ลดความคาดหวัง ปรับการเรียนให้มีชีวิต คุยกับหมอโอ๋ – จิราภรณ์ อรุณากูร เพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” เมื่อเรียนออนไลน์มาพร้อมกับ “ความเครียด” ของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง

“เด็กทุกคนควรมีโอกาสที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง” นี่คือโมเดลในฝันของระบบการศึกษา แต่โลกความจริงของการเรียนรู้ออนไลน์ที่ถือกำเนิดแบบเร่งด่วนจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อาจทำให้ใครหลายคนไม่มีความสุขที่จะเรียน ก่อให้เกิดปัญหาตามมา  

กสศ.ได้มีโอกาสพูดคุยกับหมอโอ๋ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน”

เกี่ยวกับประเด็นการเรียนออนไลน์กับผลกระทบด้านสุขภาพจิตต่อนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ไปรับฟังความคิดเห็นของคุณหมอโอ๋กัน

เครียดจัดเพราะเรียนออนไลน์

การเรียนออนไลน์มีการปรับเปลี่ยนเรื่องวิธีเรียน สถานที่เรียน สิ่งที่แตกต่างจากการไปโรงเรียนเลยก็คือ เด็กจะขาดการติดต่อสื่อสารกับเพื่อน ที่โรงเรียนนอกจากไปเรียนแล้ว ยังมีมิติการสร้างปฏิสัมพันธ์ ฉะนั้นการเรียนออนไลน์จึงขาดมิติด้านการเชื่อมโยงกับผู้คน ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกเหงา รู้สึกไม่สนุก ต้องนั่งเรียนคนเดียว

ความรู้สึกโดดเดี่ยวเป็นปัญหาที่เจอเวลาเรียนออนไลน์ เรียนออนไลน์ต้องอยู่กับหน้าจอ และมี interactive กันน้อย ส่วนใหญ่เป็นการให้ information คือเป็นการเรียนแบบทางเดียว ทำให้เด็กรู้สึกเหนื่อยล้า เพราะว่าต้องนั่งฟังไปเรื่อยๆ และการอยู่กับหน้าจอตลอดเวลา ทำให้เกิดความล้าทางร่างกายและจิตใจ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ภาวะความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆ ตามมา

การเพิ่มขึ้นของความรู้สึกกังวลและความเครียดเวลาเรียนออนไลน์ เพราะ หนึ่ง ความพร้อมของอุปกรณ์ ความเครียดเกิดขึ้นตั้งแต่การไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น แม่มีมือถือเครื่องเดียวแต่มีลูกสามคน เรื่องนี้เป็นความเครียดพื้นฐานทางด้านความพร้อมเรื่องอุปกรณ์

สอง ความพร้อมของสถานที่เรียน บางบ้านมีพี่น้องสามคนอยู่กันในห้องเดียว การมีสมาธิ การจดจ่อฟังครูก็ทำไม่ได้ มีความเครียดทางด้านสิ่งกระตุ้นเร้า เพราะบรรยากาศการเรียนที่บ้านอาจไม่เหมาะสม รวมไปถึงมีพ่อแม่ที่คอยบ่นว่าตำหนิ ทำไมไม่ตั้งใจเรียน นั่งไม่เรียบร้อย คอยเป็น super coach อยู่ข้างๆ ยิ่งเพิ่มความเครียด

แต่การเรียนออนไลน์ก็มีข้อดีนะ เด็กไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เด็กบางคนที่เคยต้องตื่นตีห้า ก็ได้ตื่นเจ็ดโมงเพื่อจะมาเรียนเจ็ดโมงครึ่ง ข้อดีคือลดเวลาเดินทาง แล้วครอบครัวที่มีโอกาสเจอกันน้อย ลูกไปเรียนแต่เช้า พ่อกลับบ้านค่ำ ก็จะมีเวลาให้กันมากขึ้น ถ้าเป็นเวลาที่ดีนะ ข้อดีอีกข้อคือเด็กที่อาจไปโรงเรียนแล้วมีปัญหา เช่น เด็กโดนบูลลี่ ก็จะลดปัญหาถูกกลั่นแกล้งจากโรงเรียนได้

