ผลลัพธ์ที่น่าตกใจของการใช้เครื่องวัดแรงบีบมือเพื่อทดสอบสมรรถภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็ก ๆ ใน 6 จังหวัดภาคใต้ คือ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส คือการที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน กว่าร้อยละ 98 มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กวัยเดียวกัน
กสศ. ชวนอ่านและทำความเข้าใจกับเรื่องพัฒนาการของเด็กในประเด็นนี้ผ่าน “โมเดลพัฒนากล้ามเนื้อมือเพื่อฟื้นฟูความรู้ถดถอย” ที่เกิดขึ้นจากการที่ทีมโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเองสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ และปรับตัวไปด้วยกัน
ในกรณีของผลลัพธ์ข้างต้น โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง จึง Kick Off โรงเรียนนำร่องในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1 เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนขยายผลทั้ง 10 โรงเรียนพร้อมกัน และให้ How to ที่เป็นการถอดบทเรียนการพัฒนากล้ามเนื้อมืออย่างเป็นรูปธรรม
เพราะหากเราไม่เร่งการฟื้นฟูวิกฤตทางการศึกษาครั้งนี้
อาจจะส่งผลให้เด็ก ๆ สูญเสียโอกาสในอนาคต
เพราะ “ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคนพร้อมพัฒนา”
“ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่คน เรากำลังถ่ายทอดโมเดลพัฒนากล้ามเนื้อมือลงไปที่ครูและโรงเรียน เพื่อให้ทั้งครูและโรงเรียนมีทักษะเพิ่มขึ้น สิ่งที่ออกแบบไว้คือการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และโครงการฐานวิจัยลงไปปฎิบัติที่โรงเรียน เพราะที่ผ่านมาเราพบว่าครูยังขาดทักษะความรู้ด้านการพัฒนาฐานกาย
“โมเดลพัฒนากล้ามเนื้อนี้ จะช่วยให้ครูและบุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษาได้ข้อมูลเรื่องแรงบีบของกล้ามเนื้อมือและวิธีการจับดินสอ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ คืนข้อมูลกลับไปที่โรงเรียน ว่าเด็กเป็นอย่างไร ทักษะอะไรที่ยังขาด
“เราฝึกให้ครูสังเกตและสืบค้นสาเหตุของนักเรียนทุกคน และคาดการณ์ว่าจะจัดกิจกรรมแบบไหนเพื่อพัฒนาเด็ก จากนั้นจึงทดลองทำดู เก็บข้อมูลนำมาแปรผล เมื่อทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะพบการเปลี่ยนแปลง แต่ในท้ายที่สุดแล้วการพัฒนาครูเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ต้องทำทั้งระดับพื้นที่และระดับนโยบายการศึกษา”
รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ โค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าว รศ.ไพโรจน์ยังเสริมอีกว่า โมเดลเพิ่มแรงบีบมือและจับดินสอให้ถูกวิธีนั้น คาดว่าจะสามารถช่วยให้เด็กพัฒนากล้ามเนื้อได้เพิ่มขึ้น 0.5 – 1.5 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน และมีค่าแรงบีบมือตามเกณฑ์มาตรฐานคือ 19 กิโลกรัม ภายใน 6 เดือน
หากนำร่องได้สำเร็จ จะเป็นส่วนหนึ่งของบทพิสูจน์ว่า ‘ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการศึกษา’
ข้อเสนอของ รศ.ไพโรจน์ คือการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ด้วยโมเดลการพัฒนากล้ามเนื้อมือ มี 2 แนวทางปฏิบัติ แนวทางแรกคือนโยบายลงจาก สพฐ. และแนวทางหนึ่งคือการระดมความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก
“ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กเป็นวาทกรรมที่สังคมจับต้องไม่ได้ ในขณะที่ข้อมูลจากการวัดกล้ามเนื้อมือนี้เป็นความจริงที่จับต้องได้เลย กระบวนการนี้จะทำให้เกิดการตระหนักรู้อย่างแท้จริง เช่น การร่วมกันทอดกฐินพัฒนาฐานกายโดยให้โรงเรียนต่าง ๆ มาร่วมกันทำ มีการติดตามความเปลี่ยนแปลง สร้างตัวชี้วัด ขับเคลื่อนการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยมี “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” ในระดับจังหวัดเป็นโรงเรียนนำร่องขยายไปสู่ระดับประเทศ
ต้องมีการสื่อสารเชิงบวก อย่างไรก็ตาม การสร้างความร่วมมือยังเป็นงานที่ท้าทายที่สุดโดยเฉพาะในระดับจังหวัด ต้องให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นคนขับเคลื่อนหลัก ดังนั้นแนวทางการขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากล้ามเนื้อมือสู่ความยั่งยืน ควรเริ่มที่การระดมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และขยายผลให้โรงเรียนสามารถพัฒนาฐานกายของเด็กในทุกระดับชั้นได้”
แนวทางสร้างเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง
• ครูใช้วิธีการอะไรในการพัฒนาเด็ก ครูได้เห็นอะไร และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
• ครูใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์อย่างไรให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และร่วมค้นหาวิธีการพัฒนากล้ามเนื้อมือของตนเอง
• เปิดเวทีให้ครูที่เข้าร่วมโครงการ ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ปัญหากล้ามเนื้อมือและกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น เพื่อสื่อสารออกสู่สังคม
• โรงเรียนสามารถนำกระบวนการนำร่องที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มาขยายไปสู่การพัฒนาฐานกายของเด็กทุกระดับชั้นได้
• สร้างแหล่งเรียนรู้การแก้ปัญหากล้ามเนื้อมือและการพัฒนาฐานกาย
• เชื่อมบ้านกับโรงเรียนเข้าด้วยกัน ให้ผู้ปกครองรับรู้ปัญหาเพื่อช่วยสังเกตเด็ก และให้ความรู้เรื่องการพัฒนาฐานกายแก่ผู้ปกครอง