รู้จัก Learning Pod อีกหนึ่งทางเลือกของการเรียนรู้ในยุคโควิด-19 ที่พ่อแม่นำไปปรับใช้ได้

“มันทนไม่ไหวไงคะ” คือเสียงบอกเล่าปนเสียงหัวเราะจากคุณแม่ลูกสองอย่างณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ตอบต่อ กสศ. เมื่อเราเอ่ยถามถึงสาเหตุที่เธอลุกมาทำ Learning Pod ซึ่งพาเด็กจาก 4-5 ครอบครัวมาเรียนรู้ร่วมกัน

Learning Pod คือกลุ่มเรียนรู้ขนาดเล็ก ที่ณิชาและกลุ่มพ่อแม่ซึ่งคุ้นเคยกันดี ทดลองทำขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เหตุเกิดจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เด็กไปโรงเรียนไม่ได้ ต้องนั่งเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ซึ่งไม่ใช่เด็กทุกคนจะพร้อมรับมือกับการเรียนการสอนผ่านหน้าจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กในวัยอนุบาล ซึ่งลูกทั้งสองคนของณิชาก็รวมอยู่ในวัยนี้ด้วย

ด้านล่างนี้คือบทสนทนาที่ณิชาให้สัมภาษณ์กับ กสศ. ถึงเส้นทางการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ครอบครัวเธอได้เลือกให้กับตนเองและลูก ๆ และขอหมายเหตุตัวโต ๆ ว่า ถึงแม้ในแง่การงาน ณิชาจะรับบทบาทเป็นนักวิจัยอาวุโส แต่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เธอย้ำว่าสะท้อนความคิดเห็นและมุมมองในฐานะแม่คนหนึ่ง ที่พยายามหาทางรอดให้ครอบครัวและลูก ๆ เป็นหลักเท่านั้น

เชิญเลื่อนอ่านความคิดเห็นและมุมมองของณิชา ในฐานะแม่คนหนึ่งที่ #ต้องรอด ได้เลย

เมื่อทั้งพ่อและแม่ต้อง work from home

“เราและสามีทำงาน work from home ทั้งคู่ ตอนนี้ลูกคนโตอายุ 4 ขวบ 10 เดือน ลูกคนเล็ก 1 ขวบ 2 เดือน คือพอโรงเรียนปิด แล้วเราทำงานไม่ได้เลย เพราะต้องดูแลลูกด้วย อีกอย่างคือเราเห็นว่าการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กเล็กมันไม่เวิร์ก เราเลยต้องลุกมาทำอะไรสักอย่าง นั่นก็คือสร้างกลุ่มเรียนรู้แบบ Learning Pod ขึ้น”

ณิชาออกตัวว่า กลุ่มเรียนรู้ Learning Pod แห่งนี้เพิ่งเริ่มได้ไม่นาน หลายอย่างยังอยู่ในขั้นทดลองเรียนรู้ เรียกได้ว่าพ่อแม่ก๊วนนี้พร้อมปรับตัวกันได้เสมอ แต่หลักใหญ่ใจความของพื้นที่เรียนรู้แบบ Learning Pod คือ เธอต้องการให้ลูกได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย โดยไม่ได้คาดหวังว่าชั้นเรียนนี้ต้องมอบใบรับรองอะไรให้ทั้งนั้น

“ต้องแจ้งก่อนว่า Learning Pod อาจจะตอบโจทย์บางบ้าน แต่ละบ้านต้องหาหนทางที่เหมาะกับตนเอง อย่างครอบครัวเราทำ home school ไม่ได้แน่ ๆ เพราะทั้งพ่อและแม่ทำงานเต็มเวลา ดังนั้นเราจึงจัดการแก้ปัญหาด้วยกลุ่มการเรียนแบบ Learning Pod ที่นำเด็ก ๆ จาก 4-5 บ้านมาเรียนและเล่นร่วมกัน โดยพ่อแม่เลือกครูที่จะมาสอนเอง”

จุดเริ่มต้นของการลุกมาทำ Learning Pod

“มันทนไม่ไหวไงคะ (หัวเราะ) คือในบรรดาแต่ละบ้านที่มารวมกันทำ Learning Pod มีทั้งบ้านที่ผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งทำงาน กับบ้านที่พ่อแม่ทำงานเต็มเวลาทั้งคู่ ซึ่งไม่ว่าแบบไหน การต้องดูแลลูกเล็กในภาวะโรงเรียนปิดแบบนี้ก็ลำบากกันหมดค่ะ สิ่งสำคัญสำหรับเด็กวัยนี้คือ เขาควรได้เล่น ได้ฝึกทักษะเข้าสังคม และเรียนรู้กติกาการอยู่เป็นกลุ่ม 

