วิธีการที่เรียกกันว่า Open Approach ซึ่งหมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่ครูจะใช้ปัญหาปลายเปิดเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน และ Lesson Study ที่เป็นหลักในการพัฒนาวิชาชีพครูในประเทศญี่ปุ่น นับเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ถูกนำมาใช้แล้วมากกว่า 10 ปีในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจาก 2 โรงเรียนเมื่อปี 2549 จนปัจจุบันได้ขยายผลไปยังโรงเรียนทั่วประเทศอีกเกือบ 200 แห่ง
นำมาซึ่งการพัฒนาวิธีการสอนของครู และกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับโรงเรียนทุกขนาดและทุกระดับ หรือแม้แต่การช่วยลดความแตกต่างของนักเรียนในเมืองและในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างเห็นผล จนเป็นหนึ่งในวิธีการที่ กสศ. และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกันเพื่อนำมาใช้ในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง(TSQP) ของสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ให้พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ บนพื้นที่เป้าหมาย 291 โรงเรียน ครอบคลุม 35 จังหวัดทั่วประเทศไทย
รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า นับตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในปี 2542 การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนและวิธีการสอนของครู เป็นหัวข้อที่คนในแวดวงการศึกษาพูดถึงกันมาก โดยเฉพาะในเชิงนโยบายหรือการวางโครงสร้าง ในช่วงเวลานั้นเองที่ทาง รศ.ดร.ไมตรี เห็นว่า การปฏิรูปการเรียนรู้สามารถเริ่มต้นได้จากการนำเอาทรัพยากรทางการศึกษาเข้าไปปรับเปลี่ยนในชั้นเรียน หรือในห้องเรียน อันเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในวงจรการศึกษา
“ผมเริ่มนำนวัตกรรมที่ช่วยในการเปลี่ยนการสอนของครูและการเรียนรู้ของผู้เรียนมาใช้ตั้งแต่ปี 2542 โดยเอาทรัพยากรที่มีคือ นักศึกษาครูฝึกหัดทุกระดับชั้น และอาจารย์ผู้สอนที่เข้าใจหลักสูตร พาพวกเขาเข้าไปที่ชั้นเรียนทั้งหมด นั่นคือการเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษาที่ผมเห็นว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ คือเราต้องเริ่มกันที่ห้องเรียน”
รศ.ดร.ไมตรี ระบุ
ที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาในประเทศของเรา มีการนำนวัตกรรมมากมายเข้ามาช่วยในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนของครู ซึ่งมันไม่มีสูตรสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าวิธีการนั้นจะต้องเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของนวัตกรรมที่เรานำมาใช้มากกว่า 10 ปี และเห็นผลในระดับหนึ่งแล้วว่ามันช่วยกำหนดขั้นตอนและวางรูปแบบการสอน ที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาทั้งผู้สอนและผู้เรียนได้อย่างเป็นระบบ จะมี 2 นวัตกรรมหลัก
อย่างแรกคือ Open Approach ที่เน้นเรื่องการ ‘เปลี่ยนวิธีการสอน’ ก่อน จากเดิมที่ครูจะให้ความรู้ด้วยวิธีบรรยายหรือถ่ายทอดตรง ๆ เราก็เปลี่ยนมาเป็นการทำงาน 4 ขั้นตอน คือ 1.ครูต้องหาโจทย์หรือปัญหาที่มีความหมายใกล้ชิดกับสิ่งรอบตัวของผู้เรียน เป็นเรื่องราวที่พบเห็นในชีวิตจริง 2.นำปัญหาเข้าสู่ชั้นเรียนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้หาวิธีแก้ไขโจทย์ด้วยตนเอง 3.ครูจะเป็นผู้สังเกตแนวความคิดของเด็กต่อวิธีการที่เขาใช้ในการแก้ปัญหา และ 4.ผู้เรียนจะต้องนำวิธีการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาที่ค้นพบมาอภิปรายและสรุปผลออกมาเป็นวิธีการเรียนรู้
