ปรับนิด สะกิดหน่อย เสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) แนะนำโดย ภานุวัฒน์ สัจจะวิริยะกุล นักพฤติกรรมศาสตร์ จาก Nudge Thailand

ช่วงนี้มีคำศัพท์ใหม่ที่หลายคนมักจะพูดกัน คือคำว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ Lifelong Learning และหลายคนพูดว่าทักษะนี้จะกลายเป็นทักษะที่สำคัญมาสำหรับเด็กยุคใหม่ รวมถึงวัยทำงานที่กำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน 

3 ขั้นตอนหลักที่จะทำให้เรามีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่

Learn: การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด
Unlearn: การละทิ้งสิ่งที่เคยรู้มาว่าเป็นจริง เพราะปัจจุบันด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่จริงแล้วก็ไม่เป็นไร
Relearn: การเรียนรู้สิ่งที่เราเคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น

ทำไมเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต?

เพราะว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น เพียงไม่กี่ปีจากที่เราเคยนั่งดูโทรทัศน์กัน ปัจจุบันหลาย ๆ บ้านไม่ได้ดูโทรทัศน์ แต่ดูรายการต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตกันแล้ว 

ถ้ามัวแต่ยึดติดกับความรู้เดิมที่เคยเรียนรู้มา เราอาจไม่สามารถสู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ อาชีพใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นเยอะ ในขณะที่บางอาชีพที่เคยมั่นคง ก็อาจถูกเทคโนโลยีแทนที่ก็เป็นได้ ดังนั้นเด็ก ๆ จะอยู่รอดในอนาคตที่หมุนเร็วได้ จำเป็นต้องมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อก้าวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปเร็ว

พฤติกรรมศาสตร์ กับ Lifelong Learning เกี่ยวกันอย่างไร?

หนึ่งในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์คือ การศึกษาเรื่องอคติทางความคิดของมนุษย์ (Cognitive Biases) ตัวอคตินี้เองมีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ในหลายด้าน รวมถึงเรื่องการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

แล้วอคติที่คอยขัดขวางไม่ให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีอะไรบ้าง

Status quo bias 

อคติยึดติดกับสิ่งเดิม คือ การที่คนเรามักจะยึดตัวเรากับสิ่งเดิมที่เคยทำ ทำให้เราเลือกที่จะทำเหมือนเดิมมากกว่ายอมเปลี่ยนแปลง ในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ก็เช่นเดียวกัน เรามักจะติดกับความรู้เดิม และรู้สึกว่ามันยังใช้ได้อยู่ และละเลยความรู้ใหม่ ๆ ไป


Loss aversion

คนเรามักจะกลัวการสูญเสียและรู้สึกเจ็บปวดกับการสูญเสีย มากกว่าดีใจจากการได้รับอะไรบางอย่างเสียอีก ในมุมมองเรื่องการเรียนรู้ การที่เราได้ลงทุนลงแรงไปแล้วต้องละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้มาทำให้เราเกิดความสูญเสีย ซึ่งคนเราไม่ชอบและพยายามจะหลีกเลี่ยงมัน


Present bias 

อคติที่ชอบความสุขตอนนี้คือ การที่คนเรามีแนวโน้มจะเลือกสิ่งที่ได้เดี๋ยวนี้ มากกว่าการอดทนรอคอย เช่น เรามักจะไม่ยอมเสียสละความสุขในวันนี้เพื่อความสุขในวันข้างหน้า แม้ว่าการรอคอยจะให้ผลตอบแทนมากกว่า 

การเรียนรู้ต้องใช้ความอดทนและเวลา ทำให้หลายคนเลือกที่จะเอาความสุขตอนนี้ คือเลือกใช้ชีวิตสบาย ๆ คิดว่าจะไปเรียนรู้ใหม่ทำไมให้ลำบาก

เมื่อเราเข้าใจว่าอคติเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เราจะเริ่มรู้เท่าทันการคิด การตัดสินใจของเรา และจะสามารถปรับปรุงพฤติกรรมการเรียนรู้ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือ การฝึกเด็ก ๆ ให้ “เรียนรู้ด้วยตัวเอง” มากกว่ารอให้คนมาป้อนความรู้มาให้

4C เทคนิคสะกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

1. Converting 
แปลงคำพูดจาก “สูญเสีย” เป็น “ได้รับ”

การจะปรับให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมจากสิ่งเดิมให้มาทำสิ่งใหม่  โดยเน้นย้ำว่าต้องเลิกสิ่งเดิมได้แล้ว อาจทำให้คนเรารู้สึกสูญเสียได้ เราอาจต้องเน้นย้ำว่าสิ่งที่จะได้จากการเปลี่ยนพฤติกรรมคืออะไร เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกสูญเสีย 

