บันทึกครูสอญอ แห่ง “สีชมพูศึกษา” หากครูอยากลาออก ขอให้เริ่มต้นด้วยการออกวิ่ง

เอาเข้าจริงแล้ว ผมเองก็คือหนึ่งในหลายๆ คน
ที่อยากจะลาออกเพื่อหนีจากความทุกข์ตรงหน้า
ความทุกข์ตรงหน้า ที่เพื่อน พี่น้อง คนที่อยู่ในวงการศึกษา
โดยเฉพาะคนเป็นครูหลายๆ คนน่าจะรับทราบกันดี
ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 

ครูสอญอ แห่ง “สีชมพูศึกษา”

โควิด-19 ทำให้พวกเราทำการเรียนการสอนแบบเห็นหน้าเห็นตา มีปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน Onsite แบบเดิมไม่ได้เลยมาเกือบ 1 ปี การเรียนการสอนต้องย้ายมา Online และทางไกลแทน ซึ่งแน่นอนมันทดแทนการเรียนรู้ที่มีความหมายในแบบที่เราเชื่อไม่ได้เลย (เชื่อการว่าเรียนรู้ที่ดีคือความสัมพันธ์ที่ดี การเรียนรู้ที่ดีคือการมาใช้ชีวิตร่วมกัน) 

New Normal วิถีปกติใหม่ของครูเรา เอาเข้าจริงคือความไม่ปกติ การแก้ปัญหากลับกลายเป็นเหมือนเพิ่มปัญหาซะมากกว่า ยกตัวอย่างจริงซึ่งตัวผมประสบพบเจอเองคือ อุปกรณ์พื้นฐานอย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ตของนักเรียนยังเป็นปัญหา ผมมักได้ยินบทสนทนาด้านล่างนี้บ่อยครั้ง

“นักเรียนครับ เปิดกล้องให้ครูเห็นหน้าหน่อย…”
“ครูคะ…ขออนุญาตไม่เปิดกล้องได้ไหม…สัญญาณเน็ตหนูไม่ดีค่ะ”
“ผมไม่สะดวกเลยครับ ที่บ้านอยู่กันหลายคน เสียงดังรบกวนมาก”
“ครู…หนูอาย บ้านมันรกมากกก ยังไม่ได้หวีผม เพิ่งตื่นด้วย”

เสียงสะท้อนแบบนี้ทำให้ครูเราได้รับรู้ถึงปัญหา และพอเข้าใจได้ถึงสาเหตุของการไม่เปิดกล้อง ปรากฏแต่ชื่อนักเรียนบนจอดิจิทัล แต่ไร้การตอบโต้ใดๆ คือปัญหาหนึ่งที่เราไม่สามารถรู้ได้จริงๆ ว่าเด็กกำลังรู้สึกนึกคิดอะไรอยู่ สิ่งที่ครูทำได้ก็เพียงคาดเดาและตีความเอาเอง

เมื่อการเรียนย้ายมาบน Online 100 % พลังงานครูก็ต้องถูกใช้ไปกับหน้าจอเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า ในมุมเดียวกันนักเรียนเองก็เช่นกัน ช่วง Work From Home หรือ Teach From Home ดูเหมือนจะมีข้อดีอยู่ไม่น้อย แต่ข้อเสียก็ไม่น้อยเช่นกัน 

ส่วนตัวผมเองยอมรับเลยว่าทุกข์มากจนอยากจะลาออก 

นอกจากจะใช้เวลาที่นั่งนานมากขึ้นในการสอน ผ่านหน้าจอ ต้องกระตุ้นตัวเอง และกระตุ้นนักเรียนให้เกิดตอบโต้มีส่วนร่วมก็ยากขึ้น เวลาที่เหลือก็ต้องไปออกแบบและเตรียมการสอน และใช้สื่อที่ไม่พ้นคอมพิวเตอร์อยู่ดี นี่ยังไม่รวมกับเวลาที่ต้องเข้าประชุม อบรม สัมมนาออนไลน์ การทำรายงานส่งหลังสอนหรือหลังอบรม ในช่วงเย็น หรือดึก วันเสาร์ อาทิตย์เองก็ถูกดึงเวลาจากเราไป เวลาในการรับสายโทรศัพท์ ฟังปัญหา หรือตอบแชตกับนักเรียน ผู้ปกครอง 

ที่ตลกร้ายมากกว่านั้น เมื่อถึงคราวเครียดเบื่อหน่าย เราเองก็ยังต้องพึ่งหรือผ่อนคลายด้วยการออกจากจอหนึ่งไปสู่อีกจอหนึ่ง เช่น เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง ดูเหมือนจะแก้ปัญหาเปลี่ยนอารมณ์สั้นๆ จากอารมณ์หนึ่งไปพึ่งอีกอารมณ์หนึ่ง จากปัจจัยภายนอกที่ยิ่งเพิ่มพลังสายตากับจอคอมพ์หรือสมาร์ตโฟนมากขึ้นไปอีก 