“Learning Pod ที่กำลังทำกัน เป็นกลุ่มเรียนรู้ขนาดเล็กที่เด็ก ๆ จากหลายครอบครัวมาเรียนและเล่นร่วมกัน โดยพ่อแม่ช่วยกันกำหนดหลักสูตร ช่วยกันเลือกคุณครูที่มาสอน แล้วหารค่าใช้จ่ายด้วยกัน เราเพิ่งทำกันได้ไม่นาน ตอนนี้จัดการเรียนแค่ช่วงเช้า วันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยอาศัยพื้นที่ของบ้านคุณพ่อคุณแม่ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งพอจะมีพื้นที่ ระหว่างที่ลูกเรียน พ่อแม่ก็แยกย้ายไปทำงานตามมุมต่าง ๆ คือ บ้านหลังนี้จะเป็นทั้งพื้นที่ให้เด็กเรียน และเป็นพื้นที่ co-working space ให้พ่อแม่ทำงานไปพร้อม ๆ กัน

“เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เราทำ Learning Pod ได้คือ กลุ่มพ่อแม่ทั้ง 4-5 ครอบครัวต่างได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกแล้ว บางคนก็ฉีดครบสองเข็มกันเรียบร้อย อีกทั้งเราพักอาศัยในพื้นที่ระบาดต่ำ ลูก ๆ ก็อยู่ในวัยอนุบาลซึ่งร่วมเรียนรู้ด้วยกันได้ คุณครูที่มาสอนก็จะมีการตรวจหาโควิด-19 ผ่านชุดตรวจ ATK เป็นรายสัปดาห์ และที่สำคัญอีกอย่างคือ พวกเรามีความไว้วางใจต่อกัน เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ ความไว้วางใจระหว่างกันถือว่าสำคัญมาก”

ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ลองสร้างหนทางใหม่ และขอเลือกหลักสูตรเอง เพราะ #พ่อแม่ต้องรอด

“เนื่องจากสถานการณ์ช่วงนี้เปลี่ยนเร็วมาก กลุ่มเรียนรู้ Learning Pod นี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ค่ะ ตอนแรกเริ่มเราหาครูเป็นคน ๆ มาสอน แต่ความท้าทายคือเด็กคละชั้นกันมากเลย มีตั้งแต่สองขวบถึงห้าขวบ ซึ่งการจะหาครูที่รับมือได้นั้นถือเป็นเรื่องยากมาก เราเลยไปคุยกับโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ซึ่งเจอวิกฤต ถูกสั่งปิด แต่ยังต้องจ่ายเงินเดือนครูอยู่ ทีนี้เราไปเจอโรงเรียนที่สอนแบบ ‘มอนเตสซอรี่’ (Montessori) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เด็กหลายช่วงวัยเรียนร่วมกันได้ เราเลยติดต่อขอทีมครูจากโรงเรียนนี้มาช่วยจัดการเรียนการสอนให้เด็ก ๆ โดยจ่ายค่าการเรียนการสอนเป็นรายสัปดาห์ แต่ตอนนี้สถานการณ์ก็เปลี่ยนอีก เพราะโรงเรียนเขาใกล้กลับมาเปิดกันแล้ว กลุ่ม Learning Pod ของพวกเราจึงกลับไปรูปแบบแรกสุด คือจ้างคุณครูเป็นคน ๆ มาสอนรายสัปดาห์ ทั้งนี้นอกเหนือจากวิชาหรือทักษะหลัก ๆ ที่เด็กควรได้เรียนรู้ตามวัยแล้ว ยังมีวิชาหรือกิจกรรมทางเลือกอย่างพลศึกษา (Physical Education) รวมถึงศิลปะ เพิ่มมาให้เด็กได้สนุกด้วย แต่ต้องบอกก่อนว่าสิ่งที่เราพยายามทำกันอยู่นี้ เราเองก็ทดลองและเรียนรู้กันอยู่เช่นกัน

