รู้จัก “ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน” จังหวัดน่าน ซึ่งมีนิยามต่อท้ายว่า “โรงเรียนชุมชน”
คำว่า “โรงเรียนชุมชน” เป็นคำที่สะกิดหัวใจ ชวนให้อยากมีบทสนทนาว่า ชุมชนแห่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร หนทางของภารกิจการสร้างโรงเรียนชุมชนนั้น มีความท้าทาย เหนื่อยยากแบบไหนโผล่มาทักทายบ้าง
บทสนทนาด้านล่างจึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีครูเดือน – ชมเดือน คำยันต์ หนึ่งในครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน จังหวัดน่าน เป็นคนเล่าเรื่องราวต่อไปนี้
แรงจูงใจก่อเกิดศูนย์การเรียน (ไม่มีคำว่า “รู้”)
ที่ก่อตั้งเพื่อให้เด็กในชุมชนได้เรียนโดยไม่ต้องไปไกลบ้าน
แรงจูงใจที่สำคัญที่สุดคือ ก่อนปี 2556 ที่นี่ไม่มีโรงเรียน ไม่มีศูนย์เรียนธรรมชาติ ทำให้เด็กและลูกหลานของชุมชนต้องออกไปเรียนรู้ข้างนอก ต้องห่างจากครอบครัว สมมติว่าเด็กเจ็ดขวบของห้วยพ่าน เมื่อก่อนต้องออกไปเรียนที่โรงเรียนประจำซึ่งห่างออกไปสองร้อยกิโลเมตร กว่าจะได้กลับบ้านทีก็ช่วงปิดเทอม เขาจะห่างจากครอบครัวไปเรื่อยๆ ทีนี้ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงคนในชุมชน เห็นความยากลำบากด้านการศึกษาของบุตรหลานเหล่านี้ จึงเกิดเป็นความมุ่งมั่นที่จะหาทางออกที่เหมาะสม ครั้นเมื่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2551 มีการเปิดพื้นที่การจัดการศึกษาหลากหลายรูปแบบ ชุมชนห้วยพ่านจึงเริ่มทำการศึกษารายละเอียด และจากจุดนี้ก็ค่อยๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ จนปี 2553 ชุมชนห้วยพ่านได้ร่วมกับทางมูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน เรียนรู้และศึกษากระบวนการจัดศึกษาในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งร่วมเรียนรู้กับเครือข่ายการศึกษาทางเลือกแห่งประเทศไทย กระทั่งเมื่อมีกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ.2555 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2555 ชาวห้วยพ่านจึงยื่นความประสงค์ขอดำเนินการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานภายในศูนย์การเรียนรู้ตามกฎกระทรวงดังกล่าว และได้พัฒนาหลักสูตรชุมชนขึ้น คือหลักสูตร “มรดกห้วยพ่าน” เพื่อดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้กับบุตรหลานในชุมชน
ช่วงแรก การจัดการเรียนการสอนของที่นี่แบ่งออกเป็น 2 ช่วงชั้น คือ ช่วงชั้น ป.1-3 และช่วงชั้น ป.4-6 และเมื่อปี พ.ศ. 2557 ทางศูนย์การเรียนได้ขอเปิดชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่ม เพราะมีนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ไม่อยากออกไปเรียนต่อข้างนอก ในช่วงเช้าหลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติเรียบร้อยเราก็จะเรียน 3 วิชาหลักคือ วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ
ปัจจุบันเราเปิดชั้นอนุบาลเพิ่ม มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 12 คน เรียนในระดับชั้นอนุบาล 2 คน ชั้น ป.1 มีนักเรียน 1 คน ชั้น ป.2 มีนักเรียน 1 คน ชั้น ป.3 มีนักเรีน 1 คน และชั้น ป.4 ป.5 กับ ป.6 รวมกัน 5 คน รวมมัธยมชั้น ม.2 อีก 2 คน
ส่วนครูมี 2 คน คือ ครูเดือน (น.ส.ชมเดือน คำยันต์) รับผิดชอบนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 กับมัธยมต้น และครูมล (น.ส.ศรัณย์พร รัตสีโว) รับผิดชอบอนุบาลและช่วงชั้นที่ 1
ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่านได้รับใบอนุญาตเป็นศูนย์การเรียนชุมชนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 จากสำนักงานประถมศึกษาน่าน เขต 2 เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ
จากอดีตเด็กในชุมชน สู่บทบาทครูเพื่อต่อเติมการเรียนรู้ของเด็กๆ
ครูเดือนเป็นคนในชุมชนเลยค่ะ กลับมาที่ห้วยพ่านช่วงปี 2553 เรียนจบด้านพืชมา พอกลับมาในชุมชน เราเห็นทั้งชุมชนกำลังรวมตัวทำอิฐบล็อก เลยสนใจ เขาบอกว่ากำลังจะสร้างโรงเรียน เลยช่วยสร้างด้วย ตอนแรกไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเข้ามาสอน เพราะว่าเราไม่ได้จบครูมาและไม่ถนัดสอนเท่าไหร่ แต่พอสร้างเสร็จปี 2556 แล้วมันไม่มีใครจริงๆ เลยจำเป็นต้องเข้ามา ไม่อย่างนั้นทั้งหมดจะเป็นการสร้างที่สูญเปล่า แต่เราโชคดีที่ได้พี่ๆ ทีมมูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ เพราะพี่ทุกคนเคยผ่านการเป็นครูมาหมดเลย เรื่องไหนไม่ถนัดก็สามารถถามได้ ตัวเราเองก็เตรียมตัวสอนโดยการทบทวนความรู้จากหนังสือ ป.1-6 อ่านทวนเกือบทุกเรื่อง เพราะบางเรื่องเราก็ลืมไปแล้ว เนื่องจากไม่ได้ใช้นานมาก
“มรดกห้วยพ่าน” หลักสูตรการเรียนที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากจุดเด่นของชุมชน
ศูนย์การเรียนแห่งนี้ใช้เวลาสร้างประมาณ 3 ปี ทุกคนร่วมแรงร่วมใจ ไม่มีค่าจ้าง พอทุกอย่างเสร็จปี 2556 ก็ทำการจัดการเรียนการสอนเลย ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จะสอนยังไง ชุมชนเลยพากันไปดูแต่ละโรงเรียนว่ามีกระบวนการเรียนการสอนแบบไหนที่ตอบโจทย์บ้าง จนเราได้ไปดูที่โรงเรียนลำปลายมาศส่วนประถม รู้สึกว่าใช่ เลยขอมาดูงานที่ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ 2 สัปดาห์ ก็พาเด็กของห้วยพ่านไปเรียนร่วมด้วย ไปสังเกตการสอน ร่วมกิจกรรม และซึมซับกระบวนการเรียนรู้เพื่อมาปรับใช้กับชุมชนเรา
เหตุผลที่ประทับใจการเรียนการสอนที่ลำปลายมาศ เพราะที่นั่นเขาจะเน้นเด็กเป็นจุดสำคัญทุกอย่าง เริ่มจากเด็กก่อน ดูเด็กเหมือนเป็นครอบครัว เหมือนพี่สอนน้อง เป็นครอบครัวมากกว่า ไม่เหมือนโรงเรียนรัฐปกติที่ครูทำหน้าที่สอนๆ แล้วก็กลับ แต่ที่นี่ทำทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเรียน จิตศึกษา เข้าใจเด็ก เข้าถึงเด็กมากกว่า มองเด็กเหมือนคนในครอบครัว เราเลยรู้สึกว่าเด็กเรียนแล้วมีความสุข
จากนั้นคณะอาจารย์จากลำปลายมาศก็ขึ้นมาเยี่ยมที่ห้วยพ่าน ได้พูดคุยกัน เขาให้ชุมชนช่วยเล่าให้ฟังว่าเรามีจุดเด่นอะไรบ้าง เราบอกว่าชุมชนเรามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มากเลย มีป่า มีน้ำ มีความมั่นคงทางอาหาร มีวัฒนธรรม เราเลยนำ 4 อย่างนี้มาทำเป็นหลักสูตรของห้วยพ่าน เรียกว่า “มรดกห้วยพ่าน” โดยที่เราสามารถเอามาบูรณาการเข้ากับทุกวิชาของ สพฐ. ที่กำหนดขึ้นมาได้หมด ไม่ว่าจะเป็นตัวชี้วัดไหนก็สามารถทำ เรามีห้องเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งยึดเด็กเป็นหลัก เด็กเราชอบเรื่องอะไร เราจะเอาเรื่องนั้นเข้ามาสอนก่อน เช่น เด็กถามว่า ทำไมน้ำถึงมีสีขุ่น เราจะนำสิ่งที่เขาถามมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ มาเป็นโครงงานในการเรียน
พอเราได้หลักสูตรก็มาออกแบบว่า ในแต่ละวันเราจะต้องทำอะไรบ้าง เรียนอะไรบ้าง ก็มาจัดรูปแบบกัน คือ ช่วงเช้าตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่งจนถึงแปดโมง ทำความสะอาดโรงเรียนช่วงเช้าแล้วจึงเข้าแถวเคารพธงชาติ จากนั้นก็เตรียมความพร้อมก่อนการเรียนยี่สิบนาที เพื่อเช็กว่าตัวเขาเองเป็นยังไงบ้าง รู้สึกยังไงบ้างกับเหตุการณ์ที่อยู่รอบตัวเขาตอนเช้านี้ พร้อมเรียนไหม หลังจากนั้นตลอดช่วงเช้าจะเรียนวิชาหลักสามวิชา คือ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ชุมชนมองเห็นว่าวิชาเหล่านี้ยังสำคัญต่อการนำไปใช้ในชีวิตอยู่ เพราะว่ายังไงก็ตามเด็กจะต้องเอาไปเรียนต่อข้างนอก
พอพักเที่ยงก็รับประทานอาหารกลางวัน โดยอาหารกลางวันจะมาจากชุมชนจัดสรรมาให้ในแต่ละวัน ประมาณบ่ายโมงถึงบ่ายโมงยี่สิบ จะเริ่มกิจกรรม Body Scan (บอดี้สแกน) เพื่อเตรียมความพร้อม ให้เขาผ่อนพักตระหนักรู้ จากนั้นนอนพักกลางวันยี่สิบนาที และอาจมีกิจกรรมอื่นเสริมมาบ้าง เช่น กิจกรรมที่เสริมให้เขารับรู้อารมณ์หรือสิ่งที่เขาแสดงออกหรือสิ่งที่เห็น เขารู้สึกยังไง เขามีวิธีการแก้ยังไง มีวิธีรับปัญหานั้นยังไง แก้ยังไง เหมือนพูดคุยกัน หลังจากนั้นจะเรียนโครงงานในเรื่องที่เด็กอยากเรียนรู้ เราพาเดิน พาดู พาทำก่อน แล้วเขาเห็นอะไร สังเกตแล้วตั้งคำถาม เราก็ใช้สิ่งที่เขาถามมาทำเป็นโครงงาน เช่น ตอนนี้กำลังเรียนรู้เรื่องสีธรรมชาติ เด็กจะเก็บวัตถุดิบธรรมชาติจากชุมชน เช่น หิน ใบไม้ ต้นไม้ พืช ดินต่างๆ แล้วนำมาทำสี กระบวนการเรียนรู้ตรงนี้เกิดจากสิ่งที่เขาอยากรู้ แล้วครูนำมาต่อยอด
ในหนึ่งปีเราจะเรียน 4 โครงงาน โครงงานละ 10 สัปดาห์ ตอนนี้แบ่งเป็นสามช่วงชั้น ช่วงชั้นที่หนึ่งคือ ป.1-3 ช่วงชั้นที่สอง ป.4-6 ช่วงชั้นที่สามคือ มัธยมต้น ช่วงชั้นที่หนึ่งก็จะเรียนหนึ่งโครงงาน เราจะดูจากความสนใจของทุกๆ คน จากนั้นจะสร้างแรงบันดาลใจ นำสิ่งที่เด็กแต่ละคนสนใจมาแมตช์ให้เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งการเรียนการสอนโครงงานนั้น กระบวนการตอนแรกน่าจะเกิดจากตัวครูก่อน ต้องวางว่าโครงการนี้ต้องเป็นธีมไหน เพราะว่าต้องอิงกับตัวชี้วัดไหน แล้วชวนสร้างแรงบันดาลใจ พาดูหนัง พาดูธรรมชาติ พาดูเรื่องที่มันใกล้ตัวกับที่เราจะสอน แล้วเด็กจะเกิดประเด็นที่เขาอยากรู้ต่อเอง ที่ครูทำบ่อยๆ พาดูหนังเกี่ยวกับธรรมชาติ พาดูเรื่อง 2012 บ้าง เขาก็จะเห็นเหตุการณ์ต่างๆ กำเนิดโลกเกิดมาได้ยังไง พวกภัยธรรมชาติเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วก็วนมาถึงสิ่งที่เราเห็นอยู่ อย่างเช่น ทำไมน้ำถึงเป็นสีนี้ ทำไมฟ้าถึงร้อง ทำไมก้อนหินถึงมีรูปร่างลักษณะแบบนี้ ก็จะตั้งคำถามมาเรื่อยๆ เราจะเก็บข้อมูลเก็บคำถามแล้วเขาก็จะได้ทำสิ่งที่อยากรู้และสิ่งที่รู้แล้วด้วยกับเรื่องที่เราจะตั้งหัวข้อ
จุดเด่นของเด็กห้วยพ่านคือ เป็นตัวของตัวเอง
จุดเด่นของเด็กที่นี่คือความเป็นตัวเอง ความกล้า และมีน้ำใจ มีจิตสาธารณะ เพราะว่าส่วนใหญ่เราออกแบบการเรียนการสอนโดยยึดเขาเป็นที่ตั้ง คือเรียนรู้จากสิ่งที่เขาอยากรู้ เขากล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออกในสิ่งที่เขาคิดและรู้สึก โดยที่เราในฐานะครูก็ยังไม่รีบตัดสินว่ามันถูกหรือผิด ให้เขาได้พูดได้แสดงความคิดเห็นของเขาไปก่อน
จริงๆ จะบอกว่าทั้งชุมชนคือโรงเรียนก็ได้ เรามอวงว่า ทั้งครูและครอบครัวสามารถเป็นครูเด็กได้หมด พ่อแม่คือครู และครูในโรงเรียนก็คือครู ที่ศูนย์เรียนชุมชนฯ เราจะไม่ค่อยใช้เสียงดังกับนักเรียน เราก็จะคุยกับผู้ปกครองด้วยว่า ถ้าอยู่บ้าน พยายามอย่าใช้เสียงดังกับเด็ก อันไหนลดได้ก็ลด เอามาปรับ เขาก็จะไม่ทำเสียงดังกับเรา เด็กเขาจะรู้ว่าต้องวางตัวอย่างไร การเรียนรู้บางอย่างต้องทำในระดับชุมชนด้วยเช่นกัน ชุมชนก็เป็นเสมือนพื้นที่ห้องเรียนให้เด็กได้เช่นกัน
ความท้าทายและอุปสรรคของศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน
ความท้าทาย ณ ปัจจุบัน ในระดับที่กระทบครูคือ ครูต้องสอนเอง หาทุนเอง และต้องหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มด้วย เพราะว่าเด็กๆ เขาอยู่ในยุคสมัยที่โลกเปิดกว้าง สิ่งนี้ทำให้ครูต้องพัฒนาตนเองให้ทันกับเขา หรือคุยกับเขาได้
ส่วนความท้าทายในมุมของศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน จริงๆ เราได้รับความสนับสนุนมาเรื่อยๆ แต่ด้วยตัวทุนก็จะมีกรอบระยะเวลาอยู่ บางครั้งก็จะครอบคลุม 3-4 ปี หลังจากนั้นก็จะหมดสัญญา อย่างที่บอกว่า ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่านได้รับใบอนุญาตเป็นศูนย์การเรียนชุมชนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐอย่างเป็นทางการ อันนี้เป็นข้อมูลมุมหนึ่งที่อยากบอกเล่าถึงความท้าทายและข้อจำกัดที่เราเจอ
เป้าหมายของศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน
เป้าหมายของเราคือ ให้เด็กมีภูมิความผูกพันในเรื่องของครอบครัว ชุมชน และการใช้ชีวิต คือ ให้เด็กเขามีความสุขกับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเรียน การทำงาน หรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพราะสุดท้ายแล้ว เด็กห้วยพ่านก็คือส่วนหนึ่งของชุมชน ส่วนหนึ่งของสังคม และส่วนหนึ่งของโลกใบนี้