โดย นายแพทย์ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล (หมอปอง)
อุปนายกสมาคมการแพทย์มนุษยปรัชญาไทย คนที่ 1
การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับพัฒนาการแต่ละวัยของเด็ก
ในมุมมองของการแพทย์มนุษยปรัชญา ถ้าเทียบมนุษย์กับสัตว์ต่างๆ บนโลกนี้ สัตว์จะมีกระบวนการทางพัฒนาการทางสมองที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ลูกกวางหลังคลอดออกมาไม่กี่ชั่วโมง มันเริ่มยืนแล้ว ต่อมาก็สามารถเดินหรือหาอาหารด้วยตัวเองได้ หรือลูกนกไม่กี่เดือนก็บินได้แล้ว ขณะที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือนบอบบาง พัฒนาการต่างๆ ก็ดูช้าไปหมด เช่น เมื่อมนุษย์คลอดลูกออกมา ใช้เวลาปีกว่าที่เด็กจะลุกยืนได้ และก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้ มนุษย์จะต้องใช้วิธีการเรียนรู้นานมากกว่าที่สมองจะพัฒนา จากวัยเด็กเป็นผู้ใหญ่ใช้เวลานานถึง 21 ปี
ความช้าของพัฒนาการทางสมองนี้ ถ้าจะมองว่ามันเป็นจุดเด่นก็ได้ เพราะการที่สมองของมนุษย์ไม่ได้เสร็จอย่างสมบูรณ์แบบมาตั้งแต่แรกคลอด กลับเอื้อประโยชน์ให้สมองของมนุษย์แต่ละคนมีความยืดหยุ่นที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ในแบบของตัวเอง เหตุที่ใช้คำว่าแบบของตัวเอง เช่น เด็กที่เป็นฝาแฝด สมองต้นทุนอาจจะออกมาเหมือนกัน แต่ด้วยระยะเวลาของการเลี้ยงดูและให้การศึกษาผ่านผัสสะต่างๆ ซึ่งการแพทย์มนุษยปรัชญาแบ่งเป็น 12 ผัสสะ เรียกว่า 12 Senses เป็นการสร้างศักยภาพของสมองในแบบที่เป็นปัจเจกและเกิดความแตกต่างกันไป
ดังนั้นหากคนเราพยายามฝืนธรรมชาติของสมอง ด้วยการที่เร่งให้เด็กเรียนเหมือนกันหมด เราก็จะได้เด็กที่เชี่ยวชาญในเรื่องหนึ่งมาก แต่ในขณะเดียวกัน เด็กก็จะเกิดความเจ็บป่วย ตัวอย่างที่คล้ายกันพอจะเทียบให้เห็นได้ เช่น เด็กในกลุ่มแอสเพอร์เกอร์หรือผู้ที่ต้องการการดูแลแบบพิเศษ เขาจะเป็นเด็กที่ชำนาญเฉพาะเรื่อง แต่ไม่สามารถยืดหยุ่นพอที่จะเรียนเรื่องที่หลากหลายในการที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ สมองมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้แบบจำเพาะเช่นนั้น
นอกจากนี้ในมุมมองของการแพทย์มนุษยปรัชญากล่าวว่า กว่าที่กายและจิตของเด็กคนหนึ่งจะเจริญเติบโตได้เต็มที่ จะต้องเรียนรู้ผ่านฐานหรือผัสสะใน 3 กลุ่ม ซึ่งต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของมนุษย์ จึงจะเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่
