ปรับการสอนตามความต้องการ​สกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)  หรือ “โรงเรียนพัฒนาตัวเอง”  เป็นหนึ่งในความพยายามของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดกลาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวกับครูและผู้บริหารโรงเรียน ว่าปัจจัยความสำเร็จของโครงการนี้อยู่ที่ผู้บริหารที่จะเป็นผู้นำคุณครูไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) มีองค์ประกอบที่สำคัญเรื่องแรกคือครูจะต้องรู้จักศักยภาพของเด็กแต่ละคน ยกตัวอย่างลูกศิษย์ที่โรงเรียนสาธิตเกษตรฯ เคยมีคนที่เขามาเรียนทุกวันแต่ไม่เคยเข้าห้องเรียนเพราะเบื่อสอนอะไรเขาก็รู้หมดแล้ว ต่อมาเราค้นพบว่าเขาเป็นอัจฉริยภาพด้านคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันจบปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งอีกหลายคนที่เขาไม่ได้เรียนเก่งแต่เขามีความสามารถด้านอื่นเช่น บางคนเล่นกีฬาเก่ง เล่นดนตรีเก่ง เล่นโขนเก่ง มีความสามารถเป็นพิธีกร

ปัจจุบันเราทั้งหลายกำลังถูกล้อมโดยหลักสูตรที่ขยับได้ยาก ตอนนี้เรากำลังคลี่คลายสิ่งเหล่านี้ หากเรารู้ศักยภาพของเด็ก หรือรู้ว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไร บางคนซึมเศร้า เราก็เข้าไปช่วยทุกวิถีทางทั้งส่งครูไปสอบที่โรงพยาบาล จนทุกอย่างผ่านวิกฤตไปได้ ก็จะช่วยลดจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปในแต่ละปีได้

ปรับการสอนตามความต้องการ
ลดอัตราเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ปัจจุบันมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา  70,000 คน  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฐานะความยากจนของครอบครัว แต่สาเหตุสำคัญที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามาจากการเรียนการสอนในห้องเรียน ไม่ตอบสนองสิ่งที่พวกเขาอยากเรียน ดังนั้นหากปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้สอดรับกับความต้องการของเด็กๆ ย่อมสามารถลดจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดย​การเรียนการสอนแบบ Active Learning จะทำให้เห็นศักยภาพของเด็กแต่ละคน หากเป็นการเรียนการสอนแบบยืนสอนหน้าชั้นเรียนจะไม่สามารถมองเห็นได้

รศ.ดร.ดารณี อธิบายว่า อีกองค์ประกอบที่สำคัญคือการรวมพลังของครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียน  รวมทั้งเปิดให้นักเรียนมีส่วนประเมินผลการเรียนของตนเอง เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และกำกับตัวเองถือเป็นซอฟท์สกิลที่โลกในยุคหลัง COVID-19 กำลังต้องการ

สร้างการเรียนรู้ตามวัย และระดับพัฒนาการ

อีกองค์ประกอบคือเรื่องการเรียนรู้ตามวัยหรือตามระดับพัฒนาการ ซึ่งเด็กม.3 บางคน อาจเก่งในวิชาที่เขาถนัดมากว่าเด็กม.5 โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาไม่เคยขาดแคลนครูเพราะเขาใช้วิธีการสอนคละชั้น ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ถ้าเข้าใจเทคนิควิธีการสอน เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันต้องได้รับการพัฒนาไปตามวัย และคำนึงถึงเรื่อง “พหุปัญญา” เมื่อด้านหนึ่งโดดเด่นก็อาจมีอีกด้านที่ด้อย เด็กออทิสติกบางคนมีอัจฉริยภาพด้านศิลปะส่งผลงานประกวดได้รางวัลระดับนานาชาติ

สิ่งที่สำคัญคือการดูแลแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของนักเรียนแต่ละคน  จากข้อมูลจะพบว่าเด็กปฐมวัย 30 % มีพัฒนาการไม่สมวัย เช่น เรื่องการสื่อสาร ดังนั้นจะต้องกระตุ้นการพัฒนาในส่วนที่เป็นปัญหา​กลุ่มเสี่ยงบางคนที่หลุดไปจากระบบการศึกษาเมื่อเห็นเพื่อนเขาเรียนแบบ Active Learning ก็ทำให้เขากลับมาเรียนต่อ การปรับการเรียนการสอนจึงมีส่วนช่วยให้เด็กหลุดออกนอกระบบได้น้อยลง

เน้นพัฒนา ซอฟท์ สกิล ที่ AI ทำไม่ได้

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.​ กล่าวว่า การพัฒนาโรงเรียนขนาดกลางที่มีนักเรียนด้อยโอกาสให้พัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ จะสามารถเป็นต้นแบบขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ซี่งก่อนที่เด็กจะเปลี่ยน ครูจะต้องเปลี่ยนต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายพัฒนาคุณภาพโรงเรียนตามแนวทาง Active Learning พร้อมสนับสนุนการศึกษาวิจัย ติดตามประเมินผล

อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับโลกอนาคต ต้องพัฒนาทักษะทั้ง IQ EQ  จนปัจจุบันมีDQ หรือ ความฉลาดทางดิจิตอล Digital Intelligence  ไปจนถึงการพัฒนา ซอฟท์ สกิล โดยเน้นทักษะในสิ่งที่ ปัญญาประดิษฐ์​(AI) ทำไม่ได้ ทั้งการสื่อสาร ความร่วมมือ การคิดวิเคราะห์ และคิดสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิสัมพันธ์

เสริมสมรรถนะ “ยืดหยุ่น” พร้อมรับวิกฤต

ในอนาคตสมรรถะที่สำคัญมีหลายเรื่องทั้งการปรับตัว ​ความสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ ความยืดหยุ่นรับมือกับความยากลำบาก ที่ผ่านมามีเด็กยากจนพิเศษ 700,000 คน แต่ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน พ่อแม่บางคนที่เคยยากจนกลายเป็นยากจนพิเศษ ความยืดหยุ่นจะช่วยรับมือในการเผชิญวิกฤต ที่ครูจะต้องสอนให้เขามีความเข้มแข็ง และนำมาสู่การกำกับตัวเอง ​ ทั้งหมดจะมี  Active Learning เป็นหัวใจสำคัญ

“หวังว่าจากนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ซี่งไม่ได้วัดผลกันแค่ว่าเปลี่ยนแล้วนักเรียนได้เกรดเพิ่มในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แต่เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก มีการพัฒนาซอฟท์ สกิล  ต่อไปจะได้ขยายไปยังโรงเรียนอื่นในพื้นที่  เด็กๆ จำนวนมากได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงจึงขอฝากความหวังไว้กับพวกเราทุกคน”  รศ.ดร.ดารณี กล่าว

สร้างเครือข่าย ต้นแบบ รร.พัฒนาตนเอง

ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ.​ กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ คือการพัฒนาโรงเรียนอย่างเป็นระบบด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ทั้งผู้บริหาร ครู บุคลากรในโรงเรียนไปจนถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ คุณลักษณะ และพฤติกรรมของนักเรียนด้วย ภารกิจ 3 ด้านคือ การบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน การสนับสนุนสภาพแวดล้อมและสิ่งต่างๆ   

สำหรับเ​ป้าหมายที่หวังผลคือ “โรงเรียน” สามารถคิดและพัฒนาคุณภาพตนเองได้ทั้งระบบและเป็นต้นแบบการพัฒนาขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น  “ครู” มีทักษะจัดการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Active Learning)  สามารถพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21  “เครือข่าย”​ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในระดับโรงเรียน ระหว่างโรงเรียน และชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพโรงเรียน