การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เป็นเป้าหมายที่ กสศ.ให้ความสำคัญ เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนห่างไกล ตลอดปีที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ทำให้เกิดเครื่องมือและนวัตกรรมในห้องเรียนที่หลากหลายวันนี้ กสศ. รวบรวม 5 นวัตกรรมตัวอย่างเพื่อห้องเรียนเสมอภาค ที่คุณครูสามารถนำไปปรับใช้ในปีใหม่นี้ เพื่อร่วมสร้างห้องเรียนเสมอภาคไปด้วยกัน
เสียงออด เสียงระฆัง ที่เคยใช้ส่งสัญญาณบอกเวลาเพื่อให้นักเรียนรู้ตัวว่าต้องทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่เคารพธงชาติ เข้าเรียน หมดคาบเรียน ไปจนถึงบอกเวลาเลิกเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักกรอบของเวลา รู้จักหน้าที่และระเบียบวินัย
แต่จะดีมากขึ้นถ้าเด็กๆ รู้ตัวว่าแต่ละช่วงเวลาต้องทำอะไรตอนนี้ ชั่วโมงข้างหน้าจะทำอะไร เพราะนั่นจะทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ และนำไปสู่การรู้จักกับกับตัวเอง รู้ตัวว่าตอนนี้กำลังทำอะไร ภายในขอบเขตเวลาเท่าไหร่ ไปจนถึงการวางแผนการทำงาน
เริ่มต้นการปรับตัวอาจจะต้องใช้เวลา แต่เมื่อทำไปได้สักระยะเด็กๆ จะสามารถปรับตัวและรู้เวลาของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกปลูกฝังติดตัวไปจนถึงตอนโตและสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงนอกรั้วโรงเรียนซึ่งไม่มีเสียงออด เสียงระฆังมาคอยเตือนพวกเขา
ยิ่งในวันที่ต้องออกไปทำงานร่วมกับคนหมู่มาก ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา ถือเป็นอีกลักษณะนิสัยที่จำเป็น
โรงเรียนไร้เสียงออดจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งในต้นแบบจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกนำไปปรับใช้ในอีกหลายโรงเรียนทั่วประเทศ
“เราจะทำทุกอย่างไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ เราจะไม่มีเสียงออด เสียงระฆัง โดยสร้างวิถีที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เด็กต้องกำกับตัวเองให้ได้ในแต่ละช่วงเวลา ว่าเวลานี้ต้องหยุด สร้างความสม่ำเสมอจนมีเซนส์เรื่องเวลา กำกับตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าใกล้เข้าแถว เข้าห้องเรียนได้แล้ว” อ.วิเชียร ไชยบบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาอ่านบทความ : รร.ไร้เสียงออด ต้นแบบกำกับตัวเอง นวัตกรรมพัฒนาปัญญาผ่าน“จิตศึกษา”
แม้หลายโรงเรียนจะพยายามปรับเปลี่ยนคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้น แต่ก็ยังติดกับกรอบเดิมๆ เรื่องที่จะต้องกำหนดสัดส่วนเนื้อหารายวิชาในแต่ละสัปดาห์ ทำให้ไม่อาจขยับปรับเปลี่ยนได้มากนัก เช่นการสอนในรูปแบบเดิมๆ ที่แยกเนื้อหาเป็นรายวิชาขาดการเชื่อมโยง
ทางออกสำหรับประเด็นนี้อาจแก้ไขได้ง่ายเพียงแค่ปรับเปลี่ยนตารางสอนในแต่ละชั้นเรียน ที่จะบังคับให้ครูต้องปรับทั้งเนื้อหาและวิธีการสอนไปในตัว
หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เลิกยึดติดกับรายวิชา และจัดหมวด บูรณาการเรียนรู้ในวิชาต่างๆ เข้ามาเป็นการเรียนแบบเรียนรู้ด้วยปัญหาเป็นฐาน หรือ Project- Based Learning (PBL) ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง
โดยยังคงยืนพื้นด้วยวิชาหลัก คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาที่เหลือ ทั้ง วิทยาศาสตร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยี (กอท.) สังคม สุขศึกษาและพละศึกษา และ ดนตรี จะบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันเป็นหน่วยเรียนรู้ที่กำหนดธีมในแต่ละหน่วย เช่น ของเล่นพื้นบ้าน สมุนไพรผักพื้นถิ่น ที่จะนำเอาตัวชี้วัดรายวิชามาออกแบบการเรียน
เมื่อตารางสอนเปลี่ยน การสอนของครูเปลี่ยน ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กก็เปลี่ยน เด็กๆ จะกล้าแสดงออกมาขึ้น สามารถคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น
“ที่สำคัญคือการสอนแบบนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ จากเดิมที่คนมองว่าเด็กบนดอยทำไม่ได้ ไม่เก่ง ไม่มีศักยภาพ เราก็อยากพิสูจน์ว่าเด็กบนดอยทำไมจะทำไม่ได้ ไม่ว่าเด็กบนดอย เด็กพื้นที่ราบ เด็กรวย เด็กจน สามารถเรียนรู้ได้ พัฒนาตัวเองได้ถ้าได้รับโอกาสการเรียนรู้ที่ดีซึ่งพิสูจน์แล้วทำได้จริง” ครูพวงชมพู เฮ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง กล่าวอ่านบทความ :คุณภาพการศึกษาเริ่มได้ง่ายๆ แค่เปลี่ยนตารางสอนใหม่
“บ้านวิทยาศาสตร์น้อย” จุดเปลี่ยนสำคัญในยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่ทาง โรงเรียนชุมชนวัดน้ำขาว จ.สงขลา นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการสอนปกติในชั้นเรียนอนุบาล – ป.3 ทุกวันพุธ
ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบ “Active Learning” ที่ช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการสื่อสารได้เก่งขึ้น สามารถให้เหตุผลกับคำถามที่ยากๆ ได้ สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก
โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แบ่งออกเป็นขั้นตอน ได้แก่
1. จิตปัญญา สร้างสมาธิก่อนเริ่มบทเรียน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการนั่งสมาธิ เล่นตบแปะ เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นการฝึกสมาธิจะช่วยให้เด็กมีสมาธิ รู้สึกตัวเร็ว ง่ายต่อการดึงสมาธิกลับมาสู่ชั้นเรียน
2. ครูตั้งคำถามปลายเปิด ลดคำถาม “ใช่ -ไม่ใช่” เพื่อให้เด็กคิดหาคำตอบหาเหตุผลมาตอบคำถาม
3. ลงมือทดลอง หาคำตอบด้วยตัวเอง จากคำตอบหรือข้อสันนิษฐานของเด็ก ครูจะไม่บอกว่าถูกหรือผิดทันที แต่จะให้เด็กได้ลงมือทดลองปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เขารูด้วยตัวเองว่าสิ่งที่คิดถูกต้องหรือไม่เป็นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง
4. สรุปสิ่งที่เกิดขึ้น ต่อยอดไปยังการเรียนรู้เรื่องอื่น โดยหลังได้คำตอบแล้วต้องทำให้เด็กสรุปในสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทดลอง โดยครูจะคอยไกด์คำถามให้อยู่ในกรอบจนสามารสรุปและเชื่อมโยงไปยังโจทย์อื่นต่อไป
“เวลาเราเห็นเด็กตอบคำถามที่เราไม่คิดว่าเด็กจะคิดได้แบบนี้ เรานี่ว้าวหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง มันสะท้อนว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี่ได้ผล จนเด็กสามารถคิดหาคำตอบได้ตัวเอง” คุณครูมณฑา บูหัส ครูประจำชั้น ป.1 โรงเรียนชุมชนวัดน้ำขาวอ่านโพสต์ :บ้านวิทยาศาสตร์น้อย