คำพูดของผู้ใหญ่มีผลอย่างมากในการปรับความคิดของเด็ก ๆ เช่น การแปลงคำว่า “ล้มเหลว” เป็นคำว่า “เรียนรู้” หรือการแปลงคำว่า “อุปสรรค” เป็น “ความท้าทาย”

2. Chunking 
แบ่งการเรียนรู้เป็นส่วน ๆ ให้เกิดความสำเร็จเล็ก ๆ

อย่างที่ได้บอกไปว่า คนเราจะตกหลุมกับความสุขตอนนี้ เพราะบางทีผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาวนั้นอยู่ไกลและจับต้องยาก เราจึงควรแบ่งย่อยการกระทำออกมาว่าต้องเรียนอะไรบ้าง เช่น ถ้าต้องการจะมีทักษะด้านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์  อาจต้องแบ่งว่าเราจะศึกษายังไง จะเรียนคอร์สออนไลน์วันละกี่นาที 

เวลาตั้งเป้าไม่ต้องตั้งเยอะ เน้นเล็ก ๆ แต่บ่อย ๆ การตั้งเป้าหมายสั้น ๆ แบบนี้จะทำให้เราได้รับความสุขตอนนี้เลยเมื่อทำได้ตามเป้า เช่น อาจจะตั้งเป้าไว้แค่ว่าเรียนวันละ 10 นาทีก็พอ แต่ทำบ่อย ๆ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ ตอนเริ่มต้นจะมีแรงเฉื่อยให้เราทำพฤติกรรมยาก แต่พอเริ่มทำจริง ๆ เราจะรู้สึกว่าก็โอเคนะแล้วทำต่อไปอีกนิด จนสุดท้ายอาจจะเรียนได้เกินกว่า 10 นาทีก็ได้ 

3. Checklist 
ทำสิ่งใหม่ที่เราชอบทุกสัปดาห์ 

การฝึกเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ควรยึดติดว่าต้องเป็นสิ่งที่เรียนในห้องเรียน แต่อาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับเราและเราชอบ เช่น ฝึกทำอาหาร ฝึกวาดรูปวิว ฝึกวิ่งทางไกล ฝึกถ่ายรูป เป็นต้น 

เพื่อฝึกความกล้าลองสิ่งใหม่และฝึกทักษะการเรียนรู้ อาจจะลองให้เด็กมี checklist ตอนต้นเดือนว่าอยากลองอะไรใหม่ ๆ แล้วให้เขาฝึกลองทำสัปดาห์ละหนึ่งอย่าง ก็จะช่วยให้เขามีทักษะในการเริ่มลองอะไรใหม่ ๆ ได้แล้ว 

4. Combining 
รวมใหม่เข้ากับเก่า หรือถ้าทำอันนี้แล้วจะทำอันนั้นต่อ

หลายครั้งการเริ่มทำสิ่งใหม่นั้นจะยาก การเริ่มด้วยการผสมกับสิ่งเดิมอาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมง่ายกว่า เช่น ถ้าจะเริ่มเรียนถ่ายรูป อาจจะเริ่มจากการถ่ายรูปจากมือถือ เพราะถ้าเริ่มด้วยการต้องไปซื้อกล้อง ซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ แบบใหม่ทั้งหมด ก็อาจยากเกินจนเราไม่อยากทำ การเพิ่มสิ่งใหม่เข้าไปในของเก่าเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงจะปรับพฤติกรรมได้ดีกว่า

อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้คือ ใช้เทคนิค ถ้า…….. แล้ว………. คือ ถ้าเราทำอันนี้แล้วเราจะทำสิ่งนี้ เช่น ถ้าเราอยากเรียนภาษาใหม่ ๆ เราอาจจะทำให้มันสอดคล้องไปกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต เช่น ถ้าเราแปรงฟันเสร็จแล้วจะท่องศัพท์ภาษาใหม่ 5 คำ  พอทำเป็นกิจวัตรมันก็จะไม่ยากมากไปและสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน

อยากให้ผู้ใหญ่ลองเอาเทคนิค 4C นี้ ไปปรับใช้  เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ให้เด็ก ๆให้เขา รู้สึกว่าการเรียนรู้สิ่งใหม่นั้นทำได้ไม่ยากและควรจะทำไปตลอดชีวิต 

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเรียนรู้นะครับ