‘ฐานกาย’ คือ ภาพสะท้อนการทำงานของสมอง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กในช่วงชั้นอนุบาลที่ไม่ได้มาโรงเรียน เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย โรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมานี้ เด็กอนุบาลเหล่านั้น ได้ข้ามชั้นไปเรียนในชั้นประถมศึกษาตอนต้นทันที จึงทำให้พื้นฐานความพร้อมในการการเรียนรู้หลาย ๆ อย่างที่ควรจะได้รับก่อนหน้านี้ขาดหายไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานกายภาพที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามวัยของเด็ก ซึ่งสังเกตได้ชัดจากการลงพื้นที่ของโค้ชในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ที่ทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวง PLC กับคุณครูในโรงเรียนเครือข่ายที่มองเห็นปัญหานี้ร่วมกัน จึงได้เริ่มช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจัง
“เมื่อไปดูในชั้นเรียนจะเห็นว่าการจับดินสอของเด็ก หรือการนั่งเขียนหนังสือของเด็กดูไม่ปกติ ปกติท่านั่งเขียนหนังสือเด็กเขาจะนั่งตัวตรง แต่ที่เราสังเกตเห็นลักษณะการจับดินสอและการนั่งเขียนของเขามันไม่เป็นปกติเลย และที่ครูให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการแลกเปลี่ยนกันคือ เด็กยังไม่มั่นใจในตัวเอง เด็กพูดเป็นคำ ๆ ไม่เป็นประโยค หรือไม่ค่อยสื่อสาร แล้วก็นั่งอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ได้ เดี๋ยวก็ลุกขึ้นเดินไปมาในห้อง หรือเวลาคุณครูให้เขียนให้อ่าน ก็เขียนไม่ได้ อ่านไม่ได้ เราจึงเริ่มเห็นความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น”
ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ หนึ่งในโค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ระดับอนุบาล – ป.3 จาก เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้อธิบายถึงปัญหาที่ได้พบเจอจากการลงพื้นที่ และบอกเล่าถึงความสำคัญของการพัฒนาฐานกายของเด็กนักเรียนไว้ว่า ความไม่เต็มที่ของร่างกายจะทำให้วงจรประสาทในสมอง ที่เป็นกลไกสำคัญในการเรียนรู้ทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ฉะนั้นประสิทธิภาพการเรียนรู้ก็จะได้ไม่เต็มที่เช่นเดียวกัน
“เวลาเราดูการทำงานของสมองไม่ได้หมายถึงการส่องเข้าไปดูในสมอง แต่จะดูลักษณะของการที่สมองสั่งให้ร่างกายทำงาน ถ้าร่างกายยังทำได้ไม่ดีก็แสดงว่าการสั่งการกับการตอบสนองต่อคำสั่งยังไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก”
ผศ.อัมพร กล่าวว่า ในช่วงแรก ตั้งเป้าการแก้ปัญหามุ่งไปที่เด็ก ป. 2 ก่อน ซึ่งก็คือเด็กที่อยู่ชั้นอนุบาล 2 ก่อนที่จะมีการหยุดมาเรียนที่โรงเรียนเพราะสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ทำให้การพัฒนาทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย เรื่องความรู้พื้นฐาน ความเตรียมความพร้อมด้านการเขียน การอ่าน เด็กรุ่นนี้แทบจะไม่ได้รับการพัฒนาเลย และเด็ก ป. 2 รุ่นนี้ยังอยู่ในช่วงวัยที่ยังไม่เกิน 7 ขวบ ซึ่งถือว่าเป็นระยะสุดท้ายของช่วงวัยที่ดีที่สุดของการพัฒนาฐานกาย และระบบประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้ทั้ง 7 ช่องทาง จึงได้เริ่มที่เด็ก ป. 2 ก่อนจะสายเกินการและค่อย ขยายไปยังเด็ก ป.1 และ ป.3 แบบคู่ขนานกันต่อไป
“อันดับแรก เราจะแก้เรื่องของการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ก่อนเช่น เรื่องการทรงตัว เพื่อทำให้เด็กสามารถใช้ร่างกายได้อย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเดิน วิ่ง กระโดด ขึ้นลงบันได และไม่ใช่เฉพาะกล้ามเนื้ออย่างเดียว เพราะการเคลื่อนไหวต้องมี กระดูก ข้อต่อต่าง ๆ ด้วย ต้องแก้ไขปัญหาไปด้วยกันเลย หากทำให้เขาสามารถไว้วางใจร่างกายได้ เขาจะรู้สึกว่าทำโน่นทำนี่ได้อย่างปลอดภัย และมั่นใจในการใช้ร่างกายทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ถัดมาประมาณ 1 สัปดาห์เราเริ่มบูรณาการกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กไปด้วยกันเลย”
ออกแบบให้ ‘เล่น’ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนรู้
ผศ.อัมพร อธิบายว่า การเอาใจใส่สังเกตพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกทางด้านร่างกายในห้องเรียน จะช่วยให้คุณครูเข้าใจถึงปัญหา และสามารถออกแบบกิจกรรมเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างมีทิศทางและเป้าหมายชัดเจน จะต้องใช้กิจกรรมที่เอื้อต่อการที่เด็กได้ใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เคลื่อนไหวไปในทิศทางและระดับที่หลากหลายขณะทำกิจกรรม รวมถึงการให้เงื่อนไข หรือสถานการณ์ที่กระตุ้นพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สติปัญญาไปด้วยกัน นอกจากนี้สามารถนำเนื้อหาความรู้ที่ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้เข้ามาบูรณาการได้ด้วย
โดยการออกแบบกิจกรรมในแต่ละโรงเรียนแต่ละพื้นที่ จะต้องออกแบบกิจกรรมให้เข้ากับปัญหา บริบทและเป้าหมาย เพื่อให้การจัดกิจกรรมไปตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมการให้กระโดดไปหยิบตัวพยัญชนะ หยิบสระ แล้วเอามาประสมเป็นคำตามที่คุณครูกำหนดให้ เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้เรื่องพยัญชนะ หรืออาจจะเป็นกิจกรรมให้เด็กเดินเป็นรูปพยัญชนะต่าง ๆ เด็กก็จะไม่เบื่อ เพราะได้คิด ได้ลงมือทำ ได้แก้ปัญหา ได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ได้บอกเล่า แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อน กับครู
“พอเริ่มให้คุณครูทำกิจกรรมเสริมตรงนี้ สักประมาณ 1 สัปดาห์ คุณครูก็บอกว่า เด็กเริ่มกระฉับกระเฉงขึ้น ขึ้นลงบันไดมั่นใจขึ้น จากเดิมที่ไม่ค่อยกล้าทำกิจกรรม แต่ตอนนี้อยากทำกิจกรรมมากขึ้น ซึ่งความจริงแล้ว การทำกิจกรรมก็คือออกแบบให้เด็กได้เล่น เล่นโดยการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การทำกิจกรรมผ่านการเล่นจะทำให้ความมั่นใจค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาด้วย และเมื่อร่างกายพร้อม ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กก็จะตามมา”
ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ที่กสศ.และ ทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมมือกับโรงเรียนในเครือข่าย ทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนที่ขาดหายไปให้กลับคืนมาก่อนที่โอกาสจะผ่านเลยไป และทำให้เกิดความเสี่ยงในการที่เด็กสูญเสียศักยภาพไปอย่างที่เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์