จากเดิมที่คุณครูจะเป็นคนคอยให้คะแนนนักเรียน แต่ ที่โรงเรียนวัดกู่คำ (เมธาวิสัยคณาทร) อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ได้นำเทคนิคให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมให้คะแนนตัวเองประกอบการประเมินผลในช่วงของการเรียนรู้แบบ Active Learning
รูปแบบที่นำมาใช้คือการจัดเรียงขวดบรรจุดน้ำสี ไล่เรียงกันไปตั้งแต่เต็มขวดจนหมดขวดแทนคะแนน 1-10 เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมจะให้เด็กประเมินตัวเองว่าตัวเองควรจะได้คะแนนเท่าไหร่จากกิจกรรมที่ได้ทำไป
วิธีนี้จะทำให้เด็กๆ ได้ย้อนคิดพิจารณาประเมินผลตัวเองในแง่มุมต่างๆ โดยครูจะเป็นผู้ซักถามในรายละเอียด เช่น ทำไมให้คะแนนตัวเองเท่านี้ วันนี้ทำจุดไหนได้ดี มีจุดไหนที่ทำไม่ดี มีจุดไหนที่ต้องปรับปรุง
การที่เด็กได้ประเมินตัวเองจะทำให้เด็กได้สะท้อนบางมุมที่คุณครูอาจจะมองไม่เห็นว่าเด็กคิดอย่างไร และทำให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ซึ่งถือเป็นการพัฒนาผู้เรียนในเชิงคุณภาพ
ขวดน้ำเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของการประเมินตัวเอง ยังมีอีกหลายวิธีที่โรงเรียนอื่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
“ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นคะแนนตัวเลขแต่ก็ไม่ใช่คะแนนที่จะไปตัดสินความดี ความชั่ว ความเก่ง ความอ่อนของผู้เรียน แต่เป็นไปเพื่อดูพัฒนาการของแต่ละทักษะว่ามีขึ้นมีลงอย่างไร ในอนาคตจะมีหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะ คือไม่ได้สอบวัดผลแต่จะเป็นการวัดว่าทำได้ไม่ได้ เหมือนสอบเลื่อนขั้นของเทควันโดจากสายเหลืองไปจนถึงสายดำ ที่จะต้องแสดงความสามารถที่แท้จริงออกมา การประเมินแบบนี้จะเข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้ แบบฐานสมรรถนะมากขึ้น” รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กล่าวอ่านบทความ :ผลลัพธ์ที่ได้คือพัฒนาการของผู้เรียนในเชิงคุณภาพ
“ทองพับสมุนไพรจากแป้งกล้วยน้ำว้า” ผลผลิตที่นักเรียนโรงเรียนบ้านปางปอย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ร่วมกันคิดค้น และได้รางวัล งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติประเภทกิจกรรมการประกวดแปรรูปอาหารปี 2562
นับเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของการปรับรูปแบบการเรียนเปลี่ยนการสอน ที่เลิกท่องจำสูตรเดิมๆ และ หันมาเน้นพัฒนาสูตรใหม่ด้วยตัวเอง
ส่วนหนึ่งพัฒนามาจาก STEAM Design Process ของ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “ปางปอยเมกเกอร์” พื้นที่สร้างสรรค์ให้นักเรียนได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. ตั้งคำถาม ว่าเราจะทำอะไร
2. จินตนาการ ว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร
3. วางแผน ว่าจะทำอะไรบ้าง ค้นข้อมูล
4 ลงมือสร้างสรรค์ผลงาน
5. รีเฟล็คท์และรีดีไซน์ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น
“การทำหน้าที่ของครูคือจะเปลี่ยนจากคนสอน คนบอกสูตร มาเป็นคนที่แค่คอยชี้แนะให้คำแนะนำให้เขารู้จักไปหาข้อมูลด้วยตัวเอง เช่น การทำแป้งจากกล้วยน้ำว้าเด็กก็ต้องไปหาวิธีทำจากในอินเตอร์เน็ตซึ่งทำครั้งแรกอาจไม่สำเร็จก็ต้องมาปรับแก้ไขตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้แบบ Active Learning” ครูศิริพร เตชนันท์ กล่าว
อ่านบทความ :ห้องเรียนแนวใหม่ที่เด็กไม่ต้องทำตามสูตรเดิม