เรียนไม่สนุก กระทบ mindset ต่อการเรียนรู้

บางทีมันยากที่จะโฟกัสหน้าจอได้ เวลาที่เด็กไม่มีสมาธิ เขาจะรู้สึกเครียด เรียนไม่ทัน ฟังไม่รู้เรื่อง การบ้านไม่เสร็จ พอไม่มีสมาธิก็โดนพ่อแม่ตำหนิบ่น เป็นวงจรแห่งความเครียด

การที่เด็กต้องอยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา ซึ่งพ่อแม่ตอนนี้ก็อาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเยอะ ทั้งปัญหาความไม่แน่นอนของชีวิต วัคซีนยังไม่ได้ อาชีพที่ถูกยกเลิก ความไม่แน่นอนของประกาศเปิดปิดโรงเรียน มันก็กลายเป็นความเครียดที่ต้องอยู่พื้นที่เดียวกับพ่อแม่ อาจกลายเป็นที่รองรับอารมณ์ของพ่อแม่ได้

นอกจากนี้ยังส่งผลด้านสุขภาวะทางกาย คือ แต่ก่อนอยู่โรงเรียนยังได้พักเบรกเดินไปกินขนมกับเพื่อน เล่นกีฬา ตอนนี้กลายเป็นนั่งอืดๆ อยู่หน้าจอ ช่วงพักก็เปิดเล่นเกมแทน ก็มีผลกับสุขภาพทางกายซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพใจในที่สุดสุดท้ายที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือ การเรียนที่ไม่สนุก จะไปส่งผลต่อ mindset หรือทัศนคติ มุมมองที่เด็กมีต่อการเรียนรู้ ถ้าเด็กรู้สึกว่าการเรียนรู้น่าเบื่อ ต้องจดจ่อหน้าจอทั้งวัน โดนครูบ่น โดนแม่ตำหนิ มันจะทำลายล้างวิธีคิดที่ว่าการเรียนทำให้เราสนุก ทำให้เราเติบโต กลายเป็นปัญหาต่อการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต

พ่อแม่ควรรับมือการเรียนออนไลน์ของลูกอย่างไร?

พ่อแม่ต้องลดความคาดหวัง ต้องทำใจให้ได้ว่าการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเด็กบางคน

เด็กที่สมาธิไม่ดี เด็กที่การอ่านเขียนไม่คล่อง หรือเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าซักถามเวลาไม่รู้เรื่อง การเรียนออนไลน์ไม่ได้ตอบโจทย์เด็กเหล่านี้ รวมถึงการเรียนออนไลน์ก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน เพราะว่าลักษณะการเรียนรู้บางทีมันน่าเบื่อ ไม่สนุก ไม่มีพลังงานกลุ่มในการที่จะดึง เหมือนเวลาอยู่ในห้อง เพื่อนตั้งใจ เราก็นั่งตั้งใจด้วย มีเวลาทำงานกลุ่ม มีการยืดหยุ่นแทนการนั่งฟังอะไรตลอดวัน ฉะนั้นต้องเข้าใจว่านี่คือเรื่องยากลำบากสำหรับเด็ก ลดความคาดหวังของตัวเราว่าลูกต้องทำได้สมบูรณ์แบบ

อยู่กับความเป็นจริงที่ว่านี่คือสภาวการณ์ไม่ปกติ แค่ลูกได้พยายามเรียนรู้ก็ดีมากแล้ว

แล้วก็ต้องช่วยลูกแทนที่จะตำหนิ ให้มองว่าเราจะช่วยลูกได้ยังไง เช่น ช่วยจัดสถานที่เรียนรู้ให้เหมาะสมตามศักยภาพที่ทำได้ เข้าใจว่าหลายบ้านมีข้อจำกัด ให้ทำเท่าที่ทำได้ จัดสถานที่เรียนรู้ให้มีความเป็นส่วนตัว หามุมที่ชนกำแพง ไม่มีสิ่งรบกวน ลดเรื่องเสียงและการกระตุ้นเร้า ถ้าซื้อหูฟังได้ก็จะช่วยตัดความรบกวนต่างๆ

