ภาษาไทยเป็นหนึ่งในวิชาที่เด็กหลายคนไม่ค่อยสนใจ เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ทั้งต้องท่องจำ ต้องผสมสระพยัญชนะวรรณยุกต์ มีคำเป็นคำตาย มีอักษรสูง กลาง ต่ำ ไปจนถึงเรื่องคำคล้องจองที่จะปูพื้นฐานไปสู่การแต่งกลอน ซี่งหลายคนมองว่ายากเพราะไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ใช้ในชีวิตประจำวัน
แต่ในชั้นเรียน “โครงงานฐานวิจัย” ของนักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะทาก ต.นาหว้า อ.จะนะ จ.สงขลา เด็กหลายคนสนุกกับเรื่องคำคล้องจอง หลายคนแต่งกลอนได้ จุดเปลี่ยนทั้งหมดอยู่แค่การปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นไปยังเรื่องการสังเกต หาคำตอบ มากกว่าการท่องจำ
เข้าใจได้เร็วขึ้น จำได้นานขึ้น เพราะสังเกตด้วยตัวเองไม่ได้ท่องจำ
ครูนุกูล เยาวรัตน์ ครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน รร.บ้านเกาะทาก ซึ่งรับหน้าที่สอนภาษาไทยมายาวนานหลายสิบปี เล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกิดขึ้นกับเด็กในการเรียนภาษาไทยหลังจากนำรูปแบบ “โครงงานฐานวิจัย” มาประยุกต์ใช้ในการสอน
“เด็กๆ จะสนใจการเรียนมากขึ้น รู้จักคำคล้องจองได้มากขึ้นกว่าตอนที่สอนแบบปกติ เขาจะเข้าใจได้เร็ว และจำได้นานขึ้น เพราะเขาเข้าใจได้ด้วยตัวเอง ได้สังเกตด้วยตัวเอง ไม่ได้ใช้วิธีท่องจำ ที่สักพักก็จะลืมไปหมด แต่ถ้าเรียนแบบใหม่เขาจะจำได้ไม่ลืม บางคนแต่งเป็นกลอนสั้นๆ ได้เองเลย”
โครงงานฐานวิจัยเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำมาถ่ายทอดให้กับโรงเรียนบ้านเกาะทาก ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อเนื่อง หรือ TSQP ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
เห็นผลหลังเปลี่ยนรูปแบบการสอนได้แค่ 1 ปี
ครูนุกูล เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการสอนภาษาไทยรูปแบบใหม่ว่า ปกติโครงงานฐานวิจัยจะเหมาะกับการเรียนวิทยาศาสตร์ ที่มีขั้นตอนกระบวนการสังเกต ตั้งคำถาม หาคำตอบ และสรุปผล แต่เมื่อต้องนำมาใช้สอนในวิชาภาษาไทย ตอนแรกก็คิดว่ายาก ไม่รู้ว่าจะสอนยัง แต่พอได้เตรียมการสอน ได้ลงมือสอนก็ทำได้และเห็นผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากสอนไปได้เพียงแค่ 1 ปี
ขั้นตอนการสอนจะเริ่มจาก “จิตปัญญา” สร้างสมาธิเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่เนื้อหาซี่งมีหลายวิธีให้เลือกใช้ จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่กิจกรรม โดยก่อนเริ่มจะสร้างข้อตกลงร่วมกันในห้องเรียนว่า เวลาทำกิจกรรมจะไม่ลุกจากที่เดินไปเดินมา เวลาใครจะถามอะไรให้ยกมือก่อน รวมทั้งให้ฟังคำถาม คำตอบของเพื่อนด้วย
“บัตรคำ” สื่อการสอนเคล็ดลับความสำเร็จ
หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จคือ “บัตรคำ” สื่อการสอนที่ครูนุกูลคิดขึ้นมาประกอบการเรียน โดยทำง่ายๆ เป็นบัตรคำศัพท์เล็กๆ มีคำศัพท์ที่มีสระเดียวกันบ้าง ตัวสะกดเดียวกันบ้าง เมื่อเด็กๆ อ่านเขาก็จะได้สังเกต เมื่อเราบอกว่าว่าคำคล้องจองคือคำที่มีสระเดียวกัน ตัวสะกดเดียวกัน จากนั้นก็จะให้เด็กๆ ก็จะนำเอาบัตรคำที่คล้องจองมาเรียงกันเขาก็จะเข้าใจด้วยตัวเองว่าคำคล้องจองคืออะไร
ทั้งนี้ จะเริ่มต้นจากคำศัพท์ง่ายๆ พยางค์เดียวก่อน ให้เด็กได้รู้จักคำคล้องจอง จากนั้นก็เพิ่มเป็นสองพยางค์ เรียงจากง่ายไปหายาก ต่อจากนั้นก็ให้เขาลองนำคำมาเรียงเป็นวรรค แต่งเป็นกลอนง่ายๆ เริ่มจากสองพยางค์ นำมาเรียงเป็น 4 วรรค ที่คล้องจองกัน พอเด็กทำได้เขาก็สนุก และเข้าใจเรื่องคำคล้องจอง
“การสอนจะทำเป็นกระบวนการ ให้เด็กค่อยๆ ดู ค่อยๆ ทำ ไม่ต้องไปบอกเด็กตรงๆ แต่ให้เด็กสังเกตว่าเห็นอะไร โดยครูจะต้องใช้วิธีการซักถามนำแต่ไม่ต้องบอกคำตอบ เช่นลักษณะคำคล้องจองเป็นอย่างไร ให้เขาบอกมาแล้วเราค่อยสรุปเป็นบทเรียนคำคล้องจอง เมื่อเปลี่ยนวิธีการสอนเขาได้จับ ได้ดู ได้พิจารณา แล้วพบว่าเด็กทำได้ดีขึ้น เมื่อก่อนจำได้เดี๋ยวเดียวแล้วก็ลืม แต่ตอนนี้เขาจำได้ทำได้ดี”
“โครงงานฐานวิจัย” กรอบการสอนที่ประยุกต์ใช้ได้หลายวิชา
ครูนุกูล ย้ำว่า การสอนภาษาไทยจะสอนให้สนุกหรือสอนให้เด็กสนใจเข้าใจหรือไม่นั้นอยู่ที่ครู เพราะถ้าครูสอนสนุก มีสื่อจับต้องได้ เด็กก็ชอบ ได้ดู ได้คิดก็จำได้นาน ซึ่งพอได้ลองเปลี่ยนมาสอนแบบใหม่ได้ปีหนึ่งก็ได้เห็นความความแตกต่างจากเดิม ซึ่งครูเองก็ต้องเตรียมการสอนเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าทำแล้วเห็นผลลัพธ์เด็กเรียนรู้ได้มากขึ้นดี ขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะเปลี่ยน
การให้เด็กได้รู้จักค้นคว้าหาความรู้เอง ทำให้เขาจำได้ดีกว่าเราไปบอกเขา พอเห็นเด็กจากที่ไม่เข้าใจคำคล้องจอง ตอนนี้มาแต่งกลอนได้ เราก็รู้สึกภูมิใจ ที่เห็นเด็กเขาเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ได้รู้จักคำคล้องจอง แต่งกลอนได้ ดีกว่าวิธีเดิมที่เราได้แต่ไปบอกเขาว่าเป็นอย่างนี้ให้เขาจำอย่างเดียว ซึ่งโครงงานฐานวิจัยเป็นกรอบที่ครูจะปรับไปใช้สอนในวิชาอะไรก็ได้ขึ้นอยู่ที่เราจะออกแบบ
ครูนุกูลสรุป