การยกระดับคุณภาพของโรงเรียนจะเป็นไปได้แค่ไหน ถ้าหากไม่มีข้อมูลที่ก่อรูปขึ้นมาจาก ‘ผู้เล่น’ ในระบบโรงเรียนเอง และสามารถกำหนดเป้าหมายที่จะเดินไปข้างหน้าร่วมกันทั้งองคาพยพ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยข้อมูลที่มาจากงานวิจัยและการร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ครู ผู้ปกครอง และโรงเรียน จึงประยุกต์แนวคิดหนึ่งที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีเครือข่ายที่ร่วมเส้นทางความฝันด้วยกันกว่า 773 โรงเรียนแล้วในเวลาเพียง 1 ปี
ในงานประชุมเรื่อง ‘ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ: ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน’ ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program: TSQP) ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. ชวนให้ทบทวนถึงแนวทางการทำงาน และชวนมองไปถึงทิศทางอนาคตในการยกระดับคุณภาพของโรงเรียนจากอีกแง่มุม
ดร.อุดม เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นความน่ากังวลของคุณภาพการศึกษาไทยหากไม่เร่งแก้ปัญหาที่ต้นทาง ซึ่งจากผลการสอบ PISA ปี 2018 พบว่าทักษะการอ่าน (reading) ของเด็กไทยมีระดับต่ำที่สุด อันเป็นทักษะพื้นฐานในด้านการเรียน ตามมาด้วยวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์
สิ่งที่เราพบนี้ส่งผลต่อการศึกษาไทยอย่างไร ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างทางการศึกษาระหว่างเขตเมืองกับชนบท พบว่ามีความแตกต่างกันถึง 2 ปีการศึกษา นั่นหมายความว่า เด็กที่อยู่ในเมืองเรียนไปพร้อมกันกับเด็กนอกเมือง แต่ความรู้อาจจะห่างกันระหว่าง ม.6 ต่อ ม.4 ทำให้มีช่องว่างระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กนอกเมืองมากขึ้น
ดร.อุดม กล่าว
“แต่ถ้าย้อนกลับไปดูผลการสอบ PISA เมื่อ 3 ปีก่อน คือปีการศึกษา 2015 พบว่ามีความเหลื่อมล้ำต่างกันอยู่ 1.8 ปีการศึกษา แล้วขยับขึ้นมาเป็น 2 ปีเต็ม ในอีก 3 ปีถัดมา ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ก็นับว่าน่ากลัว” ดร.อุดม กล่าว
จากปัญหาข้างต้น แนวโน้มเช่นนี้อาจจะมองเห็นได้ในงานของ จอห์น แฮทที (John Hattie) เรื่อง Visible Larning (2008) แนวคิดที่ตอบโจทย์การทำงานอย่างหนึ่งคือ การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (whole school approach) ซึ่ง จอห์น แฮทที เสนอว่า มีอยู่ 6 เรื่องสำคัญที่ถ้าหากช่วยกันภายในโรงเรียนจะทำให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไข ได้แก่
- ครูรู้ศักยภาพของเด็กแต่ละคน
- นักเรียนมีส่วนประเมินตนเอง เด็กทุกคนอยากคิดเอง ประเมินตนเองได้
- การเรียนรู้ตามวัยและพัฒนาการ
- การดูแลแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของเด็กแต่ละคน
- การเรียนการสอนเปลี่ยนหลักคิด
- พลังร่วมของครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียน
ดร.อุดม กล่าวว่า “เราจะเห็นว่าที่ผ่านมา 1 ปี โรงเรียนกว่า 290 โรงในเครือข่าย ได้เริ่มเห็นแนวทางนี้ชัดเจนขึ้น แล้วค่อยๆ ขยับไป ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือ ทำไมจึงต้องให้ครูทุกคนในโรงเรียนมาเข้าร่วมโครงการ เช่น โรงเรียนขนาดกลางค่อนข้างไปทางใหญ่ จะมีครูหลายสิบคน บางโรงเรียนอยู่ที่หลักร้อย รวมครูอัตราจ้าง ครูผู้ช่วยด้วย
ถ้ามีครูฮีโร่อยู่ 1 คน แต่เก่งอยู่คนเดียว การทำงานอาจจะห่อเหี่ยว แต่ถ้าช่วยกันจะสามารถช่วยให้เด็กได้รับทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 อย่างน้อย 2 เรื่องสำคัญ คือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ เชิงนวัตกรรมได้
ดร.อุดม กล่าว
“ถ้าหากเราวิเคราะห์และมองไปข้างหน้าว่า แนวทางนี้นอกจากจะเป็นการประยุกต์จากตัวแบบที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ อีกด้านหนึ่งยังมาจากการกระเทาะจากการทำงานของโรงเรียนในเครือข่ายของไทยเอง”
ดร.อุดม กล่าวอีกว่า การประยุกต์จากงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเข้ากับการสำรวจข้อมูลโดยครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ได้ช่วยให้แนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (whole school approach) เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น แนวการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบนี้ หมายถึง การพัฒนาโรงเรียนอย่างเป็นระบบด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในโรงเรียน และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองอย่างแยบยล เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ คุณลักษณะ และความประพฤติของนักเรียน โดยอาศัยภารกิจ 3 ด้าน ในการผลักดัน คือ
หนึ่ง-การบริหารจัดการ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ การวางแผน การปฏิบัติตามแผน และการประเมินผล สอง-การจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมการจัดการหลักสูตรและกิจกรรมเสริมหลักสูตร และสาม-การสนับสนุนสภาพแวดล้อมและสิ่งต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ของนักเรียน
“เราไม่หวังพลิกฝ่ามือในปีเดียว แต่อาจจะเป็น 2-3 ปี ซึ่งน่าจะพอเห็นอะไรบางอย่างที่บ่งชี้ได้ว่า ต่อไป กสศ. จะสนับสนุนโรงเรียนด้วยรูปแบบไหนได้บ้าง
“กรอบแนวคิดของโรงเรียนที่จะพัฒนาตนเองได้จะต้องมีองค์ประกอบ เช่น มาตรการระดับโรงเรียน เครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เชื่อมโยงกับมาตรการในระดับชั้นเรียน ทั้งหมดจะต้องมีตัวช่วยคือ ‘โค้ช’ ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดกระบวนการ เพื่อให้ระบบต่างๆ ในโรงเรียนหมุนไปได้ และยังเติมเข้าไปได้อีกตามศักยภาพของโรงเรียน
“โรงเรียนในขนาดเดียวกันทั่วประเทศ 8,000 โรง จะอยู่ในเครือข่ายเรา 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 700-800 โรง ซึ่งเราหวังให้เกิดผลในอนาคตทั้งหมด การทำงานของเราจะจับมือกันไป ไม่ว่าเด็กจะจบไปกี่รุ่นก็ตาม แต่เราก็ยังเป็นครูกันต่อไป” ดร.อุดม กล่าว
ถึงที่สุดแนวทางนี้มุ่งหวังผลลัพธ์สุดท้าย คือความยั่งยืน ซึ่งคาดหวังว่าโรงเรียนจะสามารถพัฒนาตนเองไปได้ทั้งระบบ โดยโครงการนี้มีความคาดหวังขั้นต่ำเพียงโรงเรียนลุกขึ้นมาพัฒนาตนเองได้ และนโยบายจากหน่วยงานต้นสังกัดอาจจะมีผลเพียงเล็กน้อยหากโรงเรียนตั้งใจจะทำอยู่แล้ว และคาดหวังด้วยว่าครูจะสามารถมีทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้ และท้ายที่สุดเกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในระดับโรงเรียน ระหว่างครู ระหว่างชั้นเรียน ระหว่างผู้บริหาร
สำหรับแก่นแกนของผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcome) ที่ ดร.อุดม นำเสนอคือทักษะที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะการวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และวิพากษ์อย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต
ดังที่ครูในเครือข่ายของ กสศ. ได้ร่วมกันถอดบทเรียนมากมายโดยจับสาระสำคัญอย่างกระชับที่สุดได้ว่า “เด็กอยากมาโรงเรียน ครูสนุกกับการสอน” ขณะเดียวกันเด็กนักเรียนจะได้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ คือ มีวินัย มีความซื่อสัตย์ และมีจิตสาธารณะ
ในตอนท้าย ดร.อุดม วงษ์สิงห์ นำเสนอตัวอย่างครู แอนเดรีย ซาฟิราคู (Andria Zafirakou) ซึ่งเป็นครูสอนวิชาศิลปะและสิ่งทอ โรงเรียนชุมชนแออัดอัลเพอร์ตัน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อันเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงที่สุดในลอนดอน เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีพ่อแม่เป็นผู้อพยพ โดยพบว่าเธอไม่เพียงแต่สอนในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยชี้นำเด็กในเขตยากจนที่สุดของประเทศและช่วยเหลือเด็กที่มีปูมหลังที่หลากหลาย โดยเธอสามารถสนทนาพื้นฐานได้ถึง 35 ภาษา
วิธีการทำงานของเธอคือ ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อป้องกันเด็กที่มีความเสี่ยงจากการรวมตัวกันของกลุ่มอันธพาล แนะนำให้เด็กรู้จักชมรมมวยเพื่อใช้ในการป้องกันตัว โดยไม่ใช้กำลังและทักษะนี้ไปก่อปัญหานอกพื้นที่
แอนเดรีย เชื่อว่าระบบการเรียนรู้ที่ดี ต้องการทีมแกนนำ (leadership team) มีสมาชิกจากทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เพราะเด็กๆ ต้องการผู้ใหญ่ที่เป็นต้นแบบให้เด็กเข้าใจอาชีพต่างๆ จนกระทั่งสามารถช่วยเสริมแรงบันดาลใจต่อการเรียนเพื่ออนาคตของตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ที่สำคัญรูปแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสร้างสรรค์ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเล็ก
จากตัวอย่างเล็กๆ ที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอนของครู กับการร่วมมือกันของโรงเรียนและชุมชน จะช่วยโอบรับเด็กนักเรียนในกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบ และยังช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กนักเรียนได้ ด้วยการร่วมมือกันระหว่างครู โรงเรียน และชุมชน ถึงที่สุดเป้าหมายไม่ใช่สิ่งอื่นไกลเท่ากับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เกิดขึ้นจริง