5 ตัวช่วยคุณครู จัดการ “ชั้นเรียนออนไลน์” แนะนำโดย ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

กระทั่งวันนี้ที่พวกเราอยู่กับการเรียนออนไลน์มาเป็นระยะเวลานานมาก หลักปี หลักสองปีแล้ว แต่การสอนออนไลน์ยังคงเป็นความท้าทายของครูหลายคนอยู่ 

วันนี้มาลองทำความเข้าใจหลักพื้นฐานและตัวช่วยที่จะทำให้การเรียนการสอนออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้นกัน

1. อย่ายกห้องเรียนปกติมาไว้ออนไลน์เด็ดขาด

โหมดการสื่อสารที่เปลี่ยนไปมากมายชนิดที่ว่าปฏิสัมพันธ์แบบดูแววตา วิเคราะห์สีหน้า แทบเป็นไปไม่ได้ รวมถึงการต้องนั่งเรียนแบบกระดิกตัวไปจากจอลำบาก ถือเป็นสิ่งแรกที่ครูต้องตระหนัก ดังนั้นการทำทุกอย่างเหมือนสอนอยู่ที่โรงเรียนจึงเป็นสิ่งต้องห้าม ยืดหยุ่นเข้าไว้ อย่างไรเสียการเรียนผ่านสื่อต่าง ๆ เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่ากับการเรียนที่โรงเรียน ด้วยอุปสรรคมากมาย 

การยืดหยุ่นเวลาเรียน ไม่ต้องให้นักเรียนอยู่ติดกับหน้าจอนาน ๆ ตารางสอนไม่ต้องคาบละ 50 นาทีเป๊ะก็ได้ ถ้าไม่เปิดกล้องขอให้ส่งเสียงแทน กิจกรรมที่ทำมีหลากหลาย ปรับตามสภาพของนักเรียน และอย่าลืมเด็ดขาดว่านักเรียนจะต้องมีช่วงพักจากหน้าจอบ้าง

2. ดู TikTok แล้วทำตาม

ไม่ได้ให้ทำตาม TikTok แต่เข้าใจรูปแบบที่สั้นกระชับ จะช่วยให้นักเรียนจดจ่อกับกิจกรรมได้ดีกว่า หลักการนี้คือรูปแบบการเรียนแบบ microlearning หรือย่อยกิจกรรมให้สั้น กระชับ มีช่วงกิจกรรมหลากหลาย 

ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กแต่ละวัยสามารถจดจ่อได้ไม่เท่ากัน เช่น เด็ก 6 ขวบอาจจดจ่อได้ประมาณ 12-18 นาที พอถึงอายุ 12 ปีก็อาจเพิ่มเป็น 24-36 นาที นั่นหมายความว่าครูต้องชัดเจน ยิงตรงประเด็นที่ต้องการสื่อ ย่อยเนื้อหาให้สั้น และจัดกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น

เปิดชั้นเรียนด้วยการ check-in รูปแบบต่าง ๆ เช่น อารมณ์วันนี้ หรือเพลงที่อยากฟัง (ชวนนักเรียนมาเป็นดีเจยังได้) 

ไม่ต้องกังวลว่านักเรียนจะทำไม่ได้ เขาปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้ดีเลย ถ้าครูไม่ถนัด ขอให้เด็ก ๆ ช่วย ถือเป็นการเรียนรู้พร้อม ๆ กันไปยังได้เลย แต่ถ้ายังไม่ถนัดเทคโนโลยี ให้เด็ก ๆ เขียนและโชว์ผ่านกล้องก็ยังได้

  1. นำเสนอสิ่งที่ต้องการสอนด้วยการให้เด็ก ๆ ระดมสมองกันถึงหัวข้อที่จะใช้ในวันนั้น โดยใช้เครื่องมืออย่าง www.mentimeter.com และ https://miro.com
  2. เข้าเนื้อหาโดยการทำแบบฝึกหัดบางอย่างร่วมกันผ่าน www.liveworksheets.com และ https://padlet.com
  3. จดโน้ตด้วยกันผ่าน https://padlet.com
  4. สำรวจความเห็นผ่าน https://wordart.com

ได้ทั้งความเห็น ได้ทั้งชิ้นงานศิลปะ เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทั้งสิ้น และช่วยให้นักเรียนตื่นตัวกับห้องเรียนออนไลน์ได้

3. เกมได้ให้เกม

gamification หรือการใส่กลไกแบบเกม (game mechanics) เข้ามาเพื่อให้ห้องเรียนสนุก เป็นสิ่งที่ห้องเรียนทั่วโลกเริ่มใช้กันมากขึ้น เช่น 

