อนุบาลสตูลเป็นโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนในการดูแลประมาณ 1,530 คน เด็กในรั้วโรงเรียนเดินทางมาจากทุกอำเภอของจังหวัดสตูล และมีความแตกต่างหลากหลายในแง่ฐานะครัวเรือน
ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 โรงเรียนจากชายแดนใต้แห่งนี้ก็เริ่มต้นนำร่องใช้โปรแกรม ClassStart ในการเรียนการสอนแล้ว ทั้งยังริเริ่มนวัตกรรมการศึกษา “ครูสามเส้า” ที่ชวนครอบครัวและชุมชนมามีส่วนร่วมกับการศึกษาของเด็กๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ อนุบาลสตูลยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการเปิดกว้างให้อิสระครูผู้สอนในการ “ทลายห้องเรียน” โดยไม่ได้จำกัดกรอบการเรียนการสอนให้เกิดขึ้นแค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเท่านั้น
แน่นอนว่าคีย์แมนคนสำคัญที่ช่วยเปิดทางให้แก่การ “ทลายห้องเรียน” รวมถึงช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะบ่มให้เกิดนวัตกรรมการศึกษา ก็คือผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ เปิดใจกว้างและพร้อมลุยไปด้วยกันกับคุณครูและนักเรียน
บทความนี้ กสศ.จะพาไปสนทนาและเรียนรู้กลยุทธ์และแนวคิดการสร้างนวัตกรรมการศึกษาจาก ผอ.ยงยุทธ ยืนยง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล ที่เชื่อมั่นว่า การศึกษาควรไปให้พ้นจากกรอบของห้องเรียนแบบเดิม
ครูสามเส้า : เพราะการจัดการเรียนการสอนควรเป็นหน้าที่ของทุกคน
ครูสามเส้า คือนวัตกรรมหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนอนุบาลสตูล เป็นนวัตกรรมที่มาคู่กับโครงงานฐานวิจัย ครูสามเส้าคือใคร คือ ผู้ปกครองและวิทยากรที่เข้ามาเป็นครูช่วยสอนเสริมนักเรียนตามเนื้อหาที่ครูออกแบบ องค์ประกอบจะมีครอบครัว ชุมชน และครูอยู่ในนี้ แนวคิดนี้ริเริ่มก่อนโควิด-19 ทีนี้ช่วงโควิดระบาด เด็กมาโรงเรียนไม่ได้ ทางโรงเรียนเราก็ได้ครูสามเส้าเป็นครูตัวจริงที่ได้ดูแลนักเรียนอยู่ที่บ้าน ซึ่งก็คือครอบครัว
จุดเริ่มต้นครูสามเส้า ครูสามเส้าเกิดขึ้นที่โรงเรียนตั้งแต่สมัยผู้อำนวยการคนเก่า ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงงานฐานวิจัย อันเป็นนวัตกรรมหลักในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนจากแบบเดิมที่เน้นให้ความรู้ในห้องเรียนเป็นหลัก นำโครงการฐานวิจัยมาใช้เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเด็กขยายห้องเรียนออกไปในพื้นที่สนามจริง เรียกได้ว่า “ทลายห้องเรียน” โดยในการออกแบบกิจกรรม โรงเรียนเราจะมีหลักคิดที่ว่า การจัดการเรียนการสอนควรจะเป็นหน้าที่ของทุกคน โรงเรียนแค่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถ้าดูสัดส่วนแล้วก็น่าจะสัดส่วนเล็กๆ เรามีความคิดว่าโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา เพราะยังมีส่วนอื่นด้วย ถ้าเราจะมองไปในยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อหนึ่งวันของนักเรียน ก็พบว่า มีช่วงหนึ่งนักเรียนอยู่ที่บ้าน มีช่วงหนึ่งนักเรียนอยู่ที่ชุมชน อีกช่วงหนึ่งอยู่ที่โรงเรียน ถ้าดูเวลานักเรียนอยู่ที่โรงเรียนแต่ละวัน ไม่เกินแปดชั่วโมง เวลาที่เหลือนักเรียนอยู่ที่ไหน นักเรียนอยู่กับใคร ก็ควรเป็นบทบาทหน้าที่ของคนนั้น ที่จะมีบทบาทให้การเรียนรู้ให้การศึกษากับเด็กๆ ตามบริบท