ผัสสะทางกาย (Sense of Body หรือ Lower senses) ในช่วงวัย 0-7 ปี จะสังเกตว่าเด็กแรกเกิดเรียนรู้ผ่านผัสสะการสัมผัส อย่างมีสัมผัสจากแม่ที่เรียกว่า Sense of Touch ขณะเดียวกันเขาสามารถที่จะรู้ว่าตอนนี้เขาไม่สบายตัว ก็จะร้องไห้ เช่น ต้องการขับถ่าย หรือหิว หรือให้ช่วยดูแล เรียกว่า Sense of Life เป็นผัสสะเกี่ยวกับการอยู่ดีมีสุขของตัวเอง ต่อมาเด็กเริ่มคอแข็ง คว่ำได้ หัดนั่งเอง เริ่มมองซ้ายมองขวา และหัดกำแบมือ เพื่อเรียนรู้ว่าร่างกายนี้เคลื่อนไหวได้ผ่านผัสสะที่เรียกว่า Sense of Movement จากนั้นเด็กเริ่มที่จะนั่งและเกาะยืนเองที่เรียกว่าตั้งไข่ได้ เป็นผัสสะการทรงตัวที่เรียกว่า Sense of Balance ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพัฒนาการทางร่างกายในช่วงแรกเกิดถึง 7 ปีแรก หรือช่วงวัยอนุบาล เด็กจะต้องเรียนรู้ผ่านการใช้ผัสสะต่างๆ เหล่านี้ก่อน
ผัสสะทางดวงจิต (Sense of Soul หรือ Middle senses) ในช่วงวัย 7-14 ปี เมื่อเด็กเข้าสู่วัยประถม เขาก็จะมีศักยภาพพอที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ผ่านผัสสะระดับกลาง ได้แก่ Senses of Smell การเรียนรู้ผ่านผัสสะการดมกลิ่น Senses of Taste ผัสสะการรับรส Sense of Sight ผัสสะการมองเห็น และ Senses of Warmth ผัสสะความอุ่น เด็กจะมีการเรียนรู้ผ่านผัสสะต่างๆ เหล่านี้ด้วยการทดลองผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ชิมอาหาร เล่นทำขนม วาดรูป หรือทดสอบผสมสีต่างๆ ซึ่งในช่วงวัยประถม ผัสสะเหล่านี้พร้อมที่จะรับรู้แล้ว
ผัสสะทางจิตวิญญาณ (Sense of Spirit หรือ Higher senses) ในช่วงวัย 14-21 ปี เมื่อเขาโตเข้าสู่วัยมัธยมจะเป็นช่วงพัฒนาการของผัสสะที่เกี่ยวข้องกับภาษา ซึ่งเป็นพัฒนาเรื่องของความคิด จะมี 4 ผัสสะ ได้แก่ Senses of Hearing ผัสสะการได้ยิน Senses of Language ผัสสะในการเข้าใจภาษา Senses of Thought ผัสสะในการเข้าใจความคิด และ Senses of I ผัสสะในการเข้าใจมนุษย์หรือการรับรู้เกี่ยวกับบุคคลอื่นๆ
หากเราจัดการศึกษาในตอนที่ผัสสะเหล่านั้นยังไม่พร้อมในแต่ละวัย ก็ทำให้การทำงานไม่สมบูรณ์ สิ่งสำคัญคือการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของเด็ก
ข้อจำกัดในการให้การศึกษายุคโควิดนี้ส่งผลต่อพัฒนาการทางกายและจิตใจของเด็ก
หากพูดถึงสถานการณ์โควิดที่ครูและเด็กต้องเผชิญตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน จึงเกิดการถดถอยอย่างรุนแรง
เวลาเราเรียนผ่านออนไลน์มีพัฒนาการที่หายไปอย่างแน่นอน คือ ผัสสะทางกายหรือ Lower senses ซึ่งเป็น 4 ผัสสะแรกที่เด็กจะต้องหัดใช้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กวัยอนุบาล ยังไม่ทันวิ่งเล่น ยังไม่ได้หัดใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่หรือมัดเล็กเลย เราก็จะพบว่าพอเขาถูกบังคับให้ต้องนั่งนิ่งๆ อยู่หน้าจอ บางทีสมองของเด็กเห็นภาพต่างๆ แต่ในการแปลความหมายของภาพที่เขาเห็นนี้เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวด้วย จึงเกิดเป็นปัญหา เพราะการมองเห็นภาพจะใช้ Senses of Vision ซึ่งจะเกิดอย่างมีประสิทธิภาพคือตอนวัย 7-14 ปี เราเริ่มเห็นความไม่สอดคล้องกันแล้ว ถูกไหมครับ