  • การสะสมคะแนนแลกรางวัลบางอย่าง โดยอาจเป็นเรื่องของเนื้อหา การตอบคำถาม การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน การช่วยเหลือเพื่อน ๆ
  • การสร้างอุปสรรคสนุก ๆ ให้นักเรียน เช่น การทายหัวข้อที่จะเรียนในวันนั้น การแจกโจทย์ที่มีความท้าทายภายใต้เวลาอันจำกัด เช่น ไปหาของเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาภายใน 1 นาที และแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียนออนไลน์
  • การสร้างการแข่งขันบางอย่าง เช่น คะแนนจากทีม คะแนนจากการทำการบ้านที่ผิดน้อยที่สุด 
  • การมอบ incentives หรือแรงบันดาลใจบางอย่าง เช่น การส่งการบ้านครบตรงเวลาจะได้คูปองเลือกหัวข้อที่จะเรียนในคลาสถัดไป มอบโบนัสให้นักเรียนเมื่อทำได้ดี
  • การสร้างบันไดความสำเร็จ เมื่อนักเรียนสะสมคะแนนได้ถึงจุดหนึ่ง สามารถให้รางวัลบางอย่างได้ เช่น คูปองพิเศษไม่เข้าเรียน 1 คาบ 
  • การสร้างสถานการณ์จำลองและให้นักเรียนได้ทำบทบาทต่าง ๆ ตามเนื้อหา โดยครูใส่เงื่อนไขต่าง ๆ เข้าไป เช่น การเรียนเรื่องผู้ผลิต ผู้บริโภค นักเรียนสามารถสวมบทบาทต่าง ๆ ได้ โดยครูอาจให้โจทย์การเจรจาอะไรบางอย่างเพื่อให้เข้าใจบทบาทนั้น ๆ

4. สื่อสารชัดเจน

การทำข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดชั้นเรียนออนไลน์ร่วมกันสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันในบริบทนี้ได้ ดังนั้นขอให้สื่อสารชัดเจน หนักแน่น และแจ้งนักเรียนเสมอว่าในแต่ละคาบมีเป้าหมายและเนื้อหาอะไรที่จะเรียนกัน 

ยิ่งต้องสื่อสารผ่านจอ หน้าคุณครูสำคัญมาก ๆ แม้นักเรียนอาจไม่เปิดจอ แต่การที่เขาเห็นสีหน้าท่าทางคุณครูก็ช่วยเรื่องการสื่อสารได้มากแล้ว เสียงและภาพสำคัญ ดังนั้นทดสอบระบบดี ๆ ดูว่าหน้าเรามองตรงไปที่กล้อง และเสียงเราชัดพอไหม นักเรียนจะสามารถจดจ่อได้ดีขึ้น

5. ชิ้นงานหลากหลายผ่านงานกลุ่ม

การทำการบ้านอาจลำบากสำหรับเด็กหลายคน แต่ถ้าชั้นเรียนถูกออกแบบมาให้ทำแบบฝึกหัดหรือชิ้นงานเสร็จในห้อง โดยช่วยกันทำเป็นกลุ่ม ก็จะเป็นแรงจูงใจอีกอย่างสำหรับนักเรียน การบ้านในรูปแบบสมุดอาจเปลี่ยนมาใช้สื่อที่นักเรียนคุ้นเคย เช่น TikTok เพื่อทำวิดีโอ ส่งงานเป็นคลิปอัปโหลดลง YouTube การส่งงานเป็นภาพวาดหรือภาพถ่ายแทน หรือแม้กระทั่งการเขียนจดหมายก็ช่วยฝึกทักษะการเขียนที่ไม่ผ่านอุปกรณ์ใด ๆ คุณครูสามารถนำการเขียนจดหมายมาทำเป็นกิจกรรมการเขียนร่วมกับวิชาต่าง ๆ และจะให้นักเรียนลองส่งหากันจริง ๆ ก็สนุกดี 

แต่ต้องอย่าลืมว่าการที่นักเรียนไม่ได้เจอกันมาก่อน (ในกรณีที่เรียนออนไลน์มาตลอด) ครูต้องช่วยทำกิจกรรม icebreaking เพื่อช่วยให้นักเรียนคุ้นเคยกันก่อนอย่างสม่ำเสมอในห้องเรียน ทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาการร่วมกันบ้าง แลกเปลี่ยนพูดคุยแบบสัพเพเหระกันในห้องเรียนบ้าง เหล่านี้ช่วยลดทอนช่องว่างที่เกิดขึ้นผ่านสื่ออย่างจอที่ใช้ได้ 

เวลาที่เหลือนักเรียนควรได้ใช้พักผ่อน ออกกำลังกาย และทำสิ่งที่ตัวเองชอบหรือสนใจ ดังนั้นการบ้านควรจำกัดปริมาณแต่พอดี มีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ชัดเจน และครูหลายวิชาสามารถให้การบ้านรวมกันทีเดียวและวัดประเมินหลายวิชาได้

5 ข้อนี้เป็นเพียงหลักการเบื้องต้นในการจัดการชั้นเรียนออนไลน์เท่านั้น วันนี้คุณครูก็ต้องผันตัวมาเป็นนักเรียนที่เรียนรู้ทักษะการจัดการชั้นเรียนภายใต้ข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ 

แม้ว่าจะไม่ได้ดั่งใจบ้าง แต่นี่คือโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน

เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสกันค่ะ