ว่ากันว่า การศึกษาคือบันไดในการนำพาชีวิตไปสู่จุดที่ดีขึ้น
วาทะดังกล่าวคือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นความจริงที่หลายคนยังเอื้อมไม่ถึง – ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงเป็น ‘เรื่องจริง’ ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย การศึกษาไม่ใช่บันไดที่ทุกคนมีจนนำมาสู่วงจรแห่งความเหลื่อมล้ำไม่จบไม่สิ้น
หากจะตัดวงจรความเหลื่อมล้ำเพื่อนำไปสู่ความเสมอภาคอย่างแท้จริง การใช้ฐานความรู้เหนี่ยวนำไปสู่การสร้างโอกาสให้ตรงเป้า เหมาะสมต่อผู้ที่ต้องการและทำให้ผู้ที่ได้รับโอกาสนั้นใช้โอกาสได้จริงคือหนึ่งในหนทาง – แม้ว่าจะไม่ง่ายนักท่ามกลางความผันผวนจากวิกฤตโรคระบาดและเศรษฐกิจซบเซา
แน่นอนว่าเส้นทางไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาต้องอาศัยแรงจากหลากหลายภาคส่วนของสังคมในการต่อเติมจึงจะกลายเป็น ‘ความจริง’ สำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งต้องอาศัยการส่งต่อเจตจำนงไปสู่อนาคตเพื่อให้เส้นทางไม่หักเหไปทางอื่น
ในวันที่เราเริ่มเห็นความเสมอภาคทางการศึกษาค่อยๆ ก่อร่าง 101 ชวนสำรวจ 3 ปีเส้นทางแห่งการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย รวมทั้งอนาคตของเส้นทาง ผ่านสายตาของ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ กนิษฐา คุณาวิศรุต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ. หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องหมดไป
บนถนนสายความเหลื่อมล้ำ
ท่ามกลางโจทย์อันหลากหลายที่รอการแก้เพื่อพาประเทศไทยก้าวต่อไปสู่การพัฒนา การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานับว่าเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ฝังรากลึกและท้าทายการพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศมานานกว่า 50-60 ปี หรืออาจยาวนานยิ่งกว่านั้น
แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ สิ่งที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เชื่อว่าเป็นปมเงื่อนที่ทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาห่างไกลออกไปจากความเป็นจริงคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในไทย ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% ของประเทศและกลุ่มคนที่จนที่สุด 10% ของประเทศอยู่ห่างกัน 20 เท่าต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 20 ปี
กล่าวให้ชัดคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในไทยไม่เคยลดลงมานานกว่า 20 ปีแล้ว
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเล่าว่า สำหรับ กสศ. แล้ว การช่วยให้ประชาชนมีโอกาสในการศึกษาที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนรุ่นใหม่ให้สามารถเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจสังคมจากยากจนไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้นั้นคือ ‘ความฝัน’ และ ‘แนวทางไปสู่ความฝัน’ ของ กสศ.
“เราหวังว่าการศึกษาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในอนาคตได้ ถ้าเราทำให้คนรุ่นใหม่ที่เดิมมาจากครอบครัวยากลำบากมีขีดความสามารถสูงขึ้น เขาก็จะมีอาชีพที่ดี มีรายได้ที่ดีขึ้น และเปลี่ยนสถานะครอบครัวในรุ่นต่อไป”
เมื่อย้อนกลับมามองความเป็นจริง การศึกษาไทยยังคงเหลื่อมล้ำสูงมาก แม้ว่าไทยจะปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 2540 เพื่อให้ประชากรจากทุกกลุ่มรายได้ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มยากจนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับมัธยมปลายในระดับที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่แน่นอนว่านักเรียนที่มีฐานะยากจนที่สุดในประเทศยังคงเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ทุกเมื่อจากความยากจนที่คอยบีบคั้น มีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในขณะที่เด็กนักเรียนจากครอบครัวชนชั้นกลางกว่า 90% สามารถเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ ยังไม่นับว่ามีเด็กนักเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับกว่า 600,000 คนที่ ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ขาดลงจนครอบครัวต้องพาลูกออกจากโรงเรียน (dropout) หลุดออกจากระบบการศึกษาแลกกับการต่อลมหายใจทางเศรษฐกิจ
ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าถึงการศึกษาไม่ได้เป็นหลักประกันว่าการศึกษาที่นักเรียนจะได้รับนั้นมีคุณภาพดีเสมอกันทั่วประเทศ จากงานวิจัยของธนาคารโลกชี้ให้เห็นชัดว่า โรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบทมีคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพครูและทรัพยากรสำหรับการพัฒนาโรงเรียนต่างกันมาก โดยนักเรียนในโรงเรียนเขตชนบทจะมีระดับความรู้ล่าช้าตามหลังนักเรียนในโรงเรียนเขตเมืองกว่าถึง 1.5-2 ปีการศึกษา หมายความว่านักเรียนชั้น ม.3 จากโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทจะมีความรู้เทียบเท่านักเรียนชั้น ม.1 จากโรงเรียนในเมืองที่มีทรัพยากรพร้อม นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพทางการศึกษายังส่งผลต่อโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถที่เหลื่อมล้ำอีกต่อหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ คือปัญหาที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ตีโจทย์ในการปฏิรูปการศึกษา คุณภาพของการศึกษาที่ต่ำ ระบบการศึกษาที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การใช้ทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สูงคือสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข
ตั้งต้น-ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำการเรียนรู้
เพื่อให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้รับการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในปี 2561 กสศ. จึงกลายเป็นกลไกใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่รับโจทย์เป็นผู้นำร่องหานวัตกรรมและหนทางใหม่ๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นระบบและรอบด้าน การสร้างโอกาสและสร้างศักยภาพให้เด็กที่ต้องการโอกาสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้มากกว่าที่จะให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้าที่ไม่ตรงเป้า
“วิธีเดินเรื่องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. เราทำงานโดยใช้วิทยาศาสตร์ ใช้การศึกษาวิจัย ใช้การหาความรู้ แล้วทดสอบบนโลกแห่งความเป็นจริงให้มั่นใจว่าการปฏิบัติบนฐานของความรู้ที่ได้มาตอบโจทย์ที่ตั้งไว้” นพ.สุภกรเล่าถึงหัวใจสำคัญในการและจุดคานงัดที่ กสศ. เชื่อว่าจะนำไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาได้จริง
โจทย์หนึ่งที่เร่งด่วนที่สุดคือต้องช่วยไม่ให้ ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ของเด็กนักเรียนยากจนขาดลง กลุ่มนักเรียนที่ยากจนที่สุด 10% ของประเทศคือสนามที่ กสศ. ตั้งต้นลงไปหาตัวนักเรียนที่ประสบสภาวะยากลำบากจริงให้เจอ มองปัญหาของนักเรียนเหล่านี้ให้ทะลุ และทดลองหาวิธีช่วยที่ตรงจุด
หนทางที่จะรักษาการเรียนรู้ของนักเรียนเหล่านี้ไม่ให้ร่วงหล่นคือ นำวิธีทางเศรษฐศาสตร์อย่างการวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Mean Test) เพื่อหานักเรียนยากจนตัวจริงในระบบการศึกษา จ่ายเงินอุดหนุน ‘ทุนเสมอภาค’ เพื่อไม่ให้ครอบครัวต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการส่งลูกหลานไปโรงเรียน โดยมีเงื่อนไขว่าเด็กนักเรียนต้องมาโรงเรียนตามสัญญามากกว่า 80% จากนั้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลติดตามไม่ให้นักเรียนเหล่านี้หลุดออกจากระบบการศึกษาในระยะยาว รวมถึงเพื่อให้ความช่วยเหลือในอนาคต
ส่วนนักเรียนที่ฟางเส้นสุดท้ายขาดจนหล่นหายไปจากระบบการศึกษาแล้วหรืออยู่นอกระบบตั้งแต่แรก ก็วางวิธีแก้โจทย์โดยการลงไปทำงาน สร้างความร่วมมือในระดับพื้นที่นำนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือพัฒนาทักษะประกอบอาชีพ โดยการลงไปทำงานกับพื้นที่จะยิ่งตอบโจทย์เฉพาะของพื้นที่และตัวเด็กมากยิ่งขึ้น
อีกโจทย์หนึ่งที่ กสศ. ตีออกมาว่าต้องฝ่าเพื่อให้ก้าวไปถึงความเสมอภาคคือ ต้องสร้างบันไดให้นักเรียนยากจนเรียนดีที่ขาดโอกาสเรียนต่อหลังจบชั้น ม.6 ได้มีโอกาสต่อเติมศักยภาพของตนเองในการพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งนอกจากจะมีโอกาสพัฒนาทักษะและนำทักษะที่ได้ไปใช้ประกอบอาชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตแล้ว นักเรียนเหล่านี้ยังกลายเป็นฟันเฟืองชิ้นใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต
มองไปไกลกว่าการสร้างโอกาส นพ.สุภกร อธิบายว่าโจทย์ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. ไม่ได้อยู่ที่เพียงแค่การขจัดอุปสรรคอันเกิดจากความยากจนเท่านั้น แต่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพโรงเรียน และคุณภาพครูเช่นกันที่ กสศ. ต้องหามาตรการและร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อยกระดับ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่โรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนครู “ทางแก้หนึ่งคือการทำให้เด็กในพื้นที่มีโอกาสในการศึกษาต่อ ให้เขาได้เรียนครูแล้วกลับไปดูแลรุ่นน้องๆ ที่บ้านเกิด หนทางนี้อาจเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว นกตัวแรกคือเด็กคนที่อยากเป็นครูได้เรียนครู นกตัวที่สองอาจจะไม่ใช่แค่ตัวที่สองแต่เป็นนกทั้งฝูง เมื่อเด็กชนบทเรียนครูจบแล้วก็กลับไปดูแลนักเรียนรุ่นน้องได้อีกหลายคนหลายรุ่น”
จากจุดตั้งต้นในปี 2561 ทั้งหมดนี้ค่อยๆ กรุยทางให้การศึกษาไทยเดินหน้าไปสู่ความเสมอภาค
3 ปีระหว่างเส้นทางสู่ความเสมอภาค
“ถ้าทำสำเร็จในอนาคตข้างหน้า เราจะเห็นการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมของคนยากจนจำนวนหนึ่ง เป็นความฝันที่ผมคิดว่าน่าจะทำให้เป็นจริงได้ แต่คงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลา 1-2 ปี” นพ.สุภกรเล่าว่า กสศ. เชื่อมั่นว่าฝันสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นจริงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มองเห็นความเป็นจริงเช่นกันว่า งานพัฒนาการศึกษาและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ความฝันที่จะสำเร็จได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
เมื่อย้อนมอง 3 ปีที่ผ่านมาของ กสศ. นพ.สุภกรกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าการลงแรงที่ผ่านมานั้นทำได้ดีหรือประสบความสำเร็จในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแล้ว เพราะโจทย์ที่ กสศ. ได้รับให้เป็นผู้เริ่มหาวิธีทดลองแก้นั้นล้วนแต่เป็นโจทย์ใหญ่ ต้องอาศัยกำลังและความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ไม่ใช่แค่เพียงน้ำพักน้ำแรงของ กสศ. หน่วยงานเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหมดไป “ผมขอใช้คำว่าพยายามได้ดี ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เราทุ่มเทพอสมควร ผ่านอุปสรรคมาได้และเห็นว่าไปในทิศทางที่ดี” นพ.สุภกรกล่าว
กระนั้น ก้าวแรกที่ นพ.สุภกรมองว่า กสศ. ตั้งต้นได้ดีพอสมควรคือการที่สามารถผลักดันให้ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งฝังรากลึกมานานกลายเป็นประเด็นที่สังคมทั่วไปตระหนักรู้
“ก่อนหน้านี้ 3-4 ปี ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในแวดวงปฏิรูปการศึกษา ส่วนมากมักจะพูดเรื่องปัญหาคุณภาพการศึกษา การเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำมากกว่าความเข้าใจ การสอบแข่งขัน หรือการเรียนพิเศษ ซึ่งเป็นปัญหาของการศึกษาไทยจริง แต่เป็นปัญหาของชนชั้นกลาง ปัญหาที่ชนชั้นล่างเผชิญอยู่ตรงที่นักเรียนยากจนไม่ได้ไปเรียน ต้องขาดเรียนเยอะ ไม่มีทางเลือกว่าจะเรียนโรงเรียนไหน หรือมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ตอนนี้สังคมเริ่มรับรู้ เข้าใจ ตระหนัก ตื่นตัว และมีส่วนร่วมต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น”
