงเรียนอยู่หมุดสุดท้ายของอำเภอเมืองขอนแก่น เด็กส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนทางรถไฟ ชุมชนเทพารักษ์ ชุมชนบ้านดอน ซึ่งจะมีความหลากหลายมาก
เด็กที่นี่ค่อนข้างยากจน ยิ่งเจอโควิด สถานะเศรษฐกิจครอบครัวของเด็กค่อนข้างมีผลกระทบ เราต้องฟังเสียงเด็กๆ บ้าง ตอนนี้ชีวิตเขาเป็นยังไง ทำไมถึงไม่เข้าเรียน บางทีต้องเข้าไปรับรู้ในมุมมองเขา เรื่องความรู้สึกของเด็กและผู้ปกครองด้วย พอสถานการณ์โควิดเกิดขึ้นตั้งแต่ระลอกแรก สอง และสามมาเรื่อย มีเด็กบางกลุ่มที่ไม่พร้อมเรียนออนไลน์เลย ต้องไปอาศัยอินเทอร์เน็ตบ้านคนอื่น อีกกลุ่มก็คือมีความพร้อมด้านเครื่องมือ แต่วินัยไม่พร้อม คือเขายังเด็กอยู่ ยังบังคับตัวเองไม่ได้
ระบบการศึกษาแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ของครูกับเด็กเริ่มห่าง เด็กที่ไม่สามารถอยู่ในระบบที่ตั้งไว้ก็จะหลุดจากระบบ สถานการณ์ของเด็กโนนชัยเริ่มมีเด็กหลุดจากระบบเยอะ หมายความว่า การศึกษาของเด็กในระบบแบบนี้ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเขา พอไม่ตอบโจทย์ ความสัมพันธ์กับครูก็เริ่มห่าง พอครูห่าง เด็กห่าง โรงเรียนห่าง ถ้าพูดอีกแบบก็คือ สาแหรกการศึกษามันแตก ความสัมพันธ์ฉีกขาดหมดแล้ว ตอนนี้จึงเป็นประเด็นคำถามว่าแล้วเราเป็นครู ต้องทำอย่างไรกับเด็ก
โครงสร้างวิชาการของเรามีการบูรณาการอยู่แล้ว ครูแต่ละคนพยายามออกแบบกระบวนการแต่โจทย์ที่เรายังแก้ไม่ได้ตอนนี้คือการตามหาเด็ก เราตามหาเด็กค่อนข้างยาก เราต้องใช้วิธีการลงไปเยี่ยมบ้าน ไปดูความพร้อมของเด็กแต่ละพื้นที่ เช่น ชุมชนทางรถไฟ พอเราลงไป เจอบางครอบครัวเราแทบตกใจเลย เพราะเขาไม่สะดวกให้ลูกเรียน แต่อยากให้ลูกช่วยทำมาหากินก่อน พอลงพื้นที่ทำให้เข้าใจว่าเด็กกลุ่มนี้ยังไม่พร้อมเพราะปัจจัยเรื่องปากท้อง โรงเรียนเลยมีโครงการเยี่ยมบ้านเด็ก นำถุงยังชีพไปแจก
ปรับ ยืดหยุ่น ออกแบบการเรียนรู้ : เริ่มต้นปรับที่ครูและโรงเรียน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เด็กเจนยุคนี้มีข้อมูลหลากหลายมาก การเรียนที่มีตำราตั้งไว้แบบคัมภีร์ไบเบิล ต้องบูรณาการใหม่ ต้องปรับใหม่ ฉะนั้นบทบาทของครูยุคนี้ต้องเปลี่ยน คือต้องเป็นทั้งโค้ชและนักเชื่อมโยงความรู้ให้ได้ หมายความว่า หนึ่ง ครูต้องเข้าใจบทบาทใหม่ สอง ต้องเข้าใจความหลากหลายของเด็กเจนยุคนี้ท่ามกลางโรคระบาด รวมถึงต้องเป็นนักเยียวยาไปพร้อมๆ กัน
ตอนนี้ทางผู้บริหารโรงเรียนก็ปรับ ทุกคนพยายามทำทุกวิถีทาง ปรับแม้แต่โครงสร้างตารางเรียน อย่างตารางเรียนชั้นมัธยม ช่วงเช้าให้เรียนวิชาหลักที่สำคัญ ช่วงบ่ายขึ้นอยู่กับไอเดียของครูแต่ละวิชาว่าจะบูรณาการกับสาระไหน จะทำรูปแบบไหน เป็นคลิป หรือลงพื้นที่ก็เอาตามความพร้อม
หลักสูตรแต่ละวิชานั้นเปรียบเป็นตำราที่แข็งทื่อ เช่น วิชาสังคมอาจเหมือนคัมภีร์ไบเบิลที่ตั้งไว้ เรามีหน้าที่ไปดูไปอ่าน แต่ในสถานการณ์แบบนี้ ผมมองว่าวิชาสังคมต้องผสมกันระหว่างสิ่งที่ต้องเรียนกับสิ่งที่ต้องรู้ สิ่งที่ต้องเรียนก็คือตัวเนื้อหาสาระ ต้องหยิบยกมาเป็นบางเรื่อง กับสิ่งที่ต้องรู้คือบูรณาการกับสถานการณ์โลก สถานการณ์ของสังคมปัจจุบันกับพื้นที่ขอนแก่น หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่จะมาเป็นประเด็นในการพูดคุยแลกเปลี่ยน
