การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้การศึกษาไม่อาจทำได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในภาวะที่สถานการณ์คลี่คลายลงเป็นบางช่วง การจัดการเรียนการสอนก็ยังไม่สามารถทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้หลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องมองหาวิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผล ขณะที่วิกฤตทำท่าว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 1 ใน 5 หน่วยวิชาการ ซึ่งร่วมมือกับ กสศ. ในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการนำเครื่องมือสื่อสารมาใช้กับโรงเรียนพื้นที่เป้าหมาย โดยมีหลักการสำคัญคือแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และระดมความคิดผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้แต่ละโรงเรียนที่เผชิญปัญหาที่แตกต่างกัน สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ
รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะทำงาน TSQP หน่วยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ใช้การประชุม PLC (Professional Learning Community) ออนไลน์ หรือ ‘ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ’ เป็นช่องทางถ่ายทอดความรู้และช่วยแก้ปัญหา พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ระหว่างกัน ทั้งจากทีมโค้ช เพื่อนครู และผู้บริหารสถานศึกษา ตามแนวทางการพัฒนาที่จะสร้าง ครูผู้กล้าคิดกล้าทำซึ่งเปี่ยมด้วยทักษะการแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยมองว่าในพื้นที่บริบทที่แตกต่าง วิธีการเดิมๆ ที่รอให้ผู้รู้คิดสร้างการพัฒนาแก้ปัญหาแบบวิธีเดียวกระจายไปยังทุกพื้นที่ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เต็มที่
ดังนั้น นับตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 เมื่อต้นปี 2563 การเปิดห้องเรียน PLC ออนไลน์ จึงได้รับการผลักดันให้มีความสำคัญยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายจะมาช่วยกันเสนอประเด็น สนทนาสื่อสาร บอกเล่าปัญหาหน้างานสู่กันฟัง จากนั้นทีมโค้ชจะวิเคราะห์ปัญหา เสนอวิธีการที่โรงเรียนจะนำไปปรับใช้เพื่อให้การเรียนการสอนเดินต่อไปได้
“ศูนย์ TSQP ม.สงขลานครินทร์ เราพยายามให้ครูยืนได้ด้วยตัวเอง เพราะปัจจัยแวดล้อมหรือปัญหาของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน สิ่งที่เขาต้องได้รับเต็มที่คือความรู้ความเข้าใจและทักษะแก้ปัญหา ที่เกิดจากการเรียนรู้ การอบรม เพื่อที่เขาจะดึงประสบการณ์ออกมาใช้ได้ตรงหน้างาน โดยมีทีมโค้ชยังคอยเป็นพี่เลี้ยงติดตามให้คำแนะนำผ่านระบบออนไลน์ ก่อนหน้านี้ที่ทำมาเราเห็นแล้วว่าวิธีการนี้ได้ผลดี พอมาถึงช่วงสถานการณ์ COVID-19 เราจึงมองว่า PLC ออนไลน์จะยิ่งมีประโยชน์มากขึ้น”
ปรับวิธีการตามความเหมาะสมของพื้นที่
รศ.ไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ก่อนจะไปถึงวิธีแก้ปัญหา จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคลี่สถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ออกมาให้เห็นชัดก่อน แล้วจึงไปสู่ขั้นตอนว่าจะเดินต่อไปในทิศทางใด ซึ่งการแลกเปลี่ยนมุมมองจะช่วยให้เราพบวิธีการที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้นได้