การวางหน้าจอก็เป็นเรื่องสำคัญ

หน้าจอที่หันเข้าหาหน้าต่างหรือหันเข้าหาแสง ยิ่งเพิ่มความเหนื่อยล้าให้กับสายตาเพราะแสงที่จ้ามากเกินไป หน้าจอที่มีแสงเข้ามาด้านหลังก็สร้างความเหนื่อยล้าจากแสงสะท้อน ถ้ามีโอกาสเลือก ให้เลือกแสงเข้าด้านข้าง ซึ่งจะช่วยลดความเหนื่อยล้าของลูกได้

พยายามทำให้เรื่องพื้นฐานของลูกเป็นไปด้วยดี

เช่น กินอาหารมีคุณภาพครบทุกมื้อ ลดอาหารขยะ นอนและตื่นให้ตรงเวลาเป็นกิจจะลักษณะ การออกกำลังกาย คือพยายามทำให้แต่ละวันมีกิจกรรมที่ชัดเจน ตื่นกี่โมง นอนกี่โมง เวลาเรียนเท่านี้ถึงเท่านี้ ช่วงเบรกอาจมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เช่น มีขนมจัดไว้ให้ เป็นเหมือนรางวัลแห่งความอดทน รางวัลแห่งความสำเร็จ หรือช่วงเที่ยงพักกลางวัน ดูการ์ตูนได้สิบห้านาที ทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายได้ในช่วงเวลาพักผ่อน

บางบ้านถ้ามีโอกาส พอมีกำลัง การมีสัตว์เลี้ยงก็จะช่วยทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย เช่น มีตู้ปลาเล็กๆ หรือช่วงพักเราจะเดินเล่นแถวบริเวณบ้าน ช่วยให้เขามีพลังในการเรียนรู้ แล้วก็พยายามทำให้เด็กได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เรื่องนี้สำคัญมาก เวลาออกกำลังกายสมองจะหลั่งสารที่สร้างความสุข สร้างสมาธิ ทำให้เด็กเรียนออนไลน์ได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นช่วงเบรก ชวนลูกออกกำลังกายเล็กๆ ให้เขาได้ขยับบ้าง พักสายตา จะช่วยลดความเครียดได้

อย่าใส่ใจเรื่องเล็กน้อย อย่าใส่ใจเรื่องไม่เป็นเรื่อง

ให้เขานั่งเลื้อย แต่ตาลูกยังมองยังฟังอยู่ อย่างน้อยลูกยังได้จดจ่อ อย่าใส่ใจเรื่องเล็กน้อย อย่าใส่ใจเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น ต้องนั่งหลังตรง อย่าเท้าคาง จุกจิกมากไปจะทำให้เด็กเครียดหรือเกลียดการนั่งหน้าจอ เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าน่าเบื่อ ไม่สนุก ทำแล้วเครียด เขาจะยิ่งไม่อยากทำ คุยกับลูกดีๆ ให้กำลังใจชื่นชม แม้กระทั่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น หนูตั้งใจเรียนได้สิบห้านาทีแล้วลูก เยี่ยมมากเลย ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ แล้วพ่อแม่มองเห็นจะทำให้ลูกมีกำลังใจ

