ผลลัพธ์ที่ได้คือพัฒนาการของผู้เรียนในเชิงคุณภาพ

ขวดพลาสติกบรรจุ “น้ำสี” ไล่เรียงปริมาณตั้งแต่ติดก้นขวดเล็กน้อย ไปจนถึงเต็มขวด จำนวน  10 ใบ ถูกนำมาจัดวางอยู่หน้าชั้นเรียน​ เพื่อเป็นอุปกรณ์การประเมินผลให้คะแนนนักเรียน ของโรงเรียนวัดกู่คำ(เมธาวิสัยคณาทร) อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว​เป็นของตัวเอง ​

ที่สำคัญ “นักเรียน” จะเป็นคนให้คะแนนตัวเอง​ไม่ใช่คุณครูเหมือนที่อื่น  ​

โดยในช่วงสุดท้ายหลังเสร็จกิจกรรมในชั้นเรียนนวัตกรรม เด็กแต่ละคนจะไปยืนอยู่หน้า “ขวด” ที่คิดว่าสะท้อนคะแนนตัวเองที่จะได้รับ เช่น เด็กที่คิดว่าตัวเองควรจะได้คะแนนเต็ม 10 ก็จะไปยืนอยู่หน้าขวดที่บรรจุน้ำสีเต็มขวด  ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองควรจะได้ 5 คะแนนก็จะไปยืนอยู่หน้าขวดที่บรรจุน้ำสีครึ่งขวด

จากนั้นคุณครูจะเปิดให้เด็กๆ ได้สะท้อน เหตุผลของพวกเขาว่าทำไมตัวเขาเองถึงควรได้คะแนนเท่านั้น เท่านี้​ก่อนจะเปิดให้มีการประเมินกลุ่มให้เพื่อนๆ ช่วยให้ความเห็น และปิดท้ายด้วยคุณครูที่จะช่วยสรุปผลคะแนนและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์

ทั้งหมดนี้ถือเป็นการประยุกต์ใช้เทคนิคการประเมินตัวเอง​ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนของ OECD ซึ่ง​ปัจจุบัน มี 75 โรงเรียนในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กำลังใช้รูปแบบการเรียนการสอนลักษณะนี้

การประเมินตัวเองมีคุณค่ากว่าคะแนน​ที่เป็นนามธรรม

รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ หนึ่งในเครือข่ายร่วมพัฒนาโรงเรียน TSQP ​และผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายให้ฟังว่า ตามปรัชญาการศึกษาที่ถูกต้องควรจะมีการประเมินตัวเอง แต่ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทย​ไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้ เพราะเห็นว่าเป็นนามธรรม จนถูกมองข้ามไป ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์และมีคุณค่ากว่าการประเมินที่เป็นคะแนนตัวเลขที่เป็นนามธรรม

“ธรรมชาติของมนุษย์ มักจะเอาง่ายเข้าว่ามองเห็นอะไรที่ชัดเจน ไม่ต้องตีความ ​แต่การที่เราจะพัฒนามนุษย์สักคนหนึ่ง​ซึ่งมนุษย์มีชีวิตจิตใจไม่สามารถใช้การประเมินแบบเป็นตัวเลขที่เป็นเกณฑ์เดียวมาตัดสิน เหมือนที่คนชอบล้อเลียนกันว่าจะวัดทักษะของปลาโดยให้ปลาปีนต้นไม้เหมือนลิง ซึ่งสะท้อนระบบการวัดผล”​

สำหรับการประเมินตัวเองมี 3 คุณลักษณะคือ

  1. Formative Assessment การประเมินผลเพื่อให้เกิดการพัฒนา  เพราะการประเมินตัวเองของผู้เรียนจะทำให้ได้มาทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่ได้ทำไปนั้น ดีตรงไหน ไม่ดีตรงไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การที่เราจะรู้ว่าต้องแก้ไขปรับปรุงตรงไหน หรือทำให้เราได้รู้ว่าตัวเองถนัดตรงไหน  และนำไปสู่การพัฒนาตรงจุดนั้น  ทั้งหมดเป็นการนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง
  2. Authentic Assessment ​ การประเมินตามสภาพจริง ไม่ได้ดูแค่สิ่งที่เคลือบแฝงหรือเกิดขึ้นเฉพาะกาลในเวลานั้น เช่น ในการทำข้อสอบมีการติวหนึ่งคืนก่อนก็ทำได้ แต่คำถามคือ ครบตามวัตถุประสงค์ พฤติกรรมที่เราคาดหวังให้เด็กได้ไหม โดยเฉพาะทักษะเชิง จิตพิสัย พุทธพิสัย ​เจตคติ ซึ่งทำไม่ได้ ​ทั้งที่เราคาดหวังว่าการทำกิจกรรมของเขา​จะต้องมีสิ่งที่พึงได้ระหว่างทาง แต่เราไม่รู้จะวัดผลอย่างไร แต่การประเมินตัวเองจึงช่วยได้​เพราะเขาจะสะท้อนให้เราฟังในมุมที่เราอาจไม่ทันได้เห็นเขา เป็นการสะท้อนตัวเองซึ่งครูที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าเขาพูดจริง ​ไม่จริง และมีเพื่อนๆ เป็นพยาน 
  3. Curriculum Embedded Assessment คือ การประเมินเป็นกิจกรรมหนึ่งของการพัฒนาและการเติบโตของนักเรียน ยกตัวอย่างเช่นเขาจะต้องพูดถึงสิ่งที่เขาได้รับทั้งในแง่องค์ความรู้ สาระวิชาการ และพฤติกรรมที่เขากระทำระหว่างเรียน การทบทวนสิ่งเหล่านี้คือการตกผลึกความรู้ บางครั้งถ้าเราไม่ได้มาตกผลึก หรือพูดคุยกันสิ่งที่ควรจะได้ก็จะหายไป แต่ถ้ามีการตกผลึกด้วยบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ พูดคุยแลกเปลี่ยน หักล้างก็จะทำให้เขาเข้าใจเนื้อหาที่ลึกลงไปเรื่อยๆ  ​