การที่พ่อแม่ลุกมามีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรให้ลูก ๆ แล้วทดลองหาครูมาสอนเป็นรายสัปดาห์ เรามองว่า ในแง่หนึ่งมันคือการลองสร้างหนทางใหม่ เดิมทีพ่อแม่จะต้องเหมาจ่ายให้โรงเรียนทั้งเทอมหรือทั้งปี แต่วิกฤตโรคระบาดหนนี้ ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับรูปแบบที่เคยเป็นมา คือเราเข้าใจนะว่า โรงเรียนก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยเช่นกัน ดังนั้นทั้งพ่อแม่ เด็ก และโรงเรียนอาจต้องมีการปรับเปลี่ยน ปรับตัว สร้างหนทางใหม่กัน

“ค่าใช้จ่ายที่จัดสรรเพื่อกลุ่มเรียนรู้ Learning Pod คิดว่าขึ้นอยู่กับการตกลงของแต่ละกลุ่ม เพราะบางบ้านอาจจะอยากให้จ้างครู English Native Speaking มาสอนเลย หรือบางบ้านอาจจะอยากเน้นบางวิชา ทำให้ค่าใช้จ่ายอาจจะแตกต่างกันไป แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของกลุ่มเรา พูดได้ว่าแต่ละบ้านสามารถจัดสรรหลักสูตรให้อยู่ในงบประมาณเทียบเท่าค่าเทอมปกติที่เคยจ่ายก็ได้ หรืออาจจะจ่ายน้อยกว่านั้นก็ยังได้ เพราะการเรียนแบบนี้พ่อแม่จ่ายแบบ pay as you go คือจ่ายรายสัปดาห์ตามที่ลูกเรียน” 

จงมองหาความเป็นไปได้ เพราะถึงอย่างไร “เราต้องอยู่กับมัน”

“Learning Pod แบบที่เรากำลังทำ ถามว่าพ่อแม่ชนชั้นกลางทำได้ไหม จากประสบการณ์ที่ทำมา คิดว่าทำได้ค่ะ แค่ต้องมีความไว้วางใจต่อกัน ซึ่งสำหรับกลุ่มของเรา ความไว้วางใจเกิดจากการที่ได้พูดคุย หารือ แล้วเราคิดว่าเราเข้าใจหัวอกพ่อแม่ด้วยกัน ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเอาเชื้อโควิด-19 มาติดลูกที่บ้านแน่ ๆ ดังนั้นทุกครอบครัวจะพยายามเต็มที่ เราก็ตรวจ ATK กันทุกสัปดาห์ ทั้งพ่อแม่ ทั้งคุณครู ทั้งเด็ก ๆ แต่เราเชื่อว่าการเรียนรู้ยังสามารถดำเนินต่อได้แม้ในภาวะโรคระบาด เราไม่ควรกลัวจนไม่ยอมให้ลูกเรียนรู้อะไรเลย เพราะในระยะยาวมันจะเป็นผลเสียต่อเด็ก 

“อยากให้ยึดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก คือเราศึกษางานวิจัยใน The Lancet มา พบว่าประเทศที่ระบาดหนัก ๆ เขาเจออัตราการตายของเด็กจากโควิดจำนวน 2 คนใน 1 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก ต่ำกว่าอัตราการเกิดลิ่มเลือดจากการฉีดวัคซีนเสียอีก ดังนั้นลูกเราอาจมีโอกาสติดโควิด-19 แต่โอกาสที่เขาจะอาการหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตนี่มันน้อยมาก  ดังนั้นเราต้องพิจารณาตรงนี้ประกอบด้วย ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงกับโอกาสในการเรียนรู้ของลูก  เราอาจต้องมองการอยู่ร่วมกับโควิด-19 แบบเดียวกับที่สิงคโปร์ทำ คือต้องอยู่กับมัน ดังนั้นเราต้องหาทางปิดช่องโหว่ความเสี่ยง เช่น ถ้าติดขึ้นมาจะจัดการอย่างไร มากกว่าจะกลัวจนยอมไม่ทำอะไรเลย”

ข้อเสนอถึงภาครัฐ “ต้องรีบเอาวัคซีนมาช่วยเปิดโรงเรียน”