ผมก็หยิบยกบางเรื่องราว มาชวนเด็กเรียน เอาเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง สถานการณ์โรคระบาดมาเชื่อมโยงด้วย ถึงจะลดแรงความห่างระหว่างเรากับเด็กได้ เพราะช่วงโควิดความสัมพันธ์ยิ่งห่าง เริ่มมีผลกระทบกับเด็กหลายๆ คน บางทีความเป็นทางการกับไม่เป็นทางการต้องมีในวิชาระบบออนไลน์ด้วย เหมือนเป็นการ Check list ฟังความรู้สึกของเด็กๆ บ้าง
เช่น ถ้าพูดถึงสิทธิ หน้าที่พลเมือง กฎหมายพื้นฐาน ผมหยิบยกเหตุการณ์ปัจจุบันมาชวนเด็กคุย เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เด็กๆ เคยรู้ไหมถึงที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ที่สำคัญ บัตรนี้มีความเชื่อมโยงกับคำว่าสิทธิในฐานะที่เราเป็นพลเมืองไหม
14 เรื่องเล่า : เยียวยาเด็กไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา
ทุกระลอกที่มีการปิดเรียนเพราะโควิด ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณสองสัปดาห์หรือ 14 วัน ผมจึงตั้งประเด็นคำถามว่าแล้วใน 14 วันของแต่ละรอบ ครูและเด็กนักเรียนทำอะไรกันอยู่ วิถีชีวิตเด็กเป็นยังไง จึงเป็นที่มาของ 14 เรื่องเล่าซึ่งเชื่อมโยงกับวิชาสังคม
ถ้าเราเปิดดูตัวเนื้อหาวิชาหน้าที่พลเมือง ผมรู้สึกว่าเป็นเนื้อหาที่จับต้องได้ลำบาก ผมจึงคิดออกแบบกิจกรรมว่า ถ้าพูดถึงหน้าที่พลเมืองมันเป็นเรื่องของ Mindset ดูซิว่าใน 14 เรื่องเล่า หรือกิจกรรม 14 ครั้งที่เด็กรู้สึกอยากทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อครอบครัว และชุมชน เป็นความดีงามของเขา แค่เขาไปล้างจานให้พ่อกับแม่ ช่วยงานบ้าน ผมถือว่าเป็นหน้าที่ที่เขารับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัวได้ ผมมองว่าหน้าที่พลเมืองควรเป็นเรื่องที่จับต้องได้จริง
การเรียนการสอนวิชา 14 เรื่องเล่า ผมมีเงื่อนไขว่าเด็กจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องจดบันทึกอยู่สามประเด็น คือ หนึ่ง คุณทำอะไรบ้างในหนึ่งวัน สอง รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมนั้น สาม ทำไปแล้วเกิดการเรียนรู้อะไร
สำหรับเด็กที่พร้อม เด็กจะใช้มือถือทำเป็นคลิปสั้น 1-2 นาทีส่งมาให้ครูดูว่าแต่ละวันเขาทำอะไรบ้าง ผมมองว่ากิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ดี เพียงพอที่จะยื้อเด็กไว้ไม่ให้ออกจากระบบ ส่วนเด็กที่ไม่พร้อมเราก็ใช้ใบงาน ไปเจอเด็กทุกวันศุกร์ อาจจะช่วงสั้นๆ ที่ได้เจอ พูดคุยกัน ก็อธิบายเนื้องานแล้วให้เขาบันทึกความดีที่ทำอยู่ที่บ้าน ส่วนใครที่ตามตัวไม่เจอเลย ก็ต้องลงพื้นที่ติดตามเด็ก โทร.ถามผู้ปกครองตลอดเวลา
ด้วยความเป็นครู ผมเชื่อว่าวิธีการแบบนี้คือยาต้านโควิดอย่างหนึ่ง อย่างน้อย 14 เรื่องเล่า หรือ 14 กิจกรรมเป็นยาที่เยียวยาเด็กไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ไม่งั้นจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสถานการณ์โควิดเริ่มรุนแรงมากขึ้น สถานศึกษาไม่ได้เปิด มันเหมือนเป็นวัคซีนเยียวยาหัวใจเด็ก เยียวยาหัวใจครู ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันหัวใจให้ตัวเอง
ครูชาญณรงค์ ภัทรมานนท์
สำหรับเด็กที่พร้อม เขาก็โอเคมาก เขาได้ใช้มือถือในทางที่ถูก อย่างน้อยเด็กหยุดเล่นเกมสักครึ่งชั่วโมง ผมก็ดีใจมากแล้ว เด็กก็ทยอยส่ง 14 เรื่องเล่ามาว่าแต่ละวันเขาทำอะไรบ้าง