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมที่เราเห็นก็คือว่า ในความคิดของผู้ปกครอง การจัดการเรียนการสอนเป็นหน้าที่ของโรงเรียนเท่านั้น ผู้ปกครองมีหน้าที่แค่มาส่งลูกที่หน้าโรงเรียนและคอยรับเด็กออกไป โรงเรียนจึงรู้สึกว่า เราควรมาทลายความคิดแบบนี้ ควรทำให้การจัดการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของทุกคน นั่นคือที่มาของครูสามเส้า เด็กอยู่ใกล้ชิดใครก็ควรเป็นความรับผิดชอบคนนั้น
การสื่อสารในการทลายความคิดตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าสังคมส่วนใหญ่ก็คิดอยู่ในลักษณะนี้ที่ว่าการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของโรงเรียน แต่ที่จริงแล้วความคิดต่อการศึกษาไม่ได้มีเพียงเท่านี้ มีกระบวนทัศน์ในเรื่องการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง รวมถึงผู้บริหาร ครูในระดับต่างๆ ก็มี mindset ที่ไม่สอดคล้องกัน ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการการศึกษา บางคนคิดว่า ควรจะให้ความรู้เด็กเยอะๆ เพื่อเอาไปสอบเรียนต่อ บางกลุ่มก็คิดต่างว่า ความรู้มันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ให้ไปเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ เพราะความรู้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราจึงควรต้องสร้างทักษะแก่เด็ก ให้เด็กเป็นเจ้าของความรู้เอง ซึ่งในมุมของโรงเรียนอนุบาลสตูลเราก็คิดแบบกลุ่มหลัง เราเลยเน้นสร้างความรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัย ซึ่งเป็นกระบวนการที่เปิดพื้นที่ให้กับทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน โครงการฐานวิจัยมิใช่กิจกรรมที่มีครูกับนักเรียนเท่านั้น พอทลายห้องเรียนออกไปก็จะพบชุมชน ผู้ปกครอง ทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วม เราก็มีเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตรงนี้จะนำไปสู่การทลายกำแพงกรอบความคิดที่เราได้คุยตั้งแต่ต้น
การสื่อสารที่ได้ผลที่สุดคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องโครงงานฐานวิจัยเรามีกระบวนการหนึ่งซึ่งสำคัญก็คือว่า พอนักเรียนลงพื้นที่เก็บข้อมูลเสร็จ นักเรียน ครู ชุมชน ต้องมีการแลกเปลี่ยน เป็นวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วงเหล่านี้ช่วยเสริมช่วยจูนความคิดให้แต่ละคนเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน โดยไม่มีใครสอนใคร อาจเป็นฉันทามติเห็นร่วม ค่อยๆ ทำอย่างนี้ ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่สามารถพลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้
โครงงานฐานวิจัย: ชวนทลายห้องเรียน และพาเด็กออกเรียนรู้