“คิดว่าเราต้องรีบเอาวัคซีนมาช่วยเปิดโรงเรียนค่ะ เราต้องเร่งฉีดวัคซีนผู้ใหญ่ให้ได้มากที่สุด พ่อแม่จะได้เกิดความมั่นใจที่จะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนในเด็ก เราอาจต้องพิจารณาเอาวัคซีนที่ปลอดภัยต่อเด็กเข้ามา ส่วนการฉีดในเด็กนั้นควรต้องแล้วแต่ความสมัครใจ แต่ถ้าเด็กสมัครใจ ครอบครัวสมัครใจ พอฉีดวัคซีนแล้วมันเกิดความมั่นใจ ทำให้จัดการเรียนรู้ได้ จะรวมกลุ่มจ้างคุณครูมาสอนก็สามารถทำได้

“ส่วนเรื่องให้รัฐเยียวยา เอาจริง ๆ ในกลุ่มพ่อแม่ตอนนี้ไม่มีใครคาดหวังการเยียวยาจากรัฐเลย อย่างที่เขาประกาศจะให้บ้านละ 2,000 บาทนี่ เราจะเข้าไปเอา ยังเข้าไม่ได้เลย ระบบไม่อำนวยความสะดวกให้ผู้ปกครองด้วยซ้ำ ทั้งที่เงินเยียวยามันน่าจะผูกกับประกันสังคมอยู่แล้ว อย่างน้อยถ้าพ่อแม่ทำงาน รัฐน่าจะรู้อยู่แล้วว่าแรงงานคนนี้ (พ่อแม่) มีลูกกี่คน ดังนั้นควรจะเยียวยาได้อัตโนมัติ ไม่ใช่ให้ไปกรอกฟอร์มชิงโชคแย่งกัน

“ส่วนเรื่องเปิดหรือปิดโรงเรียน อยากให้ฟังเสียงของพ่อแม่ในพื้นที่หน่อยค่ะ คือ รัฐมีสิทธิ์สั่งให้ปิดหรือเปิด แต่ว่ามันควรจะมาจากความเชื่อใจและความไว้วางใจของผู้ปกครอง ว่าอยากจะส่งลูกกลับไปเรียนไหม ถ้าเกิดว่ารัฐสั่งให้เปิด แต่พ่อแม่ยังรู้สึกว่ามันระบาดมาก เขายังไม่ได้วัคซีน ปู่ย่าตายายที่อยู่บ้านเดียวกันยังไม่ได้วัคซีน กรณีอย่างนี้พ่อแม่ก็ไม่อยากส่งลูกไปเรียนอยู่แล้ว ดังนั้นถึงรัฐสั่งให้เปิดมันก็ไม่มีประโยชน์ 

“แต่ถ้าสมมติว่ารัฐสั่งให้โรงเรียนปิด แต่ในพื้นที่นั้นมีการระบาดน้อย พ่อแม่รวมถึงปู่ย่าตายายก็ฉีดวัคซีนกันหมดแล้ว แล้วเด็กก็พร้อม อยากกลับไปเรียน อย่างนี้เขาควรจะได้เรียน ควรจะเปิดได้ คือรัฐจะสั่งปิดหรือเปิดอะไรก็แล้วแต่ แต่อยากให้ฟังเสียงพ่อแม่ด้วย เพราะถ้าเกิดไม่ฟังเสียงพ่อแม่ มันจะเกิดภาพแบบนี้ คือสุดท้ายพ่อแม่ก็ออกมาทำกลุ่มเรียนรู้กันเอง ควักเงินของตัวเอง แบกรับความเสี่ยงของตัวเอง”


ทำความรู้จัก Learning Pod

Learning Pod คือ กลุ่มเรียนรู้ขนาดเล็ก มักประกอบด้วยเด็กจำนวน 3-10 คน มาทำกิจกรรมและเรียนรู้นอกชั้นเรียนร่วมกัน ทั้งนี้พ่อแม่อาจรวมกลุ่มกันจัดเตรียมสถานที่และหาครูมาสอนโดยตรง หรือกลุ่มพ่อแม่อาจจะกำหนดหลักสูตรและช่วยกันสอน ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีสตาร์ตอัพด้านการเรียนรู้หลายบริษัทเริ่มจัดทำหลักสูตรที่เน้นเด็กนักเรียนกลุ่ม Learning Pod โดยเฉพาะเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น SchoolHouse, Outschool, Home Grown Unit, Bundle เป็นต้น

Learning Pod เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ได้รับความนิยมช่วงวิกฤตการระบาดของโควิด-19 จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า “Pandemic Pod” รูปแบบจะมีส่วนคล้าย homeschool อยู่บ้าง ในบางพื้นที่อาจเรียกว่า micro-school หรือ nano-school

ที่มา :