ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน เลิกท่องจำความรู้มุ่งสู่การฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

การเรียนการสอนแบบให้นักเรียนท่องจำความรู้กำลังกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย  ขณะที่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในยุคใหม่ ต้องเน้นให้เด็กได้ฝึกคิด วิเคราะห์ รู้จักการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้จำเป็นที่จะต้องเข้าไปปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ​

ประเด็นที่สำคัญคือการพัฒนาที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณหรือทรัพยากรมากมาย เพียงแค่ใช้รูปแบบวิธีการที่เหมาะสมและได้รับความร่วมมือเอาจริงเอาจังจากบุคลากรในโรงเรียนตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงครูผู้สอน ย่อมจะทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้

จากโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในส่วนที่ได้ทำงานร่วมกับทางสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเรียนการสอนโรงเรียนในเครือข่าย 60 โรงเรียน

ความเปลี่ยนแแปลงแรก คือ เด็กกล้าแสดงออก

รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวว่า จากที่ได้เข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายพบความเปลี่ยนแปลงของนักเรียนที่ดีขึ้นชัดเจน คือ เรื่องความกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าอภิปรายให้ความเห็น แสดงเหตุผลของตัวเอง

ทั้งนี้ กลไกการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) จะเป็นการบูรณาการระหว่างการบริหารโรงเรียน และการบริหารชั้นเรียน โดยใช้นวัตกรรม “การศึกษาชั้นเรียน” หรือ Lesson Study และ “วิธีการแบบเปิด” หรือ Open Approach ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องตามวงจรรายสัปดาห์

เริ่มจากให้ครูทุกวิชาในระดับชั้นต่างๆ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก หรือทีมช่วงชั้นที่ 1 ประกอบด้วยครูชั้น ป.1 ป.2 ป.3  กลุ่มที่สอง หรือทีมช่วงชั้นที่ 1 ประกอบด้วยครูชั้น ป.4 ป.5 ป.6 และ กลุ่มที่สาม หรือทีมช่วงชั้นที่ 1 ประกอบด้วยครูชั้น ม.1 ม.2 ม. 3 มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลายของครูทุกวิชา ช่วยทำให้ครูทุกคนเข้าถึง “นักเรียนอย่างเป็นองค์รวม” ถือเป็นนวัตกรรมบูรณาการรายวิชาต่าง ๆ ผ่านมุมมองครูต่างวิชา 

Lesson Study และ Open Approach กลไกการพัฒนาครูและนักเรียนอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างวิชาคณิตศาสตร์ ในระยะที่หนึ่งของการศึกษาชั้นเรียน หรือ Lesson Study ครูในทีมจะร่วมกันเขียนแผนบูรณาการวิชาคณิตศาสตร์ ที่เป็นโจทย์หรือสถานการณ์ทางคณิตศาสตร์ ในระยะที่สองนักเรียนจะเรียนรู้ด้วยตัวเองตามขั้นตอนของวิธีการแบบเปิด (Open Approach) โดยมีครูในทีมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study Team) สอน ร่วมสังเกตและบันทึก และในระยะที่สามครูในทีมการศึกษาชั้นเรียนแต่ละช่วงชั้นร่วมกับครูทั้งโรงเรียนสะท้อนผลรายสัปดาห์ 

ดังนั้น  Lesson Study  ก็จะเป็นเหมือนชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) และมี Open Approach เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น โดย Lesson Study จะเป็นวงรอบการทำงานทั้งโรงเรียนที่ร้อยรัดถักเรียงกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้หมุนไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงการศึกษาอย่างเป็นระบบ​จนเกิดความสำเร็จในโรงเรียน   

สำหรับวิธีการแบบเปิด หรือ  Open Approach คือวิธีการสอนที่มีความยืดหยุ่น มี 4 ขั้นตอน คือ

  1. การนำเสนอสถานการณ์ปัญหาปลายเปิด
  2. การเรียนรู้ด้วยตัวเองของนักเรียน
  3. การอภิปรายทั้งชั้นเรียน
  4. การสรุปโดยเชื่อมโยงแนวคิดของนักเรียน ความยืดหยุ่นอยู่ที่วิธีสอนแบบนี้จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนจะขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของผู้เรียน

เน้นให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเองห้ามอธิบายเนื้อหาแบบเดิม

รูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมที่เราคุ้นเคยคือเอาความรู้มาถ่ายทอด จากครูไปสู่นักเรียน โดยการถ่ายทอดตัวอย่างให้นักเรียนแล้วให้นักเรียนทำการบ้าน ครูตรวจการบ้าน แต่ Open Approach ​นับเป็นรูปแบบที่ต่างจากการเรียนการสอนแบบเดิมที่เราคุ้นเคย จุดเน้นให้เด็กได้มีโอกาสแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ครูห้ามบอกห้ามอธิบายเนื้อหาแบบเดิม แต่จะใช้ตัวโจทย์และสถานการณ์ให้เด็กไปเป็นคนแก้ปัญหาด้วยตนเอง เช่น ให้ทรงกระบอกที่มีฝาปิดหัวท้าย จะตัดอย่างไรให้กลายเป็นแผ่นเดียว การแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเองทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งเรื่องพื้นที่ผิว ปริมาตร ความสัมพันธ์ ของสองมิติกับสามมิติ ได้เรียนทั้งศิลปะหัตถกรรม ฯลฯ ซึ่งหมายความว่า เราได้ทำให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง พร้อมที่จะแก้ปัญหาที่ยังไม่รู้จักในอนาคต

