เรียนรู้แนวทาง “สร้างจิตวิทยาเชิงบวก” และ “ทฤษฎีผ้าขี้ริ้ว” ของโรงเรียนบ้านเบิด

จากโรงเรียนขนาดกลางที่เปรียบเหมือนเป็น “รถเก่า” ​วิ่งได้เรื่อยๆ ​​​ไม่เต็มศักยภาพของตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งผู้บริหารนำทีมยกเครื่องใหม่ เปลี่ยนยาง ปรับนั่นแต่งนี่ จนทุกวันนี้ “รถเก่า” ที่เคยวิ่งแบบหวานเย็นกลับกลายเป็น “รถแข่ง” ที่ถูกจับตามอง

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านเบิด จังหวัดสุรินทร์ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลายโรงเรียนให้ความสนใจมาดูงาน จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นคะแนนสอบ O-NET, RT, NT รวมทั้งนักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก มีระเบียบวินัย 

นับเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ จากโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ 

เริ่มต้นจาก School Goals
กำหนดทิศทางการพัฒนาโรงเรียน

สมหมาย สันวัง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเบิด

สมหมาย สันวัง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเบิด เล่าให้ฟังถึงเส้นทางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า มาจากการร่วมกันตั้งเป้าหมายของโรงเรียนหรือ School Goals โดยระดมสมองช่วยกันคิด ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ที่มาช่วยกันวาดภาพอนาคตว่าอยากเห็นโรงเรียนบ้านเบิดในวันข้างหน้าเป็นอย่างไร

จนได้ข้อสรุป 7 ข้อ แบ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนคือ

  1. การพัฒนาหลักสูตร​
  2. การพัฒนาคุณธรรม​ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับครู คือ
  3. การปรับการสอนเป็นแบบ Active Learning
  4. ใช้กระบวนการ PLC ในการขับเคลื่อน ส่วนของผู้บริหารคือ
  5. การทำงานเชิงรุก ไม่ต้องรอนโยบายหรือคำสั่ง
  6. กระบวนการทำงานเป็นทีม และส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ปกครองคือ
  7. การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครองและเป็นต้นแบบให้กับนักเรียน

School Goal จะครอบคลุมเป้าหมายที่เป็นตัวกำหนดทิศทางทั้งหมดของผู้บริหาร​ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ​ซึ่งถอดมาเป็นสามแนวทางที่สำคัญคือ 

  1. การสอนแบบ Active Learning
  2. ห้องเรียนคุณภาพ
  3. ระบบช่วยเหลือนักเรียน 

“​สิ่งสำคัญคือนักเรียนมีความสุขในการเรียน เปลี่ยนจากการท่องจำ เรียนจากตำรามาสู่ Active Learning จากที่ครูเคยเป็นนักแสดง แต่พอ Active Learning ครูจะเป็นแค่ผู้กำกับ ให้นักเรียนเป็นนักแสดง เราจะใช้หลักผังความคิดหรือ Mind Mapping เป็นเครื่องมือช่วยขับเคลื่อนให้ครูเห็นภาพชัด เวลาอธิบายก็จะง่ายขึ้น”​

Mind Mapping ระดมความเห็นสู่การร่วมถอดบทเรียน

จากการระดมความคิด ครูก็จะช่วยกันออกแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning จนมาออกแบบเป็นขั้นตอน 

  1. วางแผน ออกแบบการสอนกับเพื่อนครูเป็นระบบบัดดี้ ผลัดกันดูว่าแผนที่วางไว้เป็นอย่าไร แล้วให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน
  2. ลงมือปฏิบัติ นำแผนไปทำการสอน โดยบางครั้งจะมีมีครูหรือหัวหน้างานลงไปร่วมสังเกต 
  3. สะท้อนผล วิพากษ์กันแบบเพื่อนต่อเพื่อน และส่งคลิปการสอนไปในไลน์กลุ่มโรงเรียน ครูจะเกิดการพัฒนา กระตือรือร้นในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น 
  4. ถอดบทเรียน ทุกสิ้นเดือนครูทุกคนจะเลือกตัวอย่างมาทำ Mind Mapping ถอดบทเรียนร่วมกันในภาพใหญ่

“การสอนแบบ Active Learning ทำให้การเรียนดีขึ้น เห็นผลชัดเจน เด็กมีความสุขขึ้น ผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น ครูเองก็แอคทีฟขึ้น ต้องถอดหัวโขน เลิกประสบการณ์แบบเดิมที่ยึดตัวเองเป็นสำคัญ เช่น เดิมสอนวิทยาศาสตร์ก็บอกให้เปิดหนังสือดูการทดลองหน้านั้นหน้านี้ แต่ตอนนี้ครูมาของบให้เด็กทำการทดลอง ซึ่งได้ กสศ.เข้ามาช่วยสนับสนุน ขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นระบบ” ​

อีกทั้งผู้บริหารเองก็ต้องเข้าใจครู จะเปลี่ยนแบบทันทีก็จะกลายเป็น “ปลาน็อกน้ำ” เราก็ต้องมาคุยกับครูว่า ถ้าเขาจะเปลี่ยนเป็น Active Learning แล้วมีปัญหาอะไร เช่น สอนไม่ทัน ก็ต้องดูว่าทำไมสอนไม่ทัน แล้วจะแก้ยังไง ใช้วิธีการจับคู่เขียนแผน วิพากษ์แผน ถอดบทเรียนสรุป โดยได้ทาง สพป.สุรินทร์ เขต 2 มาช่วยเป็นโค้ชดูแลอย่างใกล้ชิด