สำคัญที่สุด พ่อแม่ต้องกลับมามอง ถ้าลูกมีปัญหานั่งเรียนหน้าจอไม่ได้ นอกจากความไม่สนุกของการสอน การออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่น่าเรียน บางทีอาจเป็นปัญหาเรื่องการควบคุมตัวเองหรือปัญหาเรื่อง EF ของลูก เป็นเรื่องของสมอง ฉะนั้นอย่าใช้ปากบอกลูกว่าทำไมถึงไม่ตั้งใจ ทำไมถึงเรียนได้แค่นี้ ให้กลับมาฝึกเรื่อง EF ของลูก ฝึกผ่านการทำงานบ้าน การควบคุมตนเองให้ทำงานสำเร็จ ถูบ้านให้เสร็จ ล้างจานให้เสร็จ เก็บที่นอนให้เป็น ผ่านการดูแลตนเองเรื่องพื้นฐาน อาบน้ำเอง แต่งตัวเอง บางบ้านยังมีพี่เลี้ยงทำให้อยู่เลย จะมาคาดหวังให้นั่งเรียนด้วยตนเองมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นต้องกลับมาฝึกเรื่อง EF ให้ได้เสียก่อน

มองหาการเรียนรู้รูปแบบอื่นบ้าง

เช่น การเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือ หาข้อมูลทางโลกออนไลน์ เดี๋ยวนี้มีคลาสออนไลน์เยอะแยะ ข้อดีคือ สนุกกว่าคลาสที่โรงเรียน ถ้าเรียนที่โรงเรียนแล้วน่าเบื่อมากๆ ไม่สนุก เรียนแล้วเสียสุขภาพจิต พ่อแม่บอกลูกได้ว่าการเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนถือเป็นการเรียนเสริม การเรียนหลักเราจะเรียนเรื่องพวกนี้กัน

เราจะทำงานผ่านสิ่งที่เรียกว่า Project-based learning เริ่มจากมี Project  ว่าจะทำอะไร เริ่มหาข้อมูล หาความรู้ ให้ลูกติดต่อบุคคล ให้ลูกดูซิว่าต้องใช้ความรู้พื้นฐานอะไรบ้าง ให้ลูกลองออกแบบวิธีการหาความรู้ ออกแบบวิธีการให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย ตัวอย่างของหมอเอง ลูกอยากเลี้ยงกระต่าย หมอก็มองเป็นการเรียนรู้ไปเลย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปซื้อกระต่ายให้ลูกเลี้ยง หมอให้ลูกหาข้อมูลว่ากระต่ายต้องเลี้ยงยังไง กระต่ายชอบอะไร คนเลี้ยงต้องมีลักษณะอะไรบ้าง เช่น มีความรับผิดชอบ แล้วเราจะฝึกความรับผิดชอบจากอะไร

เขาจะออกแบบอะไรที่เป็นความรับผิดชอบของตัวเอง เขาจะล้างกรงกระต่ายทุกวัน โดยเริ่มจากการฝึกล้างจานที่บ้านทุกวันก่อน ถ้าล้างจานทุกวันได้ก็แปลว่ารับผิดชอบตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้คือการฝึกการเรียนรู้และการลงมือทำ เขาจะมีสมุดเล่มหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องกระต่าย การเรียนรู้มิใช่เพียงการได้ความรู้ แต่เป็นการเรียนรู้วิธีหาความรู้ เรียนรู้การเอาความรู้มาสู่การปฏิบัติจริง เราควรมองรูปแบบการเรียนรู้เหล่านี้ให้ชัดขึ้น

การเรียนออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกเดียว ยังมีการเรียนรู้อื่นๆ มากมายที่เราทำได้ที่บ้าน การเรียนรู้จากการสังเกตภูมิทัศน์รอบตัว ออกไปดูซิว่าบ้านเรามีต้นไม้อะไรบ้างก็เป็นการเรียนรู้ พาลูกอ่านหนังสือก็เป็นการเรียนรู้  พาเขาเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่บ้าน การช่วยเหลือชุมชน เอาหนังสือของเราที่ไม่ใช้ไปให้เด็กๆ ในชุมชนใกล้บ้านเรา เหล่านี้ก็คือการเรียนรู้