รศ.ดร.ไมตรี กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย TSQP จำนวน 60 โรงเรียน ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงที่ผ่าน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายส่วน เริ่มตั้งแต่การทำงานของคุณครูที่จากเดิมเป็นการทำงานแบบแยกส่วนกัน เปลี่ยนมาทำงานร่วมกันไม่ใช่ต่างคนต่างสอนชั้นเรียนของตัวเองอีกต่อไป และในภาพรวมก็จะเป็นการทำงานร่วมกันทั้งโรงเรียนร่วมกันออกแบบจัดการเรียนรู้เน้นการคิดแก้ปัญหา ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียนก็ทำให้นักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงออก

ครูเปลี่ยนปรัชญาความเชื่อไม่ใช่แค่เอาความรู้มาบอกเด็ก

สำหรับการสอนวิธีนี้ที่เป็นเรื่องใหม่ที่เป็นทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนครูที่ไม่เคยสอนแนวนี้มาก่อน จะต้องเปลี่ยนปรัชญาความเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่ใช่การเอาความรู้มาบอกเด็ก แต่เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่เช่นนั้นเด็กก็ลืมหมด มีโรงเรียนตัวอย่างที่ทำสำเร็จอย่างโรงเรียนบ้านโนนแสนคำหนองศาลาศรีสะอาด โรงเรียนบ้านรุงสมบูรณ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งต้องใช้เวลาแต่ละโรงเรียนจะขยับได้ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจัง อย่างโรงเรียนบ้านโนนแสงคำฯ ผู้อำนวยการมานั่งประชุมเองทุกสัปดาห์การพัฒนาก็ก้าวกระโดด  

ทั้งนี้ ในการเริ่มต้นต้องอย่าไปคิดว่าอะไรก็ยุ่งไปหมด ต้องมาประชุมกันทุกสัปดาห์ แต่พอทำแล้วก็จะเห็นว่าเด็กเปลี่ยน กล้าพูด กล้าคิด จากเด็กไม่เคยได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ครูก็ไม่เคยเห็นว่าเด็กของตัวเองคิดได้ แต่พอทำแล้วก็จะเห็นว่าเด็กอยากพูดอยากแสดงความคิดเห็น  Open  Approach จึงมารองรับตรงนี้ เปิดโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมกัน

นร.ได้เรียนอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

อย่างในชั้นเรียนที่มีเด็กพิเศษวิชาอื่นคิดไม่ได้แต่สมมติวิชาคณิตศาสตร์คิดได้ เด็กก็ภูมิใจอยากมาโรงเรียนมีแบบนี้นับไม่ถ้วน แต่ถามว่ายากไหม ต้องบอกว่ายาก แต่ถ้าทำได้ก็จะทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การศึกษาทั่วโลกเขาเป็นแบบนี้กันแล้ว การจะให้เด็กท่องจำล้าสมัยแล้ว​ สิ่งสำคัญคือรูปแบบการเรียนนี้จะทำให้นักเรียนได้เรียนอย่างทั่วถึงและเท่ากันเทียมกัน 

หากทำได้ก็จะเป็นการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบท พื้นที่ห่างไกลกันดารซึ่งจากตัวอย่างที่ทำมามีหลายโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมีหลายแห่งที่พัฒนาจากระดับหลัง ๆ มาสู่ระดับต้นได้แล้ว ​อย่างไรก็ตาม การลงทุนเรื่องเวลา ต้องทำงานต่อเนื่องถึงจะประสบความสำเร็จ แต่ที่ผ่านมาเราไปลงทุนกับเรื่องอื่นเสียมากกว่า

เริ่มต้นการพัฒนาจากการทำงานเชิงเครือข่าย

สำหรับการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมี มี ​5 มาตรการ ทั้ง 

  1. การกำหนดเป้าหมายของโรงเรียน
  2. การพัฒนาครูและผู้บริหารด้วยกระบวนการชุมชน
  3. การจัดระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่มีคุณภาพ (Info)
  4. การพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียน
  5. การสร้างเครือข่ายการดำเนินการร่วมกัน

ซึ่งในปีแรกต้องการเน้นให้แต่ละโรงเรียนได้เห็นการทำงานร่วมกันในเชิงเครือข่าย ซึ่งมีกลุ่มแรกเป็นโรงเรียนที่เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ปี 2552 กลุ่มที่สองพัฒนามาตั้งแต่ 2557  และกลุ่มที่สาม จำนวน 37 โรงเรียนที่เพิ่งเข้าใหม่ ซึ่งถือว่าแต่ละกลุ่มก็ทำงานได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ 

โดยกลุ่ม 37  โรงเรียนที่เพิ่งเข้าร่วมใหม่นั้น ได้เข้าไปช่วยวางระบบการใช้นวัตกรรม Lesson Study รวมทั้งเปิดให้เรียนรู้จากโรงเรียนรุ่นพี่ที่เขาเปิดชั้นเรียนไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของ  COVID-19  ทำให้ยังทำได้เพียงแค่ประมาณ 93% และกำลังเร่งทำให้เสร็จครบ 100 % ​​

สำหรับในปีที่สองทางเครือข่ายจะขยายการบูรณาการรายวิชาจากเดิมที่เป็นวิชาคณิตศาสตร์ไปสู่วิชาอื่นๆ เช่น ศิลปะ สังคม โดยครูแต่ละวิชาจะมาบูรณาการในวิชาเหล่านี้โดยมีครูหลักคือครูศิลปะ ครูสังคม ครูคณิตศาสตร์