ครอบครัว : จุดเริ่มต้นการฟื้นฟูเด็ก
รศ.ดร.จุฑารัตน์ สถิรปัญญา
หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ชุมชน สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ป้องกัน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“จากการศึกษาในพื้นที่จริงพบว่าคนที่ต้องเตรียมตัวให้เด็กก็คือพ่อแม่ แต่ปัญหาใหญ่คือพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูง มีฐานะดี หรืออาศัยอยู่ในเมืองจะมีความพร้อมมากกว่าพ่อแม่ที่มีทุกอย่างด้อยกว่า ส่งผลให้เด็กกลุ่มหลังกลายเป็นเด็กระดับล่าง โดยเฉพาะเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ขึ้นตรงกับ อบต. และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดก็ยิ่งได้รับผลกระทบมากกว่าเดิม เพราะทำให้เด็กบางกลุ่มยังไม่แม้แต่จะเข้าสู่ระบบของการศึกษา
“พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคิดว่าพอลูกไปโรงเรียนก็หมดหน้าที่ตัวเองเพราะครูจะคอยดูแลต่อ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดที่ลูกต้องอยู่บ้านมากกว่าโรงเรียน ทำให้พ่อแม่ต้องทำหน้าที่เป็นครูคนที่สองคือคอยรับใบงานเพื่อไปสอนลูกที่บ้านแทนครู แต่ปัญหาคือครูไม่สามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้ทั้งหมด ทำให้เด็กทำตามใบงานนั้นได้แต่ขณะเดียวกันก็เข้าไม่ถึงวัตถุประสงค์ที่ครูตั้งไว้ นั่นเพราะพ่อแม่ขาดทักษะทางการเรียนรู้ของเด็ก และนี่คือปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการถดถอยทางการเรียนรู้ วิธีแก้คือต้องให้พ่อแม่มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ร่วมกัน แต่ก็ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่มีความพร้อมทำได้ ทั้งที่ทุกสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้หมด เพียงแต่พ่อแม่ที่ไม่เคยรู้ก็อาจไม่ได้ทำสิ่งนี้”
รศ.ดร.จุฑารัตน์ สถิรปัญญา ย้ำว่าแม้โรงเรียนจะเปิดแล้ว แต่พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตว่าลูกที่หายไปจากโรงเรียนสองปีควรจะทำอะไรได้มากกว่าตอนนี้ ควรส่งเสริมอะไรให้ลูกได้อีก และที่ขาดไม่ได้คือควรหมั่นสำรวจสุขภาพจิตใจของทั้งเด็กและตัวเองด้วย
“ความสัมพันธ์กับคนภายในครอบครัวก็สำคัญ เช่นการจัดโต๊ะอาหาร เลยแนะนำให้พ่อแม่ลองชวนลูกๆ ช่วยกันหยิบน้ำจากตู้เย็นมาเทในแก้วแล้ววางตามที่นั่งของคนในครอบครัว วิธีนี้จะทำให้รู้ว่าเด็กเข้าใจความสัมพันธ์ในครอบครัวมากแค่ไหน ทั้งหมดนี้เป็นฮาวทูที่ใช้ในการรับมือของพ่อแม่ เพื่อส่งเสริมให้ลูกเกิดการเรียนรู้ตามวัยในช่วงสถานการณ์โควิด แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้รับการชี้แนะจากครูก็จะไม่มีวิธีรับมือและเกิดความเครียดซึ่งจะทำให้ลูกเครียดตามไปด้วย ดังนั้นความไม่รู้ของพ่อแม่ก็ทำให้ความสดใสของลูกลดลงได้”
“เด็กยุคนี้นอกจากต้องเร่งเพื่อเรียนให้ทันตามใบงาน ยังต้องมารับอารมณ์ทางลบของคนในครอบครัวจากสถานการณ์โควิด ทั้งที่ความสุขของเด็กเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเรียนรู้ เพราะถ้าไม่มีความสุขก็จะไม่เกิดความพร้อมในการเรียนรู้ โดยเฉพาะครอบครัวที่พ่อแม่มีวุฒิภาวะน้อยหรือไม่ได้ทำงานในช่วงโควิด ความเครียดและทุกข์ใจของพ่อแม่นั้นลูกจะซึมซับได้หมด สุขภาพจิตของพ่อแม่จึงสำคัญมากเพราะมีผลกระทบถึงลูก ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องหมั่นสำรวจสุขภาพจิตใจของตัวเองด้วย”
หากเด็กขาดโอกาส
จะทำให้รากฐานไม่แน่นและพลาดโอกาสเรียนรู้เรื่องต่างๆ อีกมาก
ผศ.นายแพทย์เทอดพงศ์ ทองศรีราช
รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
ชี้ว่าเด็กปฐมวัยหรือวัยอนุบาลไม่สามารถเรียนรู้ได้ดีทางออนไลน์ ต้องเป็นเด็กโตถึงจะมีสมาธิดีกว่า ยิ่งไม่ได้เรียนนานๆ พวกเขาก็จะยิ่งควบคุมตัวเองไม่ได้ แม้จะได้รับในแง่ข้อมูลแต่การเรียนรู้บางอย่างต้องเรียนแบบออนไซต์จึงจะดีกว่า โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดที่หากไม่มีคนดูแล เด็กมีโอกาสที่จะเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) หรือไม่ได้เรียนในสิ่งที่ควรต้องเรียน และเมื่อเด็กอนุบาลเมื่อ1-3 ปีที่แล้วก้าวมาเรียนชั้นประถมต้นในวันนี้ พวกเขาจึงเป็นกลุ่มที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอยวิกฤตที่สุด
ประถมต้นเป็นช่วงที่จะได้พัฒนาสิ่งที่นำไปใช้ทั้งชีวิต โดยเฉพาะการอ่าน เพราะนี่คือช่วงสำคัญของการ Learning to read หรือ “เรียนรู้เพื่อที่จะอ่าน” หรือแม้แต่ Learning to write “เรียนรู้ที่จะเขียน” และ Learning to calculate “เรียนรู้ที่จะคิดเลข” เรียกง่ายๆ ว่าเด็กวัยนี้คือช่วงเริ่มต้นของทักษะพื้นฐานหลายอย่างของชีวิต หลังจากนั้นจึงค่อยเป็น Reading to learn หรือ “อ่านเพื่อที่จะเรียนรู้” ซึ่งใช้ในการต่อยอดเรียนรู้เรื่องต่างๆ ต่อไป หากเด็กขาดโอกาสก็จะทำให้รากฐานไม่แน่นและพลาดโอกาสเรียนรู้เรื่องต่างๆ อีกมาก
“การขาดโอกาสจากสถานการณ์โควิดสามารถฟื้นฟูได้ เพราะเด็กหลายคนก็มีการปรับตัว (Ricilience) ที่ดี ถ้าเปรียบเด็กเหมือนลูกบอลที่โดนกดจมในน้ำ ยิ่งเราทำให้เขามีความอยากเรียนรู้มากเท่าไหร่ เมื่อเราปล่อยมือออก เขาก็จะกระเด้งลอยขึ้นสูงมากเท่านั้น ยิ่งเราทำได้มากก็จะยิ่งลอยตัวสูงมาก และไม่สายเกินไปที่จะช่วยอย่างแน่นอน
“ประเทศเรายังมีการศึกษาที่ค่อนข้างเหลื่อมล้ำ ก่อนโควิดก็เหลื่อมล้ำอยู่แล้ว พอโควิคก็ยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำขึ้นไปอีก เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องข้าวกลางวัน ปกติถ้าไม่เกิดสถานการณ์โควิด เด็กไปโรงเรียนก็ยังมีอาหารกลางวันที่โรงเรียนให้กิน หรือด้านการเรียนก็ยังมีเพื่อนและคุณครูคอยกระตุ้น แต่เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียนเด็กกลุ่มนี้เลยยิ่งขาดโอกาสทางการศึกษามากขึ้น
“การเรียนรู้แบบ Child Center หรือการเรียนรู้แบบมีเด็กเป็นศูนย์กลาง” ที่เราพยายามทำมาตลอด ส่วนมากโรงเรียนที่ทำได้ดีคือโรงเรียนที่มีโอกาสทางการศึกษาอยู่แล้ว แต่สำหรับโรงเรียนที่ขาดโอกาสจะเหมือนให้เด็กเรียนรู้เองในพื้นที่ที่ขาด ที่ไม่มีอุปกรณ์หรือสื่อการสอนเพียงพอ จนกลายเป็นว่าการเรียนรู้แบบนี้ยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเข้าไปอีก ดังนั้นทำอะไรก็แล้วแต่ เช่น ปฏิรูปการศึกษา เราต้องเน้นว่าทำเพื่อเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่ยากจนมากๆ ไม่มีสื่อการเรียนหรือสื่อดิจิตัลเพียงพอ รวมถึงเด็กที่อยู่กับปู่ย่าตายายก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น จัดกิจกรรมเพิ่มเติมหลังเรียน หรือมีกิจกรรมขณะอยู่ที่บ้าน เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้เด็กในรุ่นเดียวกันประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน
“ตอนนี้ประชากรวัยทำงานกำลังลดลงเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันกลับมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างให้เด็กทุกคนเติบโตเป็นพลเมืองที่พัฒนาประเทศได้ พ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู ไปจนถึงทุกคนที่ทำงานกับเด็กจะต้องเชื่อก่อนว่าพวกเราช่วยได้ และไม่ว่าจะมีวิกฤตอะไรในอนาคตเกิดขึ้น เราต้องเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถประสบความสำเร็จไปพร้อมกันได้”
ผศ. นายแพทย์เทอดพงศ์ ยังมองถึงโอกาสของเด็กกลุ่มพิเศษอีกด้วย “ผมสนใจดูแลเด็ก LD (Learning disorder) หรือ “โรคการเรียนรู้บกพร่องที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จากสมอง” เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องการอ่าน การสะกด การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ รวมถึงเด็กที่สมาธิสั้น ควบคุมตัวเองไม่ได้ ว่อกแว่กหรือขาดสมาธิ ถ้านับรวมแล้วมีเกือบ 10% ของเด็กทั้งหมด หากเราไม่ให้การดูแลที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ เราก็จะสูญเสียพวกเขาไปโดยปริยาย เลยตั้งใจจะเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงช่วยโรงเรียนที่มีเด็กกลุ่มนี้ให้มากขึ้น”
กลับคืนสู่การเรียนรู้ที่สมวัยของเด็กประถมต้น : เริ่มที่ฐานกายแข็งแรง
- วัยประถมต้นหรือช่วงอายุ 6-9 ปี เป็นช่วงสำคัญในการพัฒนาด้านสมองและร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเด็กอายุ 10 ปี จะเป็นช่วงที่สมองกำลังเจริญเติบโตเท่ากับสมองของผู้ใหญ่
- การได้เคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ อยู่เป็นประจำ จะทำให้เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ช่วยกระตุ้นสมองของเด็กให้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมอง และเกิดจุดเชื่อมต่ออีกมากมายจนส่งผลให้เด็กสามารถเรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ดี
- การทำงานของ “กล้ามเนื้อมัดเล็ก” ที่อยู่ตั้งแต่ข้อมือ ฝ่ามือ ไปจนถึงนิ้วมือ มีความสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาท เพราะใช้ทั้งเขียนหนังสือ เล่นเครื่องดนตรี หยิบจับของต่างๆ ไปจนถึงช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาแค่ในช่วง 10 ปีแรกเท่านั้น ดังนั้นหากเด็กได้รับการพัฒนาที่ดีก็จะช่วยให้เด็กใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีและยาวนานไปตลอดชีวิต ทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจและมีความสุข เพราะสามารถใช้ร่างกายเพื่อทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- กล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่อยู่บริเวณลำตัว แขน และขา ก็ต้องพัฒนาควบคู่กันเพราะกล้ามเนื้อส่วนนี้มีความสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กๆ มาก ทั้งช่วยในการพยุงตัวหรือทรงตัว ช่วยสร้างสมดุลของร่างกาย ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว รวมถึงช่วยให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้สัมพันธ์กัน
- ดังนั้นในวัยประถมต้นการหมั่นสังเกตท่าทางและพฤติกรรมของเด็ก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองและคุณครูจะละเลยไม่ได้ เพราะหากขาดการพัฒนาส่วนนี้ไปจะมีผลกระทบไปตลอดทั้งชีวิตของเด็ก