มีตัวอย่างการทำงานที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้เครื่องมือที่กว้างกว่าขอบเขตทางการศึกษา ซึ่งเริ่มจากการทำวิจัยในขนาดพื้นที่ทดลอง เพื่อให้มีความมั่นใจในมาตรการแล้วค่อยจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวม เช่น ‘กองทุนการศึกษาโลก’ หรือ Global Partnership for Education (GPE) หน่วยงานที่สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาทั้งหมด 76 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสได้เข้าสู่การศึกษา เช่นเดียวกับการทำงานของ ศูนย์วิจัย Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab (J-PAL) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) การทำงานจะเป็นการออกแบบการวิจัย การลงพื้นที่ เก็บข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้เกิดข้อค้นพบในการแก้ปัญหาที่นอกเหนือจากมิติแวดวงทางการศึกษา เช่น การจัดโปรแกรมถ่ายพยาธิให้กับนักเรียนในประเทศเคนยา ซึ่งตั้งต้นจากข้อค้นพบที่ว่า เด็กนักเรียนจำนวนมากต้องขาดเรียนเพราะอาการปวดท้องจากพยาธิ หรือต้องดูแลพี่น้องที่ป่วย จึงทำให้เกิดโครงการนี้ซึ่งส่งผลในทางบวกต่อสุขภาพ และยังลดอัตราการขาดเรียนมากกว่า 1 ใน 4
ในแง่ของการลงไปทดลองในโลกแห่งความเป็นจริง ความพยายามในการทดลองแก้โจทย์เด็กนักเรียนยากจนพิเศษทั่วประเทศที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือตกอยู่ในสภาวะ ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ คือโจทย์ใหญ่ที่ นพ.สุภกรมองว่าเดินหน้าไปได้ ซึ่งเครื่องมือที่นำลงไปใช้หวังผล ‘ป้องกัน’ และบรรเทาทุกข์ไม่ให้นักเรียนยากจนพิเศษกว่า 900,000 คนต่อปี (คัดกรองได้เพิ่มจากเดิมปีละประมาณ 700,000 คนต่อปีก่อนการระบาดของโควิด-19) จำต้องออกจากโรงเรียนคือเงินอุดหนุนปีการศึกษาละ 3,000 บาทต่อคน
ในขณะที่การทดลองหนึ่งหวังผลไปยังการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง อีกการทดลองหนึ่งที่ กสศ. และภาคีมองว่าน่าจะเดินหน้าไปได้ดีในระยะยาวแต่หวังผลในรูปแบบที่ต่างออกไปคือ การให้ทุนการศึกษาสายอาชีพแก่นักเรียนยากจนขาดโอกาสที่มีความสามารถสูงหรือ ‘ช้างเผือก’ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้มีทักษะประกอบอาชีพในอนาคต ควบคู่ไปกับการเข้าไปช่วยจัดระบบการเรียนการสอนของสถาบันให้มีคุณภาพสูง ปีละประมาณ 2,000 ทุน ทั้งหมดนี้เปลี่ยนวิธีคิดการให้ทุนการศึกษาในไทยที่เคยอยู่บนฐานของ ‘ความเก่ง’ ไปอยู่บนฐานของ ‘ความต้องการ’ ของผู้รับทุน
แม้จำนวนทุนดังกล่าวจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ให้นักเรียนยากจนมีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้เพิ่มจากเดิม 5% เป็น 6% เท่านั้นด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ แต่ที่ กสศ. หวังผลไปไกลกว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของนักเรียนคือ ‘การทดลองเพื่อนำร่องการปฏิรูปเชิงระบบ’
“เราต้องทำให้สังคมเห็นผลว่า หากนักเรียนยากจนเหล่านี้ได้โอกาสที่ดีแล้ว เขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต”
อย่างไรก็ตาม นพ.สุภกรเสริมว่าอาจต้องใช้เวลากว่า 5-10 ปีเพื่อที่จะยืนยันได้ว่านักเรียนเหล่านี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่และยืนยันได้ว่าการจัดระบบการศึกษามีมาตรฐานดีพอที่จะการันตีว่าผู้ที่ผ่านการเรียนนั้นจะมีขีดความสามารถจริง ฉะนั้นสิ่งที่สามารถบ่งชี้ถึงความสำเร็จได้ในระยะสั้นคือผลการเรียนของนักเรียน
แต่นี่ไม่ใช่การทดลองทั้งหมด ยังมีอีกหลายการทดลองที่ยังต้องรอผลปรากฏ และแน่นอนว่านี่ยังไม่ใช่ปลายทางของความเสมอภาคทางการศึกษา
ขวากหนาม ความท้าทาย และก้าวต่อไปบนถนนสายเสมอภาค
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าการศึกษาไทยค่อยๆ เดินห่างออกมาจากความเหลื่อมล้ำและเดินหน้าไปสู่ความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2563 ของ กสศ. ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มที่นักเรียนยากจนและนักเรียนด้อยโอกาสได้เข้าเรียน เจริญเติบโตและมีพัฒนาการทางร่ายกายนั้นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งโควิด-19 ระบาดจนรั้วโรงเรียนต้องปิดลง
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่โรคเข้ามาเปลี่ยนโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าความป่วยไข้ทางเศรษฐกิจย่อมลามมาสู่วิกฤตการเรียนรู้ ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ฝังรากลึกอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนจากครอบครัวฐานะยากจนที่ต้องเผชิญความเปราะบางทางเศรษฐกิจอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
นพ.สุภกรอธิบายว่าในภาพรวม โจทย์ที่โลกการศึกษาต้องเผชิญท่ามกลางโรคระบาดคือ 3 แกนปัญหาที่แยกออกจากกันไม่ขาด
แกนแรกคือเศรษฐกิจ หลายครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวของนักเรียนยากจนมีรายได้ลดลง อย่างในไทยอาจกล่าวได้ว่ามีครอบครัวยากจนเพิ่มมากขึ้นกว่า 700,000 ครัวเรือนในช่วงกลางปี 2563
แกนที่สองคือการศึกษา เมื่อโรงเรียนปิดการเรียนการสอน ปรากฏการณ์ที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือภาวะการเรียนรู้ถดถอย (COVID Slide) โดยเฉพาะสำหรับเด็กนักเรียนยากจนที่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้นอกห้องเรียนมากกว่าเด็กนักเรียนจากครอบครัวมีฐานะ อย่างที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรสกุลกล่าวไว้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจนำมาสู่การถดถอยของทุนมนุษย์อย่างเลี่ยงไม่ได้
และแกนที่สาม สุขภาพ เมื่อโรงเรียนปิด นอกจากเด็กยากจนจะขาดโอกาสเรียนรู้แล้ว ยังขาดโอกาสที่จะได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างพอเพียงจากอาหารกลางวันฟรีที่โรงเรียนจัดเตรียมให้
“เมื่อรายได้ของครอบครัวหาย โอกาสที่เด็กยากจนจะหลุดออกจากระบบการศึกษาก็เพิ่มขึ้น ปัญหาสุขภาพและพัฒนาการก็จะตามมา
“ผลเสียที่เป็นรูปธรรมที่สุดและต้องเฝ้าระวังมากที่สุดคือการที่ฟางเส้นสุดท้ายขาดแล้วครอบครัวต้องเอานักเรียนออกจากโรงเรียน ยิ่งในปีการศึกษาใหม่ที่พบว่ามีนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 คน โอกาสที่เด็กนักเรียนมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนในชั้นรอยต่อระหว่างช่วงชั้น” นพ.สุภกรกล่าว
แต่นอกจากการใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนเหล่านี้หลุดออกจากระบบ สำหรับ กสศ. ที่ทำงานบนฐานของการนำความรู้จากการวิจัยลงไปทดลองทำมาตรการลดความเหลื่อมล้ำในโลกจริง การที่ต้องระดมทุนสรรหาเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าในสถานการณ์โรคระบาดก็นับว่าเป็นเรื่องยากลำบากเช่นกัน แม้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ อย่างการจัดงบประมาณ หรือระดมทุนเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดอาหารกลางวันในช่วงที่ต้องปิดภาคเรียนนานกว่าปกติก็ตาม เพราะยังไม่มีบทพิสูจน์ระยะยาวว่าการลงเงินไปนั้นจะมีประสิทธิภาพและสร้างผลกระทบในการลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยแค่ไหน
นับว่าเป็นความท้าทายของแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้องแลกประสิทธิภาพกับความช่วยเหลือที่ทันเวลา ฉะนั้น นพ.สุภกรมองว่า กสศ. ต้องหาสมดุลให้ดีระหว่างการลงเม็ดเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และแนวทางหลักที่อาศัยองค์ความรู้และการทดลองเพื่อให้ได้มาตรการที่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นระบบได้จริง
หากมองโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไปให้ไกลต่อจากวิกฤตครั้งนี้ แม้ กสศ. จะระบุโจทย์เฉพาะกลุ่มที่ต้องแก้เพื่อสร้างความเสมอภาคต่อไปได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถครู คุณภาพการศึกษาและโรงเรียนให้กับเด็กยากจนที่รักษาไว้ในระบบการศึกษาได้ การหาวิธีติดอาวุธและทักษะสายอาชีพให้กับนักเรียนที่เรียนพ้นการศึกษาภาคบังคับและยังอยู่ในระบบเพื่อให้มีทักษะพอในวันที่สถานการณ์บีบคั้นให้หลุดออกจากระบบ หรือการที่ต้องตามหาเด็กที่หลุดออกจากระบบก่อนจบการศึกษาภาคบังคับและไปทำงานเพื่อเข้าไปช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และทักษะเพื่อประกอบอาชีพ แต่การจะออกมาตรการที่ให้ผลกระทบสูงได้นั้น นอกจากต้องมีการศึกษาและพิสูจน์ว่ามาตรการจะได้ผลจริง โจทย์เหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโรงเรียน หน่วยงานราชการ หรือชุมชนด้วยเช่นกันจึงจะสำเร็จ
“เราต้องทำงานผ่านหน่วยงานเหล่านี้ร่วมกันไป แต่ถ้าจะให้แน่ใจว่าได้ผลสำเร็จ ก็ต้องมีการประเมิน ศึกษาวิจัย และทำงานวิชาการประกอบ ไม่ใช่ว่าลงมือไปโดยไม่ได้พิสูจน์ว่าได้ผลจริงหรือไม่
“เราต้องไม่ลืมว่า ไม่มียาวิเศษขนานเดียวที่แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ เพราะความเหลื่อมล้ำคือปัญหาที่ฝังรากลึก และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้อยู่โดดๆ แต่ยังเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและสังคม ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มประชากรที่ลงไปทำงานด้วยยังเป็นกลุ่มที่มีชีวิตยากลำบากที่สุด
“เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะทำให้ กสศ. เดินหน้าต่อไปได้ คือต้องเข้าใจว่าการแก้ปัญหาที่เหมาะกับแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ แต่ละเงื่อนไข อาจต้องใช้วิธีที่ต่างกัน ความท้าทายจึงอยู่ตรงการจัดการความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมายและภาคี” นพ.สุภกรทิ้งท้าย
“เราหวังว่าหน่วยงานในระบบการศึกษาจะเห็น กสศ. เป็นเพื่อน”
คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าอนาคตความเสมอภาคทางการศึกษาไทยกำลังจะอยู่ในกำมือของคนรุ่นใหม่ในไม่ช้านี้
นิด – กนิษฐา คุณาวิศรุต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ คือหนึ่งในคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน กสศ. ไปข้างหน้า แม้ว่าเธอจะร่วมงานกับ กสศ. ตั้งแต่ยังมีสถานะเป็น สสค. (สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน) นานร่วม 8-9 ปีแล้ว
นิดเล่าว่า เธอเรียนจบด้านเทคโนโลยีการศึกษามาโดยตรง แต่ระหว่างที่เรียนก็ไม่ได้มุ่งความสนใจหรือเห็นภาพความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยชัดเจนมากนัก จนกระทั่งมีโอกาสได้ฝึกงานและทำงานที่ สสค. สิ่งที่ค่อยๆ เปิดตาของนิดให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากำลังเกิดขึ้นในไทยตลอดเวลา คือการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งนับว่าเป็นจังหวัดที่มีความยากลำบากมากที่สุดแห่งหนึ่งในไทยและประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการทางการศึกษา
ครั้งหนึ่งที่เธอลงพื้นที่ เธอถามเด็กพิการทางสายตาคนหนึ่งด้วยคำถามสุดแสนธรรมดาว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่คำตอบที่ได้กลับมาสะท้อนอยู่ในใจของนิดจนถึงวันนี้ “อยากไปโรงเรียน แล้วก็อยากเป็นผู้ใหญ่”
ท่ามกลางสภาวะที่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ถ่างกว้างขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นิดมองว่า หากเธอเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทำอะไรสักอย่าง ความเหลื่อมล้ำอาจกำลังไปสู่จุดวิกฤต