ดังนั้น หากเราไม่ตระหนักรู้พัฒนาการตามวัยตรงนี้ แล้วเราพยายามแปลงเรื่องนี้เป็นแค่ informative คือเฉพาะเรื่องของเนื้อหาด้วยการส่งเป็นตัวหนังสือผ่านหน้าจอนี้ เด็กจะต้องประสบกับอุปสรรค ไม่ใช่แค่เรื่องการตีความเนื้อหา เขายังต้องเจออุปสรรคสองชั้น ได้แก่
ชั้นแรกคือ เขาต้องเปลี่ยนรูปภาพคือผัสสะการมองเห็นที่ใช้ผัสสะระดับกลาง เพื่อให้เข้าใจด้วยผัสสะการความเคลื่อนไหว เช่น เด็กที่หัดนับเลขใหม่ๆ เพื่อจะให้เขาเข้าใจในการนับเลขได้ดี เขาจะต้องเอานิ้วขึ้นมาแล้วก็นับไปด้วย 1-2-3-4-5 การงอนิ้วหรือเหยียดนิ้วคือผัสสะของการเคลื่อนไหวหรือ Sense of Movement ทำให้เขาเชื่อมโยงจากตัวเลขในจินตภาพนี้มาสู่การเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้เขาซึมซับเข้าไปได้ หรือแม้แต่การวาดรูปวงกลมด้วยมือ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก แต่อย่าลืมว่าตาที่มองไปตามการวาดหรือเขียน เด็กจะต้องมีการเคลื่อนไหวด้วยการกลอกซ้ายและขวาไปด้วย
ชั้นที่สองคือ แม้แต่งานวิจัยยังพบว่า เวลาเราเขียนบนกระดาษกับเขียนบนแท็บเล็ต การจดจำและเรียนรู้ก็แตกต่าง เช่น การเขียนบนกระดาษจริงที่มีความฝืด มีเสียงเกิดขึ้นจากการขีดกระดาษ มันคือการกระตุ้นแบบพหุประสาทสัมผัสหรือ Multisensory ที่นำไปสู่ความเข้าใจและความจำที่ดีกว่า ขณะที่การเรียนออนไลน์ผ่านแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ ทำให้ผัสสะเหล่านี้หายไปอย่างมาก
การแก้ไขปัญหาในระดับครอบครัว ระดับคุณครู และระดับนโยบาย
ระดับครอบครัว
โควิดเป็นแค่ปัจจัยกระตุ้นอย่างหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวจำนวนมากเกิดการตื่นตัวขึ้นว่า นี่ฉันซึ่งเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถที่จะมอบหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ให้กับโรงเรียน 100% ได้อีกต่อไปหรือไม่ จากกรอบเดิมที่คิดว่าถ้าเรามีเงิน เราก็ฝากลูกเข้าโรงเรียนดีๆ และบอกว่าคุณครูเอาไปเลยนะ ถ้าหากว่าเด็กเรียนไม่ดี ก็ถือเป็น KPI เป็นความล้มเหลวของโรงเรียน มันไม่เกี่ยวกับเราแล้ว ซึ่งเรื่องนี้มีแนวโน้มที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะเป็นอย่างนี้มานานหลายทศวรรษ แต่พอช่วงเกิดโควิดปุ๊บ หลายคนก็มองมุมกลับ เอ๊ะ หรือว่าเป็นเพราะครอบครัวเรา ที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ผ่านมา บ้านเราไม่ได้ติดอาวุธให้กับผู้ปกครอง เพื่อที่จะมีส่วนในการจัดการศึกษาให้กับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก
ผมว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะในโรงเรียนการแพทย์มนุษยปรัชญาหรือโรงเรียนวอลดอร์ฟนี้ เราให้ความสำคัญไม่ใช่แค่คุณครูมาดูแลเด็กอนุบาลนะ แต่ภารกิจสำคัญที่คุณครูจะต้องทำเป็นประจำในชุมชนแนวนี้ก็คือ พ่อแม่จะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างร่วมกับคุณครู
ระดับคุณครู
ต่อมาในระดับของคุณครูผู้สอน คุณครูอาจจะต้องมีความรู้เรื่องของพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย แต่จุดที่ผมคิดว่าจะต้องไปต่อก็คือว่า เด็กแต่ละคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ผ่านผัสสะไม่เหมือนกัน ได้แก่ กลุ่มเด็กที่เรียนรู้ผ่านการมองเห็นเรียกว่า Visual learning หรือกลุ่มเด็กที่เรียนรู้ผ่านการฟังเรียกว่า Auditory learning และสุดท้ายคือ กลุ่มเด็กที่เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวเรียกว่า Kinesthetic Learning
ตัวอย่างเช่น เด็กบางคนที่แค่อ่านด้วยสายตาหรือมองผ่านหน้าจอ อ๋อ ฉันเข้าใจแล้ว นั่นแสดงว่า Sense of vision หรือผัสสะการมองเห็นของเขานี้เชื่อมต่อกับสมองซีกที่ถนัดของเขาได้ดี เพราะฉะนั้นเด็กเหล่านี้ก็จะสามารถโต้ตอบกับคุณครู หรืออธิบายสิ่งที่เขาคิดได้นะครับ เราเรียกว่าเป็น Visual learner เด็กกลุ่มนี้เวลาอยู่ในห้องเรียนออนไลน์ คุณครูก็จะรู้สึกว่าเขาไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้าเด็กบางคนมีการเรียนรู้ผ่าน Senses of Hearing หรือผัสสะการได้ยิน ซึ่งผัสสะนี้จะตื่นภายหลังในวัยชั้นมัธยมแล้ว ถ้าเราบอกว่าปรากฎการณ์ของเด็กประถมต้น หากเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้มีความชำนาญในการใช้ Visual learning เขาไปชำนาญในการใช้ Auditory learning ผ่านการฟังเป็นการจดจ่อ แต่สำหรับเด็กจะทำได้ไม่นาน เพราะหากเกินสัก 10 นาที เขาก็จะเริ่มเบลอแล้ว เริ่มจะว่อกแว่ก หรือหนีไปทำอะไรอย่างอื่นแล้ว เด็กกลุ่มนี้ก็จะเริ่มหลุดการเรียนออกไปได้ แต่ถ้าคุณครูมีเทคนิคที่ดีพอ เช่น สอนผ่านการใช้คำกลอน หรือบทเพลง เพื่อช่วยกระตุ้นการได้ยิน เด็กกลุ่มนี้ก็จะยังเกาะเกี่ยวกับบทเรียนได้
กลุ่มสุดท้ายที่น่าสงสารที่สุดคือ Kinesthetic Learning เป็นกลุ่มที่เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหว โดยใช้ Senses of Movement เป็นหลัก ในห้องเรียนปกติก็มักจะเป็นเด็กหลังห้อง เด็กกลุ่มนี้จะชอบยุกยิกหรืออยู่ไม่นิ่งครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาโง่หรือไม่เรียนรู้ ตัวอย่างเช่น โทมัส อัลวา เอดิสัน ตามประวัติบอกว่าเขายุกยิกตลอด ไปจุดไฟเผาโรงนาก็มี คุณครูจะบอกว่าเด็กกลุ่มนี้มานั่งเรียนทำไมไม่ตั้งใจเลย แต่ถ้าเราสามารถที่จะระบุหรือ identify ได้ว่าเด็กคนนี้เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหว คุณครูก็ช่วยสนับสนุนเขาได้ เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีโอกาสหลุดจากการเรียนได้มากที่สุด แล้วผมเชื่อว่าที่วิจัยออกมาว่าการเรียนออนไลน์เด็กหลายคนที่เรียนไม่ทัน ส่วนใหญ่ก็คือเด็กกลุ่มนี้เลยครับ
