สร้างทักษะด้านอารมณ์และสังคม… งานใหญ่ที่ไม่ใช่แค่เรื่องในห้องเรียน

กรณีศึกษาจากประเทศฟินแลนด์ โดย ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ทักษะด้านอารมณ์และสังคมไม่ได้ถูกออกแบบไว้เป็นรายวิชาในหลักสูตรแกนกลางของประเทศฟินแลนด์ แต่เป็นหนึ่งในสมรรถนะที่นักเรียนต้องฝึกฝน โดยด้านที่พูดเรื่อง “การดูแลตนเองและการจัดการชีวิตประจำวันของตนเอง” เป็นสมรรถนะที่เน้นย้ำทักษะด้านนี้ 

เราสามารถออกแบบให้กลุ่มวิชาในช่วงประถมศึกษาปีที่ 1-2 เช่น วิชาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ด้านชีววิทยา ภูมิศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และสุขศึกษา แฝงกระบวนการฝึกฝนทางอารมณ์และสังคมเอาไว้ เมื่อนักเรียนโตขึ้น (ประถมศึกษาปีที่ 3-6) ทักษะด้านนี้จะถูกออกแบบให้รวมอยู่กับวิชาเชิงคุณค่า นามธรรม อย่างศาสนา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าใจตนเองและการเคารพผู้อื่น

หัวข้อที่นักเรียนประถมปลายเรียนรู้พร้อมฝึกฝนทักษะด้านทางอารมณ์และสังคมไปพร้อมกันได้ เช่น  สิทธิเด็ก ความรับผิดชอบตามช่วงวัย การให้เหตุผลต่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เช่น มิตรภาพ หรือแม้กระทั่งเรื่องการเลือกปฏิบัติ ส่วนวิชาอย่างสุขศึกษาของมัธยมต้นก็สามารถถกเถียงกันไปถึงชุดคุณค่า ความเชื่อ ทัศนคติของตนเองและผู้อื่น การฝึกฝนเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือสถานการณ์ที่นักเรียนอึดอัดใจ ความเป็นชุมชน ความเสมอภาคเท่าเทียม หรือการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ 

ในสถานการณ์นี้ ทักษะอย่างความแน่วแน่ ความร่วมมือร่วมใจ การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ความรับผิดชอบ การควบคุมตนเอง ทักษะด้านสังคม การจัดการความเครียด การอดกลั้นต่อความเห็นต่าง และความเชื่อใจ จะได้รับการฝึกฝนโดยปริยายจากกิจกรรมต่างๆ ซึ่งช่วยให้นักเรียนได้เติบโตอย่างมั่นคง

ทักษะที่มีความเป็นนามธรรมสูงจะได้รับการประเมินในชั้นเรียนอย่างไร

ปัจจัยสามด้านที่ต้องตั้งใจสังเกตในกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ได้แก่ 

  1. พฤติกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ 
  2. การทำงานร่วมกับผู้อื่น 
  3. พฤติกรรมอื่นๆ ในชั้นเรียน

ซึ่งเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนาพฤติกรรมนักเรียน นอกเหนือจากกิจกรรมในชั้นเรียน  กิจกรรมอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ต่างๆ ก็สามารถช่วยให้ครูเก็บข้อมูลพฤติกรรมของนักเรียนเพื่อนำไปช่วยพัฒนานักเรียนได้ 

เมืองเฮลซิงกิจึงพัฒนาระบบที่ชื่อว่า Ruuti ขึ้นมาเพื่อช่วยให้นักเรียนในระดับมัธยมได้ฝึกฝนทักษะด้านอารมณ์และสังคม โดยพุ่งเป้าที่

  1. ทักษะด้านความแน่วแน่ 
  2. การมองโลกแง่บวก 
  3. ทักษะการเข้าสังคม 
  4. ความรับผิดชอบ 
  5. ความสนใจใคร่รู้ 
  6. ความคิดสร้างสรรค์ 

สภานักเรียน 

ได้รับเลือกตั้ง และเป็นผู้แทนนักเรียนในการออกแบบกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจของนักเรียน

กลุ่ม คลับ ทีม ชมรม

การตั้งกลุ่ม คลับ ทีม ชมรม ตามความสนใจของนักเรียน เช่น ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มชิมอาหาร ชมรมด้านสุขภาวะด้านจิตใจ

การออกแบบงบประมาณอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting)

เมืองเฮลซิงกิได้ออกแบบงบประมาณเกี่ยวกับโครงการ Ruuti โดยการจัดสรรงบประมาณรายปีให้สภานักเรียนได้ใช้เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเองหรือสภาพแวดล้อมในโรงเรียน งบประมาณส่วนนี้นักเรียนอายุ 12-17 ปีต้องนำไอเดียในการใช้งบประมาณมาแลกเปลี่ยนนำเสนอกัน เจรจาเพื่อจัดสรร และโหวตลงมติกัน โดยโครงการนี้ผู้คนในเมืองเฮลซิงกิรวมถึงนักเรียนสามารถยื่นข้อเสนอต่างๆ ได้ โดยงบประมาณโครงการทั้งหมดอยู่ที่ 8.8 ล้านยูโร หรือประมาณ 340 ล้านบาท

วันสภานักเรียน

สภานักเรียนเมืองเฮลซิงกิต้องนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำไป โดยมีเป้าหมายเพื่อการแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

สภาเยาวชน 

สภาเยาวชนประกอบไปด้วยเยาวชนอายุ 13-17 ปี จำนวน 30 คน ที่จะเข้ามาผลักดันกฎหมายระดับท้องถิ่น โดยทั้ง 30 คนนี้ต้องผ่านการเลือกตั้งทุกๆ สองปี  เยาวชนกลุ่มนี้จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ วางแผน และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของเมืองเฮลซิงกิ ซึ่งจะต้องพบปะเพื่อพูดคุยกันเดือนละสองครั้ง

ศูนย์รวมไอเดียเยาวชน

เยาวชนอายุ 13-17 ปี สามารถนำเสนอไอเดียต่างๆ ตั้งแต่การขอให้มีสวนสาธารณะข้างโรงเรียน หรือเพิ่มม้านั่งในบางพื้นที่ การแจ้งจุดอันตรายในพื้นที่ การขอสนามบาสเกตบอลใหม่ โดยข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ต้องมีเหตุผลสนับสนุน โดยเฉพาะเหตุผลด้านที่เกี่ยวกับสุขภาวะของเยาวชน

ทุน Sponssi 

ชาวเมืองเฮลซิงกิอายุตั้งแต่ 7-28 ปี สามารถขอทุนเพื่อนำไปพัฒนาไอเดียหรือโครงการของตนได้ตามเงื่อนไข เช่น สนับสนุนการเช่าเครื่องดนตรีสำหรับวงดนตรี ขอสนับสนุนทำโปรเจ็กต์สุดท้ายก่อนเรียนจบ ทำโครงการของสภานักเรียน 

สื่อสารจากพลังเยาวชน

นักเรียนที่อายุ 13-19 ปี สามารถใช้พื้นที่สื่อต่างๆ ของ Young Voice Editorial Board เพื่อนำเสนอความคิดของตนในประเด็นสังคมต่างๆ ได้

จากตัวอย่างทั้งในและนอกห้องเรียน จะพบว่าเรื่องการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคม ไม่ใช่เรื่องของการเรียนเนื้อหาวิชาความรู้เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง ผู้คนในสังคม และการทำความเข้าใจตนเองผ่านปฏิสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ กับผู้อื่น เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมและความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน


อ้างอิง :
Survey on Social and Emotional Skills (SSES) 2021: Helsinki (Finland)
OECD