ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช: การศึกษาแบบกว้าง x ลึก ไม่มีเด็กโง่ในสารบบของการเรียนรู้

“ผมมักคิดย้อนอดีตตลอดเวลาว่า ถ้าผมได้สมองและสติปัญญาที่ดีจากพ่อแม่ แล้วมาเกิดใหม่อีกครั้งในบ้านหลังเดิม ผมจะไม่ได้ดีเหมือนตอนนี้ เพราะผมโดนฤทธิ์ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ทำให้ผมไม่มีโอกาสที่ดี”

ทุกวันนี้นักเรียนไทยจำนวนมหาศาล กำลังเผชิญกับสภาวะที่เรียกว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการเรียนรู้’ การศึกษาที่ดีมีคุณภาพ คือความจริงอันห่างไกลที่ต้องจ่ายในราคาแพง 

ทำไมโรงเรียนที่ดี กับครูที่เก่ง ต้องอยู่ไกลบ้าน? 

ทำไมการเรียนการสอนในห้องเรียนถึงไม่สร้างความสุข?

ทำไมความรู้ที่ได้ในโรงเรียน ถึงเปล่าประโยชน์ในชีวิตจริง?

ในงานประชุมเรื่อง ‘ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ: ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘คุณค่าของโรงเรียนพัฒนาตนเอง’ ไว้หลายแง่มุม ครอบคลุมทั้งในมิติของครู โรงเรียน ผู้บริหารการศึกษา และทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง 

“คุณค่าของการศึกษา อยู่ที่ผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียน” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวไว้ตอนหนึ่ง

ขณะเดียวกัน การที่จะบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้ มีตัวแปรสำคัญคือคุณภาพของการศึกษาที่เด็กทุกคนควรได้รับ ศ.นพ.วิจารณ์ ขีดเส้นใต้คำว่า ‘ทุกคน’

คำถามคือ การศึกษาแบบไหนที่เราอยากเห็น เป้าหมายการศึกษาแบบไหนที่นักเรียนอยากไปให้ถึง ห้องเรียนแบบไหนที่ครูอยากสร้าง บรรยากาศแบบไหนที่จะสร้างความสุขแห่งการเรียนรู้ 

‘โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง’ (Teachers & School Quality Program: TSQP) โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เริ่มต้นขึ้นจากคำถามเหล่านี้ 

หัวใจสำคัญของการศึกษา ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า คือความตระหนักถึงพหุปัญญา (Multiple Intelligence) 

“เด็กเขามีความฉลาดหลายแบบ การศึกษาในตอนนี้มีความเหลื่อมล้ำในการตีความเรื่องความฉลาด เพื่อนผมหลายคนเรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง แต่มีหัวศิลปะ เป็นนักกีฬา ขณะที่ครูก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความถนัดของเขา ครูจึงต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ และหาทางทำให้สิ่งที่เขาถนัดเป็นตัวฉุดด้านอื่นๆ ที่เขาไม่ถนัดขึ้นไปด้วย”

คุณค่าของการศึกษา มิได้จำกัดแค่วิชาความรู้

ล่วงเข้าปีที่ 2 กับการทำงานของโครงการครูและโรงเรียนฯ เพื่อยกระดับโรงเรียนให้เป็นสถานที่แห่งการบ่มเพาะศักยภาพของนักเรียนในทุกด้าน โดย ศ.นพ.วิจารณ์ ได้ให้ความหมายของคำว่า ‘การพัฒนาเด็กในทุกด้าน’ ผ่าน 2 มิติหลักๆ คือ

“หนึ่ง-ด้านกว้าง หมายถึง การพัฒนาที่ไม่ได้หยุดที่วิชาความรู้เท่านั้น แต่นิสัยใจคอ การเคารพผู้อื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และความมั่นใจตัวเอง มิติเหล่านี้ต้องรวมอยู่ด้วย ทั้งในภาพรวมและภาพย่อยของเด็กแต่ละคนที่มีวิธีการที่ต่างกัน”

นักเรียนหนึ่งห้อง ประกอบด้วยมนุษย์ที่เติบโตมาบนฐานครอบครัวที่แตกต่าง นั่นทำให้สภาวะอารมณ์ ประสบการณ์ และวิธีการเรียนของเด็กนั้นมีความหลากหลาย ข้อนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ มองว่าเป็นความท้าทายของครูและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ในการออกแบบการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์กระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายของนักเรียน 