นักเรียนคนหนึ่งชื่อน้องเชลล์ เขามีความสามารถทางด้านดนตรี คือร้องเพลงแร็พไทย พอช่วงโควิดเขาหายไปเลย ผมจึงชวนเขา ดึงศักยภาพทางด้านดนตรี ให้เขาได้มีบทบาทมากขึ้นในการเรียนออนไลน์ อย่างน้อยเราก็ได้เห็นว่าเด็กยังมีตัวตนอยู่ ครูยังติดตามและพยายามยื้อไม่ให้เขาหลุดจากระบบ
เปลี่ยนจากเน้นคะแนน มาเน้นหน้าที่และความรับผิดชอบ
ครูในยุคออนไลน์ยังติดอยู่ที่ตัวชี้วัด แต่โควิดแบบนี้การวัดผลต้องยืดหยุ่นแล้วละครับ ยืดหยุ่นเรื่องตัวเลขไว้ก่อน แต่เรายืดเยื้อเรื่องของชีวิตและลมหายใจเด็กดีกว่าไหม วิชา 14 เรื่องเล่าผมไม่ได้ให้น้ำหนักการให้คะแนนมาก แค่มีเงื่อนไขว่าถ้าเด็กส่งงานสามชิ้น ผมให้ 35 คะแนน เขาถ่ายภาพอะไรก็ได้ที่อยากจัดนิทรรศการที่บ้านเขา นัยสำคัญคือเป็นการติดตามเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบ ส่วนเด็กที่ไม่พร้อม ทุกวันศุกร์เขาส่งงาน ผมก็โอเคแล้ว
สาระบางเรื่องต้องปรับ สาระบางตัวควรจับแค่แก่นของมัน ส่วนวิธีการสอบ ในสถานการณ์แบบนี้เราจะสอบอย่างไร สำหรับเด็กที่พร้อม ผมใช้วิธีสอบสัมภาษณ์ เพราะว่าเรื่องความรู้ความจำในช่วงแบบนี้อาจวัดยาก ผมมองเรื่อง Mindset ของเขา อย่างวิชาสังคม ผมโชว์ภาพเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้าแล้วถามเลยว่าภาพที่เห็นมีความเชื่อมโยงกับศาสนาอย่างไร ซึ่งจะประเมินการวิเคราะห์สังเคราะห์เขาได้ สอง ผมโชว์ภาพสัญลักษณ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถามเขาว่าสัญลักษณ์ที่เห็นคืออะไร เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของเขาอย่างไร เราก็ลองฟังความคิดเห็นเขา ซึ่งไม่มีถูกไม่มีผิดในยุคแบบนี้
เป็นแนวทางที่ผมกำลังทดลองทำการประเมินอยู่ จะได้ผลขนาดไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง ตอนนี้พยายามรวบรวมเอาชุดประสบการณ์เหล่านี้ อาจให้ผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความเข้าใจลองเคาะดูว่าจะไปได้ไกลขนาดไหน และผลตอบรับของนักเรียน ผู้ปกครองเป็นอย่างไร เสียงสะท้อนอย่างไร เพื่อที่จะนำมาพัฒนาต่อ
ต่อลมหายใจให้กับครูและเด็ก
ตอนนี้ครูทุกคนน่าจะรู้สึกเหนื่อยแต่ด้วยหน้าที่เราต้องทำ สถานการณ์ครูตอนนี้เหนื่อยเรื่องการทำความเข้าใจนะ ทำความเข้าใจเด็ก ผู้ปกครอง และวิธีการประเมิน
ครูในยุคนี้บางทีตกเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่รู้ตัว บางคนก็มองว่าครูน่ะสบาย ไม่ทำอะไรนอกจากทำคลิปแล้วส่งให้กับเด็ก แต่ผมเชื่อว่าครูทั้งประเทศจะมีหินก้อนเล็กๆ ที่เรียงตัวอยู่ในใจ แต่ยังไม่ถูกหยิบยกหรือจัดวางเท่านั้น ถ้า 14 เรื่องเล่าของผมจะเป็นประโยชน์กับครู ผมอยากให้เรื่องนี้เป็นวัคซีนเยียวยาหัวใจครูทั้งประเทศ อย่างน้อยความงดงามเล็กๆ ที่เด็กพยายามส่งสัญญาณมาถึงเรา จะช่วยต่อลมหายใจให้กับครูและเด็กได้
ไอเดียต่อไปผมต้องลงพื้นที่เพื่อไปติดตามและฟังเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองและนักเรียน ผมจะได้ออกแบบอีกว่าจะบูรณาการสังคมกับวิชาอื่นอย่างไร และที่กำลังคิดไว้คือกิจกรรมเขียนจดหมายถึงโรงเรียน อยากให้เด็กบรรยายถึงโรงเรียน ผมอาจลองเอาสิ่งที่เด็กเขียนไปคุยกับผู้บริหาร เราจะได้มองเห็นภาพใหญ่ถูกว่าจะทำงานเชิงพื้นที่ในภาพกว้างอย่างไร จะดูแลเยียวยาต่ออย่างไรดีครับ