พัฒนาห้องเรียนคุณภาพ
สร้างจิตวิทยาเชิงบวก

ด้านสภาพแวดล้อมก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้  เมื่อห้องเรียนเริ่มเก่าก็ ทำให้เกิดการพูดคุยกันว่า  สภาพแวดล้อมที่ดีต้องมีอะไรบ้าง ก็มา Mind Mapping กันเพื่อหาข้อสรุปของห้องเรียนคุณภาพว่าต้องมีอะไรบ้าง เช่น บริบทที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สะอาด สวยงาม ปลอดภัย มีสื่อการสอนที่ดี ได้ธรรมชาติสวยงามคงเดิมห้องเรียน แล้วก็จัดทำให้เป็นไปตามนั้น

อีกด้านคือการสร้างจิตวิทยาเชิงบวกกับนักเรียน ไม่ดุด่านักเรียน เพราะจะทำให้เด็กไม่อยากมาเรียน แต่ถ้าเราพูดกับเขาด้วยเหตุด้วยผล เขาก็จะกล้าแสดงออก หรือถ้าทำดีก็ต้องชมเขา แล้วค่อยเสริมข้อเสนอแนะเพิ่มเข้าไป หรือถ้าเขาทำผิด เราอาจไม่ต้องไปบอกว่าเขาทำผิดแล้ว แต่ค่อยๆ อธิบาย เขาก็จะรู้ตัวว่าเขาผิดเอง และต้องหาทางแก้ไข ทำให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน

“ทฤษฎีผ้าขี้ริ้ว” แก้ปัญหาเด็กติดเกม

ทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เด็กบางคนมีปัญหาติดเกม ไม่มาโรงเรียน เราก็ใช้ “ทฤษฎีผ้าขี้ริ้ว” เพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากมาเรียน โดยท้าทายให้เด็กแข่งกับผู้อำนวยการโรงเรียนว่าใครจะมาเรียนก่อนกัน หากเขามาก่อนก็ไปลงชื่อ และใช้ผ้าขี้ริ้วเช็ดโต๊ะห้องประชุม จะได้รู้ว่าเขามาโรงเรียนแล้ว

“บางครั้งเราก็ต้องแพ้บ้าง มาสายกว่าเขาบ้าง ให้เขาได้รู้สึกว่าวันนี้ชนะ ผอ.นะ หรือช่วงไหนเขาเริ่มมาสาย เราก็มาให้เร็วขึ้น กระตุ้นให้ต้องมาเร็วขึ้นกว่าเดิม พอมาเขาก็เช็ดโต๊ะ เอาผ้าขี้ริ้วไปซักเก็บอย่างดี ทำแบบนี้เขาก็มาโรงเรียน ไม่หนีเรียน​ อีกด้านหนึ่งเราก็จำกัดให้เขาเล่นเกมน้อยลง พอเขาทำได้ดี หมดเทอมเราก็ให้รางวัลเขา ทุกวันนี้ก็ไม่มีปัญหา”

Q-info ระบบทุ่นแรงดูแลเด็กทุกคนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเบิดอธิบายเพิ่มว่า ยึดหลักต้องดูแลเด็กทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

“ต้องคอยเดินไปสอดส่องดูแล เด็กคนไหนเก่งก็ปล่อยให้ครูดูแลไปได้ แต่ถ้าเด็กคนไหนมีปัญหา ต้องอยู่ในบัญชีที่เราติดตามคอยถามครูตลอดว่า ตอนนี้เป็นอย่างไร ปล่อยไม่ได้ เราเป็นผู้บริหาร ต้องทำงานเป็นทีม ต้องลงไปช่วยกันหาทางแก้ปัญหาด้วยกัน

“ปัจจุบัน กสศ.​ มีระบบ Q-info มาสนับสนุนทำให้การดูแลนักเรียนเป็นเรื่องง่ายขึ้น ในฐานะผู้บริหาร แค่เปิดหน้าจอดูก็จะเห็นภาพรวมของทั้งโรงเรียน ตั้งแต่ผลการเรียน การขาด ลา มาสาย เราจะเห็นว่าตรงไหนที่เป็นปัญหา ก็จะเข้าไปแก้ไขได้ทันที เช่น เด็กคนนี้ทำไมผลการเรียนต่ำกว่าคนอื่น เราก็จะโฟกัสไปที่เด็กคนนี้ หรือกำชับให้ครูช่วยติดตามเด็กคนไหนที่ขาดเรียนบ่อย ระบบนี้ทำให้ทำงานสะดวกขึ้น เมื่อก่อนอาจต้องใช้วิธีขี่จักรยานไปทั่วโรงเรียน 52 ไร่ แต่ตอนนี้เปิดหน้าจอก็เห็นข้อมูลเด็กได้หมดทุกคน

“จากโรงเรียนที่เหมือนรถเก่าวิ่งไปเรื่อยๆ ไม่เต็มที่ วันนี้เปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนยาง ปรับจูนทุกอย่างให้ดีขึ้น วิ่งเร็วขึ้น จากรถเก่าเป็นรถแข่งที่วิ่งได้เร็วจนมีคนมาดูงานตลอด มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกด้าน ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู เด็ก แม้แต่ชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเรามีเป้าหมายไม่ใช่แค่ผลสัมฤทธิ์ แต่ต้องดูแลเด็กในทุกมิติ ทั้งนิสัยใจคอ ระเบียบวินัย ให้เขาจบออกไปมีความรู้ความสามารถ เป็นคนดี ทำประโยชน์ให้สังคม”