เปลี่ยนบ้านเป็น “พื้นที่เรียนรู้” แนะนำโดย ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ก่อนที่จะเริ่มบทความนี้ อยากมอบกำลังใจให้ทุกบ้านที่กำลังฝ่าฟันการเรียนออนไลน์ การเรียนแบบใช้บ้านเป็นฐาน หรือรูปแบบใดก็ตามที่ทำให้บทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองเริ่มมีความทับซ้อนกับความเป็นครูมากขึ้น 

เรื่องหนึ่งที่สำคัญมากที่สุดในสถานการณ์วิกฤตอันยาวนานและยืดเยื้อเช่นนี้ คือการจับมือกันระหว่างบ้านและโรงเรียน เพื่อช่วยให้เด็กๆ ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ พ่อแม่ยังคงเป็นพ่อแม่อยู่ แต่ต้องเพิ่มบทบาทช่วยสนับสนุนเด็กๆ ให้เรียนรู้ได้ในสภาวการณ์อันจำกัดหลายด้าน ซึ่งงานสนับสนุนเด็กๆ ฝึกฝนเพิ่มทักษะไว้ ไม่เสียเวลาแน่นอนค่ะ 

ไม่ต้องเป็นครูทั้งหมด วันนี้เรามาเป็นพ่อยก แม่ยก ช่วยลูกๆ ให้เขาเรียนรู้ได้กัน

วันนี้จึงขอนำเช็กลิสต์มาเป็นตัวช่วยพ่อแม่ ผู้ปกครองทุกบ้านที่ต้องช่วยเหลือให้เด็กๆ เรียนหนังสือที่บ้านได้ 

บางข้ออาจทำแล้ว บางข้อถ้ายังไม่ได้ลองทำ ลองดูได้เลยนะคะ

ข้อ 1 จัดสถานที่ให้เหมาะกับการเรียน

โรงเรียน ห้องเรียน พอเด็กๆ เดินเข้าไปปุ๊บ เขาจะเข้าโหมดว่ามาที่นี่เขาต้องมาเรียน มาทำกิจกรรมกับเพื่อน ดังนั้นพื้นที่ที่เขาจะต้องใช้เรียนที่บ้านควรมีความชัดเจนว่าเอาไว้สำหรับเรียน พยายามตัดสิ่งเร้า สิ่งรบกวนอื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูดคุยของคนอื่น เสียงโทรทัศน์ เพื่อให้เด็กๆ ได้จดจ่ออย่างเต็มที่ การให้เขาได้ช่วยจัด หรือตกแต่งพื้นที่ด้วยตัวเอง เตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้เอง ก็ช่วยให้เขาเข้าใจว่านี่คือพื้นที่สำหรับการเรียน

เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมใช้ และถ้าเป็นไปได้ก็ฝึกฝนการใช้งานด้วยกัน หลายบ้านอาจต้องเรียนรู้พร้อมลูก ไม่เป็นไรเลย การเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่งคือการพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้ลูกเห็นได้ ช่วยกันทำได้ค่ะ

ข้อ 2 กิจวัตรสำคัญมากๆ

เด็กๆ ทุกวัยควรรู้ว่าในแต่ละวันเขาจะต้องทำอะไรบ้าง

  • เด็กปฐมวัย ควรมีทั้ง
  • การเล่นอิสระ
  • การออกกำลังกายนอกบ้านหรือในบ้าน
  • การเล่นบทบาทสมมุติ
  • การเล่นเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น การได้จับทราย พื้นผิวที่มีลักษะต่างๆ ของแข็ง ของเหลว ซึ่งเหล่านี้สามารถผนวกเข้ากับงานบ้านที่เด็กๆ ควรได้รับบทบาทให้ทำทุกวัน อย่างการช่วยงานครัว รดน้ำต้นไม้
  • การอ่านนิทานทุกวัน

