Q-info เป็นหนึ่งในระบบสารสนเทศที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ด้วยการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญของนักเรียน ซึ่งจะนำไปใช้ต่อยอดพัฒนาการศึกษาได้ในหลายมิติ พร้อมระบบแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ ที่จะทำให้คุณครูเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเด็กได้อย่างทันท่วงที
ที่สำคัญเครื่องมือนี้ยังช่วยลดภาระการทำงานของคุณครูให้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการการกรอกข้อมูล เช็กชื่อนักเรียน กรอกเวลาการมาเรียนของนักเรียน ทั้งแบบรายวันและในแต่ละรายวิชา ไปจนถึงน้ำหนัก ส่วนสูง ผลการสอบ คะแนนกิจกรรม ฯลฯ ทั้งหมดเพื่อนำไปประเมินผลและนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงการเรียนของนักเรียนให้ดีขึ้น
ในฐานะผู้ที่ใช้ระบบ Q-info มาอย่างต่อเนื่อง คุณครูศิวพร ไกรนรา ครูโรงเรียนบ้านกู้กู จังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่าระบบ Q-info มีประโยชน์ในหลายด้าน เริ่มตั้งแต่การช่วยลดภาระการทำงาน จากเดิมที่ต้องคอยมากรอกข้อมูลแบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน บันทึกผลการเรียนเป็นรายวิชา หรือ ปพ.5 ที่จะต้องกรอกเรื่องหลักสูตร ตัวชี้วัด สอนกี่ชั่วโมง เก็บคะแนนกี่คะแนน แต่พอมีระบบ Q-info ก็ทำให้จบเทอมสามารถพิมพ์ออกมาใช้ได้เลย ไม่ต้องมานั่งจิ้มเครื่องคิดเลขคำนวณเอง
ติดตามน้ำหนัก ส่วนสูง
เสริมแนวทางพัฒนาด้านร่างกาย
Q-info ยังรวมไปถึงข้อมูลที่ช่วยวิเคราะห์ด้านโภชนาการของนักเรียน ทั้งเรื่องน้ำหนัก ส่วนสูง ซึ่งจะคำนวณได้ว่าเด็กคนไหนสมส่วน หรือน้ำหนัก ส่วนสูง สูงกว่าหรือต่ำกว่าเกณฑ์ เพื่อเป็นแนวทางช่วยพัฒนาทางด้านร่างกายให้กับเด็กๆ
อีกด้านหนึ่งยังช่วยติดตามนักเรียนขาด ลา มาสาย ซึ่งทางผู้อำนวยการมีนโยบายต้องรายงานข้อมูลนักเรียนก่อน 10 โมงเช้าของทุกวัน ทำให้รู้ว่านักเรียนขาดเรียนมากน้อยแค่ไหน และคนไหนลาหรือขาดโดยไม่รู้สาเหตุ อีกทั้งเมื่อนักเรียนไม่มาครบ 3 วันติดต่อกัน ระบบก็จะแจ้งเตือน ช่วยให้ติดตามเด็กกลับมาเรียนได้ทันท่วงที
“ถือเป็นอีกกลไกช่วยป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อรู้ว่าเด็กคนไหนขาดเรียนนาน ๆ เวลาเห็นข้อมูลก็จะได้ประสานไปยังผู้ปกครอง เพื่อจะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หรือจะได้วางแผนลงไปเยี่ยมบ้านเด็ก เพื่อหาว่าทำไมเด็ก ๆ ไม่มาเรียน หรือครูจะช่วยอะไรได้บ้าง เพื่อให้เด็กได้กลับมาเรียนตามเพื่อนทัน”
วิเคราะห์พัฒนานักเรียนตามเป้าหมาย
ลดภาระงานปลายเทอมคุณครู
ในด้านการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน Q-info จะเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้พิจารณานักเรียนเป็นรายบุคคลและในภาพรวมของทั้งโรงเรียน คือ ใช้ติดตามดูได้ว่านักเรียนคนไหนได้คะแนนวิชาไหนดี สอบผ่าน ไม่ผ่านวิชาอะไร เมื่อเห็นว่าเด็กคนไหนอ่อนวิชาไหน ก็สามารถเข้าไปช่วยสอนในวิชานั้น ๆ ได้
ในภาพรวมทางโรงเรียนยังสามารถตั้งเป้าหมายสำหรับการจัดการเรียนการสอนแต่ละกลุ่มสาระวิชาว่า เป้าหมายแต่ละวิชาตั้งเป้าไว้เท่าไหร่ เสร็จสิ้นปีการศึกษาก็มาดูได้ว่าถึงเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งจะช่วยวิเคราะห์ได้ว่าเป็นไปตามเป้าหมายเพราะอะไร หรือหากต่ำกว่าเป้าหมายเป็นเพราะอะไร ต้องปรับปรุงแก้ไขตรงส่วนไหน เมื่อมีข้อมูลตรงนี้คุณครูก็จะ PLC ช่วยกันวางแผนพัฒนาให้ดีขึ้นในเทอมถัดไป
“Q-info ช่วยลดภาระให้ครู จากข้อมูลที่เดิมครูจะต้องกรอกทั้งการมาเรียน น้ำหนัก ส่วนสูง คะแนนสอบแต่ละวิชา ตอนนี้ก็เพียงแต่เปลี่ยนมากรอกในระบบแทนกรอกในกระดาษ พอถึงตอนปลายเทอมก็นำข้อมูลนี้พริ้นต์ออกมาสรุปได้เลย สะดวกขึ้น ทำงานได้เร็วขึ้น แค่เริ่มต้นอาจจะต้องปรับตัว ต้องลองเปิดใจ” ครูศิวพรกล่าว
ช่วยให้ทำงานสะดวกและรวดเร็ว
ด้วยชุดข้อมูล สถิติที่แม่นยำ
คล้ายกับโรงเรียนบ้านเชิงทะเล (ตันติวิท) จังหวัดภูเก็ต ที่คุณครูเริ่มเปิดใจกับระบบ Q-info เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ แม้จะมีปัญหาบ้างในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อคุ้นเคยก็ช่วยให้การทำงานสะดวกและเป็นระบบ
ครูกมลรัตน์ ประทีป ณ ถลาง ครูโรงเรียนบ้านเชิงทะเล (ตันติวิท) เล่าให้ฟังว่า Q-info ช่วยให้กรอกข้อมูลนักเรียนในระบบได้เลย ช่วงปลายเทอมก็สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ทันที ไม่ต้องทำใหม่ ช่วยให้ประหยัดเวลา
จากเดิมที่เราใช้การเช็กชื่อลงกระดาษ แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นเช็กชื่อผ่านมือถือ ง่ายและสะดวก หรือน้ำหนัก ส่วนสูง ข้อมูลโภชนาการของเด็ก เวลาเด็กขาด ลา มาสาย หลายครั้งก็มีระบบแจ้งเตือนคนที่มีความเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา อย่างมีเคสหนึ่งเด็กหายไป 3-4 วัน ก็โทร.ไปตาม แต่ติดต่อไม่ได้ ก็ต้องลงไปหาเด็กที่บ้าน ช่วยดึงเด็กกลับเข้าระบบการศึกษา
ทั้งหมดทำให้การทำงานของคุณครูง่ายและสะดวกขึ้น ด้วยชุดข้อมูลที่มีตัวเลขสถิติ ช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และแม่นยำ