ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เด็กในช่วงปฐมวัยและประถมศึกษาไม่สามารถเข้าเรียนได้ตามปกติ จึงส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) เมื่อถึงวันที่ต้องเปิดโรงเรียน ทางโรงเรียนบ้านค่ายได้ตระหนักถึงการสร้างห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19
โดยนายอมร นาคปก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านค่าย ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส กล่าวว่า
“เรามองว่าภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือ Learning Loss เป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ดังนั้นในช่วงสัปดาห์ก่อนเปิดเรียนเทอมแรก (พ.ศ.2565) เราจัดค่าย 3 วัน ให้เด็กชั้นประถม 1- 3 โดยออกแบบกิจกรรมในรูปแบบฐานการเรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนเปิดเรียน”
โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2564 ทางโรงเรียนบ้านค่ายได้เข้าร่วม “โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง” โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นพี่เลี้ยงช่วยสนับสนุน โรงเรียนบ้านค่ายได้นำ 6 มาตรการมาใช้ดังนี้
1) การตั้งเป้าหมายโรงเรียนที่ท้าทาย
2) การพัฒนาระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ
3) การพัฒนาครูและผู้บริหารด้วยกระบวนการ PLC Coaching
4) การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning
5) ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ด้อยโอกาสและมีความต้องการพิเศษ
6) การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง
“เราได้นำเอาแนวทาง 6 มาตรการนั้นมาใช้ ผ่านการเรียนทั้ง 2 กระบวนการ คือ โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยในชั้นอนุบาล 1 – ประถม 3 และโครงงานฐานวิจัยในชั้นประถม 4 – 6 ซึ่งโครงการทั้ง 2 รูปแบบนั้นเหมือนอาหารสำเร็จรูปที่ผ่านการทดลองมาแล้วอย่างดี เรารับมา และใช้ได้อย่างรวดเร็ว จับมาแล้วเดินต่อได้เลย”
เมื่อช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2564 เดินทางมาถึง โรงเรียนบ้านค่ายได้จัดกิจกรรมเปิดบ้านให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้ามาสังเกตการณ์ เชิญคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองมาร่วมกันให้ข้อคิดเห็น ปรากฎว่าผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพราะเด็ก ๆ กล้าคิดกล้าถาม มีความกระตือรือร้นในการมาโรงเรียน และชอบเข้าร่วมกิจกรรมเพราะรู้สึกสนุก
ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19: เด็กที่ไม่พูดอะไรเลยกลายเป็นหัวเราะร่า
“หลังจากเปิดเรียน เราได้คุยกันว่าจะใช้ทั้ง 6 มาตรการต่อไป เพราะพบว่าเด็กเราอ่อนจริงๆ ความรู้ของเด็กประถม 3 เท่ากับเด็กประถม 1 แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือประถม 2 เพราะเราพบว่าเด็กประถม 2 อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ในช่วงเปิดเทอม
เราจึงใช้ Active Learning อย่างเข้มข้นเพื่อฟื้นฟู เอาจริงเอาจัง และนำกิจกรรมฐานกายมาใช้เสริมตั้งแต่วัดกล้ามเนื้อมือและออกแบบกิจกรรมพัฒนาร่างกาย เช่น การเดินต่อเท้า การทูนของ การสะกดรอย รวมถึงการใช้กระบวนการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย มาเสริมเพื่อเด็กจะได้เรียนรู้ตามความสนใจ ไม่รู้สึกเบื่อ”
“เมื่อเทียบผลการประเมินเมื่อต้นเทอมกับปลายเทอม เราพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือทักษะการอ่านดีมากขึ้นในหนึ่งเทอม แม้จะไม่ใช่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด แต่เห็นได้ชัดว่าความสุขของเด็กแสดงออกมาผ่านทางหน้าตา เขาอยากมาโรงเรียน อยากพูดอยากคุย กล้าแสดงออก
มีเด็กคนหนึ่งมาโรงเรียนแล้วไม่พูดกับใครเลย ถ้าวันไหนอารมณ์ไม่ดี ก็ยิ่งไม่พูดและไม่เรียนหนังสือ เขาจะนั่งนิ่งเฉย แต่ตอนนี้เด็กคนนั้นพูดและหัวเราะ ซึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากกระบวนการเรียนที่มีส่วนร่วม โดยมีครูเป็นผู้ประคับประคอง”
ผอ. อมรยังให้ความเห็นเพิ่มเติมเรื่องการฟื้นฟูฐานกายว่า “สำหรับเด็กที่แข็งแรงอยู่แล้ว ยิ่งได้พัฒนากล้ามเนื้อก็ยิ่งเก่งมากขึ้น ธรรมชาติของเด็กนั้นชอบเล่นมากกว่าอยู่แต่ในห้อง การฟื้นฟูจะทำให้เด็กได้ระบาย ได้พัฒนากล้ามเนื้อทุกส่วน ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกายทั้งระบบ เพราะทุกส่วนของร่างกายมีความสัมพันธ์กัน”
การปรับตัวของคุณครู
“แรกเริ่มที่นำการเรียนแบบ Active Learning เข้ามาใช้ คุณครูหลายคนไม่รับ เพราะคิดว่าไม่เห็นต้องเสียเวลาปรับเปลี่ยน สอนมาตั้งนานก็สอบผ่านกันได้ กว่าจะเห็นด้วยต้องใช้เวลาคุยกัน ต้องปรับวิธีคิด เราตัดการสอนแบบให้เด็กเปิดหนังสือแล้วคัดตามออก
เมื่อให้ครูออกแบบกิจกรรมโดยเอาความสนใจของนักเรียนเป็นหลัก แล้วค่อยแตกเรื่องราวการสอนออกไป เราไม่ให้นักเรียนฟังอย่างเดียวอีกแล้ว แต่จะเอาความสนใจของนักเรียนเป็นสำคัญ จึงจะไปต่อได้”
ในส่วนของการปรับรูปแบบการเรียนการสอน ผอ. อมรเน้นการพูดคุยกับคุณครูทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ และหากมีประเด็นที่คุณครูติดขัด ก็จะนำเรื่องไปเล่าและขอคำแนะนำจากกลุ่ม PLC Coaching
“ในส่วนของการปรับรูปแบบการเรียนการสอน เราเน้นคุยกัน หากมีอะไรที่ติดขัดก็ส่งให้ PLC กระบวนการนี้ทำให้เรามีที่ปรึกษาเพิ่ม และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การที่ มอ. เอากิจกรรมฐานกายมาแนะนำทำให้เราเห็นว่ามีหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ว่าส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เราออกแบบกิจกรรมฐานกายต่าง ๆ ได้อย่างเข้าใจ เช่น กิจกรรมขวดใส่หินที่เด็กต้องเขย่า ถ้าไม่ใส่หินก็ไม่สนุก ไม่น่าสนใจ การมีหินข้างในทำให้เด็กรู้สึกตื่นเต้น ดังนั้นการออกแบบกิจกรรมฐานกาย เราจึงต้องลองตั้งผลลัพธ์ที่ต้องการการพัฒนาไว้ก่อน แล้วค่อยให้ครูไปคิดมาว่าจะใช้กิจกรรมรูปแบบไหน ในส่วนของการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงของ เด็ก ๆ ผอ. ก็จะถามและให้คุณครูเล่าให้ฟังว่ายามพักเที่ยง ว่านักเรียนแต่ละคนมีพัฒนาการดีขึ้นไหม เพราะเด็กทุกคนอยู่ในสายตาอยู่แล้ว”
ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและครอบครัว
“ครอบครัวมีส่วนสำคัญมาก เพราะเด็กอยู่กับโรงเรียนไม่กี่ชั่วโมง แต่ใช้เวลาที่เหลืออยู่กับผู้ปกครอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละครอบครัวด้วย เพราะเด็กบางคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่แต่อาศัยอยู่กับญาติ ถ้าสถานการณ์ในครอบครัวดี การดูแลลูกก็จะดีไปด้วย และครอบครัวจะให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียน”
ผอ. อมรมองว่าครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ทางโรงเรียนป้อนความรู้เชิงวิชาการได้ แต่ฐานต้องมาจากที่บ้าน ครอบครัวต้องดูแลเด็กให้ได้กินและนอนเพียงพอ จึงจะส่งผลที่มีประสิทธิภาพให้เด็กที่มีความพร้อมมาเรียนรู้ต่อที่โรงเรียน ดังนั้นครอบครัวและโรงเรียนต้องร่วมมือกัน การสร้างห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 จะเอื้อประโยชน์ให้ โรงเรียนได้ไปเยี่ยมบ้านและอัพเดทกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านแอพพลิเคชันไลน์กลุ่มต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบแนวทางฟื้นฟูร่วมกัน
ภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือ Learning Loss จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ และการปรับตัวของทุกพาร์ทเนอร์นั้นสำคัญทั้งหมด กุญแจที่จะจูงมือเด็ก ๆ ให้เข้ามาอยู่ในกรอบการศึกษาที่ควรจะเป็น คือครอบครัวและคุณครูต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว
เราจึงจะได้เห็นรอยยิ้มเปื้อนบนใบหน้าของเด็กอีกหลายต่อหลายคน