คำแนะนำสำหรับคุณครูและโรงเรียน

ครูต้องสงบ มั่นคง สุขภาพจิตดี

คุณครูต้องกลับมาดูแลสุขภาพจิตตัวเองก่อน เพราะว่าสอนออนไลน์ก็เครียด เด็กบางคนไม่สนใจ การที่ครูต้องใช้พลังในการทำให้เด็กอยู่กับการเรียนรู้ตรงหน้าก็เป็นความเครียด หรือการสอนโดยที่มีพ่อแม่เด็กนั่งฟังเราสอนด้วยก็เครียดไปหมด ครูต้องกลับมาดูแลสุขภาพจิตตัวเองก่อน ให้สงบให้มั่นคง ถ้าไม่สงบ ไม่มั่นคง เวลาเจอเด็กเลื้อยไม่สนใจ ครูจะเกิดอารมณ์เชิงลบ ทำร้ายทั้งตัวเด็กและตัวเอง ถ้าครูไม่มั่นคง ไม่นิ่ง ก็จะทำให้เด็กไม่สนุกกับการเรียน สุขภาพจิตสำคัญ ดูแลตัวเองในเรื่องพื้นฐาน กิน นอน ออกกำลังกายให้ได้

ปรับการเรียนให้มีชีวิต

บางทีครูทุ่มเทออกแบบการสอนมาแต่เด็กไม่สนใจ การปรับความคาดหวังจึงเป็นเรื่องสำคัญ คำแนะนำสำหรับคุณครูคือ ควรสร้างห้องเรียนที่มีชีวิต มิใช่แค่ห้องเรียนที่มีแต่ความรู้ ห้องเรียนที่มีชีวิตคือห้องเรียนที่ครูกับเด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและสื่อสารกัน มิใช่ห้องเรียนที่เอาแต่ความรู้มาสอน เป็นห้องเรียนที่ทำให้เด็กมองเห็นเรื่องชีวิต ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีชีวิต มีหัวใจที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ โจทย์ต่างๆ มิใช่แค่ตำราวิชาการ แต่เป็นการเรียนรู้เรื่องชีวิต หรือการฟังเรื่องราวชีวิตของเด็ก ห้องเรียนแบบนี้เราออกแบบได้

เช่น ออกแบบโจทย์ให้เขาได้มีพื้นที่ระบายความเครียด วิชาสุขศึกษาวันนี้จะเรียนการจัดการความเครียด ให้เด็กๆ เล่าซิความเครียดหน้าตาเป็นยังไง แล้วชีวิตตอนนี้เป็นยังไง จัดการความเครียดยังไง หมอคิดว่าการออกแบบอย่างนี้สำคัญ ทำอย่างไรให้มีห้องเรียนที่มีชีวิตมากกว่าห้องเรียนที่มีความรู้ ห้องเรียนที่ทำให้เด็กได้สื่อสารกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน อย่าสอนเยอะ การสอนแบบสื่อสารทางเดียวได้ประโยชน์น้อยมากๆ เด็กฟังบ้างไม่ฟังบ้าง สมาธิไม่อยู่ ทำให้เขามีโจทย์แล้วให้เขาไปหาความรู้ เดี๋ยวนี้ความรู้หาง่าย แบ่งห้องให้เด็กไปจัดการคุยกัน เช่น ผ่านซูม ออกแบบการเรียนรู้ให้นั่งคุยกันเอง แล้วค่อยมาคุยในห้องใหญ่ วิธีแบบนี้ทำให้เด็กมีส่วนร่วมแล้วก็ไม่น่าเบื่อ

คำแนะนำสำหรับโรงเรียน

โรงเรียนควรใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียนและคุณครูมากขึ้น ฝากถึงโรงเรียนด้วย ครูหลายคนก็สอนจากที่บ้าน โรงเรียนก็ต้องออกค่าใช้จ่ายให้ครูบ้าง เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าแอร์ ค่าอินเทอร์เน็ต การสร้างปัจจัยพื้นฐานให้มีความพร้อมสำหรับครูก็เป็นหน้าที่ของโรงเรียน และอย่าไปเอาจริงเอาจังกับเรื่องการบ้าน คะแนนสอบ มันไม่ได้วัดอะไรในตอนนี้