ตัวอย่างที่ผมเจอเช่น เคสที่คุณแม่ต้องลางานในช่วงโควิด เพื่อมาเฝ้าลูกให้นั่งเรียนอยู่หน้าจอ แม่เฝ้าไปก็บ่นไปว่าทำไมเรียนอย่างนี้ไม่เวิร์กเลย เพราะเขาต้องเสียเวลามานั่งเฝ้าลูก ดังนั้นคุณครูอาจจะต้องมีเครื่องมือช่วยประเมินเบื้องต้น เพื่อสามารถแยกแยะเด็กแต่ละคนในชั้นเรียนของตัวเองออกเป็นกลุ่มว่าเขาถนัดเรียนรู้ผ่านผัสสะใด เพื่อจัดการการเรียนการสอนหรือช่วยซัพพอร์ตเขาได้มากพอ
ตัวอย่างเครื่องมือหนึ่ง เช่น มีแบบทดสอบหนึ่งเรียกว่า Dominant factor เป็นการดูว่าเด็กคนนี้มีแนวโน้มใช้สมองซีกไหนทำงานเป็นหลัก เขาถนัดใช้มือข้างไหน ใช้หูข้างไหน ใช้ตาข้างไหน หรือใช้เท้าข้างไหน โดยดูความสอดคล้องกันว่าสมองซีกซ้ายกับร่างกายซีกขวาทำงานสอดคล้องกันหรือเปล่า เพื่อจะเห็นแนวโน้มว่าเด็กคนนี้น่าจะเป็น Kinesthetic learning เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหว หรือเรียนรู้ผ่านการใช้ตาได้ดี เขาน่าจะเป็น Visual learning หรือถนัดใช้การฟัง Auditory learning ซึ่งจะมีกระบวนการทดสอบโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านนี้ก็พอจะบอกเราได้
นอกจากนี้หากคุณครูมีทักษะเหล่านี้ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง เช่น ในห้องมีนักเรียน 30 คน ครูรู้ว่ามีเด็ก 10 คนเป็น Kinesthetic learning เพราะฉะนั้นเวลาให้การเรียนการสอนในแต่ละวัน อาจต้องเจาะกลุ่มนี้เป็นพิเศษ มีช่วงเก็บตกที่โทร.ไปสอบถามจากโฟกัสกรุ๊ปกลุ่ม 10 คนนี้จากพ่อแม่ว่าลูกมีการเรียนเป็นอย่างไร การบริหารจัดการชั้นเรียนของคุณครูที่ต้องรู้จากการประเมินเด็ก ซึ่งถือเป็นทักษะใหม่ที่เราอาจจะต้องเน้นมากขึ้นในยุคการเรียนแบบออนไลน์
ระดับนโยบาย
สำหรับระดับนโยบาย จากงานวิจัยภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในเด็กปฐมวัยไทยช่วงโควิด-19 ผมคิดว่าเรื่องนี้กระตุ้นให้เรากลับมาใคร่ครวญว่าการศึกษาหรือความคาดหวังต่อการศึกษาที่เรามีต่อเด็ก โควิดอาจเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งให้เราตื่นตัวเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีปัจจัยอื่นๆ อยู่แล้ว ดังนั้น เหตุที่เด็กนักเรียนเกิดการเรียนรู้ถดถอย หรือหลุดออกไปจากระบบศึกษา เกิดขึ้นได้จาก 3 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นแรกคือ การเรียนการสอนอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์นั้น