“สอง-ด้านลึก คือการเรียนเพื่อให้เกิดการพัฒนาชีวิต มิใช่เรียนเพียงผิวเผิน มิใช่แค่ตอบข้อสอบครูได้ การเรียนนั้นต้องลึกเข้าไปในจิตใจ ลึกในอารมณ์​ และออกมาเป็นพฤติกรรม ซึ่งที่ผ่านมาเราเรียกว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะ”

การเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนฯ เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ของนักเรียนที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากคุณภาพการศึกษาที่ไม่เท่ากันของโรงเรียนในเมืองและชนบท อีกทั้งศักยภาพของครูที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ไปจนถึงการดูแลนักเรียนในกลุ่มยากจนด้อยโอกาส ให้ได้รับการประเมินช่วยเหลือเป็นรายบุคคลได้อย่างทั่วถึง

เมื่อโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ของความสุข

“ผมมีความเชื่อว่า นักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี เป็นเด็กบ้านนอกอย่างผม ความมั่นใจในตัวเองน้อย เราควรที่จะช่วยเหลือเด็กให้สามารถพัฒนาตัวตนได้ดี”

ศ.นพ.วิจารณ์ มองว่า ปัจจัยที่ทำให้เด็กนักเรียนหลุดออกนอกระบบ คือปัญหาด้านการพัฒนาตัวตน (Identity Development) โดยเฉพาะเด็กในแถบชนบทที่ชีวิตในรั้วโรงเรียนของนักเรียนนั้นเต็มไปด้วยความทุกข์ นำไปสู่การแสวงหาพื้นที่ความสุขใหม่ๆ นอกรั้วการศึกษา

มนุษย์เราต้องการความสุข เมื่อเรียนแล้วไม่มีความสุข เขาจึงต้องไปทำอย่างอื่นที่ให้ความสุขแก่เขา อาจจะไปติดยา ไปมั่วสุม ทั้งหมดนี้เป็นเพราะมนุษย์เราต่างแสวงหาความสุข นี่คือความท้าทายของคนในวงการศึกษาที่จะต้องสร้างสิ่งนี้แก่นักเรียนให้ได้”

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

นั่นหมายความว่า การจัดการศึกษาในโรงเรียนต้องตั้งโจทย์การเรียนรู้ที่หลากหลายและสอดคล้องกับบริบทชีวิตของเด็ก เด็กหลายคนอาจไม่ได้ต้องการความรู้ตามตำราเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการความรู้ในการทำมาหากิน มีรายได้ เลี้ยงตนเองและครอบครัว และสร้างชีวิตที่ดีได้ 

“การตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ก็เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่จริงประเทศเรามีอะไรดีๆ อีกมาก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายมากที่ประเทศเราทรุด และกำลังทรุดลงกว่าเดิมคือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และความรู้”

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของระบบ ไล่เลียงตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ของนักเรียน ความเหลื่อมล้ำทางศักยภาพของครู และความเหลื่อมล้ำจากการตีความ ‘ความฉลาด’ 

ความเหลื่อมล้ำติดตามเราเป็นเงาในทุกๆ ที่ แม้กระทั่งในห้องเรียน พื้นที่ที่มนุษย์ควรได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อการมีชีวิตที่ดี เพื่อการเป็นพลเมืองที่สร้างประโยชน์ 

“ครูมักเอาใจใส่เฉพาะเด็กที่ตั้งใจเรียน นี่คือเหตุของความเหลื่อมล้ำในห้องเรียนอย่างหนึ่งในอีกๆ หลายเหตุ ในบางครั้งเด็กหลังห้องถูกรังเกียจ แรงกว่านั้นคือถูกเกลียด

“แต่เราต้องเข้าใจครูเหมือนกันว่า นักเรียนบางคนก็เหลือกำลังลาก ก่อกวนด้วย แต่ลองมองมุมกลับให้ดีเถอะครับ เด็กเหล่านั้นคือโอกาสที่ครูจะสร้างสรรค์ได้อย่างดีมาก เด็กเหล่านั้นจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่ทำให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวา เพราะเขาเหล่านั้นมีพลังเยอะ”

ครูต้องเชื่อใน Growth Mindset

Growth Mindset (กรอบความคิดเติบโต) คือวิธีคิดที่เชื่อว่า มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งความฉลาด ทักษะ ความสามารถ และบุคลิกภาพ ผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน และมุมานะ Growth Mindset ส่งผลให้คนคนนั้นแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ทดลองและมองหาการเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่กลัวที่จะล้มเหลว