ผู้ปกครองสามารถทำตารางกิจวัตรให้เด็กๆ ดู แปะสติกเกอร์ให้เขาเมื่อเขาทำได้ ทำข้อตกลงกับเขาให้ชัดเจนถึงกิจวัตรที่เขาต้องทำ กิจกรรมไม่จำเป็นต้องเป๊ะ มีทั้งหมดนี้ในทุกวัน แต่รวมๆ แล้วขอให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมหลากหลาย ใช้จอน้อยลง เล่นมากขึ้น ก็ถือเป็นอันพอ

การพูดคุยถึงกิจวัตรสามารถทำได้เหมือนเวลาไปโรงเรียน เช่น ก่อนนอนเตรียมเสื้อผ้าที่อยากใส่พรุ่งนี้ เตรียมของเล่นที่อยากเล่นพรุ่งนี้ หรือพูดถึงอาหารที่อยากทานในวันรุ่งขึ้น ก็จะช่วยให้เด็กๆ รู้ตัวว่าเขาจะต้องเจออะไรบ้างในวันรุ่งขึ้น

ส่วนวัยที่โตขึ้นไปมีหลักการคล้ายๆ กันกับปฐมวัย การออกกำลังกายและงานบ้านยังคงมีความจำเป็นอยู่ ควรบรรจุเอาไว้ในกิจวัตรเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย ที่ไม่ว่าลูกจะอยู่ในวัยใด เขาควรได้ออกกำลังกายง่ายๆ ทุกวัน หากมีกิจกรรมที่เขาชอบทำก็ควรอยู่ในกิจวัตร แต่ควรทำข้อตกลงเวลาให้ชัดเจนว่าลูกจะใช้เวลาเท่าไหร่ เมื่อเขาทำได้ อย่าลืมชื่นชมความพยายามที่เขารักษาสัญญาและทำตามข้อตกลงได้

ถ้าเป็นไปได้พยายาม

  • รักษากิจวัตรที่คล้ายกับการไปโรงเรียนให้ได้ เช่น เด็กๆ ไม่ควรใส่ชุดนอนมาเรียนหรือทำกิจกรรมหน้าจอ
  • การปฏิบัติตามกิจวัตรได้ด้วยตัวเองถือเป็นทักษะการจัดการตนเองอันล้ำค่ามาก และมันจะอยู่ติดตัวเขาต่อไป ไม่ว่าโควิดจะหมดหรือไม่หมดจากโลกนี้ไป

ข้อ 3 หากิจกรรมสนุกๆ ให้เขาทำ

นอกเหนือจากสิ่งที่เขาต้องทำในคลาสของโรงเรียนแล้ว ลองมองหาสิ่งต่างๆ ในบ้านที่สามารถเป็นกิจกรรมสนุกแบบต่อเนื่องและทำร่วมกันได้ เช่น การสังเกต บันทึกดูสัตว์ ตั้งแต่ตัวเล็กจิ๋วอย่างแมลง จนกระทั่งนก หรือสัตว์ชนิดอื่นในบ้าน ชวนลูกบันทึก เช่น วาดภาพ หรือบันทึกประเภทสัตว์ เสียงของสัตว์ จำนวนครั้งที่เห็น และชวนกันคุยต่อในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ทำไมบ้านเรามีนกชนิดนี้เยอะ และลองหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตดู นอกเหนือจากสัตว์ก็สามารถสังเกตพืชต่างๆ ได้เช่นกัน

การประดิษฐ์อะไรบางอย่างที่บ้านก็สนุกไม่น้อย เมื่อเด็กๆ เริ่มเบื่อ เขาจะหาวิธีใหม่ๆ ในการเล่น และถ้าเขาไม่มีเวลาใช้จอมากจนเกินไป เขาจะสรรหาวิธีมาแก้เบื่อ บทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองคือการอดทนมองดูความวุ่นวาย ความเลอะเทอะให้ได้ เมื่อเขาเล่นเสร็จก็ขอให้เก็บของ ขอเพียงไม่เป็นอันตรายกับตัวเอง ผู้อื่น และสิ่งของ ก็เป็นอันเพียงพอ

