Check it – Do it ผ่าตัดความเครียดในช่วงวิกฤตความรู้ถดถอย

เชื่อว่าทุกท่านคงได้ยินและรู้จักกับคำว่า “ความรู้ถดถอย” เป็นอย่างดี เพราะคำคำนี้กำลังเป็นคำฮิตติดหู และทุกองค์กรด้านการศึกษาให้ความสนใจ เพราะนักเรียนกำลังประสบกับภาวะความรู้ถดถอยจริงๆ ค่ะ 

หากเราจะสรุปง่ายๆ “ความรู้ถดถอย” คือ การที่เด็กๆ สูญเสียความรู้หรือทักษะไป อาจจะมาจากการที่พวกเด็กไม่สามารถรับความรู้ได้อย่างเต็มที่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ในการเรียนออนไลน์ โดยในหลายๆ หน่วยงานก็พยายามผลักดัน คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดภาวะความรู้ถดถอยนี้ให้แก่เด็ก

ในวันนี้นีทอยากจะมาชวนทุกคนคุยเรื่อง “ความเครียดที่ซ่อนอยู่ในภาวะความรู้ถดถอยของเด็ก”  หากเด็กๆ เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง จำไม่ได้ ลืมสิ่งที่ครูสอนไปแล้ว ทำการบ้านไม่ค่อยได้ และต้องเจอสภาวะแบบนี้บ่อยๆ มันอาจจะทำให้เด็กเกิดความเครียดในการเรียนได้ นั่นคือ การเรียนทำให้พวกเขารู้สึกไม่โอเค ถูกคุกคาม และพวกเด็กๆ ก็ไม่สามารถหาวิธีการแก้ปัญหาได้ (Lazarus และ Folkman, 1984) ตัวอย่างเช่น

  • เด็กรู้สึกว่าเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าหัว จำอะไรไม่ได้ แต่ต้องเรียน
  • เด็กตอบคำถามคุณครูไม่ได้ 
  • เด็กตามเนื้อหาไม่ทัน
  • เด็กรู้สึกเบื่อที่ต้องเข้าเรียน
  • เด็กรู้สึกว่าการบ้านเยอะและทำไม่ได้

(อ้างอิงบางส่วนมาจาก ความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการเรียน ของ Kohn & Frazer, 1986)

ความเครียดนั้นมีผลกระทบทางลบต่อเด็กๆ (อนุบาล-มหาวิทยาลัย) 3 เรื่องคือ อารมณ์ ร่างกาย และพฤติกรรมเสี่ยง (Horowitz, 2010)

  • อารมณ์ เมื่อเด็กๆ มีความเครียด เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ พวกเขาก็จะรู้สึกวิตกกังวล ซึ่งมันคืออารมณ์ทางลบที่เราไม่อยากจะให้เด็กๆ มีมากเท่าไรนัก
  • ร่างกาย หากเด็กๆ เครียดบ่อยๆ นานๆ ประมาณว่าเด็กเครียดตั้งแต่เริ่มให้เรียนออนไลน์จนถึงตอนนี้ ก็อาจจะทำให้เด็กมีอาการปวดหัว เป็นโรคกระเพาะหรือนอนไม่หลับ 
  • พฤติกรรมเสี่ยง บางครั้งเวลาที่เด็กๆ แก้ปัญหาไม่ได้ เขาก็อาจจะทำพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเครียดแล้วก็กินมากขึ้น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งสองตัวหลังอาจจะพบแค่ในวัยรุ่นตอนปลายๆ ช่วงมหาวิทยาลัยนะคะ

ความเครียดดูเป็นภัยเงียบที่ซ่อนตัวเก่ง เป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่เราจำเป็นต้องผ่าตัดออกไป ดังนั้นนีทอยากชวนทุกคนมาพูดคุยกันว่า แล้วเราจะมีวิธีการช่วยให้เด็กๆ จัดการกับความเครียดได้อย่างไรค่ะ 

นีทมี 2 เทคนิคดีๆ มาแนะนำค่ะ นั่นคือ Check it และ Do it 

Check it คือการที่เราพาเด็กๆ สำรวจความเครียดของตนเองว่าตอนนี้เขามีความเครียดอยู่ไหม แล้วถ้าเครียด เขาเครียดเรื่องอะไร

Do it คือ การที่เราพาเด็กๆ แก้ปัญหาหลังจากที่เรารู้แล้วว่าเด็กๆ เครียดเรื่องอะไรค่ะ ซึ่งพอเราพูดถึงหลักการมันก็ฟังดูง่าย แต่บางทีพอเราต้องไปคุยกับเด็ก มันอาจจะไม่ง่ายแบบนี้ นีทเลยขอแชร์เครื่องมือที่ตนเองใช้สักนิดนะคะ 

เครื่องมือ “กระดาษพับ”

กระดาษพับ เป็นเครื่องมือที่ใช้ง่ายและไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์เยอะ เพราะเราใช้เพียงแค่กระดาษสี ที่มีขนาดประมาณ A4  ไม้บรรทัดยาว 30 ซม. เท่านั้น 

ขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์

  1. ตัดกระดาษสีอะไรก็ได้ให้มีขนาดเท่ากับไม้บรรทัด 30 ซม. โดยนีทขอแนะนำว่าให้เราตัดไว้หลายๆ แผ่นหน่อยนะคะ เพราะเราจะได้มีเก็บไว้เลย
  2. พับกระดาษที่ตัดแล้วให้เป็น 8 ทบ (พับ 3 ครั้ง)
  3. ใช้ปากกาเขียนตามรอยพับ
  4. พับกระดาษตามรอยพับแบบฟันปลาฉลาม (ดูในรูปประกอบ) แล้วเอาตัวหนีบมาหนีบไว้