อยากเริ่มต้นเล่าเรื่องนี้จากมุมของการทลายห้องเรียนก่อน คือเรามองว่า การปฏิรูปการศึกษาเนี่ย ที่ผ่านมาก็ทำกันหลายรอบแล้ว แต่มันเหมือนไฟไหม้ฟาง ไม่ตอบโจทย์ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ดังนั้นเราจึงกลับมามองว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงควรต้องเริ่มต้นที่ห้องเรียน ต้องปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนของคุณครู เราเรียกว่า “ทลายกำแพงห้องเรียน” โดยแทนที่จะให้คุณครูยืนสอนหน้าห้องแบบเดิมๆ แล้วปล่อยให้เด็กโดนขังในห้องเรียนแคบๆ ทั้งวัน เราก็ขอทลายห้องเรียนออก โดยมองว่ามีความรู้อีกมากมายที่อยู่นอกกรอบห้องเรียน ซึ่งพอทลายห้องเรียน เราก็ได้พาเด็กออกสู่ชุมชน ไปสำรวจทุนชุมชนว่าชุมชนของเขามีอะไรบ้าง ทำผ่านโครงงานฐานวิจัย พอไปเชื่อมโยงชุมชน ต่อมาก็เกิดการเชื่อมโยงในลักษณะธรรมชาติ ในที่สุดก็มีการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างเด็กและชุมชนในที่สุด
นักเรียนที่เรียนโครงงานฐานวิจัยนั้น เรามีการสำรวจทุนชุมชน โดยครูร่วมกับนักเรียนออกแบบกระบวนการ ลงไปสำรวจทุนในชุมชน ออกไปสำรวจเดินดูว่ามีบ้านกี่หลัง มีคนในชุมชนเท่าไหร่ ลงพื้นที่จริงสัมผัสจริง ก็จะได้ข้อมูลทุนมนุษย์ ทุนเงินตรา ทุนวัฒนธรรม นักเรียนต้องวางแผนว่าจะเก็บข้อมูลเหล่านี้จากใคร แผนเหล่านี้จะทำให้นักเรียนไปเจอกับกลุ่มที่ให้ข้อมูลจริง มิใช่ข้อมูลบนกระดาษ เก็บข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะครบถ้วน จะสร้างความสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วม สร้างการเป็นเจ้าของโจทย์การเรียนรู้ร่วมกันอัตโนมัติ
เมื่อได้ข้อมูลยังมีกระบวนการของการตรวจสอบข้อมูล โดยผู้คนที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นคนที่มาเกี่ยวข้องกับการศึกษาของโรงเรียนนั้น เกิดจากกระบวนการเรียนรู้และวิจัยที่เด็กไปสัมผัสเรียนรู้มา มิใช่เกิดจากการเชิญหน่วยงานต่างๆ มาเป็นวิทยากรเหมือนก่อน
ตัวโครงงานฐานวิจัยของเราเรียกว่า โครงการ RDM คือ Research, Development และ Movement มีการตั้งวงแลกเปลี่ยน เราเรียกว่า PLC หรือพูดคุยในแนวราบ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการขับเคลื่อนในลักษณะที่ว่าไม่มีใครบังคับใคร พอมันเป็นฉันทานุมัติ เกิดการเรียนรู้เรื่องนี้เราจะแก้ปัญหาอย่างไร
ตัวอย่างของการเรียนรู้ของเด็กที่เกิดจากโครงงานฐานวิจัย (Research) และต่อยอดจนเกิดการพัฒนา (Development) และสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน (Movement) เช่น เรื่องของฟอสซิล ที่นำไปสู่เรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะเด็กไปสำรวจเจอแหล่งฟอสซิลต่างๆ จนผลักดันให้เกิดกิจกรรม และกลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ จะเห็นว่าในเคสนี้เด็กๆ ได้มีกระบวนการศึกษาข้อมูลก่อนจะเกิดการขับเคลื่อนสังคม อีกกรณีคือ เด็กสนใจวิจัยเรื่องไฟฟ้า เขาก็สำรวจชุมชนหนึ่งในสตูล โดยศึกษาจากใบแจ้งหนี้ไฟฟ้าในหมู่บ้านของชุมชน เห็นค่าไฟแต่ละเดือนของแต่ละบ้านในชุมชน พบว่าเป็นเงินมหาศาลที่ชุมชนเสียให้กับการไฟฟ้าไป เด็กนักเรียนเอาตรงนี้มาขึ้นโจทย์ ทำอย่างไรครอบครัวหรือคนในชุมชนจึงประหยัดค่าใช้จ่ายค่าไฟให้ลดลงได้ ก็ทำการศึกษาและขับเคลื่อนสังคม หลังจากนักเรียนขับเคลื่อนโครงการนี้แล้ว ค่าใช้จ่ายของครอบครัวในชุมชนก็ลดลง นี่คือตัวอย่างของการเรียนรู้นอกกรอบห้องเรียนที่นำไปสู่การพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลง
โควิดคือสถานการณ์ไม่คาดคิด แต่ในวิกฤตเราต้องไม่ยอมจำนน
ในช่วงโควิดเราได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์สองทาง ตั้งต้นด้วยหลักคิดที่ว่า เราจะไม่จำนนกับสถานการณ์ เราจะพยายามหาหนทางทำให้ดีที่สุด ให้ใกล้เคียงกับการเรียนออนไซต์ให้มากที่สุด นี่เป็นแนวคิดหลักที่เราคุยนโยบายกับคุณครู หลังจากนั้นโรงเรียนก็คิดค้นพัฒนารูปแบบในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์สองทาง เริ่มต้นด้วยการที่เราตั้งกล้องถ่ายทอดสดการสอนของคุณครูที่ห้องเรียนไปยังนักเรียนที่บ้าน โดยถ่ายทอดส่งผ่านทาง Zoom และ Google Meet ต่อมาก็ปรับพัฒนาการตรงนี้ขึ้น จากการถ่ายทอดสดก็เป็นการผสมผสานการสอนหลากหลายแบบ เพื่อจัดการเรียนการสอนไปยังนักเรียนทุกคนให้ได้ เราใช้โปรแกรมหลายโปรแกรมเป็นตัวประกอบ อาทิ ใช้ Google Meet ในการสอนสดๆ ให้กับนักเรียน และใช้ ClassStart เป็นช่องทางในการเช็กเวลาเรียน ส่งงาน ทำแบบทดสอบของนักเรียน เราจะให้คุณครูนำใบงานนำสื่อเอกสารการเรียนการสอนไปแขวนไว้ที่ ClassStart
นักเรียนตั้งแต่อนุบาล 2 จนถึง ป.6 เมื่อเรียนออนไลน์เสร็จก็จะเข้าไปเอาใบงานและทำพร้อมส่งที่ ClassStart คุณครูตรวจเสร็จก็แจ้งคะแนนผ่าน ClassStart โดย ClassStart ถือเป็นระบบหลักและมีความเข้มแข็งในโรงเรียนเรา เพราะเราใช้ระบบนี้ก่อนมีโควิด แต่เราก็เลือกใช้บางฟังก์ชันที่สอดคล้องบริบทของเด็ก อย่างเช่น ชั้นอนุบาล ผู้ปกครองจะเข้าใช้เอาใบงานแล้วก็ไปคุยกับนักเรียนให้ทำกิจกรรมไปตามนั้น แล้วผู้ปกครองก็ใช้ส่งงาน ชั้น ป.1-2 ก็จะใช้ฟังก์ชันที่เด็กระดับนี้ใช้เป็น มีครูประจำชั้นเป็นครูพี่เลี้ยง ป.4-6 ก็จะใช้เต็มรูปแบบ
ในเทอมที่สอง ทาง สพฐ.มีโครงการเรื่องการสอนออนไลน์ มีโปรแกรมในเรื่อง Webex ขึ้นมา นักเรียนก็จะเรียนผ่านช่องทาง Webex ด้วยอีกช่องทาง แต่ในส่วนชั้นปฐมวัยหรืออนุบาล เราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ เราจึงจัดการเรียนการสอนแบบออนดีมานด์ โดยให้ครูผลิตสื่อนำไปแขวนไว้ใน Classstart มอบหมายงานเด็ก เด็กก็จะส่งงานใน Classstart ต่อมาบางห้องก็มีการสอนออนไลน์ผสมผสานกับออนดีมานด์
สำหรับการเรียนการสอนทางไกลในวิกฤตโควิดที่ผ่าน สิ่งที่เป็นประเด็นคือ ระบบอินเทอร์เน็ต แยกเป็นสองส่วน คือ ในส่วนของสัญญาณต้นทางที่โรงเรียน โรงเรียนต้องทำระบบใหม่ทั้งหมดเลย เพื่อให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เสถียรเพื่อส่งสัญญาณให้นักเรียน โชคดีที่เราพอมีงบประมาณอยู่บ้าง เราก็จัดการตรงนี้ นอกจากนี้เราก็ขอความร่วมมือจากคุณครู กรณีที่สัญญาณไม่เสถียร ครูก็จะใช้อินเทอร์เน็ตส่วนตัวสนับสนุนสำรอง อันนี้เป็นปัญหาในส่วนของโรงเรียนที่เราพยายามจัดการแก้ไข