อีกกิจกรรมที่สนุกไม่น้อยคือ treasure hunt การตามล่าหาคำใบ้และของบางอย่าง จะให้เด็กๆ เป็นคนทำ หรือผู้ปกครองทำก็สนุกไม่น้อย 

การย้อนเวลากลับไปทำเรื่องอย่างการเขียนจดหมายช่วยทั้งการอ่านและเขียนของเด็กๆ รวมถึงสมาธิจดจ่ออีกด้วย ระหว่างนี้เด็กๆ สามารถเขียนจดหมายหาเพื่อน หาครู หรือเขียนบันทึกเล่าเรื่องราวการอยู่กับโควิดของตัวเองในแต่ละวันได้ 

ทักษะชีวิตที่เราไม่มีเวลาได้สอนพวกเขาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง การทำกับข้าว การซักผ้า การตากผ้า การจ่ายตลาด การเย็บผ้า ซ่อมกระดุม การปิกนิกหรือแคมปิ้งที่บ้าน หรือแม้กระทั่งวิธีเปลี่ยนยางรถยนต์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ในพื้นที่บ้าน และถ้าทักษะไหน เราเองยังไม่มี ก็ถือว่าเรียนรู้ไปพร้อมลูกก็สนุกอีกแบบเหมือนกัน

สุดท้าย งานศิลปะบางอย่างที่ให้ลูกทำเอง หรือทำด้วยกัน ช่วยลูกได้เยอะมาก และศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่แค่การวาดภาพ ระบายสีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการฟังดนตรี ทำเพลย์ลิสต์ด้วยกัน ทำงานศิลปะบางอย่างตามแต่ที่อยากทำ ใช้ของที่มีอยู่ในบ้าน และลองถ่ายภาพเก็บไว้เป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ระลึกในช่วงโควิดก็น่าสนใจ เราอาจจะมองเห็นลูกๆ ในด้านที่ไม่เคยเห็นก็ได้

ข้อ 4 สื่อสาร

การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดแต่ในรูปแบบของการเข้าชั้นเรียนเท่านั้น แต่การที่ได้สื่อสาร แลกเปลี่ยนกับลูกไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม เพิ่มทักษะหลายๆ ด้านให้เขา และช่วยให้เรารู้จักลูกมากขึ้น ลองดูซีรี่ส์ เล่นเกม เล่นบอร์ดเกม ทำอาหาร ไปซื้อของ ขับรถออกไปในที่ที่ไม่เคยไปด้วยกัน (ยังไม่ต้องลงจากรถก็ได้ในสถานการณ์เช่นนี้) คุยว่าหนังสือเล่มโปรด หนังที่ชอบคือเรื่องอะไร สร้างบทสนทนาไม่รู้จบ งานศิลปะต่างๆ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายด้วยกัน โดยการตั้งเป้าหมายร่วมกัน ถ้าทำได้ ลูกและเราจะได้ทั้งความภูมิใจและสุขภาพที่ดี

ถ้าคิดไม่ออก ใช้การสุ่มดูก็สนุกดี 

เขียนกิจกรรมที่ทำได้ลงไป และพับ และลองเล่นดู

แม้ว่าจะมีกิจกรรมหลากหลายมากมายให้ทำ แต่ในสถานการณ์นี้พ่อแม่ต้องไม่ลืมว่า จะไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบหรือพร้อม ดังนั้นทุกคนใจดีกับตัวเอง ใจดีต่อกันได้ เหนื่อยก็สื่อสารชัดเจนว่าเหนื่อย ขอเวลาพัก 

ทำไม่เป็น ทำไม่ได้ ลองบอกลูกตรงๆ และชวนลูกมาหาทางออกร่วมกันดู เด็กๆ เข้าใจและพร้อมช่วยเสมอ