วิธีการใช้

  1. ชวนเด็กๆ พูดคุยว่า วันนี้มีความเครียดไหม หรือไม่โอเค ไม่ชอบอะไรไหม หากมี ให้เด็กๆ หยิบกระดาษพับมา 1 ชิ้น
  2. ลองถามเด็กๆว่า เครียดเรื่องอะไร แล้วเขียนลงบนกระดาษที่อยู่หน้าสุด
  3. ชวนเด็กคลี่กระดาษที่พับไว้ โดยบอกเด็กๆ ว่า ยิ่งเราคลี่กระดาษยาวเท่าไร ก็แปลว่าเราเครียดมากเท่านั้น พอเด็กๆ คลี่กระดาษจนพอใจแล้ว ให้ฉีกกระดาษส่วนที่ไม่ใช้/ไม่ได้คลี่ออกไป (ถ้าหากคลี่หมดก็ไม่ต้องทำนะคะ)
  4. ช่วยกันคิดว่า เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดีนะ มีใครช่วยได้บ้าง โดยคำตอบที่คิดได้ให้เขียนไว้ในกระดาษ
  5. พอเด็กๆ เริ่มเครียดน้อยลง เช่น ผ่านไปหลายวัน ฉันเริ่มแก้ปัญหาได้แล้ว ก็ให้เด็กๆ มาฉีกกระดาษออกไป โดยให้ฉีกตามความรู้สึกว่า ความเครียดหายไปเท่าไร หากหายไปมากก็ฉีกมาก หากหายไปน้อยก็ฉีกน้อย 

พอเด็กทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนแก้ปัญหาได้หมด พวกเขาจะพบว่า “นี่ไง ความเครียดฉันหมดไปแล้ว เหมือนกับกระดาษที่ฉันฉีกไปจนหมด”

เทคนิคในการเล่นให้สนุก

  1. ลดขั้นตอนได้ หากเป็นเด็กเล็กๆ อนุบาลหรือประถมศึกษาตอนต้น เราอาจจะลดขั้นตอนเหลือแค่ 
  • ให้หยิบกระดาษยาวๆ ออกมา 1 แผ่น (ไม่ต้องพับ) แล้วบอกว่า นี่คือความเครียดของหนู แล้วเครียด ไม่โอเค หรือไม่ชอบเรื่องอะไรคะ 
  • ชวนคุยว่า แล้วเราจะแก้อย่างไรดี โดยผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ
  • บอกเด็กว่า หากความเครียดหายไปแล้ว ให้เรามาฉีกกระดาษทิ้งนะ
  1. ทำไปด้วยกัน เราลองคิดดูนะคะว่า ถ้าเราถามเด็กๆ อย่างเดียว บางทีเขาอาจจะรู้สึกอึดอัด หรือไม่อยากตอบเราได้ เพราะเหมือนผู้ใหญ่มาจู้จี้ชีวิตมากไป แต่หากเราเปลี่ยนมาทำด้วยกัน เช่น หนูทำ แม่ก็ทำ พ่อก็ทำ ทุกคนมีกระดาษคนละ 1 แผ่น ทำไปคุยกันไป ช่วยกันหาคำตอบ บรรยากาศมันจะเป็นการแชร์และสบายขึ้น 
  2. ในห้องเรียนพี่โต หากเรานำกิจกรรมนี้ไปใช้กับนักเรียนประถมปลายหรือชั้นมัธยม นีทอยากให้ช่วงของการคิดแก้ปัญหา ลองให้เด็กๆ เขาได้แบ่งกลุ่มไปตามเรื่องที่พวกเขาเครียด เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่า เขามีเพื่อนที่เครียดในเรื่องเดียวกัน ช่วยซัพพอร์ตกัน และช่วยกันแก้ปัญหา 
  3. มีหลายสีได้นะ หากเราอยากพาเด็กๆ สำรวจความเครียดรายวัน เราก็อาจจะเตรียมไว้ 7 สีตามวัน เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้ว่า ฉันเครียดวันไหนบ้างตามสีของกระดาษ ซึ่งก็จะช่วยให้ผู้ปกครองและเด็กๆ สามารถสังเกตการเกิดความเครียดได้ดีมากขึ้นด้วย ว่าส่วนใหญ่ลูกเราเครียดวันไหน เป็นต้น

ความเครียดจะอยู่กับเด็กๆ ไม่นาน หากพวกเขาได้สำรวจและหาวิธีจัดการกับความเครียด และถ้าพวกเขาเริ่มจัดการกับความเครียดในการเรียนได้ ก็น่าจะทำให้พวกเด็กๆ มีเทคนิคดีๆ ที่ช่วยทำให้เรียนเข้าใจมากขึ้น จำเนื้อหาต่างๆ ได้ และทำการบ้านได้ 

อ้างอิง :

  • Horowitz, J. A. (2010). Stress management. In C. L. Edelman, C. L. Mandle. (Eds.), Health Promotion Throughout the life span (7th Ed.) (pp.320-323) . St. Louis, Missouri: Mosby Elsevier.Kohn, J. P., & Frazer, G.
  • H. (1986). An academic stress scale: Identification and rated importance of academic stressors. Psychological reports59(2), 415-426.
  • Lazarus, R. S., & Folkman, S. (1984). Stress, appraisal, and coping. New York: Springer.
  • THE COVID-19 INDUCED LEARNING LOSS – WHAT IS IT AND HOW IT CAN BE MITIGATED?