ในส่วนของนักเรียนค่อนข้างที่จะมีปัญหา แยกเป็นสองอย่าง คือ ปัญหาอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก เครื่องพีซี หรือโทรศัพท์ แม้ว่าเราเป็นโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดก็จริง แต่เด็กนักเรียนของเรามีความหลากหลาย ทุกกลุ่มอาชีพ จะมีทั้งนักเรียนที่พร้อมกับไม่พร้อม กลุ่มเด็กที่พร้อมเขาก็สามารถจัดการได้ไม่มีปัญหา ในส่วนของกลุ่มที่ไม่พร้อม โรงเรียนก็จะสนับสนุนบางส่วน แต่อาจไม่เยอะมาก จะมียืมโน้ตบุ๊กอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ เป็นต้น
สรุปคือ การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนอนุบาลสตูลในช่วงโควิด จัดได้ครบถ้วนทุกวิชา ใช้ตารางจริงเหมือนปกติ เพียงแต่นักเรียนไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน
ที่จริงแล้วหลักสูตรไม่ได้ขัดขวางการ “ทลายห้องเรียน” แต่วัฒนธรรมองค์กรแบบเก่าฝังลึกจนการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรื่องยาก
กรอบใหญ่สุดในการจัดการเรียนการสอนก็คือ หลักสูตร ปัจจุบันเราใช้หลักสูตรแกนกลางสถานศึกษา พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรที่ใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นกรอบสาระหนึ่งกิจกรรม และในหลักสูตรก็จะมีตัวชี้วัดมาตรฐานการเรียนรู้ มีวิธีการวัดผลยิบย่อยไปหมด นี่คือกรอบใหญ่ ที่จริงแล้วในหลักสูตรไม่ได้ระบุหรือกำกับว่าต้องจัดการเรียนการสอนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น ตามความสะดวกคล่องตัวของคุณครู ทั้งที่ในหลักสูตรกำหนดว่า กระบวนการเรียนรู้ต้องหลากหลาย ซึ่งเราเลือกใช้จุดนี้เป็นตัวขับเคลื่อน พยายามจัดการเรียนรู้ให้หลากหลาย หัวใจสำคัญคือ โรงเรียนต้องกล้า ผู้บริหารต้องกล้าพาครูทลายกำแพงโรงเรียนออกไปอย่างที่โรงเรียนอนุบาลสตูลทำ ในมุมอย่างนี้โรงเรียนสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องไปปลดล็อกอะไร บางคนอาจบอกว่าจัดไม่ได้กระทบการเรียนการสอนตามโครงสร้างของหลักสูตร ที่ผ่านมาโรงเรียนก็ใช้ทางคู่ขนานเรียกว่าสองเลน โดยอาจจะเพิ่มเวลาเข้าไป แทนที่จะเรียนห้าชั่วโมงเพิ่มเป็นหกชั่วโมง ตรงนี้ค่อนข้างจะยากในการเปลี่ยนแปลง แต่เราก็สามารถที่จะทำได้
พอพูดถึงนวัตกรรม ควรจะพูดถึงการปฏิรูปการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ถ้าต้องการให้เกิดนวัตกรรม ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ จริงๆ เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยนระบบเดิม ระบบราชการ ระบบที่สั่งการจากเบื้องบน ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องมาสร้างวัฒนธรรมองค์กรการศึกษาใหม่ โดยการมาทลายห้องเรียน จากห้องเรียนที่แคบมาเป็นห้องเรียนจริง นักเรียนลงพื้นที่จริง ได้เรียนของจริง แทนที่จะเรียนของสมมติในห้องเรียน พานักเรียนออกไปแล้วนวัตกรรมจะเกิดขึ้น ไปเจอโจทย์ เจอปัญหา เจอสถานการณ์ ก็จะมีกระบวนการคิดค้นแก้ปัญหา พัฒนาจัดการกับปัญหาเหล่านั้น อันดับแรกต้องทลายเรื่องของวัฒนธรรมหรือระบบของการศึกษาที่เป็นอยู่ตอนนี้ อาจจะดูใหญ่ไป ถ้าเกิดทลายวิธีคิด จะส่งให้โรงเรียนสามารถจัดการตัวเองได้ ครูสามารถจัดการตนเองได้อย่างเป็นอิสระทางวิชาการ ไม่ต้องกังวลกับล็อกของระบบราชการที่กำหนดขึ้น จะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง