สตาร์ฟิชฯ เสนอ 4 ทางเลือก
รับมือผลกระทบCOVID-19 ตามบริบทพื้นที่
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 จนต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไปเป็นเดือนกรกฎาคม ท่ามกลางบรรยากาศการเร่งหาทางออกสำหรับการเรียนการสอนในช่วงเปิดภาคเรียนที่เด็กอาจไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ตามปกติที่โรงเรียน
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม หนึ่งในเครือข่าย โครงการบริหารจัดการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนทำให้เกิดการเลื่อนเปิดเทอมออกไปนั้น ในส่วนของมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ด้านหนึ่งได้ปรับรูปแบบการทำงานพัฒนาครูและการบริหารโรงเรียนเป็นการทำงานออนไลน์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการทำ Online Learning Course รวมทั้งการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) โดยเชิญผู้บริหารโรงเรียนมาแบ่งปันตามหัวข้อต่างๆ ผ่านเฟสบุ้คไลฟ์ ดังนั้นในเชิงออนไลน์จึงไม่มีอะไรเปลี่ยนมากแค่เพิ่มความเข้มข้นของโค้ชที่ไม่สามารถลงพื้นที่อาจประสานงานผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง ไลน์กรุ๊ป หรือ โทรศัพท์ โดยจะเตรียมห้องประชุมออนไลน์ให้โค้ชเข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียน แบบไลฟ์ที่นัดเวลาเข้าไปพูดคุย รวมไปถึงมีแผนที่จะทำงานร่วมกับชุมชนและเขตพื้นที่ต่างๆ เป็นการขับเคลื่อนแบบ Area-Based
อย่างไรก็ตาม ในส่วนแผนที่เดิมเคยวางไว้เป็นแบบออฟไลน์จะถูกปรับมาเป็นออนไลน์ ทั้งการจัดเวอร์คช็อปเดือน พ.ค. สำหรับผู้บริหารโรงเรียนและโมเดลการปรับเปลี่ยนโรงเรียน อีกด้านหนึ่งจะจัดทำหนังสือเรื่อง 9 องค์ประกอบเพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ว่าแต่ละโรงเรียนนำโมเดลในไปใช้แล้วได้ผลอย่างไรบ้างจัดทำเผยแพร่ส่งไปในแต่ละพื้นที่ซึ่งจะต้องประเมินเป็นรายพื้นที่เพราะบางชุมชนไม่ให้คนนอกเข้าในเวลานี้ อาจต้องส่งไปรษณีย์หรือไม่อย่างไร
รูปแบบการเรียนการสอนต้องมีความยืดหยุ่น
ดร.นรรธพร กล่าวว่า สำหรับกิจกรรม Teacher Boot Camp ที่จะขยายการพัฒนาครูจากเฟสหนึ่งไปสู่เฟสสอง ซึ่งครูที่จะเพิ่มเข้ามาในโครงการจะได้รับการอบรมผ่านบทเรียนออนไลน์และ ไลฟ์ เวอร์คช็อป ซึ่งถามว่าการปรับเปลี่ยนจากออนไลน์มาออฟไลน์อาจมีความแตกต่างกันบ้างจากที่ต้องทำงานกลุ่ม งานเดี่ยว ก็ต้องปรับรูปแบบใช้ซอฟต์แวร์บอร์ดออนไลน์ให้ทุกคนมาให้ความเห็น แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะไม่ใช่ครูทุกคนจะใช้เทคโนโลยีได้คล่องแคล่ว ดังนั้นจึงต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควร จะไปคาดหวังว่าจะได้ผล 100% เหมือนที่มาเจอหน้ากันโดยตรงแบบเดิมไม่ได้ ทำให้ต้องระวังอย่าทำจนเกินไปเพราะสุดท้ายไม่ได้ผลอย่างที่เราต้องการ
สำหรับแผนรับมือช่วงเปิดเทอม 1 ก.ค.นั้น ทางโรงเรียนบ้านปลาดาว ได้มีการนำร่องวิธีการจัดการซึ่งสามารถนำไปขยายผลต่อในโครงการ กสศ.ได้ โดยบริบทของโรงเรียนบ้านปลาดาวเป็นโรงเรียนที่อยู่ในชนบทผู้ปกครองส่วนใหญ่ช่วยสอนบุตรหลานได้แค่ 20 %อีกทั้งจากที่เปิดสอนในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาทำให้เรียนออนไลน์ด้วยตัวเองลำบาก ทำให้เราคิดวิธีการให้เหมาะสม คำนึงช่วงอายุเด็ก คำนึงถึงการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์ และวิธีการเรียนรู้ของเด็กซึ่งยังเป็นลักษณะแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ด้วยการสนับสนุนของผู้ปกครอง
Learning Box แบ่งตามระดับชั้น สอดรับ STEAM DESIGN
ส่วนหนึ่งจะนำจัดทำเป็นเลิร์นนิ่งบ็อกซ์ ซึ่งประกอบไปด้วยชุดบทเรียน คล้ายเครื่องมือทำให้ผู้ปกครองสามารถช่วยเด็กๆ ทำกิจกรรมได้ แบ่งเป็นประดับชั้นอนุบาลเน้นการเสริมพัฒนาการเด็ก ทักษะชีวิต การข้าห้อง น้ำ การทานอาหาร เสริมพัฒนาการตามปฐมวัย และให้ผู้ปกครองทำเมกเกอร์สเปซเรียนแบบ PBL มีแบบประเมินตามสภาพจริงที่ทำโดยผู้ปกครอง มีชุดเกม บัตรคำ ซึ่งการดำเนินการจะเป็นรูปแบบ STEAM DESIGN ที่ทาง “ปลาดาว” ออกแบบไว้ให้เกิดการเรียนรู้แบบแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง
“กล่องเลิร์นนิ่งบ็อกซ์จะออกแบบเป็น รายสัปดาห์ให้มีความยืดหยุ่น เพราะแม้แต่ผู้ปกครองในเมืองที่สามารถดูแลเรื่องการศึกษาได้ดีก็ยังเครียดถ้าต้องมากลายเป็นครูเต็มตัว และเป็นเรื่องหนักสำหรับผู้ปกครองที่หลายคนไม่รู้หนังสือ หลายคนไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแรก การจะให้ผู้ปกครองไปทำอะไรเยอะเกินไปอาจทำให้เขาท้อและไม่อยากทำตรงนี้เลยก็ได้ โดยในส่วนของประถมจะเน้นการทำ PBL ที่ทำเป็น 1 โปรเจ็คท์ระยะเวลา 6 สัปดาห์” ดร.นรรธพร กล่าวว่า
หัวใจสำคัญคือ Active learning ผ่าน PBL
ทางเลือกที่สองคือการทำงานร่วมกับชุมชน โดยดูว่าชุมชนไหนเข้าไปได้บ้างซึ่งอาจให้ครูในชุมชน ครูอาสา ผู้ปกครอง หรือเด็กรุ่นพี่ เข้าไปช่วย แต่ต้องจัดกิจกรรมเว้นระยะห่าง และต้องได้รับการอนุญาตจากชุมชน และทางเลือกที่สามคือการเรียนรู้แบบออนไลน์ ซึ่งจะมีคอร์สออนไลน์ รวมถึงให้มีสื่อการเรียนให้ดาวน์โหลด และสี่ มีการติดต่อสื่อสารแบบเรียลไทม์ ให้ผู้ปกครองติดต่อครูประจำชั้นได้ตลอดเวลาทั้งกรุ๊ปแชท ซึ่งทางเลือกต่างๆ เหล่านี้จะเป็นต้นแบบการทำงานร่วมกับโรงเรียนใน กสศ. ได้
ดร.นรรธพร กล่าวอีกว่า ในกล่องเลิร์นนิ่งบ็อกซ์หัวใจคือการให้เด็กได้เรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ผ่าน PBL ใช้การตั้งคำถามกับชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านซึ่งอาจไม่ได้มีประโยชน์แค่ช่วงสถานการณ์ตอนนี้ แต่อาจใช้ในเวลาต่อไปซึ่งเด็กต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้โลกความเป็นจริง ซึ่งทั้ง 60 โรงเรียนเครือข่ายก็จะต้องหาแนวทางที่เหมาะกับบริบทของโรงเรียนของตัวเองเป็น 60 แบบของตัวเอง
กลับตั้งหลักที่ “เป้าหมาย” เรื่องการเรียนรู้ของเด็ก
อย่างไรก็ตาม ทางออกสำหรับการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่ทุระกันดารนั้นเราต้องมองจากวัตถุประสงค์หลักคือให้เด็กได้เรียนรู้ ไม่ใช่ให้เด็กต้องใช้เทคโนโลยี ตอนนี้จากที่อ่านเข่าวเยอะๆ ก็จะกังวลเพราะรู้สึกคนมองว่าการแก้ปัญหาต้องเรียนออนไลน์อย่างเดียว แต่เราลืมไปว่ามีเด็กหลายกลุ่มไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ ทีวี โทรศัพท์มือถือ
“เราต้องถามว่าการให้เด็กนั่งดูทีวีแบบวันเวย์คอมมูนิเคชั่น 50 นาทีต่อคาบเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้จริงหรือเปล่า ถ้าโจทย์หลักคือการเรียนรู้ต้องมาก่อน เราต้องหาโซลูชั่นให้เด็ก ดีกว่ายึดติดว่าหากไปเรียนไม่ได้ต้องออนไลน์อย่างเดียว การเรียนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอยู่ที่กระบวนการ ทั้ง คอมมูนิตี้เบส โฮมเบส ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่อย่าไปใช้ไม้บรรทัดที่เราจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน มาวัดการเรียนที่จัดที่บ้านและชุมชนซึ่งต่างกัน ตรงนี้ อาจกลับไปถึงเรื่องเพอร์ซอนอลไลซ์เลิร์นนิ่งที่เป็นการเรียนเฉพาะบุคคลจริงๆ“ ดร.นรรธพร กล่าว
ทั้งนี้ เทคโนลยีอาจเป็นคำตอบสำหรับเด็กบางคน แต่สำหรับบางคนอาจไม่ใช่เลยก็ได้ ดังนั้นต้องกลับไปใส่ใจเรื่องเป้าหมายคือการเรียนรู้ของเด็ก คือการเรียนรู้ที่มีความหมายในชีวิตจริง ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในหลักสูตรปกติของโรงเรียนก็ได้ ไปจนถึงเรื่องสุขภาวะของเด็กในตอนนี้ เรื่องความเป็นอยู่ที่ดีเป็นเรื่องที่สำคัญ อาจต้องกับมาดูเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น ต้องดูแลเรื่องสภาพจิตใจการเป็นอยู่ อาหารกลางวันเพราะเด็กหลายคนต้องพึ่งพาอาหารกลางวันที่โรงเรียน ซึ่งหากเรายังแก้ปัญหาเรื่องปากท้องเด็กไม่ได้ เรื่องการเรียนออนไลน์ก็คงเป็นเรื่องรองลงไป
ที่มาภาพ : Dr Prae Seributra