ศ.นพ.วิจารณ์ ระบุว่า การพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับการศึกษา ต้องมี Growth Mindset เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ไม่ยึดติดกับวิธีการที่ตายตัวดังเช่นที่ผ่านมา

“หากโรงเรียนมี Fixed Mindset (กรอบคิดที่จำกัด) ก็จะมองว่า พ่อแม่ให้ความฉลาดมาเท่านี้แหละ ซึ่งไม่จริง ความฉลาดเกิดขึ้นใหม่ได้จากความพากเพียร โรงเรียน ครู พ่อแม่ ช่วยเพิ่มไอคิวให้เด็กได้

Growth Mindset ไม่ได้มีเพียงในตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องของโรงเรียน ของวงการศึกษา สังคม ครู และผู้อำนวยการ ที่จะต้องสมาทาน Growth Mindset เพื่อสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพให้ได้”

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ในโลกที่ไม่หยุดอยู่กับที่ ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นเดียวกับทฤษฎีว่าด้วยเรื่องการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่อยู่เสมอ จำเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียน ครู โรงเรียน และเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องต้องสมาทานวิธีคิดของ Growth Mindset เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การศึกษาที่ดีกว่า 

สำคัญคือ เขาเหล่านั้นต้องเชื่อมั่นว่า โรงเรียนทำให้เด็กฉลาดขึ้นได้ 

การเรียนรู้ต้องลึกและเชื่อมโยงได้

“โรงเรียนพัฒนาตัวเอง คือ ต้องหาวิธีการที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ของตัวเองในมิติที่ลึกยิ่งกว่าลึก การเรียนรู้แบบลึก (Deep Learning) คือการเรียนรู้ที่เราไม่อยากให้หยุดอยู่แค่ผิว (superficial) ไม่ใช่แค่ตอบข้อสอบได้ เกรดดี แต่เอาไปใช้ไม่เป็น”

การเรียนรู้ระดับลึก คือการเรียนรู้ในระดับการประยุกต์ใช้ความรู้นั้นได้อย่างเกิดประโยชน์ ซึ่งในทัศนของ ศ.นพ.วิจารณ์ การเรียนรู้ในระดับลึกอาจไม่เพียงพอต่อโลกยุคนี้ โลกที่กำลังเรียกร้องการเรียนรู้ในระดับการเชื่อมโยง (transfer) และการเรียนรู้ที่นักเรียนสามารถเชื่อมไปสู่สถานการณ์อื่น บริบทอื่น กระทั่งสู่สิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย 

นั่นแปลว่านักเรียนจะสามารถสร้างความรู้เองได้ ในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของความรู้นั้นด้วยตนเอง

ศ.นพ.วิจารณ์ ระบุด้วยว่า โรงเรียนขนาดกลาง 733 แห่ง คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนทั้งประเทศ คือจำนวนสถานศึกษาภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนฯ ซึ่งกล่าวได้ว่า โรงเรียนเหล่านี้กำลังเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการในการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความสุขในโรงเรียน และกระบวนการเรียนการสอนที่ไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ลำพัง 

เป้าหมายของโครงการ 6 ข้อ ที่ ศ.นพ.วิจารณ์ เน้นย้ำคือ 

หนึ่ง-ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งแนวกว้างและลึก 

สอง-เป็น Learning Platform ของนักเรียน ครู ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง 

สาม-กระบวนทัศน์พัฒนา Growth Mindset 

สี่-เชื่อมโยงสู่การพัฒนาระบบการศึกษา

ห้า-เปลี่ยนชุดความคิดว่าด้วยการเรียนรู้ 

หก-เพิ่มศักดิ์ศรีครูและวงการการศึกษา

การศึกษาต้องเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการสร้างความรู้ใส่ตัวเองด้วยการปฏิบัติ (Active Learning) โดยครูคือผู้ที่ช่วยให้ Active Learning นั้นย้อนกลับมาตีความทางทฤษฎี และมีการเรียนรู้ในระดับเชื่อมโยงไปสู่สถานการณ์ใหม่ บริบทใหม่ได้”

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวพร้อมกับทิ้งท้ายว่า “ถ้าเราทำได้ นี่คือการยกระดับศักดิ์ศรีครู และศักดิ์ศรีของวงการการศึกษาไทย”