การประเมินตัวเองพระเอกของ ​Active Learning

ดังนั้น ทั้งสามประการจะทำให้มองได้ว่าการประเมินตัวเอง หรือ Self-Assessment จะเป็นพระเอกของการเรียนรู้แบบ Active Learning  ซึ่งมีออกมาในรูปวาทกรรมใหม่ เช่น Reflection, After Action Review (AAR), Crystalize, ชวนแชร์ ​ ซึ่งทั้งหมดก็คือการประเมินตัวเอง

รศ.ดร.ธันยวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทำงานด้านการศึกษาของ OECD ​ที่ทำมากว่า 20 ปี  ซึ่งเน้นเรื่องที่ทำน้อยแต่ได้ผลมาก ในปีแรกเขาเน้นไปที่เรื่องของการประเมินตัวเอง​เพราะเชื่อว่าจะส่งผลไปถึงทุกเรื่อง  คล้ายเป็นการลองผิดลองถูกในช่วง 2 ปีแรก ที่จะเห็นว่าการเรียนรู้แบบดั้งเดิม  การเรียนรู้โดยใช้วิธีการบบรรยาย หรือ แบบพาสซีพ​​ เด็กจะไม่ได้แสดงพฤติกรรมที่แท้จริงออกมา อย่าว่าแต่ครูจะมองเห็นแล้วประเมินได้ แม้แต่เด็กเองเขาก็ไม่รู้ว่าตัวเขาเองเป็นแบบไหน ต่อมา OECD จึง ทำเรื่องการเรียนรู้ที่เป็นแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง

ทั้งนี้ ​หากยังจัดการเรียนแบบ​ lecture base, passive learning, traditional  ซี่งเป็น fixed mindset ไม่ใช่ Growth mindset ไม่มีทางที่จะเห็นพฤติกรรมของผู้เรียนที่แท้จริง ทำให้เราไม่สามารถจะประเมินแบบ Formative  Assessment, Authentic Assessment, Curriculum Embedded Assessment​ได้​

ผลลัพธ์ที่ได้คือพัฒนาการของผู้เรียนในเชิงคุณภาพ

สำหรับรูปแบบ “ขวดน้ำ” ที่โรงเรียนวัดกู่คำ(เมธาวิสัยคณาทร) ใช้เป็นรูปแบบหนี่งของการประเมินตัวเองของผู้เรียน ​​เป็นหนึ่งรูปแบบที่แต่ละโรงเรียนจะไปคิดต่อเองจากแนวคิดเรื่องการประเมินตัวเองของ  OECD ว่าจะทำให้มีรูปแบบ​กิจกรรมอย่างไรให้เกิดสีสัน ความสบายใจ เกิดการเปิดใจ ซึ่งมีวิธีมากมาย ​

บางการประเมินจะเป็นแบบ Linear ​เช่นมีคำถามว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไม่แน่ใจ ให้เด็กเลือกแบ่งพื้นที่หน้าห้อง กลางห้อง หลังห้อง หากเด็กรู้สึกอย่างไรก็ให้เดินไปอยู่จุดนั้นข้อดีคือไม่ต้องคิดมาก เด็กมีปฏิกริยาอย่างไรก็ทราบผลได้ทันที หรือแบบ Spidergram ให้ผู้เรียนประเมินตัวเองในแต่ละแกนหัวข้อการประเมินว่าตัวเองอยู่ระดับไหน จากนั้นจะให้รวมกลุ่มและนำกราฟใยแมงมุมที่ได้มาแปะรวมกันเพื่อให้เพื่อนในกลุ่มช่วยสะท้อนการประเมินตัวเองของเพื่อนที่จะได้เปรียบเทียบมุมมองของแต่ละคน ซึ่ง 75 โรงเรียนอาจจะมี 75 วิธีในการประเมินก็ได้  แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องของแก่นที่เป็นเรื่องของกระบวนการที่ครูจะต้องสืบค้น​ให้เด็กได้พูด ได้คิด ได้วิเคราะห์ ออกมา​

รศ.ดร.ธันยวิช  กล่าวว่า  รูปแบบการประเมินตัวเองไม่มีอะไรตายตัวอยู่ที่การออกแบบ แต่องค์ประกอบคือจะต้องมีการประเมินตัวเอง ให้เพื่อนได้ร่วมประเมิน และครูจะเป็นคนประเมินให้ความเห็นข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ ​​ซึ่งสิ่งที่ประเมินออกมาได้ไม่ใช่แค่คะแนนที่เป็นตัวเลข แต่เป็นพัฒนาการของผู้เรียนในเชิงคุณภาพ

ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นคะแนนตัวเลขแต่ก็ไม่ใช่คะแนนที่จะไปตัดสินความดี ความชั่ว ความเก่ง ความอ่อนของผู้เรียน  แต่เป็นไปเพื่อดูพัฒนาการของแต่ละทักษะว่ามีขึ้นมีลงอย่างไร ​ในอนาคตจะมีหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะคือไม่ได้สอบวัดผลแต่จะเป็นการวัดว่าทำได้ไม่ได้ เหมือนสอบเลื่อนขั้นของเทควันโดจากสายเหลืองไปจนถึงสายดำ ที่จะต้องแสดงความสามารถที่แท้จริงออกมา การประมินแบบนี้จะเข้ามามีบทบาท​ในการเรียนรู้ แบบฐานสมรรถนะมากขึ้น

รศ.ดร.ธันยวิช กล่าว