การเรียนรู้ด้วยวิธี Open Approach เป็นการพลิกวิธีการสอนที่คุ้นเคยในบ้านเรามาตลอด ด้วยวิธีนี้ครูจะไม่ใช่ศูนย์กลางในการส่งมอบความรู้อีกต่อไป แต่ผู้เรียนจะได้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นทักษะสำคัญของโลกในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากทุกวันนี้ความรู้มีอยู่มากมายหาได้จากนอกห้องเรียนหมดแล้ว การสอนในลักษณะนี้เราจึงเน้นให้แต่ละคาบเรียน เขาได้ฝึกแก้ไขปัญหา ทำทุกอย่างด้วยตนเอง เผชิญกับความยากลำบากในการค้นหาวิธีการด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดองค์ความรู้เฉพาะตัวอันเป็นประสบการณ์ที่เขาจะนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง ๆ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อไปว่า อีกนวัตกรรมหนึ่งที่ช่วยเสริมการเรียนรู้แบบ Open Approach คือการปรับปรุงวิธีการสอน ที่เรียกว่า Lesson Study เป็นแนวทางการพัฒนาวิชาชีพครูที่เป็นการปรับปรุงการสอนด้วยตัวของครูเอง(Teacher-Led Instructional Improvement) และเป็นวิธีการที่ครูเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงการสอนด้วยตัวของครูเอง การนำแนวทางนี้มาใช้ในการพัฒนาวิชาชีพครู จึงก่อให้เกิดประโยชน์มากต่อการสอน ทั้งด้านเนื้อหา วิธีการสอน และต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
“ครูจะต้องเลิกทำงานเพียงลำพังคนเดียว แล้วเปลี่ยนเป็นการทำงานเป็นทีมร่วมกับครูด้วยกัน เพื่อร่วมวางแผน ระดมความคิด จากเดิมที่วิธีการสอนเป็นเรื่องของใครของมัน ห้องเรียนของใครของมัน แต่ด้วยการเรียนรู้ในโลกยุคปัจจุบันที่เน้นให้ผู้เรียนได้ค้นหาวิธีการในการเข้าถึงความรู้ด้วยตนเอง ครูจะต้องเป็นผู้คาดการณ์แนวคิดของนักเรียนให้ได้ มิฉะนั้นครูจะไม่สามารถค้นหาโจทย์หรือปัญหาดี ๆ มาใช้ในห้องเรียนได้ โจทย์จะปิดแคบ ดังนั้น งานที่เป็นเชิงวิชาชีพครูในระดับสูงนี้ ครูจะต้องร่วมด้วยช่วยกันวางแผนสร้างสถานการณ์ปัญหาที่ท้าทายให้ได้ จากนั้นจึงนำไปใช้ในชั้นเรียน ขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ครูทุกคนต้องปรับปรุงวิธีการสอนของตัวเองสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา” รศ.ดร.ไมตรี กล่าว
สำหรับ Open Approach และ Lesson Study เป็นสองแนวทางที่ ผศ.ดร.ไมตรี ระบุว่าได้นำมาใช้ในเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 มาแล้วมากกว่า 15 ปี และเห็นผลในเชิงประจักษ์แล้วว่าสามารถยกระดับคุณภาพชั้นเรียนได้จริง ขณะที่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำสองนวัตกรรมดังกล่าวเข้าไปใช้กับเด็กนักเรียนมาแล้วประมาณ 4-5 ปี ดังนั้นในการร่วมงานกับ กสศ. ทางโครงการจึงวางกลุ่มเป้าหมายนักเรียนในระดับชั้น ป.1-ม.3
กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา นวัตกรรมที่เรานำมาใช้ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในหลายมิติ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นได้ชัดก็คือ การทำงานของครูที่เน้นการขับเคลื่อนเป็นทีม ซึ่งส่งผลต่อระบบการสอนในภาพที่ใหญ่กว่าห้องเรียนแค่ห้องเดียว หรือโรงเรียนแค่แห่งเดียว ส่วนในตัวเด็ก เราพบว่าในทุกชั้นเรียนของโครงการ เด็กที่เคยเกลียดคณิตศาสตร์ ไม่อยากเรียนวิชานี้ เขาก็หันมาสนใจเรียนมากขึ้น รวมถึงมีความเข้าใจในบทเรียนเพิ่มขึ้น นั่นเพราะเขาได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานเนื่องจากการได้ค้นหาวิธีการด้วยตนเอง ได้เรียนรู้ว่าผลลัพธ์ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญเท่ากับประสบการณ์การทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์นั้น นี่คือภาพการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ชั้นเรียนแตกต่างไปจากอดีต
“หรือในเรื่องของผลคะแนนสอบ เราก็มีสัญญาณว่าในโรงเรียนที่ทำกับเรามาหลายปี คะแนนเฉลี่ยของเด็กส่วนใหญ่ก็เกินค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั้งประเทศ ทั้งยังมีผลที่น่าสนใจคือ โรงเรียนในที่ห่างไกลในป่าเขาหรือบนดอยสูงมีเด็กที่ได้คะแนนโอ-เน็ตร้อยเต็ม อาจยังไม่ใช่จำนวนที่เยอะ แต่การที่เด็กกลุ่มนี้ได้คะแนนสูงระดับนี้ 2-3 คน ทั้งที่ปกติไม่เคยมีมาก่อน นั่นเป็นสัญญาณที่ดีและหลักฐานของความสำเร็จในระดับหนึ่งของเรา ซึ่งทำให้หนทางในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนใหญ่กับโรงเรียนเล็ก หรือโรงเรียนในเมืองใหญ่กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล แคบลงมาจนเชื่อได้ว่า เราจะสามารถสร้างความเสมอภาคทางการเรียนรู้ได้จริง ๆ ในอนาคต” รศ.ดร.ไมตรี กล่าวปิดท้าย