“ต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่แค่แต่ละโรงเรียนที่แตกต่างกัน หรือผู้บริหารสถานศึกษาออกแบบนโยบายบนพื้นฐานความจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังมีเรื่องของการบังคับใช้กฎต่างๆ ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงหมู่บ้านที่ต่างกันไปอีก คือมันมีปัญหาหลายรูปแบบที่เรามองว่าการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้วจะแก้ปัญหาทั้งหมดมันทำไม่ได้ แต่ถ้าเราขยายภาพเล็กให้ทุกฝ่ายเรียนรู้เข้าใจภาพรวมไปพร้อมกัน แล้วร่วมถกมุมมองกันว่าจะแก้ปัญหาหนึ่งๆ อย่างไร หนทางเป็นไปได้ก็มีมากกว่า
“โดยปกติเราจะทำ PLC ออนไลน์ประมาณ 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง ทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่และแยกเป็นกลุ่มย่อยตามช่วงชั้น รวมถึงที่ซอยเป็นกลุ่มย่อยลงไปอีกเมื่อได้ประเด็นปัญหาหรือมีโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือในลักษณะใกล้เคียงกัน บางโรงเรียนเขาเห็นความเชื่อมโยงของปัญหา เสนอมาว่าอยาก PLC ระหว่างโรงเรียนหนึ่งกับอีกโรงเรียนหนึ่งเป็นการเฉพาะก็มี
“ส่วนในการแก้ปัญหาหรือจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่ หมายถึงพื้นที่ไหนที่บริบทเอื้อต่อการเรียนออนไลน์ได้เราก็ทำ หรือบางพื้นที่เด็กอยู่บ้าน ไม่พร้อมด้านเครื่องมือสื่อสารหรือโทรทัศน์ เราก็ใช้วิธีให้ครูส่งมอบใบงาน การบ้าน แล้วติดตามผล อย่างไรก็ตามแผนการย่อมต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ นั่นหมายถึงการประชุมออนไลน์แลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างโรงเรียนต่างๆ จะช่วยให้แต่ละโรงเรียนพร้อมปรับตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการได้ตลอดเวลา”
ผู้ปกครอง ต้องเป็น ‘ผู้ช่วยครู’ คนสำคัญ ในวันที่สถานการณ์ยังทอดยาวต่อไป
รศ.ไพโรจน์ ชี้ว่า เราอยู่ในช่วงเวลาวิกฤตที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อผ่านพ้นข้อจำกัดต่างๆ ไปให้ได้ โดยเฉพาะในหน่วยย่อยที่เล็กกว่าโรงเรียนลงไป คือ ‘ครอบครัว’ ซึ่งจากประสบการณ์การล็อคดาวน์ในช่วงปี 2563 ทำให้เห็นว่าแต่ละครอบครัวมีปัญหาไม่เหมือนกัน มีความพร้อมไม่เท่ากัน การจะจัดการศึกษาวิธีใดวิธีหนึ่งให้มีประสิทธิภาพ จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ปกครองคอยช่วยเหลือ แนะนำ และเอาใจใส่เด็กๆ เสมือนเป็นผู้ช่วยครูจากที่บ้านได้
“ครอบครัวในพื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่ ผู้ปกครองยังไม่สามารถช่วยจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ อาทิพ่อแม่เด็กไม่มีเวลามากพอ บางบ้านเด็กอยู่กับปู่ย่าตายายซึ่งไม่สามารถทำความเข้าใจเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้ แล้วในสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ทุกครอบครัวมีความเครียด การประสานงานหรือส่งงานจากโรงเรียนให้เด็กทำที่บ้านจึงต้องวางแผนกันอย่างดี ไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระผู้ปกครองมากเกินไป
“อย่างไรก็ตาม หากเราต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ต่อไปก็จำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ปกครองด้วย ให้เขาเข้าใจว่าเมื่อโรงเรียนต้องปิด การเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กๆ จะลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองคือคนสำคัญที่จะช่วยครูดูแลให้เด็กๆ เรียนรู้ตรงตามจุดประสงค์ได้ เขาต้องเข้าใจว่าแม้เราจะสร้างเครื่องมือที่ช่วยเรื่องการเรียนรู้เด็กได้เป็นอย่างดี แต่หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง การเรียนรู้นั้นก็ทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันทำให้เกิดขึ้นให้ได้ จนกว่าจะสามารถจัดการศึกษาได้เป็นปกติ” รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ ให้ข้อแนะนำทิ้งท้าย