สถานการณ์ที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตติดๆ ดับๆ ที่เป็นอุปสรรค ความเหนื่อยล้าในดวงตานักเรียน เวลาในชีวิตครอบครัวที่ถูกเบียดเบียน งานที่ได้รับมอบหมายจนล้านมือ และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุของความเครียดของทั้งนักเรียนและตัวคนที่รับบทบาทหน้าที่ครู 

แน่นอนว่าความเครียดและความทุกข์ที่ผมเอ่ยไปด้านต้นน่าจะเกิดขึ้นกับแทบจะทุกอาชีพและทุกวงการอยู่แล้ว

ผมได้ประสบกับภาวะออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) จนได้เจ้าโรคยอดฮิตของคนทำงานออฟฟิศ ที่ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยเข้าใจและรู้สึกว่าช่างอยู่ไกลตัวเหลือเกิน แต่บัดนี้ได้มาเป็นเพื่อนสนิทกับผมและเป็นโจทย์ใหม่ให้ผมแก้ปัญหานี้อีก กล้ามเนื้อมีอาการตึง บางจุดอักเสบ ต้องพึ่งหมอนวดและยาในที่สุด 

New Normal วิถีปกติใหม่ จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร เมื่อกายไม่ปกติและใจก็ไม่ปกติ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาดูแลตัวเองให้กลับมาปกติ ก่อนจะไปแก้ปัญหาให้ผู้อื่น หรือแก้ปัญหาของนักเรียนหรือสังคม 

ความทุกข์จากงานและวิถีชีวิตที่ไม่สมดุล ส่งผลกระทบกายและใจ นาฬิกาชีวิตของเราเองต้องถูกทบทวนและจัดการใหม่ 

ผมขอแบ่งปันจากประสบการณ์และมุมมองของผม โดยเริ่มต้นจาก

1. จัดการกับอารมณ์ตัวเอง

ผมกลับมาพยายามฝึกสังเกตอารมณ์ตัวเองมากขึ้น ว่าอารมณ์ที่ขุ่นมัว ไม่พอใจ หงุดหงิด หรืออารมณ์ด้านลบต่างๆ ส่วนใหญ่มันเกิดขึ้นบ่อยๆ ในสถานการณ์ไหน มันมีปัจจัยอะไรที่เป็นสาเหตุให้เกิดอารมณ์นั้น เช่นกันกับอารมณ์ด้านบวก ที่ชอบสนุก สงบ ผ่อนคลาย ตื่นเต้น เร้าใจ
ปรากฏว่า อารมณ์ด้านลบส่วนใหญ่เกิดจากสถานการณ์ในการสอนหรือประชุมออนไลน์…ตึ่งโป๊ะ!  ส่วนอารมณ์ด้านบวก คือการได้ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใช้กำลังฐานกายมากกว่าใช้กำลังฐานหัวที่เป็นความคิด

2. จัดการกับวิธีคิดตัวเอง

หลังจากเฝ้าสังเกตอารมณ์ตัวเองให้ถี่ขึ้น ความคลี่คลายด้านอารมณ์เบาลงได้ไม่น้อย วิธีคิดหรือทัศนคติกับการทำงานก็ต้องถูกทบทวนจัดการและรื้อทิ้งอยู่ไม่น้อย เช่น ครูต้องเสียสละเวลาและทุ่มเทเพื่อลูกศิษย์ อันนี้ก็ต้องปรับวิธีคิดใหม่ เพราะการเสียสละหลายครั้งเราเบียดเบียนตัวเอง ทั้งเวลาและงบประมาณ หลายครั้งบั่นทอนความรู้สึกและป่วย แบบนี้ต้องทำความเข้าใจใหม่  ด้วยการกลับมาดูแลตัวเองให้มีความสุข ดูแลและบริหารเวลาใหม่เกือบหมด 

การสอนที่เน้นให้ข้อมูลตามหลักสูตรเนื้อหาแกนกลางที่เราไม่อินและสนุก ก็ต้องปรับมาเป็นประเด็นที่นักเรียนสนใจและอยู่ในกระแสด้วย จากนั้นค่อยเชื่อมโยงไปกับผู้เรียน ให้คุณค่ากับทักษะ มุมมอง ทัศนคติที่ดี มากกว่าให้ข้อมูลหรือเนื้อหา 

หาเทคนิคการเรียนการสอนที่น้อยแต่เรียนรู้ได้มาก สร้างหรือรวมกลุ่มเพื่อนครูที่มีความคิด ความเชื่อ เป้าหมายคล้ายกัน มามองปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เช่น การสอนร่วมกันเป็นทีม จัดการเรียนรู้แบบบูรณการออนไลน์ เพื่อลดเวลาสอนลง เพิ่มเวลาให้ทั้งครูและนักเรียนได้พัก และให้เวลากับตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ที่ประสบพบเจอได้ไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา

3. จัดการกับเวลาและสร้างนาฬิกาชีวิตใหม่

จากนอนดึก สอนเสร็จเย็น ประชุมถึงค่ำ ภาคกลางคืนเตรียมการสอน กว่าจะได้นอนก็ดึก หลายครั้งข้ามวัน ตื่นสาย เร่งรีบไปให้ทันเข้าสอน ก็ได้จัดตารางชีวิตให้ตัวเองใหม่ ออกไปใช้เวลากับกิจกรรมใช้ร่างกายมากขึ้น เช่น ออกไปปลูกต้นไม้ ปั่นจักรยาน ออกกำลังกาย และสิ่งหนึ่งที่ค้นพบว่าดี และชีวิตเริ่มสดชื่น กระปรี้กระเปร่ามากขึ้น คือการ “วิ่ง” ออกกำลังกายให้เหงื่อออก หัวใจเต้นถี่บ้าง 

ช่วงแรกก็ดูจะหนืด ฝืด ฝืนอยู่ไม่น้อย ที่จะดีดตัวเองออกมาจากฟูกนอนนุ่มๆ เราเองมักจะมีข้ออ้างที่เข้าข้างตัวเองที่จะไม่ออกไปวิ่ง แต่เมื่อตระหนักว่าสิ่งใหม่ที่ค้นพบคือความสุขและความกระปรี้กระเปร่า ความสดชื่นที่หล่นหายไปหลายเดือนจึงได้กลับคืนมาอีกครั้ง

พลังงานที่ได้ส่งผลให้การทำงานในบทบาทของครูดีขึ้นตามลำดับ

นอกจากผมจะมีกำลังกายที่ดีขึ้นจากการวิ่งเป็นประจำ จนค่อยๆ ต่อเนื่องเป็นนิสัย ธรรมชาติ ดิน ฟ้า อากาศก็มีผลสำคัญมากๆ ที่ช่วยให้เราได้รื่นรมย์กับความงามเล็กๆ ระหว่างสองข้างทางที่เราไม่ค่อยได้สังเกต  เพราะการวิ่งทำให้เราช้าลง และมองเห็นมันได้ใกล้ ละเอียดขึ้น

วิถีชีวิตของผู้คนในช่วงเช้าตรู่ที่ไม่ได้เห็นมานาน กลับมาฉายให้เห็นอีกครั้งเมื่อเราออกไปวิ่ง การยิ้มทักทายหรือบทสนทนาเล็กๆ สั้นๆ ช่วยสร้างความคุ้นเคย และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีไม่น้อยระหว่างเรากับคนในชุมชน ความสัมพันธ์ที่ห่างหายไปนานได้กลับมาเชื่อมต่ออีกครั้ง แตกต่างจากบทสนทนาทางโซเชียลหรือออนไลน์อย่างสิ้นเชิง 

ที่สำคัญมากๆ ที่ได้ค้นพบจากการออกไปวิ่งคือ กายกับใจมันประสานสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว จิตที่จดจ่อกับการวิ่งอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย อยู่กับปัจจุบันตรงหน้า รู้สึกตัวกับฝีเท้าที่ก้าวกระทบพื้น รู้สึกถึงพลังงานเล็กๆ ที่ถูกชาร์จในใจ 

การเป็นหนึ่งเดียวของกายและใจ  ทำให้เกิดสภาพว่าใจของเรากระโดดออกมาเป็นบุคคลที่สาม ที่เห็นกายเคลื่อนไหวระหว่างวิ่ง และการทำงานของความรู้สึก ที่เบาสบาย สดชื่น มีพลัง

พลังงานที่ได้ส่งผลให้การทำงานในบทบาทของครูดีขึ้นตามลำดับ ความเครียดจากการงานลดลงอย่างเห็นได้ชัดความคาดหวังกับนักเรียนและความคาดหวังกับตัวเองถูกจัดวางใหม่  ด้วยการให้คุณค่ากับการดูแลรักษาสุขภาพกายและใจก่อน 

สุดท้ายแล้ว เรายังต้องอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 อย่างเลี่ยงไม่ได้  ต่อให้ลาออกหรือไปทำอาชีพใหม่  เราไม่มีทางหนีความเครียดใดๆ ได้เลย เพราะความเครียดเกิดขึ้นจากเราเป็นต้นเหตุสำคัญ 

ที่ทำได้ตอนนี้คือกลับมาดูแลกายและใจให้มี  “ความปกติใหม่” 

เพื่อให้เรามีกำลังกายและกำลังใจ ออกไปเผชิญหน้ากับความจริงอย่างมีความหวังต่อไป