ประเด็นที่สองคือ การตั้งเป้าหมายของการเรียนรู้ไม่ถูกต้อง ซึ่งการคาดหวังที่เด็กนักเรียนจะได้เรียนรู้อะไรบ้างในแต่ละช่วงปี หรือในแต่ละช่วงวัยอาจจะไม่ถูกไหม เช่นที่เล่าว่ามนุษย์ถูกออกแบบร่างกายและสมองให้มีพัฒนาการถึง 21 ปี ดังนั้น การที่เราอัดให้เด็กเรียนเร็วๆ เราต้องสูญเสียอะไรบางอย่าง หรือยอมที่จะตัดอะไรบางอย่างจากการเรียนรู้ปกติของเขา
ตัวอย่างเช่น ถ้าจะให้ทำจริง เราก็สามารถทำให้เด็กในวัยอนุบาลท่องสูตรคูณได้ทั้งห้อง แต่ถามว่า ผลสุดท้ายเราต้องการเด็กท่องสูตรคูณได้ แต่พวกเขาก็จะเครียดมาก และยังมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ตามมา เช่น ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เพราะไม่เคยเล่น มีพฤติกรรมรุนแรง ขาดจินตนาการ เนื่องจากเราใช้เวลาทั้งหมดส่วนใหญ่ไปกับการบังคับให้สมองเล็กๆ ของเด็กท่องสูตรคูณให้ได้ในวัยอนุบาล
ประเด็นที่ 3 คือ ปัจจุบันเราพูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เรียกว่า Lifelong Learning เช่น ในออสเตรเลียหรือญี่ปุ่น มีนักศึกษาอายุ 70 ปีสามารถไปเรียนปริญญาโทได้ เพราะถ้านโยบายการศึกษาหรือระบบสังคมนั้นดีจริง จะต้องเอื้อให้คนคนหนึ่งที่มีความต้องการจะเรียนรู้ เขาสามารถเรียนอะไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เพราะกว่าที่คนคนหนึ่งจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไรจริง บางทีเราก็อายุ 21 ปีหรือมากกว่านั้นแล้ว แต่ถ้าเราสอบเข้าตั้งแต่อายุ 18 เรียนไปแล้วปี 3 บอกว่าฉันไม่ชอบแล้ว นี่ไม่ใช่การศึกษาที่ยืดหยุ่นและเหมาะกับยุคสมัยใหม่เลย เพราะถ้าเราออกแบบระบบการศึกษา เพื่อให้คนเรียนรู้เมื่อไรก็ได้ที่เขาพร้อม เราจะได้คนที่มีคุณภาพในวิชาชีพนั้นจริงๆ
3 แบบฝึกหัดเพื่อบำบัดการเขียนในเด็กเล็ก
คุณครูทางการศึกษาบำบัดนิยมใช้แบบฝึกหัดเหล่านี้กับเด็กที่อาจมีปัญหาในการเขียน ด้วยการสังเกต เช่น เด็กเล็กๆ ที่จับดินสอไม่ค่อยถนัด ส่งผลทำให้เรียนรู้ลำบาก คำแนะนำมีหลากหลายวิธี ได้แก่
ดินสอแท่งใหญ่ หากเปลี่ยนเป็นดินสอแท่งใหญ่ขึ้นก็จับถนัดและเขียนง่ายขึ้น
เดินตามเส้น โดยใช้เชือกมาขดเรียงเป็นตัวอักษรวางบนพื้น และให้เด็กเดินตามเส้นเชือกนี้ เด็กจะมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
เขียนด้วยเท้า อีกวิธีคือ แทนที่จะเขียนด้วยมือก็ให้เขียนด้วยเท้า โดยการใช้นิ้วเท้าจับดินสอแล้วเขียนบนกระดาษ
วิธีเหล่านี้มีหลักง่ายๆ คือ ทำให้เด็กเคลื่อนไหวไปทั้งตัว เพราะเมื่อเด็กได้ใช้การเคลื่อนไหวในการเรียนรู้และกระตุ้นเครือข่ายใยประสาทหรือซิแนปส์ (Synapse) ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีมากขึ้น