เมื่อ กสศ. ก่อตั้งเมื่อ 3 ปีก่อน นิดจึงรู้สึกดีใจมากที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเพื่อไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับคนรุ่นใหม่ที่เธอเล่าว่า “มีแพสชันในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเต็มเปี่ยม” อีกหลายคน “มันเป็นเหมือนจุดเล็กๆ ที่จะได้ใช้ความรู้ ไอเดีย ระดมความคิด เครื่องมือต่างๆ เพื่อที่จะพัฒนานวัตกรรมช่วยเหลือการเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา”
ส่วนที่นิดช่วยขับเคลื่อนใน กสศ. คือโครงการเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข โดยกลุ่มที่นิดดูแลคือนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษในระบบการศึกษาอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 1.17 ล้านคน และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลัง กสศ. เดินหน้า นิดเล่าว่า เรื่องที่น่าดีใจคือ ข้อมูลบ่งชี้ว่ากลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับความช่วยเหลือไปโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น
“ตอนลงพื้นที่ เราได้คุยกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายายของนักเรียนที่ได้เงิน เขารู้สึกขอบคุณที่อย่างน้อยทำให้ลูกหลานของเขาได้ไปโรงเรียน”
ส่วนนักเรียนที่นิดมีโอกาสคุยด้วยก็บอกเช่นกันว่าดีใจมาก แม้เงินที่ได้มาต่อปีจะไม่ใช่จำนวนที่มากนัก “เขาได้เงินมาเท่านี้ เขาก็มองอนาคตแล้วว่าจะได้ไปโรงเรียนแล้ว ที่จริงนักเรียนเหล่านี้ไม่มีความฝันว่าจะโตไปเป็นอะไรด้วยซ้ำ เขาคิดแค่ว่าเขากำลังจะมีเงินพอจบ ป.6 หรือจะมีเงินต่อม.1” การลงพื้นที่และการเห็นความเสมอภาคที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยคือแรงบันดาลใจและไฟในการทำงานต่อ
แต่การช่วยให้เด็กไปโรงเรียนได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้นั้นยังไม่พอที่จะตอบโจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย เพราะการเข้าถึงยังถือว่าเป็นบันไดขั้นแรก สำหรับนิด นอกจากจะการทำให้นักเรียนยากจนเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยไม่หลุดออกแล้ว การที่ให้นักเรียนทุกคนได้รับการศึกษาคุณภาพดีอย่างเสมอภาคยังเป็นความท้าทายที่ยังไปไม่ถึง แม้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นปัญหาและพยายามหาทางแก้ไขอยู่ก็ตาม รวมถึง กสศ. ที่เริ่มพยายามทดลองเพิ่มคุณภาพทางการเรียนรู้ให้นักเรียนอย่างเสมอภาคผ่านทักษะการเรียนรู้อย่างการวิเคราะห์ การสร้างสรรค์ และวิธีคิดแบบ Growth mindset ในปีนี้
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่ กสศ. พยายามเดินหน้าเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นิดมองว่าองค์กรที่ตนสังกัดอยู่นั้นมีจุดแข็งอยู่ตรงที่ทำงานขับเคลื่อนนโยบายหรือโครงการต่างๆ บนฐานขององค์ความรู้ที่ผ่านการวิจัย และ กสศ. ก็ใช้จุดแข็งตรงนี้ได้ดี แต่ในขณะเดียวกัน ความท้าทายที่นิดมองว่า กสศ. กำลังเผชิญอยู่คือ การบริหารความคาดหวังให้สังคมเข้าใจสิ่งที่ กสศ. กำลังทำ
“ไม่ใช่แค่ กสศ. เท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ทั้งระบบ และไม่ใช่เพียงแค่เป็นกองทุนที่ให้เงินอุดหนุนนักเรียนเท่านั้น แต่ที่จริงเป็นหน่วยงานที่พยายามพัฒนาองค์ความรู้หรือนวัตกรรมในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อส่งมอบให้หน่วยงานภาครัฐทำงานได้ดีขึ้น ดูแลกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น
“ความคาดหวังตรงนี้ก็เป็นแรงผลักดันว่า กสศ. คงต้องทำงานเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น ทำงานให้ถูกจุด ใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่ไม่เหมือนเดิมเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในแก้ไขความเหลื่อมล้ำ”
ยิ่งไปกว่าความคาดหวัง อีกความท้าทายหนึ่งคือ กสศ. ต้องวิ่งแข่งกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามกระแสการพัฒนาประเทศ รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่มักเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง
“เข้าใจว่างานวิจัยบางอย่างเอามาใช้ยาก แต่สิ่งที่เราคาดหวังว่า กสศ. จะทำได้ดีขึ้นอีกคือการคิดหรือพัฒนานวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่นำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะบางครั้งเรารอเวลาไม่ได้ มีเด็กนักเรียนหลุดจากระบบทุกวันๆ ยิ่งเราช้าเท่าไหร่ ยิ่งเท่ากับว่าเราช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้กลับเข้ามาในระบบยากมาก”
ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคาดไม่ถึงอยู่ตลอดเวลา อนาคตของ กสศ. ที่นิดอยากเห็นคือ “เป็นหน่วยงานที่มีความยืดหยุ่นยิ่งกว่าเดิม และมีโอกาสนำโครงการวิจัยพัฒนานวัตกรรมนำร่องไปเสนอเป็นมาตรการเชิงรุกและข้อเสนอเชิงนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเชิงรุกที่ใช้ได้จริง อย่างเช่นโครงการเงินอุดหนุน เรามีการทดลองนำร่องพัฒนาประเมินประสิทธิภาพต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราต้องทำให้กลายเป็นข้อเสนอการปฎิรูปการจัดงบประมาณด้านการศึกษา ไม่ใช่แค่เป็นโครงการช่วยอุดหนุนนักเรียนไปตลอดทุกปี”
“ในระบบการศึกษา เราคาดหวังว่าทุกหน่วยงานในระบบการศึกษาจะเห็น กสศ. เป็นเพื่อน ซึ่งเพื่อนร่วมงานหลายๆ หน่วยงานทั้งปฎิบัติงาน หัวหน้างาน ผู้บริหารก็ต่างมอง กสศ. ว่าเป็นเพื่อนช่วยคิด เพื่อนช่วยทำ เพื่อนช่วยแนะ
“ถ้าหน่วยงานต่างๆ เห็นเราเป็นเพื่อน เวลาเรามีข้อเสนอแนะอะไร เขาจะฟัง ถ้าเขาคิดไม่ออก เขาจะมาปรึกษาหรือถามเราว่าต้องทำอย่างไร ถ้าเขาอยากแก้ไขปัญหา อยากพัฒนา เขาจะมีเราคอยอยู่เป็นเพื่อน ถ้าเขาคิดว่าเขาจะทำ เขาจะทดลอง เขาก็อยากจะบอก กสศ. ให้ช่วยคิด ช่วยทำ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานด้านการพัฒนาการศึกษาคงไม่ต่างไปจากการวิ่งมาราธอนที่ต้องลงแรงเยอะ ใช้ความทรหดอดทน และกินเวลายาวนานกว่าจะผลสำเร็จจะปรากฏตรงหน้า ความหวังอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงคนทำงานด้านการศึกษาให้วิ่งต่อในเส้นทางไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาได้ แต่นิดมองต่างออกไปเล็กน้อย
“ก่อนอื่นเลยเราต้องมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าผลจะออมาดีหรือไม่ดี แต่มันคือความตั้งใจในสิ่งที่เราทำเต็มที่มากกว่าที่หล่อหลอมให้เรารู้ว่าไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร จะมีหรือไม่มีความหวัง มันคือความตั้งใจของเราและคุณค่าในสิ่งที่เราทำมากกว่า”
“สำหรับเรา เรารู้สึกว่าทุกๆ วันที่ทำงานเพื่อเด็กๆ คือการได้ทำสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่า”
แพสชันคืออีกสิ่งที่ทำให้นิดยังไปต่อได้ “เราอยากเห็นระบบการศึกษาที่ดีขึ้น ถ้าเด็กทุกคนอยากไปโรงเรียน ทุกคนก็ควรได้ไป ถ้าเด็กอยากพัฒนาศักยภาพ เขาก็ควรมีโอกาสได้พัฒนาอย่างเต็มที่”
สำหรับคนทำงานด้านการศึกษา แน่นอนว่าย่อมมีภาพฝันของอนาคตการศึกษาไทย สำหรับนิด ปลายทางที่การศึกษาไทยควรไปถึงคือ การศึกษาคุณภาพดีที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็เข้าถึงได้อย่างแท้จริง
“เราอยากเห็นอนาคตการศึกษาไทยที่เด็กทุกคนได้เรียนฟรีและมีคุณภาพจริงๆ ตอนนี้เขายังต้องควักกระเป๋าตังค์เอง ทำให้เราต้องหาวิธีจัดสรรงบประมาณใหม่อย่างที่เราทำอยู่ ทั้งๆ ที่เด็กทุกคนควรได้ไปโรงเรียนที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องเสียเงิน ทุกวันนี้ถึงจะมีเรียนฟรี 15 ปี แต่พ่อแม่ทุกคนพอเปิดเทอมยังต้องไปโรงรับจำนำ เอาของไปจำนำเพื่อนซื้ออุปกรณ์ ซื้อเสื้อผ้าให้ลูกไปโรงเรียน ทั้งๆ ที่รัฐบอกว่ามีชุดนักเรียนให้ แต่ที่สำคัญคือมันไม่ได้ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาให้เด็กทุกคนได้เรียนจริง เราอยากเห็นเด็กทุกคนเรียนฟรีและพัฒนาศักยภาพอย่างที่หวังได้จริง”
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world