รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นสร้างทักษะ ความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณผ่านเครื่องมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กันใน 14 ประเทศทั่วโลก กำลังถูกนำมาปรับปรุงการเรียนการสอนในประเทศไทย
ภายใต้การพัฒนาผ่านโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพ การศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยจะขยายไปยัง 75 โรงเรียน ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ สุรินทร์ กาญจนบุรี อยุธยา เพชรบุรี ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี
รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เผยถึงความคืบหน้าในโครงการนี้ว่า ปัจจุบันได้จัดอบรมให้กับครูเกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอน ช่วยกันวิเคราะห์ว่าเครื่องมือตัวนี้จะเปลี่ยนแปลงผู้เรียนได้อย่างไรบ้าง ขั้นตอนต่อไปคือการตั้งเป้าหมายโรงเรียน โดยดึงเอาผู้ปกครองและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีโค้ชเข้ามาเป็นกระบวนกร จัดกระบวนการตั้งเป้าของโรงเรียนซึ่งจะทำให้เสร็จก่อนขึ้นปีการศึกษาหน้า ว่าจะเปลี่ยนการเรียนการสอนอย่างไรให้เป็นไปตามผลลัพธ์ทางการศึกษา ที่กสศ.กำหนดทั้งการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ ทักษะการทำงาน ทักษะสื่อสาร ทักษะวิชาชีพ ลักษณะพึงประสงค์
ทั้งนี้ การจัดห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทาง Active Learning โดยใช้เครื่องมือ OECD นั้น มีสองส่วน ส่วนแรกคือแบบประเมิน ซึ่งจะมีทั้งวัดความสามารถของเด็ก ให้เด็กเกิดทักษะจากการทำแบบฝึกหัดซึ่งแทรกซึมอยู่ในข้อสอบที่บูรณาการ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ หรือ STEM เช่น จะขี่จักรยานใช้ล้อขนาดเท่าไหร่ถึงจะไปถึงบ้านโดยไม่เปียกฝน และการวัดเชิงจิตวิทยา เพื่อวัดพัฒนากระบวนการขั้นตอนประเมินตัวเอง ทำให้เขารู้ว่าตัวเองอยู่ระดับไหน รวมทั้งได้ฝึกสื่อสาร ฟีดแบ็คกับเพื่อน
ส่วนที่สอง กระบวนการเรียนการสอนแนว Innovative Base หรือการเรียนเพื่อนำไปสู่การคิดนวัตกรรม โดยใช้ 6 ขั้นตอน จาก OECD ที่ถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับสังคมไทยหลังจากได้ทดลองในบ้านเรามาแล้ว 2 ปี โดยครูจะได้รับการการอบรมในสองส่วนส่วนแรกคือกระบวนการพื้นฐานของการปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นครูกระบวนการหรือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ถัดมาสองบทบาทผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรมชาติมนุษย์เรียนรู้ แบบไหนมาสู่กระบวนการเรียนรู้ 6 ข้อ คือ
- ประเมินผู้เรียน ก่อนเรียน
- สร้างแรงบนดาลใจ
- วางแผนบูรณาการ
- เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ
- รีเฟลคชั่น การประเมินตัวเอง ใช้เครื่องมือ OECD ให้เกิดการพัฒนาเรียนรู้ตัวเอง
- ชวนคิดต่อยอด ใช้กระบวรการ Design thinking เข้าไปจับ
รศ.ดร.ธันยวิช อธิบายเพิ่มว่า วิธีการอบรมเราจะใช้วิธีทำให้ครูกลับไปเป็นนักเรียน เราเป็นวิทยากรเล่นบทครู เปลี่ยนให้ครูจำลองเหมือนเป็นนักเรียนในห้องเรียน คิดหัวข้อ ลองทำแบบทดสอบ สัมผัสบรรยากาศ ลองหาหัวข้อสร้างแรงบันดาลใจ ทำกระบวนการวางแผนร่วมกันกับผู้เรียน มีรีเฟลคชั่น การตั้งคำถาม
ระบบการเรียนแบบเดิมเป็นการเรียนให้จำใช้หลักสูตรเป็นตัวนำ เด็กไม่ได้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของว่าสิ่งที่เขาจะเรียนจะเชื่อมโยงกับชีวิตจริง มีประโยชน์อย่างไร เน้นการจำไม่เน้นการคิด ลงมือทำ เป็นแบบ Passive Learning แต่เถ้าเราเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ มีขั้นตอน มีเครื่องมือ Design Thinking ไปจับ ก็จะสามารถพัฒนาการคิด ซึ่งดีกว่าแบบเดิมแน่นอน อีกประเด็นคือความสุขในการเรียนรู้ ตราบใดที่เด็กมีความสุข อยากเรียน ยังไงเขาก็จะมาเรียน โอกาสดร็อปเอาท์ (Drop out) ก็จะมีน้อยธรรมชาติมนุษย์จะเรียนรู้เติบโต สมองจะฟังก์ชันได้ดีต้องมีการเคลื่อนไหวระหว่างการเรียนรู้ ไม่ใช่นั่งนิ่งๆ
รศ.ดร.ธันยวิช กล่าว
รศ.ดร.ธันยวิช ยังมองว่ารูปแบบการเรียนนี้สุดท้ายจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ เพราะมีการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติเหมือนเด็กมีต้นทุนเท่ากัน ไม่มีคำว่าคนจำเก่งกว่า มีสุขภาพเข็งแรงดีกว่า แต่การเรียนรู้แบบนี้ ทุกคนมีสิทธิเรียนรู้เท่ากัน และผลัดกันเป็นวีรบุรุษในแต่ละกิจกรรมได้ เพราะว่าการจัดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจะต้องใช้ทักษะ พหุปัญญาครบทั้งหมดในกิจกรรมต่างๆ แต่ที่ผ่านมาการเรียนในห้องเรียนเป็นการใช้ทักษะแค่ไม่กี่ตัวทำให้เด็กไม่มี ความไม่มั่นใจ ไม่มีความสุข
ที่สำคัญรูปแบบการเรียนแบบ Active Learning ของ OECD นี้มีหลายแบบ ซึ่งบางครั้งจะเป็นรูปแบบรายวิชาเป็นตัวตั้ง มีแผนรายชั่วโมงสำหรับครูที่เพิ่งเริ่มทำแผนกิจกรรมที่ลงรายวิชาแต่ละวิชาแค่วิชาเดียวเป็นตัวนำระบบเข้ากิจกรรม หรือทำแบบบูรณาการครู 2-3 คนมาสอน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้สำหรับโรงเรียนที่พร้อมน้อยที่สุดไปจนถึงพร้อมมากที่สุด